เดินจงกรม
การกำหนดเวทนา จิต ธรรม
เดินจงกรมต้องลืมตา ให้เพ่งมองที่ปลายเท้า
เมื่อยืนหนอ ๕ ครั้งแล้ว ก็ลืมตาทันที ลืมตาอย่าเพิ่งกำหนด ลืมตาดูเท้าสักครู่หนึ่ง ตั้งสติไว้ให้ดี จึงได้เขยื้อนเคลื่อนกาย…ขวา ย่าง หนอ, ซ้าย ย่าง หนอ จิตก็ย่างไปตามเท้า โยมอย่าไปเดินหลับตา อย่าไปมองที่อื่น บางคนเดินจงกรมเอาตาไปมองที่ไหนก็ไม่ทราบ วิธีฝึกต้องเอาสายตาเป็นสมาธิ เอาไปเพ่งที่ปลายเท้าว่ามันอยู่อย่างไร มันเคลื่อนไหวอย่างไร มันก้าวอย่างไร จนชำนาญการแล้ว ไม่ต้องไปกำหนดอย่างนั้นก็ได้ มันจะเดินถูกจังหวะของมันเอง
เดินจงกรมเหมือนเราเดินปกติ ธรรมดา เพียงเอาสติใส่เข้าไป
เดินจงกรมก็เหมือนเดินธรรมดา แต่เดินให้ช้าลงไป ขวา…ย่าง…หนอ ซ้าย…ย่าง…หนอ…เดินธรรมดา…เคยเดินอย่างไร ก็เดินไปอย่างนั้น เพียงเอาสติใส่เข้าไป ไม่ใช่ยกขาเหมือนโขนเล่นเป็นละครไปได้ แถมเอาเท้ามาต่อกัน…เดินก้าวแบบต่อเท้านั้นผิด ที่ถูกคือใครเคยเดินอย่างไร ก็เดินไปอย่างนั้น เดินกันอย่างธรรมดา เพียงเดินให้ช้าลงแล้วเอาสติใส่เข้าไปเท่านั้น
บางคนขวาเป็นพุท ก้าวเป็นโธ เหยียบพุทโธลงไปที่เท้า ไปประณามพระพุทธเจ้าไว้ที่เท้า มันเป็นบาปนะ อย่าทำเลย อาตมาทำมาตั้ง ๑๐ ปีแล้ว รู้ว่าบาป เลยก็กำหนด ขวา…สติระลึกก่อน ย่าง…คือตัวสัมปชัญญะ ลงหนอพอดี ซ้าย…มันก็ยกขึ้นไปนิดเดียว แล้วก็ย่างออกไป ครูบาอาจารย์สอนให้ถูกนะ สอนให้ได้จังหวะ…
เดินจงกรมให้ช้าสุด เหมือนคนใกล้ตาย
เดินจงกรมให้ช้าที่สุด เหมือนคนใกล้ตาย เวลาจะ “ขวา…ย่าง” ไปกว่าจะลง มันจะถ่วงซ้าย นี่เห็นไหม เคยสังเกตไหม นี่ถ่วงไว้มันจะตึงเป๋งเลย ให้ช้า ขวาย่างไป ขาจะสั่น ปั๊บๆ ๆ สติดีมันจะไม่สั่น มันจะตึงเปรี๊ยะ มันจะโน้มลงไป เวลาซ้ายจะย่าง ซ้ายมันจะยก มันจะหนักเข้าไปทางขวา แล้วเวลาย่างไปนี่อวัยวะมันจะตั้งอย่างปกติไม่ได้ ก้าวไป สติดี มันจะตั้งอยู่อย่างปกติ โรคจะลดน้อยลงไป โรคภัยไข้เจ็บในตัว มันจะค่อยๆ หายเส้นมันจะยืด แล้วก็หย่อนด้วย สภาวธรรม จากสติสัมปชัญญะ นั่นเอง มันจะบอกชัดเลยนะ ขอให้เดินช้าๆ อย่าเดินไว มันจะถ่วง ซ้ายถ่วงขวาอย่างไร เดี๋ยวจะเห็นชัดในสภาวธรรม มันจะตึงไปหมด ปวดรวดร้าวสกลกาย
เดินจงกรมให้ส้นสูงจากพื้น ๒ หรือ ๑ นิ้ว
ระยะก้าวในการเดินประมาณ ๑ คืบ
