เครื่องกั้นความดี : กามฉันทะนิวรณ์
โดย พระราชสุทธิญาณมงคล (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม)
เจริญพรญาติพี่น้องบรรดาพุทธศาสนิกชนทุกท่าน ทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ วันนี้เป็นวันธรรมสวนะ เป็น วันที่พุทธบริษัททั้งหลายมารักษาอุโบสถ รักษาศีล ฟังพระธรรมเทศนา และปฏิบัติธรรม
ท่านสาธุชนทั้งหลาย ผู้ที่จะสร้างความดีนั้นทำได้ยากมาก มันมักจะมีเครื่องกีดกั้นความดีไว้ ไม่ให้เราตั้งใจ รักษาอุโบสถศีล ตั้งใจฟังพระธรรมเทศนา ตั้งใจปฏิบัติกรรมฐานด้วยศรัทธาและเต็มใจ พอถึงเวลาเข้าก็หมดศรัทธา นั่นแหละ เครื่องกั้นความดีไม่ให้เราไปสู่ความดีได้ใครจะว่าคนอื่นก็ไม่ใช่ คนอื่นทำให้เรามาสร้างความดีก็ไม่ใช่ ตัวเราเองทั้งนั้น จิตจะเกิดอุปสรรค ใจคอหดหู่ ใจคอเหี่ยวแห้ง จิตใจไม่มีธรรม แห้งแล้งน้ำใจ ไม่เคยปฏิบัตินั่นเอง ในเมื่อไม่เคยปฏิบัติเช่นนี้ ก็เป็นเครื่องกีดกั้นความดีมีนิวรณ์ ๕ เป็นต้น ขัดข้องในการสร้างความดีอันนี้
เมื่อสมัยก่อน ปู่ ย่า ตา ทวด นั้นชอบมาวัดในวันพระ รักษาอุโบสถกำหนดองค์ ๘ ประการในวัดวาอารามเป็นต้น คนสมัยก่อนจึงมีคุณธรรมสูง เขาหนีความชั่วสร้างตัวให้ดี คนสมัยนี้ไม่สนใจในความดีอันนี้ วันพระก็ไม่รู้ วันโกนก็ไม่เข้าใจ วันจะฟังและปฏิบัติกรรมฐานก็ไม่เข้าใจ พระสงฆ์องค์เจ้ายุคใหม่ก็บวชกันระยะเวลาสั้นๆ แถมไม่ปฏิบัติอีก จะได้อะไรติดตัวท่านไป นั่นแหละเครื่องสกัด กั้นความดีทำให้เราไม่ได้ดี
บางคนคิดว่าจะมาปฏิบัติกรรมฐาน แต่ก็ผัดไปก่อน ยังไม่มาละ ลูกเขาไม่ให้มา หลานก็ยุ่ง อุปสรรคทางบ้านมีมาก แต่ที่จริงไม่ใช่คนอื่นเลยที่ไม่ให้เรามา อยู่ที่จิตใจของเราเองใช่หรือไม่ บางคนไม่ได้มา จนกลายเป็นอัมพาตและ ก็ตายไปแล้วด้วย อุปสรรคอยู่ที่ใหน ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลายโปรดพิจารณาตัวเอง มันอยู่ที่ใจเราทั้งหมด จิตใจเราจะมาหรือไม่มา จะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างสามีเขาขัดคอหรือภรรยาเขาไม่ให้มาก็จริง แต่ปัญหา มันอยู่ที่เราทั้งนั้น เราจะปฏิบัติหรือไม่ สามีภรรยาไม่ได้ผูกขากันมา ต่างคนต่างมากัน สามีเขาทำเขาก็ได้ของเขาภรรยาเขาทำเขาก็ได้ของเขา ใครทำใครได้ ใครไม่ทำก็ไม่ได้ ได้แต่ผัดวันประกันพรุ่งไปจนตาย
ท่านสาธุชนทั้งหลายโปรดพิจารณาตัวเอง ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนใช่ไหม อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนเท่านั้นที่เป็น ที่พึ่งแห่งตน ตนช่วยตัวเองไม่ได้ทำอะไรไม่ได้ ก็พึ่งตัวเองม่ได้ นับประสาอะไรจะพึ่งสามีเล่า นับประสาอะไรจะพึ่ง ลูกหลาน พึ่งพ่อแม่ก็แลเหลียวเปลี่ยวกาย พ่อแม่ก็ล้มหายตายจากไปแล้ว เราก็ต้องพึ่งตัวเอง ต้องตัดสินใจเอง ถ้าเราตัดสินใจไม่ได้ มันก็เป็นเรื่องของเรา นี่คืออุปสรรคเครื่องกีดกั้นความดี อันนี้แหละเป็นเรื่องภายในจิต
พระมาบวชกันไม่ใช่จะดีทุกองค์ บางองค์ก็บวชตั้งใจปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ระลึกถึงคุณบิดามารดาทุกวัน บวชเณรให้แม่ บวชพระให้พ่อ ถ้าพระภิกษุนวกะนึกได้อย่างนี้จะคิดถึงแม่ นี้แหละท่านทั้งหลาย ลูกที่ผลาญเงินผลาญทองพ่อแม่ พ่อแม่ตามใจลูก ลูกไม่ผูกพันกับพ่อแม่เท่าไรนัก ต้องทุกข์ยากลำบากจึงจะคิดถึงพ่อแม่ ถ้าไม่มีทุกข์จะไม่คิดถึงพ่อแม่แต่ประการใด นักเรียนนักศึกษาเวลาเรียนไม่ได้สนใจต่อครูบาอาจารย์ที่สอน แต่ถ้าไปสอบตกเมื่อไรจะคิดถึงครูเมื่อนั้น ท่านทั้งหลายจะเห็นด้วยหรือไม่ นี้เป็นเรื่องของตัวเอง ไม่ใช่ว่าคนอื่นเขาไม่ให้ทำความดี
