บรรพชาเป็นสามเณร
ช่วยเตี่ยขึ้นจากนรกได้
โดย หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม
๒๙ มี.ค. ๓๖
เจริญสุข
พระภิกษุสามเณรนวกะ
ที่อุปสมบทเป็นพระภิกษุ
และบรรพชาเป็นสามเณรในวันนี้
วันนี้จะชี้แจงให้โอวาท ปลูกศรัทธาให้ก่อน เหมือนปลูกต้นไม้ รดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ยมันจึงจะงาม ภิกษุสามเณรทั้งหลาย โปรดปลูกความเชื่อ ให้มีจิตตั้งมั่น ให้มีกุศล ไม่อย่างนั้นเราไม่มีศรัทธา ไม่มีความเชื่อ ไม่มีความเลื่อมใส ไม่ได้ผลนะ ต้องทำด้วยศรัทธาทำด้วยความเคารพ ทำด้วยจิตสงบ ทำด้วยความถูกต้อง ทำด้วยปัญญาของตน โปรดฟังโอวาทสืบต่อไป ณ บัดนี้
ภิกษุสามเณรนวกะที่รักทั้งหลาย ที่เรามาบวชกันเรียกคำกลาง ๆ ว่า บวช แยกประเภทไปเป็นการบรรพชาอุปสมบท เราจะบวชเป็นพระภิกษุ จะผ่านการบรรพชาก่อน เรียกว่าสามเณร
โบราณท่านพูดไว้ บวชเณรให้แม่ บวชพระให้พ่อ เขาพูดกันอย่างนั้น เรามานึกดูว่า ทำไมหนอบวณเณร จึงให้แม่ บวชพระให้พ่อ
เราจะเห็น ล้านนาไทย มีลูกแก้ว ลูกขวัญตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ ปู่ย่าตายาย รับมิ่งชิงขวัญ ลูกเกิดมาเป็นชาย เขาเรียกลูกแก้วลูกขวัญ ลูกที่จะดำรงวงศ์ตระกูลต่อไป
บรรพชาเป็นสามเณรล้านนาไทย เขาจะแห่รอบบ้าน ขี่คอแต่งตัวเหมือนเทวดา บ้านนี้มีชายโสภา ลูกดีมีปัญญา ลูกแก้วลูกขวัญ แห่กันรอบหมู่บ้านของตน
เข้ามาวัดแห่มา ญาติวงศ์พงศา มากมายเป็นการรับมิ่งชิงขวัญ ว่าลูกแก้วลูกขวัญยังเด็กเล็กนัก มาบรรพชาเป็นสามเณร คนแก่คนเฒ่า ก็มารับมิ่งชิงขวัญ เชิญบายศรีขึ้นหลัก ดอกไม้นานาชนิด และเอาด้ายสายสิญจน์มาผูกมือลูกหลาน รับมิ่งชิงขวัญ เรียกสามเณรแก้ว สามเณรขวัญ จะดำรงวงศ์ตระกูลเขาต่อไป
นี่แหละพ่อแม่ครั้งโบราณรักลูกอย่างนี้ เขาก็ต้องให้ลูกดีตั้งแต่ลูกหัวเท่ากำปั้นเล็ก ๆ ไม่ใช่มาวิ่งเล่นกันนะพ่อเณร
วันนี้เขามาเล่าเองนะ เขามาเห็นเณรเขาดีใจ ยังไม่ทันบวชได้กี่วันเลยเรียบร้อย หลวงพ่อดีใจมากตรงนี้ซิ น่าศรัทธาของประชาชน มาเห็นพ่อเณรพ่อพระเรียบร้อย
มีทั้งครูอาจารย์สอนบาลีสร้างความดีในปริยัติ แต่ปฏิบัติไม่มี ยังไม่ได้ ต้องมีทั้งภาควิชาการและภาคปฏิบัติการ