กำหนดยืนหนอ ๕ ครั้ง ลืมตาแล้ว ไม่ต้องไปเหลียวลอกแลกดูคนอื่นให้เพ่งไปที่ปลายเท้า เมื่อเพ่งไปที่ปลายเท้าสักครู่หนึ่ง ดูเหตุการณ์สำรวมจิตไว้ที่ปลายเท้า ตั้งสติปักลงไป แล้วก็กำหนดจิตว่า ขวา…ย่าง…หนอ…(ระยะก้าวในการเดินห่างกันประมาณ ๑ คืบ เพื่อการทรงตัวได้ดี) ให้ช้าเหมือนคนเป็นไข้ เหมือนคนใกล้จะตาย เพราะจิตเรามันเร็ว ไวกว่าเครื่องบิน จิตใจมันมองไม่เห็น ใจร้อน ไม่ใจเย็น จิตใจฟุ้งซ่านเพราะร้อนรน เพราะเราทนไม่ไหว เราทำเร็วไป ขอให้ผู้ปฏิบัติธรรม ทำให้ช้า ตั้งสติไว้ก่อน
ขวา… ยกส้นสูงแค่ ๒ นิ้ว หรือ ๑ นิ้ว ก็พอแล้ว เพื่อจะได้ทราบว่านี่เท้าขวา ไม่ใช่ยกหมดทั้งเท้า ยกหมดเดี๋ยวจะล้มไป เพียงแต่ให้สำนึกสมัญญาในหน้าที่ นี่ ขวา แปลว่าอะไร แปลว่า สติระลึกก่อนที่เท้าขวา และย่างด้วยการกำหนดปัจจุบัน
ขอให้ครูอาจารย์ควบคุมดูให้ชัด อย่าให้เขาทำเป็นอดีต เป็นอนาคต เดี๋ยวจะไม่ได้ปรารภธรรม อยู่ตรงนี้
ย่าง… หนอ… ลงถึงพื้นพอดี อย่าทำให้มันผิดหลักอย่าให้มันผิดกฏนี้ เดี๋ยวจะไม่ได้ผล ต้องเอาอย่างนี้ตามวิชาครู
ย่าง… คือ สัมปชัญญะรู้ตัวขณะที่ย่างไปนั้น ให้ช้าที่สุด เอาจิตตามไป สติตามดู ว่าได้ปัจจุบันหรือเปล่า ลงหนอ…พอดี
แล้วก็ตั้งสติใหม่ จิตเกิดใหม่ ซ้าย ระลึกก่อนกำหนดใหม่ ขวา… อยู่เฉยๆ อย่าขยับเขยื้อนเคลื่อนย้ายแต่ประการใด เอาสติกำหนดจิต ซ้าย … ยกขึ้นมาพร้อมกัน หยุดไว้นิดหนึ่ง แล้วก็กำหนด ย่าง…หนอ… ลงพื้นพอดี
ท่านจะดีมาก ท่านจะทำอะไรก็ดีขึ้น นี่แหละฝึกจิต ทำให้สติดี หนอ… ลงแล้ว อย่าเคลื่อนย้าย อย่าขยับทั้งหมด หยุดสักครู่หนึ่ง เว้นช่องไฟไว้ แล้วก็ตั้งสติใหม่ จิตดวงใหม่จะเกิดชัดเจน
ขวา… ยกไว้ ยกนิดเดียว อย่างน้อยหนึ่งนิ้ว อย่างมากไม่เกิน ๒ นิ้ว อย่ายกทั้งหมด ยกไว้แล้วอย่าเพิ่งย่างไปยกไว้สักครู่หนึ่ง แล้วบอก ย่าง… ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าช้าๆ เมื่อก้าวเท้าเสร็จ หยุดค้างไว้โดยเท้ายังไม่เหยียบพื้น พอกำหนดคำว่า หนอ… ค่อยๆ วางเท้าลงพื้นพร้อมๆ กัน (ปลายเท้าและส้นเท้าลงพร้อมกัน) อย่างนี้เรียกว่า ปัจจุบันธรรม
อย่างนี้อธิบายให้ง่ายที่สุดแล้ว อย่าเพิ่งเคลื่อนย้าย สติหยุดไว้เหมือนเขียนหนังสือมีช่องไฟ กำหนด ซ้าย… ยก แล้วหยุด อย่าเพิ่งย่าง สำรวมความรู้ ปักลงไปให้เกิดปัจจุบัน ย่าง… ต้องย่างให้ได้ตามจิตที่เรากำหนด หนอ… ให้ช้าที่สุด ถ้าช้ามากมีสมาธิดีมาก ถ้าเร็วมากไม่มีสมาธิเลย จิตใจร้อนเหมือนเดิม จิตใจไม่ยับยั้ง ขาดสติสัมปชัญญะ
การกลับต้องกลับ ๔ ครั้ง
ระยะทางในการเดินจงกรมเพียง ๔-๕ วา เท่านั้น