การปฏิบัติกรรมฐานเป็นการผูกจิตอยู่ในจุดมุ่งหมายของงานในหน้าที่ กรรมฐาน แปลว่า การทำงานตามหน้าที่รับผิดชอบ กรรมฐาน แปลว่า อดทน กรรมฐาน แปลว่า ต่อสู้กับอุปสรรคที่มันขัดขวางสกัดกั้นความดีอันนี้ จึงจะมีประโยชน์แก่ท่านทั้งหลายไม่ใช่น้อย ถ้าท่านตั้งใจจะมาปฏิบัติกรรมฐานท่านชอบเข้าห้องพัก กรรมฐานตกไม่มีขันติความอดทนเลย กลับบ้านไปเถอะทำไปเดี๋ยวก็ต้องเลิก พอเสียงระฆังดังต้องตื่นแล้ว ตื่นอะไรดี ๓ ตี ๔ อยู่ที่บ้านตื่นตั้ง ๔ โมงเช้าก็เอาซิ นี่หรืออุปสรรค อุปสรรคตรงนี้ใช่ไหม อุปสรรคอยู่ที่ใจเรา
อุปสรรคสกัดกั้นความดีมันอยู่ที่เรา ตัดสินใจไม่ได้ก็เอวัง ต้องตัดสินใจได้โดยถูกต้องเหตุผลข้อเท็จจริง คนที่มา ที่นี่ชอบสบายทั้งหมด ไม่มีใครเลยที่ชอบความลำบาก แต่อย่าลืมขอเจริญพรคนสร้างความดีต้องมีอุปสรรค ต้องลำบากตลอดรายการจึงจะได้ดี ถ้าหากฝ่าอุปสรรคไม่ได้ก็ดีไม่ได้ ถ้าท่านปฏิบัติกรรมฐานได้ท่านจะได้ดีอย่างที่ท่านพูดเรียนให้รู้ ดูให้จำ ทำให้จริง เรามานี่ต้องการจะเรียนชีวิตของเรารู้ตัว อ่านออก บอกได้ ใช้เป็น
ต่อไปนี้ตั้งใจฟังว่าเราเจริญกรรมฐานมันขัดข้องตรงไหน จะได้ฝ่าฟันอุปสรรคให้หมดไป กรรมฐาน แปลว่าการกระทำให้ฐานะดี ทำให้จิตใจเข้มแข็งและอดทน ต้อง ต่อสู้กับมารร้ายเพราะว่าอุปสรรคนี้เป็นมารเหลือเกิน เรา ต้องเตรียมหาอาวุธยุทธศาสตร์ไว้ให้พร้อมในตัวเอง คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ก็คือกรรมฐาน ต้องทำให้ได้ศีลในเบื้อง ต้น คือการเจริญกรรมฐานให้มีสติสัมปชัญญะเป็นปกติของคน คนที่มีปกติแล้วคนนั้นจะไม่บกพร่อง คนที่มีสติสัมปชัญญะก็แปลว่าคนนั้นมีความเห็นถูกต้อง ในเรื่องจิตของตน จะพิจารณาหาเหตุผลข้อเท็จจริงอยู่เสมอ นี่แหละคือกรรมฐาน คือการเจริญสติปัฏฐาน ๔
๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน กายจะยืน กายจะเดิน นั่งนอน เหลียวซ้าย แลขวา คู้แขน เหยียดขา มีสติสัมปชัญญะครบ ตรงนี้ทำให้เกิดปกติคือ ศีล ทำให้ท่าน ตัดสินใจได้ง่าย สมาธิ คือจับงานอย่าทิ้งงานและหน้าที่ ไม่มีเดี๋ยว ทำงานต้องให้เสร็จทันเวลา อย่าปล่อยงานให้คั่ง ค้าง อันนี้เรียกว่าหน้าที่ ปัญญา แปลว่ารอบรู้ รอบรู้ในเหตุผลข้อเท็จจริง ในเมื่อทำได้อย่างนี้แล้วท่านถึงจะรู้ว่า อุปสรรคเกิดขึ้นกับท่านอย่างไร ท่านจะตัดสินใจได้ง่ายขึ้นแล้วความคิดของท่านก็จะดีด้วยปัญญาความคิดรวดเร็วขึ้น ความคิดที่ดีมันต้องคิดได้เร็ว ความคิดนั้นมันจะต้อง ถูกต้อง ความคิดนั้นมันจะต้องเอามาใช้เป็นประโยชน์ได้แก้ไขปัญหาชีวิตได้ ความคิดที่มันเป็นประโยชน์แก่ท่านในการตัดสินใจได้ง่าย พิจารณาโดยถ่องแท้และแน่นอนอย่างนี้เป็นต้น
ยืนหนอ ๕ ครั้ง นี้ผ้ปฏิบัติไม่ค่อยจะสนใจนัก ยืนปฏิบัติตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า ปลายเท้าขึ้นศีรษะอย่างนี้ ๕ ครั้ง จุดมุ่งหมายก็ต้องการให้สติกับจิตมันอยู่ด้วยกันในเมื่อสติอยู่กับจิต จิตอยู่กับสติทำให้การตัดสินใจได้ง่าย ขึ้น ทำให้เรามีสติปัญญา ทำให้จิตเราแก้ไขปัญหาชีวิต ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญทำให้เรารู้จักวาระจิตของตนเอง อ่านตัวออก บอกตัวได้ ใช้เป็น มองเห็นคนอื่น เห็นหนอ จิตส่งออกจากหน้าผาก อุณาโลมา ตะจะ ฌายะโต เห็นคนเดินมามองศีรษะลงปลายเท้า ปลายเท้าขึ้นศีรษะ๕ ครั้ง จะรู้นิสัยคนนี้เป็นอย่างไร นี่แหละมันจะทำให้เราตัดสินใจได้ง่าย มันเป็นอุปสรรคไหม
ทำความดีต้องมีอุปสรรคแต่เรากำจัดได้ เรามีสติสัมปชัญญะจะการผ่านอุปสรรคได้ ในเมื่อเรามีสติสัมปชัญญะประจำจิตแล้ว ทำให้เราอดทน ตรากตรำได้ทนเจ็บใจได้ ใครจะว่าอย่างไรก็ไม่โกรธ จะไม่เกลียด แต่ไม่ผูกพยาบาทคาดพยาเวรแต่ประการใด มันก็หลั่งไหลออกมาเป็นอย่างนี้แหละหนอ นี่มีความหมายอย่างนั้นการกำหนดจิต เราจะได้รู้อะไรเป็นอะไร จะได้ตัดสินใจได้ง่าย ถูกต้อง จะได้ไม่ผิดพลาดในชีวิตอีกต่อไป ท่านทั้งหลาย ถ้าเรามีสติกำหนดได้อุปสรรคนั้นๆ จะหายไปเพราะฉะนั้น มารไม่มี บารมีไม่เกิด มันต้องมีมารคืออุปสรรคเราชนะมารด้วยสติ ชนะมารด้วยสัมปชัญญะ ชนะมารด้วยความอดทนอดกลั้น ชนะมารด้วยความเมตตาปรานีต่อทุกคน ไม่มีการปรารถนาร้าย ใส่ร้ายป้ายสีใครแต่ประการใด นี่แหละอุปสรรคอันหนึ่ง เรามีสติสัมปชัญญะกำหนดได้ดังกล่าวแล้ว อุปสรรคจะหายไปเอง ความพยายามจะเกิดขึ้น นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มีแล้ว สมาธิเป็นร่มใหญ่ภายในย่อมร่มเย็นเป็นสุขตลอดบ้านตลอดครอบครัว ลูกหลานจะอยู่ร่มเย็นเป็นสุขตลอดกาล ไม่มีการทะเลาะวิวาทกัน บ้านนั้นจะหมดปัญหา จะแก้ปัญหาได้อย่างสมมาดปรารถนาทุกประการ
