พระพุทธนฤมิตโชค

แห่งสำนักวิปัสสนา วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี

ท่านพระครูภาวนาวิสุทธิ์ แห่งสำนักวิปัสสนา วัดอัมพวัน ต.บ้านแป้ง อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ได้สร้างพระเครื่องให้ชื่อว่า “พระพุทธนฤมิตโชค” เป็นพระนั่งสมาธิอยู่ในพื้นฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบหนึ่ง อีกแบบหนึ่งเป็นพระปางประทานพร (แบบอินเดีย) ยกมือขวาประทานพร ทั้ง ๒ แบบ องค์พระนั่งภายใต้ต้นอัมพฤกษ์ (ต้นมะม่วง) หมายถึง นามวัดอัมพวัน อันเป็นสถานที่อุบัติพระนี้ภายใต้ฐานที่ประทับนั่ง มีรูปพระธรรมจักรกับรูปกวางหมอบ หมายถึงการประกาศธรรมของพระพุทธเจ้า กำลังจะเริ่มหมุนต่อไป ซึ่งจะมีผลแผ่ไพศาลฉายแสงความร่มเย็นเป็นสุขไปยังเวไนยสรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้าอย่างไม่มีประมาณ เพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงในพระเครื่องที่สร้างขึ้นนี้ตามควร จึงขอนำเรื่องความเป็นมาสำหรับท่านที่เคารพนับถือได้ศึกษาเพิ่มพูนศรัทธาในองค์ผู้สร้าง

 

ประวัติความเป็นมา

(ซ้าย) ปางสมาธิ, (ขวา) ปางประธานพร

ย่อมเป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วว่า พระเครื่องรางของขลังต่าง ๆ นั้น เป็นที่นิยมนับถือของคนไทยชาวพุทธมาแต่โบราณ สำหรับมีไว้ประจำตัวเพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ ทำให้ใจอบอุ่นเหมือนมีเพื่อนคอยคุ้มครอง ทั้งเพื่อเป็นสิริมงคลขจัดปัดเป่าสิ่งที่ตนไม่พึงปรารถนาให้ห่างไกล เป็นสัญลักษณ์เครื่องหมายให้เห็นว่าผู้นับถือเป็นผู้เทิดทูนพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นศาสดาเอกในโลก ผลแห่งการอภิวาทนั้น ย่อมอำนวยให้สำเร็จในสิ่งที่ตนปรารถนา นอกจากนั้นพระเครื่องรางยังช่วยเผยแพร่ผดุงส่งเสริมพระบวรพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งฟุ้งขจรสืบต่อไปในอนาคตอย่างไม่มีขอบเขตอาศัย มูลเหตุนี้เป็นที่ตั้งบวกกับผลแห่งการรบเร้ากระตุ้นเตือนของบรรดาคณะศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย เป็นพลังดลใจให้ท่านพระครูฯ ได้เกิดเมตตากรุณาธรรมเสียสละเวลารวบรวมแร่และผงวิเศษจากแหล่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ด้วยความวิริยะอุตสาหะอย่างยอดเยี่ยม ยากที่ปุถุชนคนธรรมดาจะกระทำได้ นำมาคุลีการบดผสม (บดด้วยไฟฟ้า) ปลุกเสกเป็นรูปพระพิมพ์ขึ้นเมื่อ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๑๑ ตรงกับเดือน ๑๑ วันอังคาร แรม ๙ ค่ำ อันเป็นฤกษ์งามยามดีที่ให้ปฏิสนธิการอุบัติขึ้นในโลกของพระพุทธนฤมิตโชค

 

จุดประสงค์

ขั้นแรกพระคุณเจ้าท่านพระครู ดำริจะสร้างพระอุโบสถใหม่ จะนำพระนี้เข้าบรรจุไว้ในชุกชีใต้แท่นพระประธานเพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนาไปชั่วกาลนาน มิได้มุ่งหมายจะจำหน่ายจ่ายแจกหาผลประโยชน์ด้วยประการใด ๆ ทั้งสิ้น แต่เมื่อทำสำเร็จเป็นองค์พระขึ้นแล้ว มีนักปราชญ์บางท่านสามารถทราบล่วงรู้ถึงสรรพคุณว่าพระนี้มีพุทธานุภาพดีเลิศ ไม่ควรจะนำของดี ๆ เช่นนี้ไปฝังดินจมทรายเสียหมด แนะนำให้แบ่งส่วนจ่ายแจกแก่สาธุชนผู้ใจบุญ (ที่มาช่วยบริจาคสร้างอุโบสถ) ไว้สักการบูชาบ้างก็จะอำนวยประโยชน์อย่างมหาศาล เมื่อเป็นเช่นนี้พระคุณท่านจึงตกลงใจคล้อยตาม คือจะจ่ายแจกส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งจะบรรจุไว้ตามเจตนาเดิม