เมื่อเดินสุดทางแล้ว กำหนด “ยืนหนอ” ๕ ครั้ง… “กลับ-หนอ” ๔ ครั้ง เมื่อกำหนดครั้งที่ ๑ ให้ยกปลายเท้าขวา ส้นเท้าติดพื้น หมุนส้นเท้าไปทางขวา ๙๐ องศา พร้อมกำหนดว่า “กลับ” แล้ววางปลายเท้าลงกับพื้นพร้อมกับกำหนดว่า “หนอ” ครั้งที่ ๒ นำเท้าซ้ายมาชิดเท้าขวา ครั้งที่ ๓ ทำเหมือนครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๔ ทำเหมือนครั้งที่ ๒ แล้วหลับตากำหนด “ยืน-หนอ” ๕ ครั้งแล้วจึงเดินต่อไปจนหมดเวลาที่กำหนด…
ทำให้ละเอียดเข้าไปอีก อย่ารีบเดิน จะเดินไปหาอะไร ใช้ไม่ได้ ต้องกำหนด ยืน…หนอ…อีก ๕ ครั้ง เรียกว่า เก็บอารมณ์ภายใน ดูอารมณ์ภายใน หลับตา เดี๋ยวค่อยลืมตาทีหลัง หลับตายืนหนอ ๕ ครั้ง ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น
กำหนดได้แล้ว สำรวมอินทรีย์ กำหนดจิตลืมตาเพ่งดูปลายเท้า แล้วก็กำหนด ขวา…ย่าง…หนอ… ลงพื้นรับรองท่านเดินสัก ๔-๕ รอบ ท่านจะมีสติดีเพิ่มขึ้นมิใช่น้อย ท่านจะมีจิตยับยั้งจะคิดอะไรได้แปลกๆ
ขอฝากไว้ด้วยนะ ทำไม่ได้กัน มัวแต่ใจร้อน เดินจงกรมไม่รู้จะรีบไปไหนกัน เท่าที่อาตมาสังเกต เดินจงกรมเดินกันพรวดๆ ๆ ๆ เดินเหมือนย่างม้าเหาะเลาะขอบรั้ว เอาตัวไปไหนกัน
เดินระยะแค่ ๔-๕ วา เท่านั้น แล้วเดินกลับไปกลับมา ก็เพียงพอแล้ว อย่างน้อยสั้นๆ ต้อง ๓ วา อย่างมากสัก ๕ วา หรือไม่เกิน ๘ วา อย่าให้เดินเรื่อยๆ เฉื่อยๆ ไป ไม่รู้ว่าจะเดินไปไหนกัน ต้องรู้จักกลับ จะได้มีกำหนดยืนหนอ ๕ ครั้ง เพิ่มขึ้นได้มาก
กำหนดได้ปัจจุบัน ไม่ได้ปัจจุบัน
การกำหนดให้ได้ปัจจุบัน หมายความว่ากระไร หมายความว่า กำหนดทันเวลาต่อเหตุผล เช่น ยกตัวอย่างว่า ขวา…ย่าง…หนอ… กำหนดทันเรียกว่าปัจจุบัน ถ้าเรากำหนด ขวา… แต่เท้าก้าวไปเสียแล้ว เราบอก ซ้าย… เท้าก้าวไปเสียอีกแล้ว อย่างนี้ไม่ได้ปัจจุบัน เมื่อกำหนดไม่ได้ปัจจุบัน ความสำรวมระวังก็ไม่เกิด มันก็พลาด เกิดความประมาท อยู่ตรงนี้อีกประการหนึ่ง จึงต้องกำหนดให้ได้ปัจจุบัน ทำอะไรทำให้ช้า ท่านจะเห็นรูปนาม ท่านจะแยกรูปนาม ท่านจะเห็นความเกิดดับของจิต ของท่านเอง
ขาไม่ดี เดินจงกรมไม่ได้ ทำอย่างไร
ถ้าโยมขาไม่ดี เดินไม่ได้ ก็มีวิธี ทำได้ ๒ อย่าง นั่งทำกับนอนทำ ถ้าขาดีนะ โปรดกรุณาเดินหน่อย เดินจงกรมทำให้มีสมาธิดี และการเดินจงกรมนั้นทำให้เราสร้างความเพียรได้ดีในจิต สามารถจะมีพลังจิตในการเดินทางไกลได้ดีโดยไม่เหนื่อยยาก มันจะบอกออกมาในรูปแบบนั้น สามารถจะทำความเพียรได้สำเร็จทุกประการ การเดินจงกรมบอกอย่างนี้ชัด และช่วยให้อาหารย่อยง่ายและลมเดินสะดวกในร่างกายสังขาร อาพาธมีอยู่ก็น้อย