ภาคทฤษฎีคือ วิชาการที่เรียนตัวหนังสือ ภาคปฏิบัติการก็เรียกว่าปฏิบัติตามตัวหนังสือ ปฏิบัติตามวิชาการภาคทฤษฎีนั่นเอง
หลวงพ่อดีใจที่เขามาเลี้ยงเพลกันในวันนี้ ถามว่า “หลวงพ่อ! บวชได้กี่วัน” ตอบว่า “เมื่อวานนี้เอง” เขาบอกว่า “โอ๊ย! เรียบร้อยดีนี่”
พูดเท่านี้หลวงพ่อชื่นใจ ดีใจมาก ได้สามเณรแก้ว สามเณรขวัญ มิ่งขวัญคือความดีมีปัญญา
สิริ แปลว่า มิ่งขวัญ เราเกิดสิริแล้ว พ่อเณรมีสิริมิ่งขวัญมงคลที่เราจะมาสร้างกุศลกันนี่ดีมาก ขอโปรดปฏิบัติตามครูอาจารย์อีกด้วย
สามเณรแก้ว คือแก้วสารพัดนึก แก้วเจียระไน เรามาบวชเณรก็มารเจียระไนแก้วให้ใส ให้แวววาว เจียระไนตรงไหน ก็มาฟังวิทยากร มาฟังคณาจารย์ พระครูสังฆรักษ์ และพี่เลี้ยงทุกท่าน ก็ช่วยพ่อเณร ทำแก้วให้ใสสะอาด เจียระไนให้มัน แวบวาบ นี่ลูกแก้ว
ลูกขวัญ มิ่งขวัญมงคล หมายความว่า แก้วเจียระไนดีแล้ว ใสสะอาด แวบวาบ แก้วเจียระไนราคาแพงพ่อเณร ไม่มีขุ่น ไม่มีฟอง
เจียระไนก็คือ บวชเรียนปฏิบัติธรรม ครูอาจารย์มาก็เจียระไนสามเณรแก้วก็แวววาวระยับ จับหางตาคน
เณรแก้วเณรสิริมิ่งขวัญเกิดแล้ว ถ้าแก้วไม่ดี แก้วไม่เจียระไน แก้วมัว ไม่มีมิ่งขวัญมงคล ไม่ใช่ลูกมิ่งขวัญ ไม่ใช่ลูกแก้ว เป็นลูกลิง ด่าง บ่าง ชะนี หาดีไม่ ตรงนี้ พ่อเณรตีความหมายออกนะ อย่าเป็นลิงนะ
เณรแก้วก็คือปฏิบัติธรรมฟังครูอาจารย์ แล้วก็ปฏิบัติตาม เป็นการเจียระไนแล้ว เหมือน เพชรมีหลายเหลี่ยม ส่องแสงแวบวับ
เหมือนเรามีวิชาความรู้ปฏิบัติธรรมได้ จะมีหลายเหลี่ยม ส่งแสงออกระยิบระยับ
พระภิกษุก็เช่นเดียวกัน บวชในพระศาสนาก็คือ บวชเรียน บวชปฏิบัติ ไม่ใช่บวชกินกับนอน บวชคอยงาน บวชสังขารเสื่อม แต่บวชด้วยเลื่อมใส ต้องอดทนต่อสู้ มาเจียระไนเช่นเดียวกัน
โบราณล้านนาไทย เวลาบวชพระภิกษุ บรรลุนิติภาวะแล้ว ดีแล้ว รู้แล้วไม่ต้องไปแห่ ไม่ต้องมาให้พรมาก
จะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า มีเถิดเทิงเทิ้งบ่อง เอานาคขี่คอแล้วเต้นไปเป็นบาป ขอเรียนพระภิกษุ นวกะ ไว้ด้วย เป็นบาปนะ