 

แบบและขนาดของพระพิมพ์

เดิมตั้งใจทำเพียงแบบและขนาดเดียว คือเป็นปางสมาธิเกศเปลวเพลิงประทับนั่งใต้ต้นมะม่วงบนฐานบัวหงายแนวตรง ใต้ฐานด้านหน้าเป็นรูปพระธรรมจักร มีกวางหมอบสองตัว กรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด ๒.๔ x ๓.๗ x ๐.๔ ซม. ด้านหลังมีตัวอักษรจารึก “วัดอัมพวัน สิงห์บุรี

เมื่อนำพระแบบที่ ๑ ไปให้ช่างที่พระนครแกะพิมพ์และทดลองพิมพ์แบบสำเร็จ ส่งมาให้ดูเป็นตัวอย่าง จะเป็นเพราะเทพเจ้าเข้าดลใจหรืออย่างไรก็เหลือสันนิษฐาน พลันก็นึกอยากได้พระปางพระทานพรทรงอินเดีย (ซึ่งมีแบบอยู่แล้ว) นึกตำหนิแบบที่ ๑ ว่ารูปกวางหมอบที่ทำไปแล้วนั้นยังไม่เป็นที่พอใจ คิดไว้แต่ในใจว่าพรุ่งนี้เช้าจะเดินทางเข้าพระนครให้ช่างแก้ไขและทำแบบใหม่ วันรุ่งขึ้นจึงเดินทางเข้าพระนครกับผู้ติดตามอีกหลายท่าน เมื่อไปถึงยังมิทันพูดอะไร นายช่างบอกว่า เมื่อคืนผมนอนไม่หลับตลอดคืน เฝ้าแกะพิมพ์พระให้ท่านพระครูใหม่พร้อมกับนำมาให้ดู พอท่านพระครูเห็นเข้าเท่านั้นถึงกับขนลุก นึกว่านี่อะไรกันเหตุไรช่างทำเหมือนกับที่คิดไว้ไม่ผิดเพี้ยนประจักษ์ต่อหน้าผู้ติดตามทุกคน จึงตอบนายช่างไปว่า ที่มานี้ก็เพื่อจะให้ทำพิมพ์อย่างนี้และกวางแบบนี้นี่แหละ (ดูแบบที่ ๒) จึงตกลงให้ทำพิมพ์ที่ ๒ ขึ้นอีกนับว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ทุกท่านควรทราบไว้บำรุงศรัทธาส่วนหนึ่งด้วย

พระแบบที่ ๒ นั้นเรียกว่า ปางประทานพร เกศบัวตูม มีอักษรขอม ๒ แถว ทางดิ่งนั้นคือ หัวใจพรพระ ๘ บท (พา มา นา อุ กะ สะ นะ ทุ) นอกนั้นมีลักษณะเหมือนแบบที่ ๑ ทุกอย่าง แต่มีขนาดเล็กกว่า มีขนาด ๒.๓ x ๓.๒ x ๐.๕ ซม. เนื้อพระทั้งหมดเป็นผงผสมแร่เคลือบน้ำมันสีน้ำตาลอ่อน บางองค์มีสีเขียวปะปนบ้าง เนื้อของพระพิมพ์แกร่งมาก

 

ผงวิเศษและการได้มา

ผงที่นำมาผสมพระพิมพ์ครั้งนี้ มี ๑๖ อย่าง ที่พระคุณเจ้าไปนำมาด้วยตนเอง

๑. แร่เศรษฐีป้อมเพชร ได้จาก จ.กำแพงเพชร (แดนเศรษฐีแต่โบราณ)

