ลูกได้บวชใน
โครงการสามเณรใจเพชร ๒
โดย สายยุทธ รัตนวิสุทธิพันธ์
สืบเนื่องมาจากการที่ดิฉันเริ่มเข้าวัดปฏิบัติธรรม ที่ศูนย์อบรมพัฒนาจิตสวนเวฬุวัน อ.เมือง จ.ขอนแก่น ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๓๘ เป็นต้นมา ดิฉันจึงมีโอกาสเข้าไปศูนย์ฯอยู่เสมอ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ ที่ผ่านมา เห็นแผ่นโปสเตอร์ติดประกาศไว้ที่บริเวณลงทะเบียนผู้เข้าปฏิบัติธรรมศูนย์ฯเวฬุวัน เป็นแผ่นกระดาษขนาดใหญ่มีข้อความว่า
… “ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ร่วมกับพระราชสุทธิญาณมงคล (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ขอเชิญกุลบุตรผู้มีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๒ ปี และกำลังเรียนอยู่ชั้น ม.๑ ขึ้นไป เข้าร่วมโครงการ “สามเณรใจเพชร” รุ่นกาญจนาภิเษก เพื่อพัฒนาตนเองให้มีความอดทนมีระเบียบวินัย โดยการบรรพชาเพื่อศึกษาและปฏิบัติธรรมแบบสติปัฏฐาน ๔ ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ต้องสมัครล่วงหน้า สอบข้อเขียนผ่านเตรียมความพร้อมและคัดเลือกเป็นเวลา ๒ สัปดาห์ ก่อนที่จะเข้าบวชเป็นสามเณรอย่างเคร่งครัดไปด้วยศีลและจริยาวัตร ณ วัดอัมพวัน ทางโครงการฯจะสอบคัดเลือกในวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๓๙ ที่ยุวพุทธฯ และลาสิกาบทในวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๓๙ ผู้สนใจสามารถขอรายละเอียดได้ที่ ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย เลขที่ ๕๘/๘ ซอยเพชรเกษม ๕๔ (เยื้องฟิวเจอร์พาร์ค บางแค) ถนนเพชรเกษม เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ๑๐๑๖๐ โทรฯ ๘๐๕-๐๗๙๐-๔, ๔๑๓-๑๙๕๘, ๔๑๓-๑๗๐๖ หรือที่วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี รับสมัครตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๓๙ หรือเมื่อครบ ๑๕๐ ท่านแรกเท่านั้น ผู้สมัครไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น”
การบวชตามโครงการฯ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๙ นี้เป็นรุ่นที่ ๒ พระเดชพระคุณหลวงพ่อจรัญให้ชื่อว่า “โครงการสามเณรใจเพชร รุ่นกาญจนาภิเษก” เพราะเป็นรุ่นร่วมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสทรงครองราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ซึ่งครองราชย์นานกว่าพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ที่ผ่านมาดิฉันได้นำข่าวดีนี้มาบอกลูกและหลาน พวกเขาตกลงใจสมัครทันที สอบถามดูเขาบอกว่ามีความมั่นใจทั้ง ๒ คน จึงได้ไปขอใบสมัครจาก พระอาจารย์ธีรวัฒน์ ฐานุตฺตโร หัวหน้าผู้ดูแลศูนย์ฯ พระอาจารย์ให้คำแนะนำในการกรองในสมัครเป็นอย่างดี และยังเมตตาอธิบายทำความเข้าใจด้วยว่า ทุกคนที่ยื่นใบสมัครต้องผ่านการทอดสอบความอดทนก่อนที่จะเข้าบวชตามกาหนดดังนี้
วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๓๙ – มอบตัวที่ศูนย์ฯเวฬุวัน
วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๓๙ – เดินทางไปกรุงเทพฯ
วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๓๙ – เดินทางไปยุวพุทธฯ
วันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๓๙ – เดินทางจากยุวพุทธฯไปวัดอัมพวัน
วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๓๙ – ทำพิธีบวชที่วัดอัมพวัน
วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๓๙ – ลาสิกขา
ขั้นตอนการทดสอบความอดทนอยู่ที่ยุวพุทธฯ เป็นเวลา ๑๐ วัน คณะกรรมการและพี่เลี้ยงของทางยุวพุทธฯ จะแจ้งให้ผู้ปกครองทราบว่าผ่าน หรือไม่ผ่าน ในวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๓๙ สำหรับผู้ที่สอบผ่านให้อยู่ต่อเตรียมบวชส่วนผู้ที่ไม่ผ่านให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน ทราบว่ามีผู้สมัครจากทั่วประเทศ ๑๓๐ คน ผ่านการทดสอบ ๗๑ คน
ในระหว่างที่รอฟังข่าวนี้ ดิฉันภาวนาให้ลูกและหลานสอบผ่านด้วยเถิด ผลปรากฏว่าลูกสอบผ่าน แต่หลานไม่ผ่านมีเด็กที่สมัครไปจากศูนย์เวฬุวัน จำนวน ๒๐ คน ผ่าน ๘ คน ไม่ผ่าน ๑๒ คน ทั้ง ๑๒ คนนี้พระเดชพระคุณหลวงพ่อเมตตาบวชให้ในวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๓๙ และได้ปฏิบัติธรรมที่ศูนย์ฯ จนกระทั่งลาสิกขาในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๓๙ ที่ผ่านมา พระอาจาย์ธีรวัฒน์และพระอาจารย์ทุกรูปที่ศูนย์ฯรวมทั้งคณะกรรมการตลอดจนผู้มีจิตศรัทธาทุกท่าน ได้ให้ความสงเคราะห์ ให้เมตตาธรรมดูแลสามเณรน้อยทั้ง ๑๒ รูปเป็นอย่างดียิ่ง ลูกชายของดิฉันเข้าบวชในครั้งนี้ชื่อเด็กชายปิยะพงษ์ รัตนวิสุทธิพันธ์ ชื่อเล่น ปังปอนด์ อายุ ๑๓ ปี กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปี่ที ๑ โรงเรียนท่าพระวิทยายน ต.ท่าพระ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ๔๐๒๖๐ ดิฉันได้มาร่วมในพิธีบวชด้วย มีความประทับใจในการทำงานอย่างเป็นระบบของยุวพุทธฯคณะกรรมการและพี่เลี้ยงรวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ และเจ้าหน้าที่ทางวัดอัมพวันทุกคนทำงานกันอย่างคล่องแคล่ว ไม่มีสิ่งใดที่ผู้ปกครองหนักใจเลย เห็นแล้วน่าเลื่อมใสศรัทธายิ่งนัก นับว่าเป็นบุญวาสนาของสามเณรทุกรูป และเป็นบุญของผู้ปกครองทุกคนที่ได้มาสัมผัสกับโครงการฯ สามเณรเหล่านี้อยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิดของท่านพระครูภาวนานุกูล (ชูชัย อริโย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสฝ่ายวิปัสสนาธุระ และพระอาจารย์ทางวัดอัมพวันหลายรูป รวมไปถึงคณะกรรมการยุวพุทธฯ โดยเฉพาะคุณมณเธียร ธนานาถ (จบปริญญาโทบริหารธุรกิจ จาก มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ) เป็นผู้ประสานงานให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่น