เขตพัทธสีมาเป็นที่เคารพ ทำไมเอาเหล้าไปกิน เอาเทิ้งบ่องไปแห่ แอ่นหน้าแอ่นหลัง ล้อเลียนพระพุทธเจ้าเป็นบาปที่สุด
เข้าเขตการเคารพคือเขตพุทธาวาส เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า ต้องถอดรองเท้า หุบร่ม ต้องห่มผ้า อย่างนี้เป็นการแสดงความเคารพ
นี่เราถือเป็นกรณีพิเศษ ถ้าฝ่าฝืนขืนกระทำแสดงว่าไม่เคารพ พระบรมครูศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ขาดการเคารพ ไม่ได้บุญ ไม่ได้ความดีด้วย แค่การเคารพกันยังทำไม่ได้ ไหนเลยล่ะจะไปเรียนวิชาตรงไหน
ไม่เคารพครูบาอาจาร์ ไม่เคารพสถานที่ ที่เป็นพุทธาวาส เปรียบปฏิมากรรมแทนพระพุทธเจ้า จะเอาคำสั่งสอนตรงไหน มันจะไม่มีศรัทธา
พ่อเณรต้องปลูกศรัทธา ปลูกความเชื่อ พอใจอดทน ถึงจะสร้างกุศลในการบวชนี้ได้
อธิกุศล แปลว่า เอาบุญมาใส่ใจตนเอง คือการบวชนี่เอง ไม่ใช่ได้บวชสงเคราะห์ เราจะสงเคราะห์คนอื่นยังไงก็ตาม ยังใช้ไม่ได้ ต้องสงเคราะห์ตัวเองก่อน ช่วยตัวเองก่อนเรียกว่า บุญ อธิกุศล
โดยเฉพาะชายชาติเชื้อ ที่พ่อเณรมาบวชกันนี้ พ่อเณรได้ด้วยตนเอง พระภิกษุนวกะได้ด้วยตนเอง พ่อแม่ปู่ย่าตายายเขาไม่ได้รับผิดชอบให้กันได้ แต่ลูกเณรได้ ลูกพระได้ ยกตัวอย่างถวายได้แล้ว ด้วยความศรัทธา ด้วยความเชื่อ ด้วยความเสื่อมใสแล้ว พ่อแม่ดีใจไหม พ่อแม่รักลูกคิดปลูกฝังให้ลูกตั้งตนฝึกรีบศึกษา ให้ลูกได้ดีมีวิชา ให้ลูกได้ตั้งตนเป็นคนดี
พอได้ทราบว่าลูกเณรดี ขยันดี เรียนหนังสือดี บวชแล้วได้ดี พ่อแม่ตื้นตันน้ำตาไหล ดีใจมาก
ปีที่แล้ว พ่อแม่ของพ่อเณรมานั่งฟังพระ ลูกเณรของเขาเป็นองค์ยถาสัพพี เขาน้ำตาร่วง สะอึกสะอี้นเลย
อาตมาถามว่า “โยม เป็นอะไร ผีเข้าหรือ”
เขาบอกว่า”โอ้โฮ! หลวงพ่อเอ๋ย ฉันไม่รู้เลยว่า ลูกเณรฉันสวดยถาสัพพีได้ ฉันตื้นตันใจมาก”
อย่างนี้ซิพ่อแม่ได้ พลอยได้กับลูก อย่างนี้นะ
พ่อเณร พ่อพระ สนใจศรัทธา เชื่อมั่นด้วยตนเอง อดทนต่อสู้ด้วยตนเองแล้ว รับรองโยมของพ่อเณรตื้นตันใจ
สมัยก่อน พ่อแม่เขาทำบุญจะจ้องดูแต่ลูกเณรของเขาเท่านั้น นี่แหละบวชแทนคุณอันหนึ่ง เห็นผ้าเหลืองขึ้นก็ชื่นใจ
