โพธิปักขิยธรรมภาคปฏิบัติ

โดย หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม

วันนี้จะชี้แจงภาคปฏิบัติธรรมแยกรูปแยกนามในโพธิปักขิยธรรมให้ญาติโยมทั้งหลายฟัง เพื่อนำมาเป็นหลักปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้

เหตุผลที่ให้ปฏิบัติโดยไม่ห่วงภาควิชาการ ให้ปฏิบัติค้นหาเหตุผลให้กุศลเกิดขึ้นจากวิธีปฏิบัติ ให้ผุดขึ้นมาในดวงใจเองนั้น เพราะท่านทิ้งความรู้เดิมที่เป็นทิฐิมานะในชีวิตของตนให้หมดจากจิตใจไป

การปฏิบัติจริงนั้น เกิดจากดวงใจคือภาวนา เป็นปัญญาใสสะอาด ผุดขึ้นมาเอง จึงจะเป็นการปฏิบัติได้ของจริงด้วยความถูกต้อง

ดังนั้นจึงต้องห้ามดูหนังสือ ห้ามคุยกัน ที่พูดย้ำมานาน คือ กินน้อย นอนน้อย ทำความเพียรให้มาก หาปฏิบัติได้ตามองค์ภาวนานี้ ก็จะพบวิชาการ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงศึกษาค้นพบด้วยพระองค์เอง เรียกว่า วิชาพ้นทุกข์

และออกมาแยกแยะออกไปเป็นรูปนาม ขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ อายตนะ ธาตุ อินทรีย์ บอกหน้าที่การงาน พละ ๕ ประการ เป็นต้น ก็ได้จากวิธีปฏิบัติภาวนานี้ทั้งหมด

พระอรหันต์สมัยพุทธกาล มีพระมหากัสสปะเถระเป็นประธานประชุมกันทำสังคายนา รวบรวมท่องจำแล้วจารึกเป็นพระไตรปิฎก หยิบยกขึ้นมาเป็นวิชาการให้พวกเราได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมตราบจนทุกวันนี้

การแสวงหาความสงบในอรัญราวป่า คือรุกขมูล เป็นการปฏิบัติให้จิตสงบไม่ฟุ้งซ่านแล้ว ปัญญาก็เกิดขึ้นในสังขารที่ปรุงแต่ง เกิดเป็นวิญญาณ แสดงท่าทีออกมา โดยแยกรูปแยกนาม ขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ออกมาได้ โดยวิธีนี้ถือว่าเป็นข้อปฏิบัติ

แต่ปฏิบัติเกิดก่อนปริยัติแน่ พระพุทธเจ้าไปปฏิบัติก่อน จนสำเร็จสัมโพธิญาณแล้ว จึงได้แยกแยะออกไปเป็นจิต เจตสิก รูป นิพพาน ออกไปตามรูปการณ์อย่างนี้

ในการปฏิบัติจะเหลือ ๒ ข้อ คือ สติ สัมปชัญญะ ที่กำหนดใช้สติกำหนดจิต ให้จิตรู้หน้าที่การงานโดยถูกต้อง แล้วจะเหลืออยู่หนึ่งเดียว คือความไม่ประมาท ดำเนินวิถีชีวิตด้วยความถูกต้อง นี่เป็นหลักปฏิบัติ

ต่อไปนี้จะบรรยายโพธิปักขิยธรรมภาคปฏิบัติ ให้ญาติโยมฟัง

คำว่า โพธิปักขิยธรรม แยกออกมาแล้วมีความหมายอย่างนี้ โพธิ แปลว่า รู้ รู้โดยความหมายของคำว่าโพธินี้ หมายถึงการรู้ที่จะทำให้สิ้นอาสวะ คือ รู้อริยสัจสี่

ปักขิยะ แปลว่า ที่เป็นฝ่าย โพธิปักขิยธรรม จึงหมายความว่า ธรรมที่เป็นฝ่ายรู้ถึงมรรคผล

ถ้าจะแปลสั้นๆ ก็ว่า ธรรมที่เป็นฝ่ายให้ถึงการตรัสรู้ โพธิปักขิยธรรมนี้แบ่งออกเป็น ๗ กอง รวมเป็นธรรมะ ๓๗ ประการ

ในธรรม ๓๗ ข้อนี้ จะได้องค์ธรรมที่ไม่ซ้ำกัน ๑๔ องค์ ขอให้ทำความเข้าใจไว้ก่อนตามที่กล่าวนี้

โพธิปักขิยธรรม ๗ กอง ได้แก่

  • สติปัฎฐาน มี ๔ ประการ
  • สัมมัปปธาน มี ๔ ประการ
  • อิทธิบาท มี ๔ ประการ
  • อินทรีย์ มี ๕ ประการ
  • พละ มี ๕ ประการ
  • โพชฌงค์ มี ๗ ประการ
  • มรรค มี ๘ ประการ

 

กองที่ ๑ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ ที่ปฏิบัติอยู่ ณ บัดนี้ สติ ความระลึกรู้อารมณ์ เป็นธรรมฝ่ายดี รู้ทันอารมณ์ในสติปัฏ-ฐาน ได้แก่ กาย เวทนา จิต ธรรม สติที่ระลึกรู้กาย เวทนา จิต ธรรม มีจุดประสงค์จำแนกเป็น ๒ ทาง คือ

  • ถ้าเจริญสมถภาวนา ก็พิจารณาตั้งมั่นในบัญญัติ เพื่อให้จิตสงบ มีอานิสงส์บรรลุฌาณสมาบัติ
  • ถ้าเจริญวิปัสสนาภาวนา สติก็พิจารณาตั้งมั่นอยู่ในรูปนาม เพื่อให้เกิดปัญญาเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีอานิสงส์ให้บรรลุถึงมรรค ผล นิพพาน

การพิจารณาไตรลักษณ์ก็เพื่อให้รู้สภาพตามความเป็นจริงว่าสิ่งทั้งหลายที่ยึดถือเป็นตัวตน เป็นชายหญิงนั้น ล้วนเป็นเพียงรูปกับนามเท่านั้น และรูปนามเหล่านั้นมีลักษณะเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา  หาแก่นสารไม่ได้เลย จะได้ไม่ติดอยู่ในความยินดีพอใจ อันเป็นการเริ่มต้นที่จะให้ถึงการดับทุกข์ต่อไป

ฉะนั้นสติปัฎฐาน ๔ จึงเป็นทางสายเอก จัดว่าเป็นทางสายเดียวที่สามารถให้ผู้ที่ดำเนินตามทางนี้ ถึงความรอบรู้ความจริงจนบรรลุถึงพระนิพพาน

ดังนั้นผู้ปรารถนาจะบรรลุถึงมรรค ผล นิพพาน ต้องเริ่มต้นด้วยสติปัฏฐาน เพื่อบรรลุญาณธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน

 

ญาณธรรม คือธรรมที่ควรรู้มีอยู่ ๕ ประการ ได้แก่

  • สังขาร คือธรรมที่ปรุงแต่ง ได้แก่ จิต เจตสิก รูป
  • วิกาล คือธรรมที่เปลี่ยนแปลงแปรผัน ได้แก่ ธรรมที่เปลี่ยนแปลงแปรผันของสัตว์ที่เป็นไปในภพต่างๆ
  • ลักษณะ คือธรรมที่เป็นเหตุให้รู้ให้เห็น ได้ลักษณะของสภาวะ
  • นิพพาน คือธรรมที่พ้นจากกิเลส คืออสังขตธรรม อสังขตธรรมนี้ เราก็จะมองเห็นเด่นชัดเช่นเดียวกัน
  • บัญญัติ คือธรรมที่สมมติใช้พูดจาเรียกขานกัน ได้แก่ อัตถบัญญัติ และสัททบัญญัติ