สมาธิที่ได้จากการเดินจงกรมตั้งอยู่ได้นานกว่านั่ง จึงต้องให้เดินก่อนเสมอ ถ้าเดินก่อนแล้วมานั่งโยมจะคล่องแคล่ว การปวดเมื่อยจะน้อยลง ถ้าไม่เดินเลยนั่งตะพึด อึกอักก็นั่ง ขี้เกียจเดินจงกรม รับรองได้ผลน้อยนะ หรืออาจจะไม่ได้ผลเลยก็ได้ มันจะช้าไป ถ้าเราเดินคล่องแคล่ว เดินสัก ๑ ชั่วโมง แหม! เมื่อยจังมันก็เป็นธรรมดา กำหนดไป กำหนดไป เดินต่อไปภายหลังจะไม่เมื่อยอีก มันจะค่อยๆ ดีขึ้น เวลานั่ง พอนั่งแล้วจะคล่องแคล่ว สมาธิได้ผนวกไว้กับการเดินจงกรมแล้วมานั่ง มันจะเกิดได้ทันเวลาและได้ปัจจุบันดี
เดินจงกรมมีอาการหวิว เวียนศีรษะ ให้หยุดเดิน และกำหนด
บางคนเดินจงกรมหวิวทันที เวียนศีรษะ แต่แล้วเกาะข้างฝากำหนดเสียให้ได้ คือ เวทนาจิตวูบลงไป แวบลงไปเป็นสมาธิ ขณะที่เดินจงกรม แต่เราหาได้รู้ไม่ว่าเป็นสมาธิ กลับหาว่าเป็นเวทนาเลยเป็นลม เลยเลิกทำไป ข้อเท็จจริงบางอย่างไม่ได้เป็นลม แต่เป็นด้วยสมาธิการเดินจงกรม มันวูบมันหวิวเหมือนอย่างที่เราเดินเวียนศีรษะ ฉะนั้นมันอาจเป็นได้หลายวิธี มันอาจเป็นด้วยเป็นลมก็ได้ ไม่แน่นอนบางครั้งสมาธิเกิดขณะที่ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ มันจะหวิวลงไป เหมือนเป็นลม ฉะนั้นขอให้ผู้ปฏิบัติกำหนด หยุดการเดินจงกรม กำหนดหวิวเสียให้ได้ กำหนดรู้หนอเสียให้ได้ เดี๋ยวท่านจะเกิดปัญญาในขณะนั้นทันที จากการเดินจงกรมนั่นเองอันนี้มีวิธีบอกแก้
เดินจงกรมมีเวทนา หยุดเดิน
เอาจิตปักที่เกิดเวทนา กำหนดเวทนา
บางทีเดินจงกรมไปมีเวทนา อย่าเดิน หยุด-กำหนดเวทนาเป็นสัดส่วนให้หายไปก่อน และให้รู้จักหลักเวทนาเหมือนครูมาสอน โดยธรรมชาติของเวทนาต้องจัดเป็นรูปแบบและสัดส่วนให้เกิดปัญญา แต่ละอย่างแยกรูปแยกนามได้ เวทนาก็แยกได้ ด้วยการเดินจงกรมนั้นเช่นเดียวกัน
ขณะเดินจงกรมจิตออกไปข้างนอก ให้หยุดเดิน และกำหนด
ขณะเดินจงกรมจิตออกไปข้างนอกขณะเดิน หยุด กำหนดหยุดเสีย กำหนดจิตเสียให้ได้ที่ลิ้นปี่ กำหนดคิดหนอ คิดหนอ ยืนหยุดเฉยๆ ตั้งสติไว้เสียให้ได้ แต่ละอย่างให้ช้า เดี๋ยวสติดีปัญญาเกิด จิตนั้นกลับมาสู่ภาวะแล้ว ก็มีความรู้เก็บหน่วยกิตเข้าไป คือตัวปัญญา จากการกำหนดนั้นมีความสำคัญอีกประการหนึ่งนี้สำคัญมาก เดินต่อไปอีกปัญญาก็สะสมไว้จากการเดินจงกรม ทำให้เกิดคล่องแคล่ว ทำให้ขวาย่างซ้ายย่างเห็นชัด รู้จักคำว่าแยกรูปแยกนาม รู้จักคำว่าจิตคนละดวง รู้จักคำว่าซ้ายย่าง ขวาย่างคนละอัน และก็ย่างไปมีกี่ระยะ จิตที่กำหนดนั้นมันเป็นขั้นตอนประการใด ผู้ปฏิบัติจะแจ้งแก่ใจชัดมากในตอนนั้น ถามจะต้องตอบได้ตามญาณวิถีอย่างนี้เป็นต้น…