ภิกษุนวกะที่รัก พ่อแม่เห็นภิกษุสร้างความดีอุทิศส่วนกุศลให้บิดามารดา โยมพ่อโยมแม่มาก็ชื่นใจ ตรงนี้เป็นผลได้ด้วยการบวช พ่อแม่จะดีใจอย่างลึกซึ้ง
เมื่อ ๓๐ ปีมาแล้ว คนข้างวัดอัมพวันนี้ เอาลูกมาบวช พ่อแม่ไม่เคยทำบุญ หาแต่ปลา ดักปลาไหลบ้าง พอลูกบวชเข้าก็จูงพ่อแม่เข้าวัดได้
พ่อแม่มาตอนแรกก็เขินไม่เคยตักบาตรก็ได้ตักบาตร ไม่เคยทำบุญ ก็ได้ทำบุญ ตรงนี้เป็นผลพลอยได้ ข้อหนึ่งของพ่อพระพ่อเณร
ลูกเณรลูกพระพระภิกษุ นวกะ เราช่วยพ่อแม่ได้มาก ช่วยพ่อแม่ให้หายจากตกนรกได้ จะยกตัวอย่างให้สามเณรฟังว่า ช่วยพ่อได้ยังไง อยู่ใต้วัดนี่เอง เป็นตัวอย่างเรื่องจริง
มีตาแป๊ะแก่คนหนึ่งชื่อ อาฮวด แซ่ตั้งไว้หนวดยาว เป็นอากรหนองทำสัมปทานกับรัฐบาล หาปลาอยู่ทางทิศตะวันออกของวัดอัมพวัน เรียกว่า บางชัน เดี๋ยวนี้น้ำแห้งหมดแล้ว และเลี้ยงหมูเป็นร้อยตัว
มีลูกชื่อ อาเฮง ยังเล็กนัก อายุ ๘-๙ ขวบ ต้องไปเก็บผักบุ้งมาเลี้ยงหมู
เตี่ยฮวดก็ไม่อยากทำบุญ ใครมาเรี่ยไรก็ทำสลึงนึง บอกภรรยาจาโบ้ว่าทำสลึงเดียว แต่สมัยก่อน สลึงนึงก็หายากแล้ว
พ่อเณรเอ๋ย ก๋วยเตี๋ยวชามละ ๓ สตางค์ สมัยก่อนข้าวเกวียนละ ๒๐ บาท ทองคำหนักบาทละ ๒๐ บาท
พ่อเณรจงตั้งใจฟังนะ อาเฮง ยังเด็กเล็กนัก ขี้เกียจไปเก็บผักบุ้ง มาเลี้ยงหมู อาเตี่ยฮวดก็บังคับลูก
อาตี๋เฮงโตขึ้นอายุ ๑๓-๑๔ ปี คิดเรียนหนังสือจีน หนังสือไทย พูดภาษาจีนได้
อาเฮงหนีไปบวชเณร เพราะขี้เกียจเลี้ยงหมู อาฮวดตามไปว่า เพราะไม่มีศรัทธาเลย บอกว่า
“อาเฮงเอ๊ย มาบวชเณรทำมาย ไปขอข้าวชาวบ้านกิน ข้าวเรามีกินเยอะแยะ สักเดี๋ยวนี้” แล้วดึงมืออาเฮงตกใต้ถุนไป อาเฮงลุกได้ห่มผ้าแล้วก็วิ่งออกจากวัด หนีออกทางหลังวัด
อาฮวดก็บอกกับสมภารว่า “อาสมภารเอ๊ย อาเฮงกลับมาสึกให้อั๊วนะ อย่าให้มันบวชนะ บวชกินข้าวสุกวัด ข้าวปลาอั๊วมีเยอะแยะ เงินทองอั๊วมีมากหลาย อย่าให้บวชนะ สมภารไม่ดี เอาลูกอั๊วมาบวชได้”
สมภารก็พูดว่า “โยมฮวด ก็อาเฮงเขามีศรัทธา เขาท่องหนังสือเก่ง ไม่ใช่ว่ามาถึงอาตมาจะบวชให้เมื่อไร เขามาอยู่วัดเป็นเดือนแล้วนะ และอาตมาก็ถามแล้วว่า “หนู พ่อแม่อนุญาตหรือเปล่า” เขาก็ตอบว่า “อนุญาตครับ” อาตมาก็ไม่ทราบนี่ เห็นว่าเด็กมีศรัทธา