อารมณ์ของสติปัฏฐาน มี ๔ อย่าง คือ

๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ สติที่ตั้งมั่นพิจารณากายเนืองๆ ได้แก่สติที่กำหนดรู้ ที่เรากำหนดอยู่ ณ บัดนี้ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก อิริยาบถใหญ่คือ ยืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบถย่อย ได้แก่การเคลื่อนไหว คู้เหยียด เหยียดขา เป็นต้น

เพื่อให้ตระหนักว่า การยืน การเดิน นั่ง นอน อันเป็นการเคลื่อนไหวของร่างกายนั้น เกิดจากธาตุลมที่มีอยู่ในร่างกาย โดยอำนาจของจิต

ทางธรรมะ เรียกว่ารูป คือ รูปที่เกิดจากจิต หาได้มีผู้ใดมาบงการแต่อย่างใดไม่ ในบางแห่งจะพบว่าพิจารณากายในกาย หรือกายในอันเป็นภายใน กายในอันเป็นภายนอก คำเหล่านี้เป็นภาษาธรรมะ อธิบายกันเป็นหลายนัย เช่น

กาเยกายานุปัสสี แปลว่าเห็นกายในกาย คำว่ากาเย หมายถึงรูปกับกาย คือกัมมัชรูป แต่ร่างกายมีทั้งจิต เจตสิก และรูป ส่วนคำว่ากายานุปัสสี หมายเพียงให้กำหนดดูแต่รูปธรรมเท่านั้น คือดูรูปอย่างเดียว ไม่ใช่ดูจิต เจตสิกที่มีอยู่ในร่างกายด้วย

คำว่า กายในกาย หมายตรงว่า รูปในรูป แต่ในร่างกายนี้มีมากมายหลายรูป แต่ให้พิจารณาดูรูปเดียวในหลายๆ รูปนั้น

เช่นจะพิจารณาลมหายใจเข้าออก พองหนอ ยุบหนอ คือลมหายใจเข้าก็พอง ลมหายใจออกก็ยุบ ก็พิจารณาวาโยธาตุแต่รูปเดียว เรียกว่าอานาปาณสติ ลมหายใจเข้าออก พองหนอ ยุบหนอ เรียกว่าอานาปาณสติ

ส่วนคำว่ากายในอันเป็นภายใน และกายในอันเป็นภายนอกนั้น ถ้าพิจารณาดูรูปในกายของตนก็เป็นภายใน รูปในกายผู้อื่นถือว่าเป็นภายนอก ดังนี้

๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน การพิจารณาเวทนานี้ ใช้การเจริญวิปัสสนาอย่างเดียว ต่างกับการพิจารณากายใช้ได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา เพราะจะเพ่งเวทนาโดยความเป็นอารมณ์ของสมถกรรมฐานให้เกิดฌาณจิตหาได้ไม่

การพิจารณาเวทนา จะเป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออุเบกขาเวทนาก็ดี เป็นธรรมชาติที่ไม่มีรูปร่างสัณฐานที่จะให้เห็นได้ด้วยตา จึงไม่ใช่รูปธาตุ แต่เป็นนามธาตุ

เวทนาจะเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัย จะห้ามไม่ให้เกิดห้ามไม่ได้ ครั้นเมื่อหมดเหตุปัจจัย ก็จะดับไปเอง หมดไปเอง เป็นต้น

อนึ่ง ความหมายเวทนาในเวทนานี้ และเวทนาในเวทนาอันเป็นภายใน ภายนอกก็เป็นทำนองเดียวกับกายในกายตามที่กล่าวมาแล้ว

ความจริงเวทนาก็เกิดอยู่ทุกขณะ ไม่มีเวลาว่างเว้นเลย คนทั้งหลายก็รู้สึกสุขบ้าง ทุกข์บ้าง เพราะไปยึดว่า เราสุข เราทุกข์ จึงไม่อาจรู้สภาวะความเป็นจริงได้ เวทนานี้เวลาเกิดขึ้นจะเกิดแต่อย่างเดียว เป็นเจตสิกธรรม ปรุงแต่งจิตให้รับรู้

๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฎฐาน สติตั้งมั่นพิจารณาเนืองๆ ซึ่งจิต ก็คือวิญญาณขันธ์ ที่กำหนดพิจารณาจิต ก็เพื่อให้รู้เท่าทันว่าจิตที่กำลังเกิดอยู่นั้นเป็นจิตชนิดใด เป็นจิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง จิตฟุ้งซ่าน จิตที่เป็นสมาธิ หรือไม่เป็นสมาธิ

เพื่อให้ประจักษ์ชัดว่า ที่มีความรู้สึกโลภ โกรธ หลง หรือศรัทธา ฟุ้งซ่าน เกียจคร้าน เป็นอาการของจิต เป็นธรรมชาติที่เป็นนามธรรม ย่อมเป็นเหตุปัจจัยที่มาปรุงแต่ง เพื่อรับอารมณ์ เมื่อหมดเหตุปัจจัย อาการนั้นๆ ก็ดับไปเอง ไม่มีอะไรเหลืออยู่

อันสภาวธรรมที่เรียกว่าจิตนั้น เป็นธรรมชาติที่ไม่มีตัวตน เห็นด้วยตาก็ไม่ได้ จึงไม่ใช่รูปธรรม แต่เป็นนามธรรม เป็นนามจิต ไม่ใช่นามเจตสิก เช่น เวทนา เป็นต้น

ที่ว่าจิตในจิต จิตภายใน จิตภายนอกนั้น ก็เช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเหมือนกัน

๔. ธรรมานุปัสสนาสติปัฎฐาน สติตั้งมั่นพิจารณาเนืองๆ ซึ่งธรรม มีนิวรณ์ อุปาทานขันธ์ อายตนะ โพชฌงค์ อริยสัจ ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานนี้ เป็นสติในการเจริญวิปัสสนาแต่อย่างเดียว เป็นการพิจารณาให้รู้ให้เห็นทั้งรูปทั้งนาม จึงกล่าวได้ว่า การพิจารณากาย เวทนา และจิตย่อมรวมลงได้ในธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งสิ้น

สรุปแล้วการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ก็เพื่อให้เกิดปัญญารู้ว่า กายก็สักแต่ว่ากาย เวทนาก็สักแต่ว่าเวทนา จิตก็สักแต่ว่าจิต ล้วนแต่เป็นเพียงธรรมชาติ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเราเขา แม้แต่สติหรือปัญญาที่รู้ก็เป็นเพียงธรรมชาติเท่านั้น

ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานนี้ พิจารณาทั้งรูปธรรม นามธรรม ปัญญารู้แจ้งชัดเห็นทั้งรูปทั้งนาม แยกจากกันเป็นคนละสิ่งคนละส่วน รูปก็ส่วนรูป นามก็ส่วนนาม ไม่ปะปนกัน ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน รู้เห็นเช่นนี้จัดว่าเข้าถึงนามรูปปริจเฉทญาณ อันเป็นญาณต้น ที่เป็นทางให้บรรลุถึงมรรคและผลต่อไป