ท่านเจริญกรรมฐานต้องการหาสิ่งที่ประเสริฐในชีวิต ต้องการจะไม่มีปัญหาในชีวิตต่อไป ต้องการจะสู้ปัญหา กับแก้ปัญหาเท่านั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นกับท่านก็คือจิตใจของ ท่านเอง ไม่ใช่คนอื่นมาทำให้ท่าน ท่านทำตัวเอง เราไปโกรธลูกแล้วไม่กินข้าว ไปโกรธสามีแล้วก็ออกนอกบ้าน ไปโกรธภรรยาแล้วก็ไปเที่ยวเล่นการพนัน ดื่มสุรายาเมา มันใช้ได้หรือ
ท่านที่เจริญกรรมฐานไม่จริง กลับไปบ้านแล้วก็เลิก ปีหนึ่งจะปฏิบัติสักหน หรือนานทีปีหนก็ใช้ไม่ได้ มันไม่เสมอต้นเสมอปลาย ทำไม่ติดต่อกันไปโยมจะเอาดีไม่ได้ต้องทำติดต่อกันไป เพราะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันใช้อยู่แล้ว ทำไมไม่ตั้งสติเข้าไว้ หัวใจกามคุณคือ รูป เสียงกลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เมื่อมีสติสัมปชัญญะ มัน ก็แก้ปัญหาไปในตัวของมันเอง สามารถจะตัดสินใจได้เด็ดเดี่ยว หนึ่งไม่มีสองประคองไว้ด้วยสติสัมปชัญญะ
เขาจะด่าว่าอย่างไรเราก็มีสติสัมปชัญญะ ไม่รับคำด่ามาไว้ในใจ อุปสรรคมันก็หายไป ถ้าเรารับคำด่า คำว่า คำเสียดสีมาไว้ในใจเรา เราก็เลวคนเดียว เราไปโกรธเขา เรา ก็เลวคนเดียว แต่เขานั้นเขาไม่โกรธเรา เขาไม่รู้เรื่อง เขาไม่เข้าใจเรา เรากลับไปโกรธ ไปทำกับตัว เป็นอุปสรรคในการขัดขวางความดี อันนี้สำคัญมาก
สามีภรรยาก็เหมือนกัน ไม่ใช่สามีทำให้เราเลวหรือภรรยาทำให้เราเลว เราทำตัวเองมันถึงเลว ถ้าเราทำดีแล้ว มันดีตามไปหมดอย่างที่ธรรมะบอกไว้ ถ้าเรามีกรรมฐานแล้วจะได้ผลมาก ร้ายมาอย่าร้ายตอบ เขาไม่ดีมาจงเอาความดีไปแก้ไข คนตระหนี่ให้ของที่ต้องใจ คนพูดเหลวไหลเอาความจริงใจเข้าไปสนทนา ข้อนี้ยังแก้ได้ แต่เราไม่มีธรรมะแก้ไขปัญหาชีวิตไม่ได้ แก้ปัญหาครอบครัวก็ไม่ได้ สามีภรรยาก็ทะเลาะกันตลอด สามีเจ้าชู้สามีเล่นการพนัน ภรรยาที่ดีก็ต้องพึ่งกรรมฐาน แผ่เมตตาให้สามีเป็นคนดี ให้เลิกสุรายาเมา ให้เลิกเล่นการพนัน เลิกเจ้าชู้ แล้วเขาก็เข้าบ้านเราเอง นี่ ตรงนี้อุปสรรคสำคัญ ถ้าท่านทำได้จะไม่มีอุปสรรคเลย แต่ท่านปลงไม่ตกเลย
ถ้าเราเจริญกรรมฐาน มันปลงตก มันก็มีสติสัมปชัญญะในการแก้ไขปัญหาชีวิต ชีวิตนี้คืออะไรกันแน่และเกิดมาเพื่ออะไร อะไรเป็นความแน่นอนในชีวิต ไม่มีอีกแล้ว มีแต่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หาความแน่นอนไม่ได้เลย ตั้งใจทำอย่างนี้ให้มันได้อย่างนี้ มันก็ไม่ได้ตามที่ตั้งใจ มันก็เปลี่ยนแปลง อย่าไปเสียใจกับมันเลย อนาคตอย่าจับให้มั่น อย่าคั้นให้ตาย จะผิดหวังจะเสียใจไปตลอด ชีวิต เพราะฉะนั้นทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ ไม่แน่นอน เรา ตั้งใจว่าเขาจะเอาเงินมาให้เราวันนี้นัดกันไว้แล้วนัดกันไว้อีก แต่มันมีความจำเป็นเขามาให้เราไม่ได้ เขาบกพร่องหรือเขาว่ามันติดขัดมันก็ไม่ได้เงินมาในวันนี้ นี่แหละถ้าเราปลงไม่ตกตัดสินโดยไม่มีสติและสัมปชัญญะ เราก็จะเสียใจและผิดหวังต่อไป เราก็ต้องเตรียมการของเราไว้ทั้งหมดพร้อมทุกอย่างที่จะเตรียมการ โดยมีสติสัมปชัญญะ ด้วย จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานไปก่อน
๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน อุปสรรคในการนั่งกรรมฐานคือการปวดเมื่อย เวทนาเดี้ยวสุข เดี๋ยวทุกข์เดี๋ยวเสียใจ เดี๋ยวดีใจ ก็กำหนด ตัวกำหนดคือปัญญาที่เราจะแก้ไขปัญหาผ่านอุปสรรคได้อย่างแน่นอน เรามีสติสัมปชัญญะ ปัญหาที่เกิดขึ้น เรื่องกรรมฐานมันก็สามารถแก้ปัญหาได้ ปวดหนอ ปวดหนอ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปแยกรูปแยกนาม และเวทนาก็แยกออกไป ที่ตรงนี้ปัญญาก็เกิดขึ้นเป็นอาวุธประจำตัวเราได้ นี่แหละอุปสรรคจะหายไป และก็จะไม่ปวดเมื่อยอีกต่อไป ถ้าปลงตกแล้วอนิจจัง มันไม่เที่ยง มันก็เป็นทุกข์ พอมีทุกข์แล้วมันก็เป็นอนัตตาเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่มีอะไรทุกข์อยู่กับเราอีกแล้ว จิตใจเกิดขึ้นก็มีปัญญารอบรู้ในกองการสังขารทุกประการ ก็จะเป็นประโยชน์แก่ตนเองโดยเฉพาะ
อีกอย่างหนึ่งนี่เวทนาเป็นอุปสรรค เวลาง่วงเหงาหาวนอนอยากจะนอน พวกนิวรณ์มันเข้ามาเคลิบเคลิ้มและหลงใหลง่วงเหงาหาวนอนก็ต้องอดทนเดินจงกรมต่อไป อย่ามานั่ง ตายให้มันตาย จะหลับหรือก็อดทนเข้าไว้ตั้งสติไว้ เดี๋ยวมันก็หายไปเอง หายไปแล้วเดี๋ยวมันก็เกิด ปัญญาจะได้รอบรู้กองการสังขาร
ความอดทนนี่คือสัจจะ ตั้งใจว่าจะเดินจงกรมชั่วโมง ต้องให้มันถึง นั่งได้ ๓๐ นาที เลิกแล้ว เดิน ๓๐ นาที ก็เลิกแล้ว ไม่พอชั่วโมงก็มีมาก นี่แหละ มันเสียท่าเสียที มันมีมารร้ายและมันมาสกัดกั้นความดีเพราะตัวเราเกียจคร้านต่อหน้าที่ตั้งใจกระทำกรรมฐาน ถ้าเราตั้งใจดีแล้วเหตุผลก็ดีด้วย ตายให้มันตาย ให้มันรู้ไว้ จะได้รู้ว่ามันตายและจิตใจมันเป็นอย่างไร ถ้าทำดีได้อย่างนี้แล้วรับรอง ว่าได้มรรคได้ผลทำอะไรค้าขายก็รวย ทำธุรกิจก็ได้ผล
ถ้าหากท่านจะเสียสัจจะครั้งสองครั้งท่านทำอะไรก็เสียสัจจะต่อไป คนที่เสียสัจจะคือมีเครื่องสกัดกั้นไม่ให้ท่านไปถึงความดีได้ จะพูดจากับใครก็เสียสัจจะพูดแล้วจะไม่ทำตามคำพูดตลอดรายการ นี่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ชัดเจน สัจจังเว อมตา วาจา วาจาสัตย์เป็นวาจาที่ไม่ตาย นี่อันนี้ซิสำคัญเป็นอุปสรรคสำคัญประจำชีวิต พูดเหลาะแหละเหลวไหลไม่มีคนนับหน้าถือตา นี่แหละเป็นการสกัดกั้นความดีของท่านเอง
ท่านหาความดีให้ตัวของท่านไม่ได้ แล้วใครเล่าจะสร้างความดีได้ จะยากดีมีจนก็เป็นคนดีได้ ไม่ได้หมายความว่ามีเงินเป็นร้อยล้านแล้วท่านจะเป็นคนดี พ่อแม่เป็นใหญ่เป็นโตเป็นคุณหลวงคุณพระแล้วก็เป็นคนดี ไม่ใช่ คน ดีมันไม่ได้อยู่ที่เงินทอง มันอยู่ที่จิตใจของท่าน มีคุณธรรมไหม มีคุณภาพไหม มันอยู่ที่คุณภาพ เหมือนเภสัชมีคุณภาพ ไม่เสื่อม ยาไม่หมดอายุ เหมือนมีคุณธรรมประจำ จิตประจำใจ นี่แหละ สิ่งสำคัญของชีวิต เป็นแกนนำของ ชีวิตท่านจะเดินทางไม่พลาดผิดใช้ชีวิตในสังคมในโอกาสต่อไปข้างหน้า
สัจจะสำคัญมาก บางคนพูดแล้วยังไม่ทำ รับรองท่านจะทำดีไม่ได้ การเสียสัจจะสำคัญจะเป็นเครื่องกั้นความดีของท่านและความชั่วจะพาตัวไปไม่มีใครนับหน้าถือตา มันจะออกมาอย่างนี้ ตั้งใจเจริญกรรมฐานแล้วไม่ทำ บางทีที่มาบวชเป็นพระแล้วไม่ตั้งใจทำก็ไม่ได้อะไรเลย บอกว่าปวดเมื่อยบ้าง นั่งไม่ได้บ้าง เดินไม่ได้บ้าง หนาวเกินไป เช้าเกินไป สาย บ่าย เย็น ร้อนเกินไปไม่ทำ นี่แหละประเภทสกัดกั้นเอาความชั่วมาใส่ตัว แล้วความดีจะมาได้อย่างไรความดีเข้าไม่ได้ เพราะความชั่วมันเข้าเต็มเปาเต็มกระเป๋าไหนความดีมันจะเข้าไปได้
ขอเจริญพรที่เรามาสร้างความดี ต้องละความชั่ว มาทำบุญ ก็ต้องละบาปได้ ละบาปในใจได้ไหม คนมานั่งกรรมฐานหากเอาบาปมาไว้ในใจ ใครพูดอย่างไรก็โกรธเกลียดเขา เขาลองดู พอลองดูหน่อยก็ตะเพิดไปเลย สอบตกตั้งแต่สัมภาษณ์ข้อแรก คนประเภทนี้ไม่มีโอกาสที่จะสร้างความดีได้หรอก คนที่ดีมีปัญญาเขาจะอดทน ทำไร่ไถนาเขาจะประกอบการค้าก็ทน
การเจริญกรรมฐานดังที่กล่าวแล้วท่านจะมีเมตตา มีแต่ให้กับช่วย จะช่วยเหลือกันตลอดรายการ จะไม่โกรธซึ่กันและกัน จะไม่เกลียดจะไม่โกรธ จะไม่ผูกพยาบาทคาดพยาเวรใครที่ไหนอีกต่อไป มีความหมายอย่างนั้น เพราะฉะนั้นการอิจฉาริษยากันเป็นอุปสรรคสำคัญ เกิดความไม่ดี ๕ ประการ ดังนี้