๒. แร่ทรหด ได้จากถ้ำเชียงดาว จ.เชียงใหม่

๓. แร่เม็ดมะขาม ได้จากเจดีย์วัดประสาท เจดีย์หักบ้านแป้ง จ.สิงห์บุรี

๔. แร่ขวานฟ้า ได้จากอาจารย์หล่ำ บ้านเตาอิฐ จ.สิงห์บุรี

๕. แร่ข้าวตอกพระร่วง ได้จาก จ.สุโขทัย

๖. แร่ขี้เหล็กไหล ได้จากเขาหลวง จ.นครสวรรค์

๗. แร่สังคะวานร ได้จากโพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร

๘. อิฐดอกจันทร์ ได้จากวัดไม้แดง ค่ายบางระจัน จ.สิงห์บุรี

๙. คตปลวก ได้จาก โคกดินวัดพระปรางค์มุนี จ.สิงห์บุรี

๑๐.คตไม้สัก ได้จากพงพญาเย็น จ.นครราชสีมา

๑๑.ขี้ปรอท ได้จาก จ.เพชรบูรณ์

๑๒.ผงกรุพระ ได้จากวัดพระธาตุ จ.ชัยนาท

๑๓.ผงกรุพระ ได้จากหลวงพ่อจาด จ.ปราจีนบุรี

๑๔.ผงกรุพระ ได้จากพระอาจารย์ ๑๐๘ วัดพรหมบุรี จ.สิงห์บุรี

๑๕.ผงกรุพระ ได้จากพระครูวินิจสุตคุณ วัดเสาธงทอง จ.อ่างทอง

๑๖.ผลกรุพระ ได้จากพระครูเปลี่ยน วัดสามปลื้ม จ.พระนคร

สิ่งมวลสารศักดิ์สิทธิ์นี้ ท่านพระครูเล่าว่า ได้มาโดยบังเอิญคล้ายมีสิ่งบันดาล ทุกครั้งท่านได้จุดธูปเทียนบอกเล่าตั้งสัตย์อธิษฐานขอเชิญดวงวิญญาณเจ้าของเดิมมาสนทนา และขออนุญาตก็ไม่ขัดข้องแต่บางอย่างต้องผจญภัยกับอันตราย ถึงกับต้องเสี่ยงเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ดังจะขอนำมาเล่าเพียงบางประการแทรกไว้ ณ ที่นี้โดยสังเขป เพื่อประดับสติปัญญาตามสมควร เช่น แร่ขี้เหล็กไหล ต้องจุดเทียนเข้าไปในถ้ำมืดแต่ผู้เดียว ซึ่งเต็มไปด้วยอสรพิษ งูร้าย เห็นงูจงอางแผ่พังพาน ฉวัดเฉวียนอยู่ตรงหน้า ท่านก็ตั้งสัตย์อธิษฐานเอาคุณพระเป็นที่พึ่ง สัตว์เหล่านั้นก็ไม่ทำอันตราย ท่านสังเกตเห็นบนเพดานถ้ำมีสีเขียวระยับนั่นคือ เหล็กไหลธาตุนั่นเอง ไม่มีใครจะเอาไปได้ เพราะเจ้าของเขาไม่ให้ ขืนเอามาก็เป็นอันตรายแก่ชีวิต จึงเพียงแต่ขูดเอาขี้เหล็กไหลมาเท่านั้น แต่ก็มีอานุภาพสุดประมาณ

อิฐดอกจันทร์ ปรากฏว่าที่ค่ายบางระจันเป็นสถานศักดิ์สิทธิ์ทุกท่านคงทราบดีโดยเฉพาะอิฐดอกจันทร์อาถรรพ์นัก มีผู้นำไปบูชาแต่เดือดร้อนจนต้องนำกลับมาคืนที่เดิม ท่านพระครูอธิษฐาน ขอก็ได้รับอนุญาตด้วยดี โดยมากอิฐแผ่นหนึ่งมีดอกจันทร์ ๓ ดวง แต่ที่พระคุณเจ้าได้มามีดอกจันทร์ถึง ๙ ดวง ส่วนของอีกสิ่งหนึ่งที่จะกล่าวคือ แร่เศรษฐีป้อมเพชร สถานที่นี้ครั้งโบราณเป็นที่อยู่ของพวกเศรษฐีมากมาย คนรุ่นหลังจะไปทำมิดีอย่างไรก็ถูกสาป ในปัจจุบันเป็นที่รกร้างไม่มีเศรษฐีเหมือนครั้งก่อน พระคุณท่านได้ทำพิธีสักการะดวงวิญญาณ ขออนุญาตนำแร่เศรษฐีมาทำพระ ๆ ได้รับคำยินยอมจากเศรษฐีเจ้าของเป็นอย่างดี ทันทีแร่ก้อนใหญ่ก็ผุดขึ้นมาเหนือดินเป็นที่ประหนึ่งมอบให้ นอกนั้นก็มี แร่สังคะวานร อีกจำนวนมากจากโพธิ์ประทับช้าง ซึ่งเป็นสถานที่ประสูติของสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือกษัตริย์ไทยสมัยอยุธยาพระองค์หนึ่ง

ความศักดิ์สิทธิ์ของพระเครื่อง มีพุทธานุภาพทาง มหาโชค มหาลาภ เมตตามหานิยม ทำมาค้าขึ้น แคล้วคลาดปลอดภัยอันตรายต่าง ๆ รอบด้าน