ผลที่ได้รับจากการเจริญสติปัฏฐาน ๔ นั้นก็คือ

  • พิจารณากายานุปัสสนาสติปัฎฐาน อารมณ์ที่พิจารณาคือรูปขันธ์ เหมาะแก่มัณฑบุคคลที่มีตัณหาจริต เพราะนิมิตที่ได้จากการพิจารณา ได้แก่ อสุภสัญญา ประหาร สุภสัญญา
  • พิจารณาเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน อารมณ์ที่พิจารณาคือเวทนาขันธ์ ซึ่งเป็นอารมณ์ละเอียด เหมาะแก่บุคคลซึ่งมีตัณหาจริต เพราะนิมิตที่ได้จากการพิจารณา ได้แก่ ทุกขสัญญา ทำให้ประหาร สุขสัญญา เสียได้
  • พิจารณาจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน อารมณ์ที่พิจารณา คือวิญญาณขันธ์ ซึ่งมีอารมณ์ไม่กว้างขวางนัก เหมาะแก่มัณฑบุคคลที่มีทิฎฐิจริต เพราะนิมิตที่ได้จากการพิจารณา ได้แก่ อนิจจสัญญา ทำให้ประหาร นิจจสัญญา เสียได้
  • พิจารณาธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน อารมณ์ที่พิจารณา คือทั้งรูปทั้งนาม ซึ่งมีอารมณ์กว้างขวางมาก เหมาะแก่บุคคลที่มีทิฏฐิจริต เพราะนิมิตที่ได้จากการพิจารณา ได้แก่ อนัตตสัญญา ทำให้ประหารอัตตสัญญาเสียได้

ฉะนั้นการเจริญสติปัฏฐาน ก็เพื่อให้เกิดปัญญาเห็นรูปเห็นนาม ที่เคยเห็นว่าสวยงาม เห็นว่าเป็นความสุขสบาย เห็นว่าเที่ยง เห็นว่าเป็นตัวตน จะได้รู้ว่าของจริงแท้นั้นเป็นประการใด?

โดยการเข้าใจเห็นแจ้งว่า สภาวะนั้นประกอบด้วยไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การเจริญสติปัฎ-ฐาน ควรทำด้วยความมีสติสัมปชัญญะ

สติ ก็คือตั้งมั่นในการพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม อย่างนี้ เพื่อให้เกิดปัญญาเห็นว่า รูป นาม นั้นมีสภาพเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

สัมปชัญญะ คือ ให้พิจารณาเห็นว่ามีประโยชน์ และพินิจพิจารณาว่าควรทำ จึงทำ เพื่อให้เกิดปัญญายิ่งๆ ขึ้น จึงจะบรรลุมรรคและผลได้

ขอให้เข้าใจว่า อันความพินิจที่จะประกอบด้วยปัญญาหรือสติสัมปชัญญะนี้ ถ้ามีแก่ผู้ใดแล้ว นับว่าผู้นั้นอยู่ใกล้พระนิพพาน ทั้งนี้เพราะ

นัตถิ ฌาณัง อปัญยัสสะ ความพินิจย่อมไม่มีแก่ผู้หาปัญญามิได้

นัตถิ ปัญญา อฌายิโน ฌานัญจ ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่พินิจ

ยัมหิ ปัญญา จ เส เว นิพพานะ สันติเก ความพินิจกาลปัญญา มีในผู้ใด ผู้นั้นแหละอยู่ใกล้พระนิพพาน

 

กองที่ ๒ สัมมัปปทาน ๔ คือ เพียรพยายามทำการงานที่ชอบ ความเพียรพยายามชอบ ที่จะจัดเป็นสัมมัปปธานต้องประกอบด้วย ๒ ประการ คือ

  • ต้องเป็นความเพียรพยายามอย่างยิ่งยวด แม้ว่าเลือดเนื้อจะเหือดแห้ง เหลือแต่หนังหุ้มกระดูกก็ตาม หากยังไม่บรรลุธรรมอันพึงถึงแล้ว ก็จะไม่ถดถอยความเพียรพยายามนั้นต่อไป
  • ความเพียรพยายามที่ว่ายิ่งยวดนั้น ต้องเป็นไปในธรรม ๔ ประการ จึงจะได้ชื่อว่า สัมมัปปธาน ธรรม ๔ ประการนั้นได้แก่

๒.๑ เพียรพยายามไม่ให้อกุศลที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น

๒.๒ เพียรพยายามละอกุศลที่เกิดแล้วให้หมดไป

๒.๓ เพียรพยายามให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น

๒.๔ เพียรพยายามให้กุศลธรรมที่เกิดแล้ว ให้เจริญยิ่งขึ้น

ข้อควรรู้ ตามธรรมดาอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปแล้ว และการที่จะลบล้างอกุศลที่เกิดแล้วให้หมดสิ้นไปนั้นย่อมทำไม่ได้ ที่กล่าวว่าจะเพียรพยายามที่ละอกุศลธรรมให้หมดไปนั้น ขอให้เข้าใจว่าเพียงแต่พยายามอย่าไปนึกถึงอกุศลนั้นๆ อีก

เพราะถ้าไปนึกคิดขึ้นอีก ก็จะทำให้จิตเศร้าหมอง กระวนกระวายใจ จัดว่าอกุศลได้เกิดขึ้นแล้วทางมโนทวาร จึงต้องพยายามจนลืมเสีย ไม่เก็บมานึกคิดอีก และตั้งใจให้มั่นว่า จะไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นอกุศลอีก ดังนี้แหละจึงได้ชื่อว่าเพียรเพื่อละอกุศลที่เกิดแล้วให้หมดไป

อีกนัยหนึ่งแสดงว่าอกุศลที่ได้ทำแล้วนั้น ที่ให้ผลแล้วก็มี ที่ยังไม่ให้ผล เพราะยังไม่มีโอกาสก็มี แต่จะอันตรธานสูญหายไปเองนั้นไม่มีเลย แต่ถ้าในชาติใดสามารถประหารสักกายทิฏฐิได้แล้ว ด้วยสัมมัปปธานทั้งสี่นี้ ชาตินั้นแหละถือว่าได้ละอกุศลที่ได้เคยทำมาแล้วอย่างสิ้นเชิง

 

กองที่ ๓ อิทธิบาท ๔

ธรรมะที่เป็นเหตุให้ถึงความสัมฤทธิ์ผล ชื่อว่า อิทธิบาท ความสำเร็จหรือสัมฤทธิ์ผล คือบรรลุถึงกุศลญาณจิต และมรรคจิต ชื่อว่า อิทธิบาท เป็นธรรมที่ให้ถึงความสำเร็จ เป็นกิจการงานอันเป็นกุศลเท่านั้น ได้แก่

  • ฉันทะ คือ ความพอใจและเต็มใจ
  • วิริยะ คือ ความพยายามอย่างยิ่งยวด
  • จิตตะ คือ การที่มีจิตจดจ่อ ฝักใฝ่แน่วแน่
  • วิมังสา คือ ปัญญา

มีข้อควรสังเกตว่า องค์ธรรมของอิทธิบาท เหมือนองค์ธรรมของธรรมที่ได้ชื่อว่าเป็นอธิบดี ซึ่งมีความหมายว่าเป็นไปเพื่อให้กิจการงานสำเร็จผลเช่นกัน แต่กระนั้นก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่ คือ ธรรมที่ได้ชื่อว่าเป็นอธิบดีได้นั้น จะเป็นไปในกิจการงานอันเป็นทั้งกุศลและอกุศล

ส่วนธรรมที่ชื่อว่าอิทธิบาทนั้น เป็นไปเพื่อความสำเร็จกิจอันเป็นกุศลฝ่ายเดียว และต้องเป็นกุศลที่จะให้บรรลุถึง มหคตกุศล คือ ฌาณจิต และโลกุตรกุศล คือ มรรคจิต เท่านั้น

ดังตัวอย่างเช่น ขโมยทำการสำเร็จได้ เพราะเขาพยายามและใช้ปัญญาหาวิธีต่างๆ จนทำทุจริตนั้นได้ จัดว่าความเพียรและปัญญาของเขานั้นเป็นอธิบดี คือ เป็นหัวหน้าหรือผู้ แต่จะเรียกว่าเป็นอิทธิบาทไม่ได้

ขอให้เข้าใจว่าธรรมที่จะชื่อว่าอิทธิบาท ต้องเป็นไปในการให้สำเร็จฌาณจิต และมรรคจิตเท่านั้น แม้แต่ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และปัญญาของพระอรหันต์ ก็ไม่ชื่อว่าอิทธิบาท เพราะท่านเป็นผู้สำเร็จอันสุดยอดแล้ว