๑. เป็นอุปสรรคทำให้เกิดความแตกสามัคคี
๒. เป็นอุปสรรคในการประสานงานที่ดีด้วย
๓. ขาดขวัญกำลังใจแก่ผู้ร่วมงานด้วย
๔. สร้างศัตรูให้กับตัวเอง คนประเภทนี้สร้างศัตรูไม่มีใครชอบ อิจฉาคนโน้น อิจฉาคนนี้ ใส่ร้ายป้ายสีคนโน้นคนนี้ไม่มีใครชอบ นี่แหละ สร้างศัตรูให้กับตัวเองชัดๆ
๕. ขาดความจริงใจต่อเพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมงาน ก็ไม่มีความจริงใจต่อกัน ไม่มีความสามัคคีในหมู่คณะ จะไม่มีระเบียบวินัย จะเห็นได้อย่างชัดเจน ถ้าเจริญกรรมฐานแล้วจะมีระเบียบ วินัยและมีเมตตาไม่ผูกพยาบาทคาดพยาเวรกัน
๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการกำหนดจิตตลอดรายการ หายใจยาวๆ ถ้าเสียใจก็กำหนดที่ลิ้นปี่ โกรธก็กำหนด หายใจยาวๆ ไม่สบายใจหนอที่ลิ้นปี่ เดี๋ยวมันก็หาย เท่านั้นเองทำไม่ได้ ปรากฏว่าผู้ปฏิบัติไม่กำหนดจิตไม่เคยมีสติเลยแม้แต่นาทีเดียว และท่านจะมีปัญญาจะแก้ปัญหาได้ประการใด โกรธก็ฝากโกรธไว้ ฝากพยาบาท ทำให้อารมณ์ไม่ดีไปเปล่าๆ ไม่เกิดประโยชน์อันใด
เพราะฉะนั้นความเป็นอุปสรรคที่มันกั้นความดีของเราไว้อยู่ตรงนี้เอง เป็นนิวรณ์อันสำคัญที่สกัดกั้นตลอดรายการ เป็นที่จิตใจของเราเอง ถ้าจิตใจเราหนึ่งไม่มีสอง ตัดสินใจเด็ดขาดด้วยปัญญา แล้วท่านจะไม่มีอุปสรรคจะไม่มีศัตรูอาฆาตมาดร้าย ไปที่ไหนมีแต่คนรักนับหน้าถือตาจะมีแต่คนนิยมชมชอบท่านทั้งหลาย ด้วยความดีดังที่กล่าวมา
๔. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธรรมเป็นกุศล อกุศลเราจะได้รู้ตัวว่าทำถูก เป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมอย่างนี้เป็นต้น ไม่สบายใจก็กำหนด ลูกเต้าไม่ดีเกเรไม่เรียนหนังสือ ใครเป็นพ่อเป็นแม่นั่งกรรมฐานแผ่เมตตาให้ลูกซิ ลูกจะดีเอง จะดีได้และหมั่นให้ลูกสวดมนต์ไหว้พระไว้ถึงจะได้มรรคได้ผลตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ
เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลาย บัดนี้จะชี้แจงถึงเรื่องเหตุผลในเรื่องสกัดกั้นความดี ที่ทางพระท่านเรียกว่านิวรณ์ พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายปรากฏในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย จากเรื่องนี้ท่านจะได้ทราบ ว่าคนเราจะเอาดีไม่ได้นั้นเพราะมีอะไรมาคอยกั้นไว้ และทำอย่างไรจึงจะทำลายเครื่องกั้นเหล่านั้นเสียได้ เรียกว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะสัญชาตญาณคนเราดีเป็น ทุนอยู่แล้ว ทุกคนชอบดี ไม่ชอบชั่วแต่ประการใด ซึ่งก็นับ ว่าเป็นบุญตัวนักหนาที่มีความชอบอันถูกต้องเช่นนั้น
บางคนไม่มีความคิดชอบถูกต้องเลยเพราะไม่ได้เจริญกรรมฐาน ความดีเป็นเสน่ห์ชอบให้รักใคร่นี่เอาทางโลกมา พูดได้ ความชั่วไม่ได้เป็นเสน่ห์ให้รักใคร่แต่ประการใด มีแต่ความหายนะ มีแต่ความเกลียดชังแหนงหน่าย ที่ว่าเช่นนี้ก็เนื่องจากว่าอานุภาพของความดีมีมากนัก ใครฉลาดสร้างไว้ได้ ความดีนั้นจะเป็นเสน่ห์ดึงดูดสิ่งดีงามต่างๆ มาสู่ตัวเสมอ เด็กๆ ที่ว่านอนสอนง่าย เรียนหนังสือ ไม่เถียงพ่อเถียงแม่ ไปลามาไหว้ ไปเรียนหนังสือไหว้พ่อแม่ ๓ หนเจอผู้สูงอายุเลี่ยงทางไห้ เจอพระนมัสการ ลูกอย่างนี้พ่อแม่ก็รักใคร่ใช่หรือไม่
สามีเป็นคนดีตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน สร้างเนื้อสร้างตัวให้เป็นหลักฐาน ซื่อตรงต่อภรรยา ไม่นอกใจ เห็นอกเห็นใจภรรยา ไม่เที่ยวเตร่หุ้งเฟ้อ จงรักภักดีต่อภรรยาภรรยาประพฤติดี รู้จักเก็บหอมรอมริบ รู้จักใช้จ่าย ไม่เที่ยวเตร่ฟุ้งเฟ้อ จงรักภักดีต่อสามี อยู่ในฐานะเป็นแม่ศรีเรือน สามีก็รัก เป็นแม่บ้านการเรือนเคหศาสตร์เห็นอกเห็นใจกัน อาตมาคิดว่าสามีต้องรักแน่ ความดีนั้นใครหาไว้ประคับประคองตัวได้