ในวันลาสิกขาบท ทางยุวพุทธฯแจ้งให้ผู้ปกครองไปรับเด็กที่ศูนย์วิปัสสนากรรมฐาน ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ผู้ปกครองทุกท่านมีความประทับใจมาก เพราะจัดกิจกรรมที่ดี กล่าวคือ จัดเตรียมห้องใหญ่เป็นี่ต้อนรับปรากฏว่าผู้ปกครองและญาติมิตรมากันเต็มห้องและยังมีผู้คนอีกส่วนหนึ่งรออยู่นอกห้อง เรียกได้ว่าที่นั่งไม่เพียงพอเลยทีเดียว เจ้าหน้าที่ทุกท่านต้อนรับด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส
พิธีกรได้จัดให้เด็กทำพิธีขอขมาพ่อแม่ของตนเอง เด็กกราบขอพรจากพ่อแม่ ส่วนพ่อแม่ถือโอกาสนี้รับขวัญลูกช่วงนี้มีการขับทำนองเสนาะรับขวัญยุวบัณฑิต (อดีตสามเณร)ฟังแล้วมีความซาบซึ้งใจเป็นอย่างยิ่ง เด็กสำนึกในพระคุณของพ่อแม่จนน้ำตาไหล ส่วนพ่อแม่มีความปลื้มปีติที่ลูกของตนเองเป็นคนดี มีความกตัญญูรู้คุณ รู้บาปบุญคุณโทษ มองดูเห็นพ่อ-แม่-ลูกทุกคู่ต่างก็มีความต้นตันใจ กลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ร้องไห้กันทุกคน เป็นบรรยากาศที่น่าประทับใจ เป็นภาพแห่งความทรงจำไม่มีวันลืม จากนั้นยุวบัณฑิต (สามเณรสึกใหม่) ก็ทยอยกันเข้าไปกราบลาครูบาอาจารย์และพี่เลี้ยงท่านประธานได้แก่นายกกิตติมศักดิ์ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยคือ พันเอก (พิเศษ) ทองคำ ศรีโยธิน ได้ให้เกียรติมาให้ข้อคิดกับเด็กๆก่อนกลับบ้านไป และได้บอกกับผู้ปกครองทุกคนว่า “ท่านได้ลูกคนใหม่กลับบ้าน เป็นลูกแก้วลูกขวัญของคุณพ่อคุณแม่ ท่านได้เพชรไปประดับบ้านกันทุกคนขอให้เด็กทุกคนจงรักษาคุณงามความดีนี้ตลอดไป” ประธานรุ่นของสามเณรใจเพชร รุ่นที่ ๒ ชื่อ นายสมบูรณ์ รัศมี เป็นนิสิตปีที่ ๒ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดิฉันในฐานะเป็นผู้ปกครองคนหนึ่งของรุ่นนี้ ขอกราบนมัสการขอบพระคุณ พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชสุทธิญาณมงคลเป็นอย่างสูงยิ่ง ขอให้หลวงพ่อมีบุญบารมีสูงยิ่งๆขึ้นไป รวมทั้งผู้ที่เป็นเจ้าภาพในการบวช ท่านผู้มีจิตศรัทธาอุปการะ บริจาคอาหาร บริจาคเครื่องอุปโภคบริโภค ทุกอย่างตลอดไปจนถึงเจ้าหน้าที่ทางวัดอัมพวันทุกท่าน พระอาจารย์คณะทำงานทุกรูป อีกทั้งกรรมการยุวพุทธิกสมาคมและเจ้าหน้าที่ทุกท่านในโครงการยุวพุทธฯ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในงานนี้ ขอกราบขอบพระคุณทุกท่านที่กล่าวมาเป็นอย่างสูงยิ่ง ที่ได้ให้ความอนุเคราะห์ เมตตาส่งเสริมให้เด็กชายทั่วประเทศได้มาสัมผัสรับรู้ในสิ่งที่ดีงาม นับว่าเป็นมงคลแก่เด็กที่มาบวชทุกคน พวกเขาตั้งใจมาน้อมรับธรรมะจากหลวงพ่อตั้งใจปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดเพื่อเป็นมงคลแก่ชีวิต เพื่อให้เกิดผลดีแก่ตัวเขาเอง ต่อพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ญาติ มิตร พี่น้อง และผู้มีพระคุณ
ความประทับใจนี้จะไม่มีวันลืม ดิฉันจะจดจำชื่อวัดอัมพวัน ชื่อ ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน และชื่อยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ตลอดไป ขออนุโมทนาบุญกุศลในการกระทำความดีงามของทุกฝ่าย ที่มีส่วนร่วมในโครงการฯ ขอให้ทุกท่านจงได้รับแต่ความร่มเย็นเป็นสุข มั่งมีศรีสุข ได้รับแต่สิ่งที่เป็นมงคล มีมนุษย์สมบัติครบถ้วนทุกประการโดยทั่วกัน