อนึ่งการที่สำเร็จกิจนั้น ย่อมประกอบด้วยธรรม ๔ ที่เป็นองค์ธรรมของอิทธิบาท แต่การเกิดขึ้นนั้น อาจจะไม่กล้าเสมอกัน บางทีฉันทะกล้า บางทีวิริยะกล้า หรือ จิตตะกล้า ปัญญากล้า ถ้าธรรมะใดกำลังกล้า ก็จัดว่าธรรมนั้นเป็นอิทธิบาท

 

กองที่ ๔ อินทรีย์ ๕

ธรรมที่เป็นอินทรีย์นี้หมายถึง ธรรมที่เป็นใหญ่ เกิดร่วมกับคน จะเป็นได้ทั้งกุศล อกุศล แต่อินทรีย์ในโพธิปักขิยธรรมที่กำลังกล่าวอยู่นี้ มีเพียง ๕ องค์ธรรมเท่านั้น และต้องเป็นไปตามสภาวธรรมที่เป็นกุศล คือรู้ให้ถึงฌาณ และอรัยสัจเท่านั้น ได้แก่ สัทธินทรีย์

  • สัทธินทรีย์ คือ ความศรัทธาเป็นใหญ่ในอารมณ์ จะต้องเป็นภาวนาศรัทธาด้วย ไม่ใช่ปกติศรัทธา ซึ่งมีกำลังไม่แรงกล้า เพราะอกุศลอาจทำให้เสื่อมได้ จึงต้องเป็นภาวนาศรัทธา ที่เนื่องมาจากกรรมฐานต่างๆ มีอานาปานสติเป็นต้น ศรัทธาชนิดนี้แรงกล้าและแนบแน่นในจิตมาก เรียกว่าภาวนาศรัทธา อกุศลจะทำให้เสื่อมศรัทธาได้ยาก ยิ่งเป็นวิปัสสนาศรัทธาด้วยแล้ว อกุศลนั้นไม่อาจทำให้ศรัทธานั้นเสื่อมได้เลย ภาวนาศรัทธานี่แหละ ที่ได้ชื่อว่าสัทธินทรีย์ คือ มีอินทรีย์แก่กล้าฉะนั้น
  • วิริยินทรีย์ ความเพียรเป็นใหญ่ในการพยายามอย่างยิ่งยวด ซึ่งต้องเป็นความเพียรที่ต้องบริบูรณ์ด้วยองค์ ๔ แห่งสัมมัปปธาน จึงจะเรียกได้ว่า วิริยินทรีย์ในโพธิปักขิยธรรมนี้
  • สตินทรีย์ สติที่ระลึกรู้ในอารมณ์ ทันอารมณ์ปัจจุบัน อันเกิดจากสติปัฏฐาน ๔ จึงเรียกสตินั้นว่า สตินทรีย์
  • สมาธินทรีย์ การทำจิตให้เป็นสมาธิตั้งมั่น จดจ่ออยู่ในอารมณ์กรรมฐาน ไม่ฟุ้งซ่าน จึงจะเรียกสมาธินั้นว่า สมาธินทรีย์
  • ปัญญินทรีย์ ปัญญาที่ทำหน้าที่เป็นใหญ่ ในสภาวะที่เกิดร่วม ด้วยการรู้แจ้งเห็นจริงว่ามีรูปนามขันธ์ อายตนะ ธาตุ มีลักษณะเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา เต็มไปด้วยโทษภัย เป็นวัฏฏทุกข์

อนึ่งขอให้เข้าใจว่า ธรรมที่เป็นใหญ่ หรือที่เรียกว่าเป็นอินทรีย์ในโพธิปักขิยธรรมนั้น แสดงความเป็นใหญ่ในอันที่จะให้ถึงซึ่งควรตรัสรู้ มรรค ผล นิพพาน และมหคตกุศลจิตเท่านั้น

 

กองที่ ๕ พละ

พละในโพธิปักขิยธรรมนั้นมุ่งหมายเอาเฉพาะกุศลพละเท่านั้น ซึ่งมีลักษณะอยู่ ๒ ประการ คือ อดทน ไม่หวั่นไหวประการหนึ่ง และย่ำยีธรรมที่เป็นข้าศึก อีกประการหนึ่ง ดังนั้น จึงมีเพียง พละ ๕ เท่านั้น คือ

  • สัทธาพละ ความเชื่อถือเลื่อมใส เป็นกำลังให้อดทน ไม่หวั่นไหว และย่ำยีธรรมอันเป็นข้าศึก มีตัณหา เป็นต้น และต้องเป็นภาวนาศรัทธาที่เกิดจากอารมณ์กรรมฐาน ไม่ใช่ปกติศรัทธา จึงจะมีกำลังอดทน มีกำลังที่จะย่ำยีหรือตัดขาดตัณหาได้
  • วิริยะพละ ความเพียรพยายาม ก็ต้องเป็นความเพียรอย่างยิ่งยดว จึงจะมีกำลังอดทนย่ำยีโกสัชชะ คือความเกียจคร้าน อันจัดว่าเป็นข้าศึกแก่การปฏิบัติได้แน่นอน
  • สติพละ สติมีความระลึกได้ในอารมณ์กรรมฐาน จะเพียงเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในสภาวธรรมเท่านั้นยังไม่พอ ต้องมีกำลังเป็นพละ คือ มีทั้งความอดทน ไม่หวั่นไหว สามารถต้านทานกิเลสอันเป็นข้าศึกของการปฏิบัติ ได้แก่ วิกเขปะ คือ ความฟุ้งซ่าน พาให้ออกนอกอารมณ์กรรมฐาน จัดว่าเป็นข้าศึกแก่การเจริญภาวนา
  • ปัญญาพละ ต้องให้ปัญญานั้นมีกำลังอดทนเข้มเข็ง ในการที่จะย่ำยี สัมโมหะ คือ ความโง่ หลง งมงาย มืดมนอนธการ เป็นต้น

ฉะนั้นการเจริญสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนาก็ดี จะต้องให้พละทั้ง ๕ นี้ต่างมีกำลังสม่ำเสมอกัน เพราะถ้าพละได้กำลังอ่อน การเจริญภาวนาก็ตั้งมั่นอยู่ไม่ได้

 

กองที่ ๖ โพชฌงค์ ๗

คำว่า โพชฌงค์ มีความหมายดังนี้

โพธิเป็นตัวรู้ โพชฌงค์เป็นส่วนที่ให้เกิดตัวรู้ รวมความแล้วก็คือ องค์ที่เป็นเครื่องให้ตรัสรู้ คือรู้อริยสัจ ๔ สิ่งที่จะรู้อริยสัจ ๔ คือมรรคจิต องค์ที่เป็นเครื่องให้รู้อริยสัจ ๔ ที่ชื่อว่าโพชฌงค์มีอยู่ ๗ ประการ และโพชฌงค์แต่ละองค์ ต้องเนื่องมาจากเหตุผลที่ถูกต้องด้วยดังนี้

๑. สติสัมโพชฌงค์ ต้องเนื่องมาจากสติที่ระลึกรู้ในอารมณ์ของสติปัฏฐาน ๔ ไม่ใช่สติที่ปกติระลึกรู้ในอารมณ์ทั่วไป สตินั้นต้องเลื่อนฐานะกำลังขึ้นเป็นอินทรีย์ เป็นพละ แล้วสตินั้นจึงจะเลื่อนมาเป็นโพชฌงค์ เป็นสัมมาสติด้วยอำนาจของวิปัสสนาภาวนา จึงจะทำลายความประมาทได้