ท่านเจริญกรรมฐานท่านจะเห็นอกเห็นใจ ต่างคน ต่างประพฤติดี ปฏิบัติชอบต่อกัน จากกรรมฐานโดยมีสติสัมปชัญญะรับรองได้ผลแน่คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นี่แหละ ย่อมจะเป็นเสน่ห์ชวนให้รักใคร่ ความดีเป็นเสน่ห์ คนเราเมื่อได้ปลูกรักได้แล้ว ความรักนั้นแหละจะบันดาลให้สิ่งที่ต้องการต่างๆ อย่างที่ท่านว่าไว้ว่า จะปรารถนาสิ่งใดไม่เกินนัก เอาความรักแลกได้ดังประสงค์ ตัวอย่างเช่นลูกประพฤติดีพ่อแม่ย่อมจะโปรดปราน ต้องการอะไรพ่อแม่จะ ทูนหัวให้อย่างไม่เสียดายทีเดียว จริงหรือไม่ประการใด อาตมาสอนเด็กเหลือเกิน ต้องการให้เดินไปข้างหน้าอย่างนี้
บางบ้านเสียใจด้วย ลูกไม่เอาไหน เถียงพ่อเถียงแม่คำไม่ตกฟาก อาตมาเห็นว่าไม่ใช่อยู่ที่เด็ก พ่อแม่ไม่ดีไม่ได้นึกถึงตัวเอง กรรมอยู่ที่แม่ แก้อยู่ที่พ่อ ก่ออยู่ที่ลูก ก่อให้เดือดร้อน ก่อความดี ก่อความชั่วให้พ่อแม่ ปลูกอยู่ที่ครู ความรู้อยู่ที่ศิษย์ จะได้เป็นมิตรกัน ใช่หรือไม่ นอกจากนี้ความดียังดลบันดาลให้คนดีรุ่งเรืองด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อีกมากมายนับไม่ถ้วน ฉะนั้นความดีจึงจะเป็นทางทำให้เกิดเสน่ห์คือดึงดูดให้คนรักแม้ของที่งาม ต่างๆ ก็เข้ามาหาก็คนดีทั้งนั้น ตรงกับภาษิตที่ว่า สิริโภคานะมาสะโย ศรีคือมิ่งขวัญเป็นที่มาแน่นอนแห่งโภคะหมายความว่าของดีชอบอยู่กับคนดี ตรงกันข้ามคนชั่วของไม่ดีชอบอยู่ด้วย เพราะความชั่วเป็นตัวเสนียด ความดีเป็น ตัวเสน่ห์ ศัตรูของความดีมีอะไรบ้างไหม ศัตรูของความดีมีมากสำหรับทางโลกนี้ ขอท่านพิจารณาดูเอง
ฉะนั้นเราจึงเกลียดความชั่ว ชอบความดี แต่ก็น่าแปลกเหลือเกินที่คนบางคนที่ชอบความดีแต่ก็ไม่ทำ ก็น่าแปลกไม่ชอบทำดี อยากเป็นคนฉลาดรอบรู้แต่ไม่ศึกษาเล่าเรียน เสียใจด้วย ไม่อยากเรียนหรือจะรู้ ไม่ฟังหรือจะได้ยิน ไม่ทำหรือจะเป็น จะลำเค็ญย่ำแย่จนแก่ตาย คนประเภทนี้ทั้งนั้น นี่แหละ อุปสรรคเป็นอย่างนี้ อยากดีแต่ไม่อยากทำ มีมากมาย น่าเสียดาย อยากร่ำรวยแต่เกียจคร้านน่าเสียใจด้วย ทำงานอย่างนี้ต่อไปตลอดชีวิตก็ทำให้ร่ำรวยไม่ได้เลย เหมือนอย่างคน เศรษฐีในใจ แล่นใบบนบก สกปรกลามก จิตใจไม่ดี อยากรวยแต่ไม่อยากทำ
อนึ่งบางคนลงมือทำดีเหมือนกันแต่ไม่ตลอด เช่นการฟังเทศน์ก็รู้ว่าเป็นของดี เพราะในเรื่องเทศน์ทุกเรื่องก็ล้วนสอนให้เป็นคนดีทั้งนั้น ไม่มีเรื่องไหนเลยที่จะสอนให้คนเป็นคนชั่ว ใช่หรือไม่ ตรงกับที่ท่านให้คติไว้ว่า ร่างกายจะสวยงามเพราะหมั่นขัดสี คนเราจะดีเพราะหมั่นฟังเทศน์ ทั้ง ๆ ที่รู้อย่างนี้ ถึงกระนั้นเมื่อฟังไปก็เกิดเบื่อหน่ายเสียบ้าง ง่วงนอนเสียบ้าง ฟุ้งซ่านเสียบ้าง สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องกั้นทำให้คนไม่ได้ดี ก็คือตัวเอง ไม่ใช่คนอื่นทำให้ตัวเองเช่นกัน
แม้ในกรณีอื่นเช่นกัน นิวรณ์ ๕ เครื่องกั้นความดีอันนี้ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อสัตว์โลก พระพุทธเจ้าทุกพระองค์จึงตรัสชีศัตรูของความดีไว้ ๕ อย่าง เรียกตามทางศาสนาว่า นิวรณ์ คือ
๑. มีใจรักใคร่ในอารมณ์ที่ชอบใจ เรียกว่า กามฉันทะ
๒. ผูกอาฆาตปองร้ายเขา เรียกว่า พยาบาท
๓. จิตหดหู่เคลิบเคลิ้ม เรียกว่า ถีนมิทธะ
๔. พุ้งซ่านรำคาญใจ เรียกว่า อุทธัจจกุกกุจจะ
๕. สงสัยลังเลใจ เรียกว่า วิจิกิจฉา
ทั้ง ๕ ประการนี้เมื่ออย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว ย่อมกั้นคุณงามความดีไว้ ไม่ให้ท่านได้ดี เพราะตัวท่านเองเกียจคร้านมาก ง่วงเหงาหาวนอน พอนั่งกรรมฐานหน่อย ก็ง่วงนอน เดินจงกรมหน่อยก็ง่วงนอน ไม่เอาเหนือเอาใต้ดูหนังสือพอจะจบหน่อยง่วงนอน นี่แหละ เป็นอุปสรรคไหม มันเป็นอุปสรรคอย่างนี้ แต่เราทะลุความดี อดทนตายให้มันตาย ต้องตั้งสติเอาไว้ ทำด้วยความตั้งใจท่านจะได้ผล