ขณะที่เดินจิตออก จิตคิด หยุด อย่าเดิน เอาทีละอย่าง กำหนดที่ลิ้นปี่อีกแล้วหายใจยาวๆ กำลังเดินจงกรม คิดหนอๆ มันไปคิด เอาเหตุผลมาตั้งบวกลบคูณหารไปตามลำดับ คิดหนอๆ ฟุ้งซ่านที่ไปคิดนั้นเดี๋ยวคอมพิวเตอร์จะตีออกมาถูกต้อง อ๋อไปคิดเรื่องเหลวไหล รู้แล้วเข้าใจแล้ว ถูกต้องแล้ว เดินจงกรมต่อไป
เดินจงกรม มีเสียง มีเวทนา ปวดเมื่อย หยุดเดิน ยืนกำหนด
ขณะที่เดินจงกรม มีเสียงอะไรมา กำหนดเสียงหนอ ถ้าขณะเดินจงกรมมีเวทนา ปวดเมื่อยต้นคอ หยุดเดิน ยืนเฉยๆ กำหนดเวทนาไป เอาสภาพความเป็นจริงมาแสดงออกว่า มันปวดมากน้อยเพียงใด ต้องการอย่างนั้น ไม่ใช่กำหนดแล้วหายปวด กำหนดต้องการจะให้รู้ว่ามันปวดขนาดไหน เวทนาทำให้รู้กฏแห่งกรรมได้ เราจะรู้กฏแห่งกรรมว่าได้ทำอะไร ระลึกชาติได้อยู่ที่ตัวเวทนานะ บางคนไม่รู้หรอก อันนี้จะไม่อรรถาธิบาย เดี๋ยวจะเสียอารมณ์ เดี๋ยวจะนึกเอาเอง
นึกเอาเองนี่ไม่ได้ต้องให้มันผุดเอง ให้มันเกิดเองอยู่ในจิตใจของตน อย่างนี้เป็นต้น นี่วิธีทำ
เดินจงกรม นิมิตเกิด หยุดเดิน ให้กำหนดตั้งสติไว้ที่หน้าผาก
เดินจงกรม…นิมิตเป็นพระพุทธรูป นิมิตเป็นหมอกเมฆต่างๆ นานาประการ นิมิตให้เราเห็นต้นหมากรากไม้ก็ได้ เช่นนี้ถือว่ามีสมาธิ แต่แล้ววิธีปฏิบัติต้องกำหนดเสียว่าเห็นหนอๆ ในนิมิตนั้น นิมิตนั้นแปรผันเปลี่ยนแปลง เป็นสภาวรูปที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป นิมิตนั้นก็หายวับไปกับตา ปัญญาก็เกิดเข้ามาแทนที่นิมิตนี้เป็นเครื่องหมายเท่านั้น…
ตาเห็นรูปก็ดี ตั้งสติไว้ที่หน้าผาก กำหนดเสียให้ได้ในการสัมผัส รับรองปัญญาก็เกิดสะสมเข้าไว้เป็นหน่วยกิต และมาเดินจงกรมนั่งภาวนารับรองได้ไว
อานิสงส์การเดินจงกรม
เดินจงกรมมีอานิสงส์ ๕ ประการ
๑. ย่อมอดทนต่อการเดินทางไกล จะไม่เหนื่อย
๒. ย่อมอดทนต่อการบำเพ็ญเพียร
๓. ย่อมเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคจะหายไปเลย
๔. อาหารจะย่อยง่าย ไปเลี้ยงร่างกายสะดวกสบาย
๕. สมาธิเกิดจากการเดินจงกรม จะตั้งได้นานกว่านั่ง ขณะนั่งจิตจะมีสมาธิเร็วขึ้น