สติอย่างนี้แหละที่เรียกว่า สติสัมโพชฌงค์ มีความสามารถทำให้เกิดมรรคฌาณได้ มีหวังแน่นอนในการที่จะรู้แจ้งอริยสัจ ๔ สามารถที่จะได้ชื่อว่าเป็นอริยบุคคลใน ๘ จำพวกได้

ขอให้เข้าใจว่า สติเตสิกที่จะเป็นโพชฌงค์ได้นั้น ต้องบริบูรณ์ทุกอย่าง บริบูรณ์ด้วยเหตุ ๔ ประการคือ

๑.๑ ต้องมีสติสัมปชัญญะ ในมหาสติปัฎฐาน ๔ อารมณ์ต้องมาจากสติปัฎฐาน มีสติรู้ในสัมปชัญญะในสติปัฏฐาน ๔

            ๑.๒ ต้องเว้นจากการสมาคมจากผู้ที่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน

            ๑.๓ ต้องเสวนาผู้ที่เคยเจริญสติปัฏฐานอย่างถูกต้อง และเข้าใจดีด้วย

            ๑.๔ ต้องพยายามเจริญสติให้รู้อยู่ทุกอารมณ์ และทุกอิริยาบถไม่ขาด

ทั้ง ๔ อย่างนี้จะเป็นเหตุช่วยให้ สติสัมโพชฌงค์เกิดขึ้น เพราะถ้าประกอบด้วยเหตุ ๔ ประการนี้แล้ว สติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด ก็อาจจะเกิดขึ้นได้โดยไม่ลำบาก

จะเห็นได้ชัดว่า สติสัมโพชฌงค์นี้ ต้องเนื่องมาจากการเจริญวิปัสสนา ไม่ใช่มาจากอย่างอื่น เพียงแต่รักษาศีลหรือเจริญสมาธิเท่านั้นก็ไม่อาจเกิดได้ ต้องเจริญวิปัสสนาในมหาสติปัฏฐาน ๔ ด้วย

๒. ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ โพชฌงค์นี้ ได้แก่ปัญญาที่รู้สภาวะของรูปธรรมนามธรรมว่าเป็นอนิจจัง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่ตัวตนที่จะบังคับบัญชาได้ เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

ฉะนั้นปัญญาที่จะเข้าถึงธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์นี้ ไม่ใช่ปัญญาธรรมดาที่รู้อย่างอื่น ต้องเป็นปัญญาที่เกิดจากการเจริญสติปัฏฐาน และปัญญานี้จะต้องต่อเนื่องจากอิทธิบาท อินทรีย์ และพละด้วย

ฉะนั้นขอให้ทำความเข้าใจด้วยว่า ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ ต้องสมบูรณ์ด้วยเหตุ ๔ ประการ ดังนี้

๒.๑ ต้องเข้าใจวิปัสสนาภูมิ ๖ คือ ขันธ์ อายตนะ อินทรีย์ ปฏิจจสมุปบาท อริยสัจ แต่เมื่อสรุปโดยย่อแล้ว ก็ได้แก่รูปธรรมนามธรรม

ฉะนั้นเมื่อเราพิจารณารูปนาม ก็ชื่อว่าเราพิจารณาวิปัสสนาภูมิ ๖ แต่ผู้ที่ขาดการศึกษา ก็ไม่สามารถที่จะรู้และเข้าใจแตกฉานในภูมิของวิปัสสนา สำหรับผู้ที่เคยเรียนรู้ปริยัติมาบ้างแล้ว ก็สามารถที่จะเลือกพิจารณาภูมิใดภูมิหนึ่งตามความพอใจ วิปัสสนาภูมินี้แหละเป็นอารมณ์ของปัญญา ที่จะทำให้ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์เกิดขึ้น

๒.๒ ต้องทำอินทรีย์ให้สม่ำเสมอ คือปัญญากับศรัทธาต้องมีกำลังเสมอกันเมื่อพิจารณา เพราะถ้าศรัทธามากเกินไป ก็จะขาดเหตุผล ถ้าปัญญามากเกินไปแม้จะรู้จะเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เมื่ออ่อนศรัทธา ไม่เลื่อมใสแล้วก็ไม่อาจบรรลุธรรมได้

วิริยะกับสมาธิก็เช่นเดียวกัน จำเป็นต้องให้เสมอกัน ถ้าอย่างใดอย่างหนึ่งอ่อนหรือแรงเกินไป ก็จะไม่ทำให้ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์เกิดได้เช่นเดียวกัน เพราะถ้าสมาธิมากเกินไปจะเกิดความสงบ ก็จะเพลิดเพลินพอใจความสงบนั้นเสีย ฉะนั้นต้องอาศัยความเข้าใจทำให้อินทรีย์เสมอกัน

ถ้าศรัทธาสมาธิแรง ก็จะทำให้ตัณหาความพอใจเกิด และถ้าปัญญามากไป ก็จะทำให้เกิดวิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ทำให้ฟุ้งซ่าน สงสัยไปว่าทำไมเป็นอย่างนั้น ควรจะเป็นอย่างนี้ ทำให้คิดค้นมากเกินไป หรือถ้าปริยัติเข้ามามากเกินไป ปัจจุบันอารมณ์จะพลอยเสียไปด้วย เพราะอาจจะนึกรู้ไปก่อน เป็นวิปัสสนึก จะทำให้ไม่สามารถเข้าถึงโพชฌงค์นี้ได้

วิริยะถ้ามากนักก็จะฟุ้งซ่าน ส่วนสมาธิมากก็จะมีอาการคล้ายซึมเซ่อ ซึมเซอะ และเอาแต่ความสงบ จะทำให้ขาดการขวนขวายในธรรม

ส่วนสตินั้นมีมากเท่าใด รู้ทันอารมณ์ทุกขณะก็ยิ่งดีมาก เพราะฉะนั้นสตินี้ทำให้มากเข้าไว้ จะรู้เท่าทันเหตุการณ์ได้ ใม่เหมือนอย่างอื่น

๒.๓ ต้องสมาคมกับผู้ที่เจริญวิปัสสนา เข้าใจสภาวะของรูปนาม เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ต่อกัน

๒.๔ ต้องมีสติรู้ทันอารมณ์อิริยาบถ เพราะปัญญาที่เข้าในโพชฌงค์นี้ ต้องพิจารณาเข้ากับความเกิดดับของรูปนาม สภาวะลักษณะของรูปนาม มิฉะนั้นจะเข้าถึงโพชฌงค์นี้ไม่ได้แน่นอน

๓. วิริยะสัมโพชฌงค์ ได้แก่ ความเพียรพยายามในกิจของสัมมัปธาน ๔ นั่นเอง แต่การที่จะวิริยะจะขยับเลื่อนขึ้นมาเป็นโพชฌงค์ จะต้องอาศัยเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน

ขอให้เข้าใจว่า วิริยะจะเป็นองค์ของโพชฌงค์ได้ก็ต้องสมบูรณ์ด้วยเช่นกัน ต้องรู้และมั่นใจในอานิสงส์ของความเพียรว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรารถนา ต้องอาศัยความเพียรพยายามไม่ท้อถอย ต้องอดทน ถ้าไม่มีความเพียรแล้ว ความสำเร็จจะมีไม่ได้เลย

คบหาสมาคมกับคนที่ขยันหมั่นเพียร หลีกเลี่ยงบุคคลที่เหลาะแหละเกียจคร้าน มั่นใจว่าสติปัฏฐานสี่นี้เท่านั้น เป็นทางที่พระอริยเจ้าทั้งหลายล้วนปฏิบัติมาแล้วทั้งสิ้น ท่านจึงผ่านเข้าถึงความเป็นอริยบุคคลได้

๔. ปีติสัมโพชฌงค์ ปีติและความอิ่มเอิบใจนี้ มีได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา ถ้าปีติในสมถะก็ได้แก่ปีติที่เป็นองค์ฌาน ส่วนปีติในวิปัสสนาก็คือ ความอิ่มใจในการเจริญวิปัสสนา

ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน เมื่อมีสติรู้ทันอารมณ์ มีปัญญาเข้าใจสภาวะ เห็นสภาพไตรลักษณ์ของรูปนาม รู้สึกตัวมีความเพียรอย่างจริงจัง ไม่ย่อท้อย่อมเกิดปีติชื่นชมเป็นธรรมดา

ปีติในวิปัสสนาย่อมทำลายความเฉื่อยชา เบื่อหน่ายได้ การระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตลอดจนคุณของพระนิพพาน ก็เป็นเหตุให้ปีติเกิดได้

การละเว้นที่จะคบหาผู้ที่ปราศจากศรัทธาหมั่นเจริญสติปัฎฐาน หากได้ปฏิบัติบริบูรณ์ด้วยคุณธรรมที่กล่าวมานี้แล้ว ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดได้

๕. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ มีลักษณะทำให้จิตใจสงบเยือกเย็น รู้สึกสบายใจ ความสงบประณีตของปัสสัทธินี้ อาจถึงทำให้เข้าใจผิด สำคัญว่าความสงบสบายนั้นคือเข้าถึงพระนิพพานแล้ว กลายเป็นวิปัสนูปกิเลส คือ กิเลสของพระนิพพานไป

ปัสสัทธิที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ แม้จะเกิดในวิปัสสนาก็ตาม ปัสสัทธิที่จะเป็นองค์ของโพชฌงค์ ต้องเป็นไปตามอารมณ์ที่ประกอบด้วยไตรลักษณ์

ฉะนั้นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์จะเกิดได้ ต้องสมบูรณ์ด้วยเหตุดังต่อไปนี้

๕.๑ บริโภคอาหารให้สมควร ทั้งปริมาณและคุณภาพ

๕.๒ อยู่ในที่ที่มีอากาศพอเหมาะพอสบาย

๕.๓ ใช้อิริยาบถที่สะดวกสบาย ไม่ต้องฝืนจนเกินไป

๕.๔ พิจารณาเชื่อว่ากรรมดีนั่นแหละเป็นที่พึ่งของตน

๕.๕ เว้นการสมาคมกับบุคคลทุศีล

๕.๖ สมาคมกับผู้มีศีล มีกาย วาจาสงบไม่เพ้อเจ้อ

๕.๗ ต้องมีสติสัมปชัญญะอยู่ทุกอารมณ์จิต ทุกอิริยาบถ

ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยธรรม ๗ ประการนี้ จะทำให้ปัสสิทธิสัมโพชฌงค์เกิดขึ้น ความจริงแล้ว ปัสสิทธินี้ก็ไม่ได้มาจากไหน ได้มาจากปีตินั่นเอง ปัสสิทธิต้องมีด้วย

เมื่อปีติยังมีกำลังกล้าอยู่ แสดงว่ายังอิ่มเอิบตื่นเต้นอยู่มาก จึงยังไม่เห็นอาการของปัสสัทธิ เมื่อปีติสงบลงบ้างแล้ว ปัสสัทธิจะปรากฏอาการ ความสงบสบายจะปรากฎชัดขึ้น เป็นเหตุเป็นปัจจัยของกันและกันดังนี้

๖. สมาธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์นี้มีทั้งสมถะและวิปัสสนาเหมือนกัน เพราะผู้ที่ได้ฌานแล้ว จะยกองค์ฌานขึ้นพิจารณาวิปัสสนาได้ สมาธินั้นก็จะเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา สมาธิในฌานนั้นเป็นอัปปนาสมาธิ

เหตุที่จะเกิดสมาธิสัมโพชฌงค์จะต้องบริบูรณ์ด้วยเหตุดังนี้

๖.๑ ต้องรักษาความสะอาดในปัจจัยสี่ มีอาหารเป็นต้น

๖.๒ ต้องเจริญศรัทธากับปัญญา วิริยะกับสมาธิให้เสมอกัน อย่าให้มากน้อยกว่ากัน

๖.๓ ต้องเข้าใจรักษานิมิตของสมถกรรมฐาน และอารมณ์วิปัสสนากรรมฐาน กำหนดเสีย ต้องเข้าใจยกจิตให้แก่กล้าขึ้น

๖.๔ ถ้าวิริยะอ่อนก็ต้องมีปัญญา ต้องมนสิการ ให้วิริยะแก่กล้าเสมอกับสมาธิ (ปีติจะช่วยวิริยะให้มีกำลังขึ้น)

๖.๕ ถ้าวิริยะอ่อนลง สมาธิอ่อนลง ความฟุ้งซ่านจะมีมากขึ้นในบุคคลนั้น อันความฟุ้งซ่านเป็นกิเลสเป็นเหตุให้เกิดนิวรณ์ ต้องปรับจิตให้อยู่ในปัจจุบันอารมณ์

ถ้าไม่ปรับจิตให้อยู่ในปัจจุบันอารมณ์เป็นนิวรณ์ ขณะใดที่ได้อารมณ์ปัจจุบัน ความฟุ้งซ่านหรือนิวรณ์จะเกิดไม่ได้เลย

เหตุที่เกิดความฟุ้งซ่านก็เพราะสติรับปัจจุบันอ่อนหรือน้อยไป จะต้องพยายามให้จิตอยู่ในปัจจุบันอารมณ์เสมอ ความฟุ้งซ่านก็จะหมดลงไปเอง โดยดับไป จะใช้วิธีบังคับอื่นใดไม่ได้เลย เพราะทุกอย่างย่อมเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่ที่อยากหรือต้องการให้เป็นไป

๖.๖ ทำใจให้ยินดีในความไม่ประมาท มีสติอยู่ตลอดเวลา คือ ตัวกำหนดทุกอย่าง อย่าขาดกำหนด ต้องเจริญพระกรรมฐานให้ถูกกับจริต ต้องปราศจากปลิโพธกังวล อันเป็นความกังวลในใจเสีย

เว้นจากการคบหาสมาคมกับบุคคลที่ช่างพูด ช่างเจรจา ต้องเว้นไป อย่าไปคบหาบุคคลที่ช่างพูด ช่างเจรจา ชอบคุย ออกสมาคมกับผู้ที่รักษาความสงบระงับ

สำหรับผู้ที่เจริญฌานก่อนจะยกองค์ฌานขึ้นสู่อารมณ์วิปัสสนา จะต้องมีวสีชำนาญในองค์ฌานมาก่อน จึงจะยกอารมณ์เข้าสู่วิปัสสนาได้ ไม่ใช่พอได้ฌานแล้วก็ยกขึ้นสู่อารมณ์วิปัสสนาได้เลย

ต้องมีสติสัมปชัญญะ ต้องรู้สึกทันทุกอารมณ์ทันปัจจุบันทุกอิริยาบถด้วย เมื่อบริบูรณ์ด้วยอุปการธรรมอย่างนี้แล้ว สมาธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดก็จะเกิดขึ้น

๗. อุเบกขาสัมโพชฌงค์ มีลักษณะวางใจให้เป็นกลาง เชื่อมั่นต่อกรรม เชื่อว่าทุกอย่างย่อมเป็นไปตามผลกรรม ที่ว่าวางใจให้เป็นกลางนั้น คือ ไม่ยินดีต่อความสุข ไม่เดือดร้อนต่อความทุกข์ที่มีต่อตน

เพราะเชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นไปตามอำนาจของกรรม ไม่มีผู้ใดจะแก้ไขกรรมที่ทำมาแล้วได้ ทำใจไม่ยินดี ยินร้ายในอารมณ์ที่ตนประสบ ในเวลาที่ตนเจริญพระกรรมฐาน