เหมือนอย่างกรรมฐานอดทนหน่อยได้ไหม ท่านก็เป็นคนหนึ่งที่รักดีไม่ใช่หรือ พี่น้องที่รักทั้งหลาย ท่านก็เป็นคนหนึ่งที่รักดี ถ้าเช่นนั้นก็ควรมีความรู้จักมักคุ้นกับเครื่องปิดกั้นเหล่านี้ไว้บ้าง พร้อมทั้งศึกษาวิธีทำไว้เสีย ด้วย เพื่อช่วยให้เข้าถึงความดีกันต่อไป ทำลายความดีอย่างไร การบรรยายธรรมะในวันนี้จะแสดงเฉพาะเครื่อง ปิดกั้นในประเภทที่หนึ่งเท่านั้นคือ กามฉันทะ เพียงอย่างเดียว
กามฉันทะ เป็นภาษาทางศาสนาแปลว่าการพอใจในกาม หมายถึงพอใจรักใคร่ในรูป พอใจรักใคร่ในเสียง พอใจรักใคร่ในกลิ่น พอใจรักใคร่ในรส พอใจรักใคร่ในการ สัมผัสถูกต้อง เมื่อเกิดใจรักใคร่ขึ้นแล้ว ก็เกิดการรักใคร่หลงใหลถึงกับหมกมุ่นครุ่นคิดทำให้เสียการงาน ต้องสิ้นเปลืองเงินทองไปอย่างน่าเสียดาย ตลอดจนทำให้เสีย ศีลธรรมเสียคนไปในที่สุด ตัวอย่างเช่น เยาวชนที่อยู่ในระยะศึกษาเล่าเรียน แต่กลับไปริเริ่มรักก่อนเรียน ใจเลยแตก การเรียนก็เสีย ผลสุดท้ายเรียนไม่สำเร็จ หรือบางคน ก็หลงใหลในการดู การเล่นเกินควร ถึงกับเสียงานเสียการบางคนก็ติดในรสอาหาร เดี๋ยวจะรับประทานอย่างนั้นเดี๋ยวจะรับประทานอย่างนี้ละ จ้จี้จุกจิกเลี้ยงยากมาก บางครั้งอาหารที่บ้านไม่อร่อยต้องไปรับประทานที่นั่นที่นี่ ต้องเสียทรัพย์ไปโดยไม่จำเป็น ทั้ง ๆ ที่บางคนก็ฐานะยากจนไม่เจียมตัว ปากตุ่มมันลันแต่กันตุ่มมันรั่ว ใครมีนิสัยอย่างนี้ลำบากทุกคนนะ คนไม่ทั่วปากลันกันก็รั่วตลอดกาล ถ้าอยู่ในฐานะอย่างนี้ท่านจะลำบากมากทุกคน
ท่านทั้งหลาย แต่ก่อนอาตมาห่วงเรื่องนี้มากถึงกับให้คติเตือนใจว่า จงกินเพื่ออยู่แต่อย่าอยู่เพื่อกิน หรือว่าตามใจปาก จงจำไว้ภาวนาเป็นคาถาป้องกันไม่ให้เป็นคนเห็นแก่ปากแก่ท้องได้อย่างศักดิ์สิทธิ์ มานั่งกรรมฐานก็โยนิโส-มนสิการ มีอะไรก็ทานเถอะยังชีวิตให้อยู่เพื่อสร้างความดีก็แล้วกัน อย่างไรก็นึกว่ากินกุ้งเผากินหมูเห็ดเป็ดไก่ไปได้เลย ยังชีวิตให้อยู่ได้ไปวันหนึ่งก็พอแล้ว เพื่อสร้างความดีเท่านั้นนับว่าเป็นประโยชน์มากทีเดียว
แม้เรื่องเครื่องแต่งตัวก็น่าจะได้คำนึงกันไว้บ้างเพราะบางคนแต่งเสียจนเฟ้อ เดี๋ยวซื้ออย่างนั้นเดี๋ยวซื้ออย่างนี้ เปลี่ยนอย่างนั้นเปลี่ยนอย่างนี้ เสริมสวยอย่างนั้นเสริมสวยอย่างนี้ตลอดวันตลอดคืน เรื่องการแต่งตัวสร้างความงามที่พูดนะไม่เสียหายอะไรและก็ไม่ได้ว่าอะไรหรอกแต่งได้ก็สวยดี การแต่งตัวก็ไม่เสียหายหรอก เพราะไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง แต่งได้ไม่เป็นไรแต่ขอให้แต่งแต่พอดี ถ้าเกินพอดีก็เสียงาม
คนที่ชอบแต่งตัวถ้าจะหันมาแต่งใจให้มีศีลธรรมบ้างคู่กับการแต่งกายด้วยแล้ว ก็จะถือว่าสวยพร้อมทั้งนอกทั้งใน สวยจิตสวยใจสวยนอกสวยใน มะตูมแข็งนอกมะกอกแข็งใน สวยทั้งนอกสวยทั้งในก็ดีนะ แต่งไว้เถอะไม่เสียหาย ทั้งกายและใจ สมกับคำพังเพยว่า ข้างนอกสุกใสข้างใน ต้องสดสวย จิตใจก็สวยด้วย มีทั้งรวย สวย ดี มีปัญญาใช้ได้ และโลกของเรานี้ก็จะร่มเย็นเป็นสุขไม่ใช่น้อยโดยไม่ต้องคอยพระศาสนาหรือพระศรีอาริย์ให้เสียเวลา ฉะนั้นจึงขอให้ท่านนำเรื่องนี้ไปคิดไว้บ้าง
การเจริญกรรมฐานถึงการหลงใหลในกามฉันทะทั้งหมดที่แสดงมานี้ ย่อมชี้ให้เห็นได้ว่าการติดใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั้นย่อมเป็นเครื่องปิดกั้นความดีไว้ได้แน่นอน เพื่อจะให้เรื่องนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น อาตมาขอยกตัวอย่างทางศาสนาซึ่งมีมาในชาดก ท้าวความว่า พระราชกุมารโอรสพระเจ้ากรุงพาราณสี โหรได้ทำนายทายทักไว้ว่าจะได้สมบัติ ได้เป็นกษัตริย์ครองสมบัติเมืองตักสิลา เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงอันนี้ เมื่อถึงกำหนดพระราชกุมารจึงเสด็จออกจากกรุงพาราณสีมุ่งสู่เมืองตักสิลา โดยมีอำมาตย์คนสนิทติดตามเสด็จไปด้วย ๕ คน