สำหรับตัวดิฉันเอง หลังจากเสร็จพิธีบวชลูกเณรแล้วได้อยู่ปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวันต่อไปจนถึงวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๓๙ มาครั้งนี้ได้อธิษฐานจิตว่า ขอให้ได้พบสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนด้วยเถิด ก็ได้พบ เป็นประสบการณ์ตรงหลายอย่าง แต่จะเล่าให้ฟังเพียง ๓ เรื่อง คือ
๑. พบว่าเงินงอก
๒. พบว่าหลวงพ่อปล่อยเปรต
๓. พบว่าวันกตัญญูและการบังสุกุลร่วมญาติเป็นของดี
เรื่องเงินงอก อยู่ที่วัดอัมพวัน ๑๕ วัน ตรงกับวันพระอยู่ ๒ ครั้ง ดิฉันจะสวดมนต์ตามแบบฉบับของศูนย์ฯเวฬุวัน คือทุกวันพระหลังจากสวดมนต์ทำวัตรเย็นเสร็จแล้วจะสวดมนต์บทพุทธคุณ ๑๐๘ จบ ตามด้วยบารมี ๓๐ ทัศก่อนนอนก็กราบลงที่หมอนโดยเอากระเป๋าเงินวางไว้ใต้หมอนทุกคืน ห้องพักหนึ่งๆจะมีผู้ปฏิบัติธรรมพักด้วยกันหลายคนได้รู้จักกันไปตามวาระที่มาอยู่ ก็ทักทายพูดคุญกันไปตามอัธยาศัย ได้รู้จักกับ คุณพี่ลินดา ไชยชนะ อายุ ๔๗ ปี เป็นคนจังหวัดแพร่ แต่มามีครอบครัวอยู่ที่กรุงเทพฯ มาอยู่ ๗ วัน จากวันที่ ๓-๗ เมษายน มีกำหนดกลับบ้านก่อน ก่อนกลับคุณพี่ให้เงินดิฉัน ๒๐๐ บาท บอกว่าพี่ให้เธอเป็นค่ารถกลับบ้าน ดิฉันบอกว่าเราไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ไม่ได้เป็นญาติพี่น้องอะไรกัน และที่สำคัญดิฉันไม่ได้ทำประโยชน์ให้กับคุณพี่เลย ไม่กล้ารับหรอกค่ะ เกรงใจ ขอขอบพระคุณมากขอให้คุณพี่เก็บไว้เถอะ ท่านไม่ยอมท่านบอกว่าพี่สงสารเธอกว่าจะกลับบ้านเหลืออีกตั้งหลายวัน เผื่อได้ทำบุญทำทานอีกดิฉันสังเกตดูสีหน้าท่าทางคุณพี่ลินดาพูดจริงคงให้ด้วยความจริงใจ จึงกล้ารับเงินนั้นไว้ด้วยความขอบพระคุณเป็นอย่างสูง แต่ไม่สบายใจอยู่ดี เมื่อคุณพี่กลับบ้านแล้วดิฉันได้แผ่เมตตาท่านและครอบครัวทุกวัน มีอยู่วันหนึ่งอ่านพบคำกลอนสอนจิตที่เขียนติดตามต้นไม้ในบริเวณวัด ในกลอนที่ว่า
“สิ่งใดที่เขาให้โดยไมตรี อย่าแสดงท่าทีว่ามิสม
ควรรับด้วยจิตใจใฝ่นิยม เพื่อให้ผู้ชื่นชมสมน้ำใจ”
ดิฉันคิดในใจว่า แหม! เราเกือบไม่รับเงินไว้เสียแล้วไม่อย่างนั้นคุณพี่คงเสียใจแย่เลย เหตุการณ์เช่นนี้พอที่จะเรียกว่าเงินงอกได้หรือไม่ ช่วยคิดด้วยค่ะ
เรื่องหลวงพ่อปล่อยเปรต มีอยู่วันหนึ่งผู้ปฏิบัติธรรมทุกท่านได้ไปฟังธรรมจากหลวงพ่อบนศาลาสุธรรมภาวนาเพราะมีคนมาก ในเวลาค่ำหลวงพ่อเทศน์โปรดสอนธรรมะข้อปฏิบัติต่างๆ ก็ฟังด้วยความตั้งใจ อยากบอกบางท่านที่เคยสวดมนต์บทพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ และบทสังฆคุณนี่เองที่หลวงพ่อเน้นเป็นพิเศษ เพราะบางท่านออกเสียไม่ถูกในวรรคที่ว่า อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย คำว่า เนย,เณย ให้ออกเสียงเป็น ไน ภาษาพูดต่างหากภาษาเขียนต่างหาก ขอให้จำกันไปใช้ให้ถูกต้อง มีบางครั้งที่ท่านถามนักปฏิบัติธรรมบ้าง ท่านถามว่ามีใครเคยเห็นเปรตบ้างไหม