ธรรมที่ช่วยอุปการะอุเบกขาสัมโพชฌงค์มีดังต่อไปนี้

๗.๑ ต้องพิจารณาให้รู้และเข้าใจว่า สภาวะที่เป็นอยู่นี้ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงรูปนามเท่านั้น

๗.๒ ตั้งจิตใจเป็นกลางในสังขารว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแต่อนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา ไม่เสียใจเมื่อจะต้องมีการสูญเสีย

๗.๓ เว้นจากการคบกาสมาคมกับบุคคบที่ยังยึดมั่นเหนียวแน่นในสมมติ ในสัตว์บุคคล ว่าเป็นของเรา ของเขา

๗.๔ สมาคมคบหากับบุคคลที่เข้าใจสังขาร รู้จักสภาวธรรม

๗.๕ มีสติสัมปชัญญะทุกอารมณ์ น้อมใจให้มั่นคง วางใจให้เป็นกลางๆ

อุเบกขาสัมโพชฌงค์นี้ จัดว่าเป็นองค์สำคัญองค์หนึ่งของโพชฌงค์ คล้ายกับปล่อยวางได้แล้ว ปัญญาพอที่จะตรัสรู้ในอริยสัจได้แล้ว

ความสำคัญของโพชฌงค์เจาะจงที่วิปัสสนาไม่ใช่สมาธิ ที่เอาสมถะมาสงเคราะห์ไว้กับโพชฌงค์ด้วย ก็มุ่งหมายถึงผู้ที่เจริญสมถกรรมฐาน ปรารถนาจะยกองค์ฌานขึ้นสู่อารมณ์วิปัสสนา

เพราะฉะนั้นสมถะที่กล่าวว่าเป็นองค์โพชฌงค์ได้ หมายเอาสมถะที่สงเคราะห์เป็นอารมณ์วิปัสสนาได้ ทั้งนี้เพราะการที่จะเป็นโพชฌงค์ ต้องมาจากการเจริญสติปัฏฐาน ๔ เท่านั้น เพราะโพชฌงค์ในโพธิปักขิยธรรมก็คือธรรมในธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หากแต่กำลังและการงานของสภาวธรรมนั้น มีกำลังแก่กล้าขึ้นตามลำดับของภูมิธรรม

บางท่านอาจคิดว่าตนเองปฏิบัติ เจริญสติปัฏฐานมานานแล้ว และได้อารมณ์ดีด้วย เหตุใดจึงไม่บรรลุมรรคผล ขอให้เข้าใจเถิดว่า เพราะองค์ธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเช่น สติ ปัญญา วิริยะ ศรัทธา สมาธิเป็นต้น ยังไม่บรรลุถึงความเป็นโพชฌงค์ อันเป็นองค์ที่ตรัสรู้

ฉะนั้นจะต้องสำรวจอารมณ์ของตนว่า อันใดยังบกพร่องจะต้องพยายามทำให้สมบูรณ์ขึ้น จำเป็นต้องรู้ถึงอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจงอย่าท้อถอย

ให้เข้าใจเถิดว่า การที่จะบรรลุมรรคผล รู้แจ้งในอริยสัจ ๔ นั้น มิใช่ของที่จะทำได้ง่ายเลย จะต้องเข้าใจเหตุแลผลอย่างละเอียดรอบคอบ มีทางเดียวคือเจริญสติปัฏฐาน ๔

 

กองที่ ๗ มรรคมีองค์ ๘

มรรคที่จัดไว้ในหมวดโพธิปักขิยธรรมนี้กล่าวเฉพาะมรรคที่เป็นทางชอบแต่อย่างเดียว จึงมีเพียง ๘ มรรค เรียกว่า อัฎฐังคิกมรรค มรรคมีองค์ ๘ ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบด้วยการเห็นว่า ร่างกายหรือสังขาร ที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมานี้ ไม่มีแก่นสาร เป็นเพียงธรรมชาติรูปกับนามเท่านั้น รูปกับนามนี้ยังเป็นสภาพอนิจัง คือไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทุกขัง เพราะความเปลี่ยนแปลงไม่คงที่ จึงทำเป็นทุกขัง และยังเป็นอนัตตา คือ ไม่มีตัวตนที่บังคับบัญชาได้ จะมีสภาพเป็นไปตามเหตุปัจจัย หมดเหตุปัจจัยก็หมดไปเองด้วย ไม่เป็นไปตามความต้องการของผู้ใดทั้งสิ้น

๒. สัมมาสังกัปปะ คือ การคิดดำริแต่สิ่งที่ชอบ ไม่ออกนอกลู่นอกทาง จะกล่าวว่าเป็นความดำริที่สนับสนุนความเห็นชอบ คือ สัมมาทิฏฐิก็ได้ เพราะความดำรินั้น คือ คิดแต่หนทางที่จะให้พ้นจากวัฏฏทุกข์เท่านั้น

๓. สัมมาวาจา คือ พูดจาแต่สิ่งที่ชอบ หมายถึงการสำรวมระวังในการพูด ไม่ให้ผิด ได้แก่ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดจาหยาบคาย ไม่พูดส่อเสียด และไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล

ขอให้สังเกตด้วยว่า การปฏิบัติตามมรรค ๘ นี้ต้องรักษาศีลมากกว่าผู้ที่สมาทานศีลธรรมดา เพราะต้องเว้นจากการกระทำที่เกี่ยวกับกายวาจา

แม้แต่การเลี้ยงชีพที่ไม่ดี ไม่ถูกต้องทุกอย่าง เช่นการพูดเท็จ จะต้องไม่มีการหยอกล้อ หรือหลอกลวงผู้อื่นด้วยวาจา เว้นจากการพูดหยาบคายทุกชนิด แม้ว่าจะเป็นการด่าประชด กระทบกระแทก เปรียบเปรยก็ตาม

ไม่พูดส่อเสียด อย่าพูดใส่ร้ายหรือยุยงให้แตกแยกกัน และเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ คือพูดพล่อยๆ ไม่เป็นสาระ แม้จะเป็นการพูดสนุก ขบขัน ก็ควรเว้น รวมทั้งการพูดทำนองโอ้อวดคุณวิเศษของตนเองด้วย

๔. สัมมากัมมันตะ การทำงานนี้หมายถึง งานทั่วไปที่จะพึงกระทำ ต้องกระทำด้วยการมีสติรู้ตัวอยู่เสมอ เว้นจากการทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน แม้ว่าการกระทำนั้นจะเป็นเพียงเพื่อความสนุกสนานชั่วครั้งชั่วคราวก็ตาม ผู้ปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ นี้ ต้องละเว้น

๕. สัมมาอาชีวะ ท่านกำหนดไว้ว่า เลิกจากการหาเลี้ยงชีพในทางที่ผิด ที่เป็นมิจฉาชีพ อาชีพที่ทำให้เดือนร้อนผู้อื่น ตัวอย่างเช่น ฆ่าสัตว์ขาย ทำของปลอมปน เป็นต้น ถ้าบรรพชิตก็เว้นจากการตั้งตนเป็นอาจารย์ผู้วิเศษ ใบ้หวย และกิจกรรมอื่นนอกรีตนอกรอยของบรรพชิตที่ไม่ควรทำ

๖. สัมมาวายามะ คือมีความเพียรพยายามในทางที่จะพ้นทุกข์ หรือตามหลักของสัมมัปปธาน ๔

๗. สัมมาสติ การระลึกชอบ ตรงกับสติปัฏบาน ๔ นั่นเอง ที่ว่าระลึกในที่นี้คือ การพิจารณาเนืองๆ ใน ๔ อย่างต่อไปนี้