ขอกล่าวไว้เพื่อบำรุงศรัทธาเพียงเล็กน้อยตามคำของพระคุณเจ้าเล่าไว้เกี่ยวกับนิมิตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น คือเมื่อทำพระเสร็จแล้วจะทำพิธีพุทธาภิเษกตามแบบฉบับ พระคุณเจ้าได้นิมิตไปว่า มีท่านผู้ศักดิ์สิทธิ์มานิมิตบอกว่า พระนี้ดีอยู่ในตัวแล้ว ไม่ต้องทำพิธีปลุกเสกใด ๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่ให้ท่านพระครูนั่งสมาธิบริกรรม แล้วนิมนต์พระสงฆ์สวดธรรมจักร กับพาหุง ๘ บท และสวดบารมี ๓๐ ทิศให้ได้ ๑๐๘ จบก็พอแล้ว จึงมิได้ทำพิธีอย่างใด ทำการปลุกเสกเพียง ๒ องค์ คือ ท่านพระครูศรีพรหมโสภิต (หลวงพ่อแพ) วัดพิกุลทอง กับท่านพระครูผู้สร้างเท่านั้น จากนิมิตฝันนี่เองจึงถือเอามาเป็นอนุสรณ์ไว้ในแบบพระเครื่องคือรูปเสมาธรรมจักร กับคาถาพาหุง ๘ อักษรและขนานนามพระนี้ว่า “พระพุทธนฤมิตโชค

อนึ่งมีเรื่องแปลกที่จะเล่าให้ฟังอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อทำพระเสร็จใหม่ ๆ ยังมิได้ปลุกเสก มีโหรหลวงผู้หนึ่งขอชมพระพูดว่า “พระนี้ดีในตัวแล้ว ผมขอทำบุญกับท่าน ๑๐๐ บาท ผมขอพระนี้ ๑ องค์” บอกว่าจะเอาไปเลี่ยมใส่กรอบเดี๋ยวนี้ ท่านพระครูมอบพระให้แต่ไม่ขอรับเงิน เพียงบอกให้มาช่วยกันทำบุญที่วัดในโอกาสต่อไป

คาถาใช้ภาวนากำกับ ทุกครั้งก่อนที่จะนำพระติดตัวไป จงปฏิบัติดังนี้ ตั้งนะโม ๓ จบ หลับตานึกถึงภาพองค์พระเครื่องให้ติดตาจำได้ พร้อมกับอธิษฐานขอพระบารมีเป็นที่พึ่ง ขอให้สำเร็จในสิ่งที่ตนปรารถนาพร้อมกับภาวนาว่า อะระหัง พุทโธ อิติปิโสภควา นะมามิหัง

การแจกจ่ายพระ พระนี้มีจำนวนน้อย และมีเพียงรุ่นเดียว จะนำเข้าบรรจุส่วนหนึ่ง คงเหลือไว้แจกให้กับผู้มาร่วมทำบุญสร้างพระอุโบสถอีกส่วนหนึ่ง คงไม่มากนัก คนหนึ่งจะรับแจกได้เพียงองค์เดียว ขอแทนกันไม่ได้ และจะรับพระได้เฉพาะต่อหน้าท่านพระครูผู้ประสิทธิ์ประสาทเท่านั้น หากปรากฏว่าพระนี้มีผู้นำไปจ่ายแจกนอกจากท่านพระครูและนอกวัด ให้ถือว่าเป็นโมฆะ จะไม่ขอรับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น

 

ข้อเตือนใจ

ผู้ที่ได้รับแจกพระไปแล้ว ย่อมได้รับคุณค่ามหาศาล ความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นอยู่ที่ใจของท่าน ต้องมีใจเป็นกุศล อย่านำพระไปใช้ทางทุจริต ต้องปักใจมั่นหมั่นรำลึกอย่างจริงใจ เด็ดเดี่ยว กล้าผจญอย่างอาจหาญ ไม่สะทกสะท้านหวาดเสียวอะไรทั้งสิ้น อื่นไม่เป็นใหญ่เท่าตัวท่าน พระเดชพระคุณผู้ประสิทธิ์ประสาทพระนี้ ได้เคยพูดอุปมาไว้อย่างน่าฟังว่า “หม้อแบตเตอรี่ถึงจะอัดกระแสไฟไว้อย่างดี ถ้าสิ่งที่จะมารองรับไม่ดีแล้ว ก็ไม่มีความหมาย” ขอผู้รู้จงช่วยวิจารณ์และนำพระเครื่องของพระคุณท่านไปใช้ให้สำเร็จประโยชน์ถูกต้องตามทำนองครองธรรมเทอญฯ

 

จากหนังสือประวัติและผลงานพระครูภาวนาวิสุทธิ์ พ.. ๒๕๑๒