เด็กตัวนิดเดียวอายุ ๑๔ ขวบ ท่องหนังสือได้หมดภายในไม่กี่วัน แถมสวดมนต์ได้ด้วย เลยอาตมาก็ยืนยันกับอาตี๋เฮงว่า “ถ้าอยากบวช ท่องให้ได้หมด” อาเฮงท่องหมดเลย
อาเฮงอายุ ๑๔ ปี ท่องเจ็ดตำนานจบ ท่องพิจารณายถาปัจจยังจบ พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ พาหุงมหากาจบ นี่อาฮวดเอ๋ย อาตมาจึงบวชให้เขา เพราะเขามีศรัทธา เขามีความเชื่อ เขาเลื่อมใสพุทธศาสนาตั้งแต่เป็นเด็ก ๆ
“อาฮวดให้เขาบวชเถอะ”
“ไม่ล่าย ไม่ล่าย ถ้าอาสมภารไม่สึกให้อั๊ว น่าดูนะ วันหน้าอั๊วมาใหม่ เพราะอั๊วจะไปเลี้ยงหมู”
อาฮวดก็กลับไปที่บางชัน ไปเลี้ยงหมู
อยู่ได้ ๗ วัน อาเฮงไม่สึก อาฮวดก็ไปต่อว่าสมภารอีก “อาสมภารเอ๊ย ลื้อสัญญากับอั๊วว่าจะสึกให้”
สมภารก็บอกว่า “เฮ้ย! โยมฮวดเอ๊ย ก็เขามีศรัทธา ตอนนี้กำลังนั่งกรรมฐาน”
อาฮวดก็บอกว่า “กรรมฐานอะไรฮะ กรรมฐานตรงไหนฮะ”
สมภารก็พูดว่า “เออ! พูดกันไม่รู้เรื่อง เตี่ยฮวดกลับไปเถอะ เตี่ยฮวดใจเย็น ๆ ขณะนี้พ่อเณร เขาไปนั่งกรรมฐานที่วัดโน้น”
“วัดอะไรฮะ อั๊วจะตามไป”
สมภารก็ไม่บอก บอกว่าไปวัด ๆ หนึ่งไปนั่งวิปัสสนากรรมฐาน
อาฮวดบอกว่า “ฐานอะไร จะมีกินมีใช้เหรอ ไปเลี้ยงหมูดีกว่านะ ได้เงินดี”
สมภารก็นิ่ง ไม่พูด ตาฮวดก็กลับไป
ในเวลากาลต่อมา อาเฮงมีอายุบรรลุนิติภาวะ ๒๐ กาลฝน สมภารก็จัดบวชให้ อุปสมบทในพระพุทธศาสนา โดยเรียนวิปัสสนากรรมฐาน
อาเฮงเรียนภาษาจีนกลาง พูดจีนได้ พูดไทยได้ พูดลาวได้ พูดแต้จิ๋วได้ พูดฮกเกี้ยนได้ และพูดจีนแคะได้ เขียนหนังสือจีนได้ด้วย เพราะอำนาจกรรมฐานที่อาเฮงไปเรียนมา และก็ไปเรียนกับซินแส
อาเฮงเล่าให้หลวงพ่อฟังว่า นี่คุณ เรานั่งกรรมฐานตอนใกล้บวชที่เตี่ยฮวด เตี่ยโยมของผมฆ่าหมูทุกวัน ผมก็ขออุทิศส่วนกุศลให้เตี่ยฮวดเจริญรุ่งเรือง เลิกฆ่าสัตว์ ให้ไปเมืองสวรรค์ให้ได้
บวชพรรษาแรก เดี่ยฮวดก็มารังควานอีกขว้างกุฏิ ขว้างตู้ชั้วพังหมด เป็นตู้ใส่ผ้าไตร
อาฮวดมากับน้องชาย พยายามจะมาฉุดคร่าอาเฮงให้สึก “อาเฮง นี่ลื้อไม่เชื่ออั๊วนะ มาบวชทำไมอีกล่ะ”
อาเฮงสึกมิได้ เพราะต้องการช่วยเตี่ย เตี่ยจะไปนรก เลยมานั่งกรรมฐาน มีศรัทธาช่วยเตี่ย