๗.๑ พิจารณาเห็นกายในกาย

๗.๒ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา

๗.๓ พิจารณาเห็นจิตในจิต

๗.๔ พิจารณาเห็นธรรมในธรรม

จะไม่อธิบายซ้ำอีก เพราะได้อธิบายไว้หมดแล้วในหมวดสติปัฏฐาน ๔

๘. สัมมาสมาธิ คือการตั้งใจแน่วแน่ในการเจริญสติปัฎฐาน เพื่อบรรลุถึงมรรคและนิพพาน บางท่านเจริญฌาน เมื่อได้ฌานแล้ว จึงยกเอาองค์ฌานขึ้นสู่อารมณ์ของวิปัสสนา จะเห็นได้ว่ามรรคมีองค์ ๘ นี้ มีพร้อมทั้ง ศีล สมาธิ ปัญญา การปฏิบัติต้องอาศัยการเกี่ยวเนื่องกันอย่างพรั่งพร้อม จึงจะสำเร็จกิจ จึงจะประหารกิเลสได้

ในมรรคมีองค์ ๘ นี้ ท่านแสดงสัมมาทิฏฐิมรรค คือ ความเห็นที่ชอบที่ถูกต้อง อันได้แก่ปัญญาไว้ก่อน เพราะเป็นองค์ที่มีอุปการะคุณอย่างยิ่ง

การที่จะสำเร็จมรรคผล เห็นแจ้งในอริยสัจ ๔ นั้น จะขาดปัญญาหรือแม้แต่กำลังของปัญญาอ่อนยิ่งหย่อนไปไม่ได้เลย

ท่านอธิบายไว้ว่า เมื่อมีปัญญาชอบแล้วก็ย่อมคิดชอบ เมื่อคิดชอบแล้วก็จะพูดชอบ เจรจาชอบ มันเป็นการชอบไปหมดดังนี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้นท่านสาธุชน โปรดได้ทราบดังที่กล่าวนี้ เมื่อพูดชอบก็ย่อมทำชอบ เมื่อเป็นผู้ทำการงานชอบก็ย่อมมีความเป็นอยู่เลี้ยงชีพชอบไปด้วย เมื่อมีอาชีพที่ชอบที่มั่นคง ก็ย่อมมีความเพียร ความพยายามที่จะดำรงชีพนั้น เมื่อมีความพากเพียรที่ชอบ ก็ย่อมมีการระลึกนึกแต่ในทางที่ชอบ ที่ถูกต้อง เมื่อมีสติระลึกชอบแล้ว ก็ย่อมมีความตั้งใจแต่ในสิ่งที่ชอบที่ควรกระทำ

อันมรรคมีองค์ ๘ นี้ มีทั้งที่เป็นโลกียะ และโลกุตระ จะแตกต่างกันบ้างก็คือ ถ้าเป็นโลกียะ จะไม่พร้อมกันทั้ง ๘ มรรค แต่ถ้าเป็นโลกุตระแล้ว ต้องพร้อมกันทั้งองค์ ๘ เป็นมัคคสมังคี ต้องประกอบพร้อมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เรียกว่าพร้อมทั้งศีล สมาธิ ปัญญา คือไตรสิกขา ๓

มรรคที่เป็นโลกียะ มีอารมณ์อย่างอื่นได้ แต่มรรคที่เป็นโลกุตระ จะต้องมีอารมณ์เป็นนิพพานอย่างเดียวเท่านั้น โดยเฉพาะศีลในโลกียะนั้น เพียงเว้นสิ่งอันพึงเว้นที่ปรากฏเฉพาะหน้า แต่โลกุตระไม่ต้องมีวัตถุเว้น เพราะวีรติเจตสิก หรือศีลที่เป็นโลกุตระนั้น เป็นองค์มรรคที่มีหน้าที่ประหารกิเลส ไม่ใช่มีหน้าที่เพียงละเว้นการงานทุจริต

เพราะหน้าที่หรือกิจการของมรรค ประหารกิเลสได้ทุกสมุทเฉทคือเด็ดขาด แต่มรรคในโลกียะ เพียงข่มไว้ได้ชั่วคราว เวลาเจริญฌาน เรียกว่า วิขัมภนประหาร หรือเพียง ตทังคประหาร

ขอให้เข้าว่าสติปัฎฐาน ๔ และอัฏฐังคิกมรรคในโพธิปักขิยธรรม สติปัฏฐาน ๔ อันเป็นธรรมหมวดแรกนั้น ทำหน้าที่เพื่อให้แจ้งพระนิพพาน แต่มรรคมีองค์ ๘ อันเป็นหมวดสุดท้าย ก็เป็นไปเพื่อให้แจ้งพระนิพพาน

ฉะนั้นการที่จะบรรลุมรรคผลนิพพาน ต้องดำเนินไปตามทางสายกลาง คือ มัชฌิมาปฏิปทา อันมีสติปัฏ-ฐาน ๔ และมรรคมีองค์ ๘ เป็นจุดเริ่มต้นและจุดที่จะให้สำเร็จ แต่ในขณะที่บรรลุแจ้งพระนิพพานนั้น โพธิปักขิยธรรมต้องประกอบ หมายถึง ทำหน้าที่พร้อมเพรียงกัน

ขอกล่าวย้ำเกี่ยวกับการปฏิบัติวิปัสสนาธุระนี้ เป็นสิ่งสำคัญข้อหนึ่งของสัทธรรม ๓ เพราะนอกจากจะเรียนรู้ปริยัติสัทธรรมแล้ว ก็ต้องเจริญสัทธรรมข้อ ๒ อันได้แก่ ปฏิบัติสัทธรรม

ถ้าปรารถนาจะให้หลุดพ้นจากวัฏฏทุกข์ ก็มีทางเดียว คือเจริญวิปัสสนา มีสติปัฏฐาน ๔ และมรรคที่องค์ ๘ เป็นทางเดิน จึงจะสามารถดึงสัทธรรมข้อ ๓ คือ ปฏิเวทสัทธรรม อันนำมาซึ่งสันติสุขถาวร

พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญการปฏิบัติเยี่ยงนี้ว่า เป็นการบูชาอย่างเยี่ยมยอด แนวทางวิปัสสนานี้ ถือเป็นการเอารูปธรรม นามธรรม เป็นกรรมฐาน เอารูปนามเป็นอารมณ์ เอารูปนามเป็นทางเดิน โดยมีสติเป็นผู้เพ่ง ปัญญาเป็นผู้รู้ เพื่อให้แจ้งแทงตลอดในสภาวธรรม ที่หลงยึดมั่นถือมั่นว่ามีสภาพความเป็นจริงอย่างไร และละโมหะที่ทำให้หลงงมงายออกเสียได้

พระพุทธเจ้าทรงตรัสเตือนผู้ปรารถนาจะบำเพ็ญวิปัสสนาธุระอย่างถูกต้องและได้ผลสมความปรารถนา สรุปได้ดังนี้

  • ต้องมีผู้แนะนำสั่งสอน คือ มีกัลยาณมิตร
  • มีที่ปฏิบัติที่สงบสงัดเป็นสัปปายะ
  • ต้องมีธรรม คือ ความตั้งใจจริง ความไม่ประมาทและปัญญา
  • ไม่มีปลิโพธ คือ ไม่กังวล ห่วงใยใดๆ ทั้งสิ้น

ฉะนั้นผู้ที่จะปฏิบัติ ควรจะประกอบองค์คุณธรรม คือ มีความเลื่อมใส ศรัทธาจริง ไม่มีหนี้สินที่จะทำให้ห่วงกังวล ไม่มีโรคร้ายแรง โรคติดต่อ ไม่เป็นโรคจิต โรคประสาท พร้อมที่จะทำความเพียรได้ และควรเป็นบุคคลที่มีระเบียบแบบแผน พร้อมที่จะปฏิบัติตามระเบียบกติกา ของสำนักวิปัสสนากรรมฐานทุกประการ

ขอความสุขสวัสดีจงมีแก่สาธุชนทุกท่านเทอญ