นอนสมาธิ
จับหลับ
จับหลับ หมายถึง การหลับที่มีสติ อันเป็นคำพูดของคนสมัยเก่า หลับจะมีสติได้อย่างไร มีวิธีปฏิบัติดังนี้ หายใจเข้า หายใจออกยาวๆ พองหนอ ยุบหนอ อย่างเคร่งในอุปาทานยึดมั่น ให้มันเกินไป ทำอย่างสบาย หายใจสบาย เดี๋ยวมันจะหลับจะเพลินแล้วมันจะเผลอ แล้วมันจะวูบลงไปสู่ภวังค์ จิตนั้นจะดิ่งลงไปไม่สัมผัสภายนอก พลิกกายกี่ครั้งรู้หมด ตื่นตอนไหนรู้หมดเลย นี่หลับมีสติซึ่งคนโบราณท่านเรียกว่า “จับหลับ” ในสติปัฎฐาน ๔
อาตมาถามหลายคนใน ๑๐๐ คนจะได้สัก ๑๐ คน แต่ทำฝึกไปเรื่อยๆ ได้ผล หลับมีสติอย่างนี้เอง บางทีถ้าไปนอนไม่มีนาฬิกาไป จะต้องตื่นตี ๔ ถ้าเรานั่งจนชำนาญแล้วนะ เราก็นอนพองหนอ ยุบหนอเรื่อยไป แล้วหลับมีสติดี ถึงตี ๔ จะสะดุ้งตื่นเลย แล้วดูนาฬิกาก็จะตรงเวลาพอดี
พระพุทธเจ้าสอนข้อนี้ พูดตามศัพท์ภาษาไทยก็ นอน ตื่นมีสติ หลับมีสติ ในพระไตรปิฎกมีบอกไว้ สติปัฎฐาน ๔ ในตอนที่อาตมาเริ่มฝึกกรรมฐานใหม่ๆ อาตมาก็ยังไม่ทราบหลับจะมีสติได้ยังไง ตื่นนี่มีสติแน่ หลับผ่อยไปนี่ มันไม่เห็น มีสติอะไร แล้วทำไมพระพุทธเจ้าสอนว่าหลับต้องมีสติ ตื่นมีสติ หลับยังไง อาตมาก็ทำไปเรื่อยๆ พระอาจารย์หลายรูปท่านก็บอกว่าหลับมีสติต่อเนื่อง เราก็ไม่รู้ ท่านก็ไม่บอกเราหลับแบบไหน มีสติอย่างไร ที่นี้อาตมาทำเรื่อยๆ เป็นเวลานาน ก็พองหนอ ยุบหนอ เพ่งมากไม่หลับ ก็ทำอย่างนี้หลายวันแต่ก็กำหนดแต่ก็กำหนดไปเรื่อยๆ พองหนอ ยุบหนอ หายใจยาวๆ ไปเรื่อยๆ เอ…มันจะหลับแล้ว มันจะเพลินที่ฟังเสียงต่างๆ รู้มั่งไม่รู้มั่ง เผลอแวบไม่รู้หลับไปตอนไหน จำไม่ได้ หนักเข้า เดินจงกรมมั่งนั่งบ้าง ก็รวบรวมสติปัญญาไว้แล้วมานอนกำหนดไป
วันนั้นรู้ อ้อ หลับมีสติเป็นอย่างนี้นี่เอง ในตอนแรกได้ยินคนคุยกัน เราก็นอนกำหนดของเราไปเรื่อยๆ แล้วก็ภาวนาพองหนอยุบหนอไป ได้ยินอะไรก็กำหนดไปเรื่อยๆ กำหนดไปชักเพลินหลับๆ ตื่นๆ ได้ยินแว่วๆ ถึงได้ตั้งสติเข้าไว้แต่อย่าเพ่งมาก ถ้าเพ่งมากไม่หลับ ไม่ต้องเพ่งมากหรือเพ่งชัดเจนเกินไป ตั้งสติไว้อย่างเดียวก็หายใจไปเรื่อยว่าพองหนอยุบหนอไปเรื่อยๆ สักประเดี๋ยวมันจะเผลอแวบ พอยุบก็จับได้เลย เหมือนเราขับรถลงสะพานวูบลงไป แล้วก็ทวารหูปิดไม่ได้ยินเสียง แต่ข้างในรู้หมด หลับมีสติอย่างนี้นี่เอง แล้วทีนี้เราจะสังเกตตัวเราหลับนอน ๓ ชั่วโมง เหมือนนอนชั่วโมงเดียวไวมาก เราจะพลิกตัวกี่ครั้งรู้หมด รู้พลิกแบบใหม่ อย่างไหนรู้หมด จะนอนตะแคงหรือนอนหงายนอนคว่ำ รู้หมดเลยพอถึงเวลาสะดุ้งตื่นขึ้นมาตามเวลาเลย อ้อ นี่หลับมีสติ อย่างนี้เอง