ไม่มีใครตอบได้แต่ยิ้มๆกัน หลวงพ่อจึงบอกว่าเปรตก็อยู่ในชุดขาวนี่ไง เทวดาก็อยู่ในชุดขาวนี่ไง วันนี้หลวงพ่อจะปล่อยเปรต คอยดูซิว่าใครจะรับเปรตหลวงพ่อได้บ้าง ท่านเทศน์อยู่นานพอสมควรจึงปล่อยให้เข้าที่พักของตนเอง ต่างคนต่างก็แยกย้ายไป ลงศาลากันไปตามลำดับ ก่อนจะเข้าห้องพักได้ไปเก็บเสื้อผ้าที่ตากไว้ที่ราวตากผ้าในอาคารที่พัก ก็พบว่าเสื้อชั้นในที่ซื้อใหม่หายไป ในใจคิดว่าอาจมีคนหยิบผิดเขาคงเอามาคืนที่เดิมกระมัง รออยู่ ๒-๓ วัน ไม่เห็นวี่แววจึงได้รู้ว่าเจอเปรตที่หลวงพ่อปล่อยมาขอส่วนบุญเข้าให้แล้วก็เลยคิดได้ว่าดีแล้วที่เรามีให้เขาขอ
เรื่องที่ ๓ วันกตัญญูและการบังสุกุลร่วมญาติ เป็นของดี วันที่ ๑๕ เมษายนของทุกปี เป็นวันกตัญญูและเป็นวันรดน้ำดำหัวของเราชาวไทย คณะศิษยานุศิษย์ไปสรงน้ำหลวงพ่อกันมากมาย ยืนเข้าแถวเรียงสองเป็นระยะทางยาวประมาณ ๑-๒ กิโลเมตร จากเวลา ๑๔.๐๐ น. ถึงเวลา ๑๖.๓๐ น. สำหรับภาคเช้ามีการทำบุญตักบาตร ทำบังสุกุลร่วมญาติ หลวงพ่อได้ทำบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษและครูบาอาจารย์ ผู้ล่วงลับไป อาทิเช่น ท่านเจ้าอาวาสวัดอัมพวันในอดีต และผู้มีอุปการคุณต่อทางวัดด้วย ส่วนผู้ที่ไปร่วมงาน ท่านให้ทุกคนเขียนชื่อ-นามสกุลของญาติตนเองที่ล่วงลับ เขียนชื่อในแผ่นกระดาษซึ่งทางวัดจัดเตรียมไว้ส่วนปัจจัยคือเงิน แล้วแต่ใครจะบริจาค รวมทั้งสิ่งของต่างๆที่ผู้มีจิตศรัทธาจะทำสังฆทาน จากนั้นพิธีกรประกาศให้ทุกคนตั้งใจอุทิศส่วนกุศลแก่ญาติที่ล้มหายตายจากไป ขณะที่ดิฉันหลับตาอธิษฐานจิตอยู่นั้น ก็มีภาพนิมิตเป็นผู้ชายสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ผูกเนคไท ยืนอยู่ในที่เวิ้งว้างภาพค่อยชัดขึ้นๆ จึงกำหนด รู้หนอๆๆๆ ภาพนั้นคือพี่ชายของสามีซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อ ๓ ปีก่อน และนึกได้ว่าไม่ได้เขียนชื่อเขาในแผ่นกระดาษ จึงภาวนาให้เขามารับส่วนบุญในครั้งนี้ด้วย ภาพนั้นค่อยๆหายไปในที่สุด
ในวันกตัญญูนี้สิ่งที่หลวงพ่อทำให้ญาติโยมเห็นเป็นตัวอย่าง ก็คือหลวงพ่อจัดหาสิ่งของ เสื้อผ้าและเงินใส่ซองเตรียมไว้เป็นชุด เพื่อมอบให้ผู้สูงอายุ เป็นการตอบแทนบุญคุณที่ได้ช่วยเหลือในกิจการงานของวัด ประมาณ ๒๐ คน ซึ่งแต่ละท่านมีอายุประมาณ ๗๐ ปีขึ้นไป ก่อนที่จะมอบให้คนอื่นหลวงพ่อท่านไม่มอบให้คุณแม่ของท่านเอง คุณแม่ของหลวงพ่อยังแข็งแรง อายุมากกว่า ๙๐ ปี ผู้ที่พบเห็นเหตุการณ์ในวันนั้น มีความประทับใจในจริยาวัตรอันงดงามของหลวงพ่อยิ่งนัก หลวงพ่อบอกว่า พ่อแม่คือพระอรหันต์ของลูกผู้ที่เคารพบูชาพ่อแม่จะทำกิจการงานสิ่งใดก็เจริญรุ่งเรือง จะเห็นว่าหลวงพ่อพยายามพร่ำสอนชี้แนะแนวทางดีงามมานานแล้ว ไม่ใช่สอนคนอย่างเดียว นับเป็นบุคคลตัวอย่างที่หาได้ยากในสังคมปัจจุบัน
ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลกได้โปรดคุ้มครองหลวงพ่อให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง มีอายุมั่นขวัญยืน มีบุญบารมีสูงยิ่งๆขึ้นไปด้วยเทอญฯ