ในเวลากาลต่อมาได้ ๓ พรรษาเศษ เตี่ยฮวดเป็นลมตาย ไม่ได้ฉีดยา เมื่อก่อนแพทย์หมอหายาก
ตายแล้วก็เอาใส่โลง ผูกตราสังมัด มีธูปเทียนใส่มือ มีฝ้ากรองไม่มียาฉีด มีผ้าขาวคลุมโลงเท่านั้น จะสวด ๗ วัน ๗ คืน เมื่อสวดเจ็ดคืนแล้วจะเข้าฮวงซุ้ยตามประเพณีจีน ตอนนั้นอาเฮงท่านก็เป็นสมภารแล้ว เป็นสมภาร ๔ พรรษา เป็นเจ้าอาวาสวัดฉางปูน ปัจจุบันเรียกว่า วัดพุทธาราม ต.บ้านแป้ง อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี
อาเฮงเล่าให้หลวงพ่อฟังว่า พอสวดถึงคืนที่ ๓ ประมาณ ๔ ทุ่มเศษ เสียงที่โลงดังกุกกัก กุกกัก
เขาก็นึกว่า หนูวิ่งไล่ หลวงตาองค์หนึ่งชื่อ หลวงตาพวง เป็นพระหนุ่ม บวชไม่กี่พรรษานั่งสวดเป็นองค์แรก ก็สงสัยเสียงโลงดังกุก ๆ ๆ
สวดไป ๒ จบ หลวงตาพวง ก็บอกว่า เอ้ย! เอาตะเกียงมาซิ มันหนูหรืออะไรเข้าไปอยู่ในโลงผี
เมื่อเปิดผ้าขาวออก อาฮวดลืมตาแป๋ว พูดไม่ได้ เสียงแหบ แล้วเอาศอกถองโลง เปิดดูแล้วก็ยิ้ม ตาลืม แล้วยังกระแทกโลงอีก
ในที่สุดก็ฮือฮาเลิกสวด เอาเตี่ยฮวดออกจากโลง แก้มัตตราสังที่มัดไว้ เอาธูปเทียนออก ถอดเสื้อออกหมด เหงื่อกาฬไหล หยอดน้ำหมด ๑ แก้ว อาฮวดเริ่มพูดได้
พูดได้แล้วก็เล่าให้ฟัง คืนนั้น คืนยันรุ่งตลอดแจ้งไม่มีใครนอน อาฮวดยังลุกนั่งไม่ได้ ยังนอนอยู่ก็เล่าให้ฟังดังต่อไปนี้
อาฮวดเล่าบอกว่า เออ! อาเฮงเอ้ย เตี่ยจะเล่าให้ฟังนะ ต้องขอสมาลาโทษให้เตี่ยที่ไปขอให้เอาเฮงสึกเป็นบาปจริง ๆ เตี่ยสลบไปแล้ว ก็ไปเมืองนรก มียมพบาลมาซักถาม
“อาฮวดเอ้ย ทำบุญหรือเปล่า เมื่ออยู่โลกมนุษย์ทำบุญอะไร”
เตี่ยฮวดก็บอกว่า “โอ๊ย! อั๊วทำบุญไม่เป็นฮะ ทำบุญอาลาย อั๊วไม่ได้ทำ”
“นึกให้ดี ลื้อทำบุญอะไร”
“อั๊ว ไม่ได้ทำอาลาย”
“ทอดกฐิน ผ้าป่า หรือเปล่า”
“อั๊วไม่ได้ทอดกับเขา เขามาบอกบุญก็ทำสลึงนึง ใครมาบอกก็สลึงนึง บอกกับจาโบ้ไว้ ไม่เคยขัดบุญ แต่อั๊วไม่รู้จักบุญ อั๊วเห็นว่าไม่มีประโยชน์อะไรในการทำบุญ”
ยมพบาลก็ถามต่อไปอีก “อาฮวดต้องทำบุญนะ ทำอะไรนะ บอกมาหน่อยเถอะน่ะ”
อาฮวดก็ตอบว่า “ไม่ได้ทำนะ อั๊วไม่ได้ทำ”