นอนมีสติ เราจะเห็นวินัยพระจะจำวัด ต้องปิดบังเสียให้ดี ปิดห้องหับเสียให้ดี ไม่งั้นมีอาบัติโทษ ข้อเท็จจริงก็หมายความว่าเดี๋ยวประชาชนเขาจะเห็นนะ เอาศีลออกมาให้เขาดู ก็ลำบาก ถ้าหลับมีสติศีลไม่ออก หลับมีสติ ตื่นมีสติ ขอให้ท่านฝึกๆ ไป ได้ผลอย่างนี้ ในหลักบอกหลับมีสติ ตื่นมีสติ หลับมีสติได้อย่างไร หลับพลิกตัวกี่ครั้งรู้หมด รู้ข้างใน ถ้าวิปัสสนาข้างในต้องรู้นะ เผลอไปดิ่งพสุธา มีแต่สมาธิ ไม่ใช่วิปัสสนาแน่ ต้องรู้ข้างในพร้อม ข้างนอกไม่รู้ อย่างที่ผลสมาบัติ นี่ข้างในรู้หมด ข้างนอกไม่รู้ อันนี้มันก็ขึ้นอยู่ที่ฝึก นอนที่โล่งๆ ก็ได้ จะพลิกตัวกี่ครั้งรู้หมด แล้วใครจะเรียก คำเดียวต้องตื่นได้เลย มันจะบอก สตินี่สำคัญ
อย่างบางท่านทำได้หลับนอนเก้าอี้ได้เลย หายใจยาวๆ วางจิตไว้ที่ตรงคอ อยากจะหลับ วางจิตไว้หลับเลย ถ้าง่วงเหลือเกินก็วางจิตไว้ที่หน้าผาก แล้วกำหนดไปไม่หลับดูหนังสือต่อไปได้ ลองดูได้ถ้าสมาธิดี จับจุดปั๊บถูกต้องๆ ถ้าเราอยากจะหลับหายใจยาวๆ สงบจิตไว้ วางไว้ที่คอที่เรากลืนน้ำลาย หลับเลย บนเก้าอี้ได้ ที่เรานั่งรถโงกไปทางนี้ๆ ไม่มีสติ ถ้ามีสติดีในการหลับ รับรองถ้านั่งรถหรือนั่งเก้าอี้ ท่านจะหลับเฉยๆ ไม่โงกแน่นอน สติบอกพร้อม ถึง ๕ นาทีก็ตื่นทันที ดีกว่าไปนอนที่บ้านตั้งหลายชั่วโมง อันนี้มีคนทำได้หลายคน
บางทีเราเขียนหนังสืออยู่บนเก้าอี้จะพักผ่อน อยู่ที่ทำงานแล้วนั่งเขียนหนังสือ เสร้จแล้วก็วาง ก็ค่อยๆ นั่งเก้าอี้ธรรมดาๆ หายใจยาวๆ พองหนอ ยุบหนอ แล้วอธิษฐานจิตว่าข้าพเจ้าขอหลับ ๕ นาที สำรวมจิตไว้ที่ลูกกระเดือกที่กลืนน้ำลาย ตั้งสติหายใจยาว ไม่เกินอึดใจหลับเลย แล้วมันจะวูบลงไป พอถึง ๕ นาทีตื่นตามธรรมดาแล้วสดชื่น แต่ต้องวางจุดให้มันถูก แต่ก่อนที่จะหลับได้นี่ ต้องฝึกมานานนะ ต้องฝึกเรื่อยๆ ให้มันเข้าออกได้ ทีนี้ถ้าง่วงเหลือเกินเราอยากจะอยู่ต่อไปโดยไม่ง่วง ตั้งสติไว้หน้าผากแล้วหายใจยาวๆ ตั้งสติไว้ที่หน้าผาก เดี๋ยวตาแข็ง สมาธิไว้ที่นี่ ดูหนังสือต่อไปได้เลย อีก ๑ ชั่วโมงแล้วค่อยนอน…