“อั๊วเลี้ยงหมู และมาอยู่หนองมีปลาเน่า เอารำให้กินก็พอแล้ว และขายเป็นสิบตัว ร้อยตัวนะ อั๊วเลี้ยงมากมาย”
“อ๋อ! มีอาชีพ ๒ อย่างเท่านั้น หรืออาฮวด ทำบุญอะไรอีก”
“ไม่รู้”
พรึบทันที ไฟนรกเกิดขึ้น ไฟอบหายใจไม่ออก และอาฮวดไปเจอเพื่อนนายอากรหนองที่ตายไปก่อน อยู่ที่นั่น ไปลงกระทะทองแดง พออาฮวดเห็นควันขึ้นมาก็ร้อง
“ไอ้ย่า! อาฮวดหายใจไม่ออกแล้ว” พอได้สักครู่หนึ่งก็สำลักควัน แล้วแหงนดูบนอากาศมีผ้ากาสาวพัสตร์ มาพัดโบกควันหายไปเลย นึกขึ้นได้
“โอ๊ย! อายมพบาลเอ้ย อั๊วนึกออกแล้ว อาเฮงมันบวชนะ อั๊วนึกออกแล้ว อั๊วไม่ได้ทำบุญหรอก มันหนีไปบวช เณร อั๊วไปตามมัน แล้วมันก็ไปบวชพระ อั๊วก็ไปตามมันอีก มันก็ไม่สึก ตอนนี้มันเป็นสมภารเจ้าวัดแล้ว”
“สมภารวัดไหน” ยมพบาลถาม
“สมภารวัดฉางปูน”
แล้วควันก็หายไปเลย พอควันหายไปแล้ว อาฮวดร้อง “โอ๊ย! อาเฮงช่วยเตี่ย ผ้าเหลืองมันมาโบกอั๊ว ควันหายไป อั๊วหายใจออกแล้ว อาเฮงเอ้ย ช่วยเตี่ยได้มากนะ อาเฮงนะ”
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ยมพบาลก็พูดต่อไปว่า “อาฮวดเอ๊ย นี่อาเฮงช่วยล่ะ อาเฮงไปศึกษาวิปัสสนากรรมฐานช่วยเตี่ยได้”
อาฮวดก็พูดว่า “อั๊วเสียใจ อายมพบาลเอ๊ย อั๊วเสียใจมาก ๆ นะ ไปหาสมภาร ๆ บอกอย่ามายุ่งกับเณรเลย กำลังนั่งกรรมฐาน เป็นบาป โอ๊ย! กรรมฐานนี่ช่วยเตี่ยได้นะ เตี่ยจะต้องนั่งบ้าง อย่าเอาโทษ เอากรรมเตี่ยเลย”
ยมพบาลพูดต่อไปว่า “อาฮวด กลับไปเมืองมนุษย์ใหม่ เพราะอาฮวดถึงคราวตายแล้ว แต่ลูกชายช่วยเตี่ยได้ ให้อายุยืนยาวต่อไป”
เป็นเรื่องจริงที่วัดพุทธารามนี่เอง อาเฮงเป็นอาจารย์ของผมเอง เป็นกรรมวาจาจารย์ของผม
เลยอาฮวดก็ฟื้นคืนมา ก็เล่าให้ญาติโยมฟัง พอได้ ๓ วันลุกนั่งได้ และก็เสียงดัง บอกอาเฮงว่า
“อาเฮงลูกเอ๋ย อย่าสึกนะ อย่าสึกเลย ลื้อช่วยอั๊วได้นะ ควันมันมาก อั๊วเห็นผ้าเหลืองลื้อมาโบกให้ควันหาย นึกได้ก็บอกยมพบาลเขา ขอให้กลับมาอยู่กับลูกชายรักษาอุโบสถศีล รักเตี่ยอย่าสึกนะ” เมื่อก่อนบังคับให้สึก
สรุปให้ย่อใจความ อาฮวดก็มาอยู่กับอาเฮงที่วัดพุทธาราม รักษาอุโบสถ วันพระกินเจ ไม่กินเนื้อสัตว์ ไปตลอด
เหตุการณ์เปลี่ยนแปรผัน อาเฮงบวชได้ ๕ พรรษา เกิดติดพันลูกสาว นายอภเภอพรหมบุรี อยู่ที่บ้านแป้ง อาเฮงจะสึกไปมีครอบครัว คิดแปรผันไปเสียแล้ว ก็ต้องบอกโยมเตี่ย
“โยมเตี่ย อาตมาคิดว่าจะสึกนะ คนที่มาไหว้เตี่ยนะเป็นลูกสาวนายอำเภอ อาตมาจะสึกไปแต่งงานกับเขานะ และจะไปเมืองจีนนะ”
เตี่ยร้องไห้เลย “เอาเฮงรักเตี่ยไหม”
“ก็เมื่อก่อน เตี่ยมาบอกให้อาตมา สึกไงล่ะ”
“รู้แล้ว อย่าถือโทษโกรธเตี่ยเลย ช่วยเตี่ยได้มากนะ อาเฮงนั่งกรรมฐานช่วยเตี่ยขึ้นจากนรกกลับมาใหม่ มารักษาอุโบสถอยู่กับพระลูกชาย นั่งกรรมฐานที่พระลูกชายสอน ทำไมจะหนีเตี่ยเล่า อาเฮงคิดให้ดีนะ จะสึกทิ้งเตี่ยอยู่ในวัดหรือ”
ก็ได้ความออกมาว่า อาเฮงต้องตัดสินใจไม่สึก สร้างศาลา สร้างโบสถ์วัดพุทธาราม อาตมายังเป็นฆราวาส เอาปี่พาทย์ไปช่วยท่าน
พอสร้างศาลาเสร็จ สร้างโบสถ์เสร็จ เตี่ยฮวดตาย ได้ทำพลีกรรมมากมาย หลวงตาเฮงก็เจริญกุศลทักษิณานุปทาน ตลอด ๗ วัน ๗ คืน มีศักดิ์ศรี เพราะลูกชายเป็นพระปลัดกิมเฮง เสร็จแล้วก็เอาไว้ในฮวงซุ้ยอยู่หน้าโบสถ์ ยังอยู่เดี๋ยวนี้ มีพยานหลักฐาน
ในเวลากาลต่อมา กรรมวาจาจารย์ของหลวงพ่อคือ พระครูถาวรวิริยะคุณ พระปลัดกิมเฮงนี่เอง ก่อนที่จะมรณภาพ ท่านก็เรียกหลลวงพ่อไป ท่านได้เจ็บ ท่านบอกว่า
“นี่เธอเป็นลูกศิษย์เรา โปรดฝากเรื่องนี้ไว้ด้วย ขอฝากพระสมเด็จองค์ละบาทเมื่อสมัยบวชเณรให้มา ๑ แผง เป็นสมเด็จพุฒาจารย์วัดระฆัง มอบให้ลูกศิษย์ไป และขอสั่งไว้เป็นครั้งสุดท้ายว่า ถ้าผมมรณภาพ ท่านพระครู จัดการทำศาลาฮวงซุ้ย อย่าเผาไม่ได้เด็ดขาด เอาเตี่ยไว้ทิศบูรพา เอาผมไว้ทิศตะวันตก”
เดี๋ยวนี้ผมสร้างไว้เรียบร้อยแล้ว นี่คือพระครูถาวรวิริยะคุณ อาจารย์ของผมเอง ถ้าอยู่เดี๋ยวนี้ครบ อายุ ๘๙ ปี อุปัชฌาย์ของผม ถ้าอยู่เดี๋ยวนี้ ๑๒๐ ปี ตายหมดแล้ว
ขอฝากพ่อเณรไว้ ภิกษุสามเณรโปรดทราบ ปลูกฝังตั้งศรัทธาให้เชื่อมั่น นี่แหละกฎแห่งกรรมมาแล้ว ลูกมาบวชเณรบวชพระ พ่อแม่ไม่อนุญาต แทนคุณบิดามารดาได้ แน่ ๆ เตี่ยฮวดเป็นตัวอย่างเรื่องจริง
หลวงพ่อทราบมาอย่างละเอียดเลย นี่แหละลูกเณรตัวเล็ก ๆ นั่งกรรมฐาน พ่อแม่เห็นน้ำตาร่วง เลย ปีติลูกดี มีปัญญา …..