ในระหว่างทาง พระราชกุมารได้พระราชทานพระบรมราโชวาท ขอให้อำมาตย์ทั้งหมดตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ระมัดระวังให้ดีที่สุดเพราะในป่าดงพงไพรเช่นนี้อันตรายมีมาก อำมาตย์เหล่านั้นก็รับพระโอวาทด้วยดี แต่ว่าในกาลต่อมาพากันลืมเสียหมด เพราะได้ประสบกับอารมณ์ที่ชอบใจเลยไปหลงติด สุดท้ายตายหมด ทั้งนี้ก็เป็น ด้วยมีนางยักษิณีตนหนึ่งแปลงร่างเป็นเยาวนารีรุ่นกำดัดแสดงกิริยายั่วยวนด้วยมารยา อำมาตย์คนหนึ่งเห็นเช่นนั้น ก็หลงใหลเข้าไปประโลมพอสบโอกาสนางยักษิณีก็จับกินเสีย
เท่านั้นยังไม่พอใจ ไปเนรมิตศาลาดนตรีดักไว้ข้างหน้าอีก อำมาตย์คนที่สองซึ่งเป็นนักนิยมดนตรีฟังอยู่ด้วยความเคลิบเคลิ้ม เมื่อถึงก็เข้าไปสู่ศาลานั้นโดยไม่ฟังเสียงทัดทานของผู้ร่วมเดินทางมาเลยก็กลายเป็นอาหารอันโอชะของนางยักษิณีไปอีกคน เพียงเท่านั้นเธอยังไม่อิ่ม รีบไปเนรมิตศาลาเครื่องหอมดักไว้อีก ฝ่ายอำมาตย์คนที่สาม ซึ่ง มีรสนิยมในทางกลิ่นก็รู้สึกพอใจยิ่งนักมุ่งตรงไปสู่ศาลานั้น ทันที ผลก็คือเป็นอาหารของนางยักษิณีเหมือนกัน
ฝ่ายอำมาตย์คนที่สี่ ขณะที่เดินทางมาก็พบโรงอาหารก็ล้วนแต่มีอาหารรสเลิศทั้งนั้นอดใจไว้ไม่อยู่ตรงเข้าไปทันที โดยหารู้ไม่ว่า นั่นคือพญามัจจุราช อวสานของอำมาตย์ผู้นั้นคือเป็นอาหารของนางยักษิณีเช่นกัน แม้อำมาตย์คนที่ห้าก็หาได้นึกเฉลียวใจในอันตรายไม่ ขณะที่เดินผ่านมาพบศาลาซึ่งภายในนั้นล้วนบริบูรณ์ไปด้วยฟูกเบาะ หมอน ที่นอน อันงดงามอ่อนละมุนละไม่เกิดติดใจ ขึ้นมาจึงรีบสู่ศาลานั้นทันที ลงท้ายก็คือเสียท่านางยักษิณีจับกินเสียอีก
ณ บัดนี้คงเหลือแต่พระราชกุมารโดดเดี่ยวอยู่แต่เพียงพระองค์เดียว ทั้งๆ ที่นางยักษิณีเจ้ามารยา แสดงอาการยั่วยวนชวนให้หลง แต่พระองค์ก็ทรงตั้งอยู่ในความไม่ประมาท จนทะลุถึงเมืองตักสิลา ประทับอยู่ที่ศาลานอกเมือง กล่าวถึงอำมาตย์ของพระเจ้าตักสิลาออกมาพบนาง ยักษิณ์ ซึ่งแปลงร่างเป็นสตรีสคราญโฉม คอยเฝ้าประโลมหาโอกาสจับพระราชกุมารกินเป็นอาหารเสียให้ได้ เมื่ออำมาตย์ได้ยลโฉมอันเฉิดฉายเข้าเช่นนั้นก็พอใจ รีบกลับเข้าไปทูลพระราชาให้ทรงทราบ โดยกาลไม่นานนัก นาง ยักษิณีนั้นก็ได้รับตำแหน่งมเหสีของพระเจ้าเมืองตักสิลาและในระยะใกล้เคียงกันนั่นเอง นางยักษิณีก็จับพระราชา กินเป็นอาหารเสีย
เมื่อเมืองว่างกษัตริย์ เจ้าพนักงานผู้ใหญ่จึงประกอบ พิธีเสี่ยงสัตย์อธิษฐานปล่อยบุญราชรถ ผลก็ปรากฏว่าพระราชกุมารได้ครองราชสมบัติในเมืองตักสิลานั้น สมกับคำทำนายทุกประการของโหร พึงฝึกจิตอย่าให้ติดในเรื่องกาม อย่าไปหลงรูป เสียง กลิ่น รส แต่ประการใด ที่เปรียบเทียบไว้ในเมืองตักสิลาดังกล่าวแล้ว คติในนิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การหมกมุ่นงุ่นง่านแต่ในเรื่องรักๆใคร่ๆ เกี่ยวกับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ย่อมถึงความ พินาศในที่สุดดุจอำมาตย์ทั้ง๕ พร้อมทั้งพระเจ้าแผ่นดินเมืองตักสิลานั่นเอง ส่วนพระราชกุมารไม่หลงใหลในสิ่งเหล่านั้น ผลก็คือได้ครองสมบัติสวัสดีมีชัย
ท่านทั้งหลายเมื่อทราบดังนี้จึงควรระวังอารมณ์เสียอย่าให้จิตใจได้ติดอยู่ในเรื่องที่ยั่วยวนทั้งหลายดังเช่นนาง ยักษิณี โดยใช้ปัญญาญาณไตร่ตรองให้รอบคอบ เห็นหนอไตร่ตรองดูเห็นด้วยปัญญา เสียงหนอ ฟังด้วยปัญญา ด้วยรอบคอบว่า สิ่งเหล่านี้เหล่านั้นมีสาระอะไร เพราะใดๆ ในโลกนี้ล้วนอนิจจัง ไม่เที่ยงแท้ ความจริง ใจเราคิดไปเองปรุงแต่งไปเอง ว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วหาเป็นอย่างคิดไม่ เหมือนกับพยับแดดที่บางคนเห็นเป็นรูปต่างๆ พอเข้าไปใกล้ก็ไม่เห็นมีอะไรเลย
การใช้ปัญญาพิจารณาให้มาก จะทำให้หายมีดมนหมดหลง คล้ายกับถือประทีปเข้าไปในถ้ำ ท่านจะไม่พบความมืดอีกต่อไป เมื่อพิจารณาพ้นจากกามภัยแล้ว ความเศร้าโศกเสียใจจะไม่มีแก่ท่านทั้งหลาย เหล่านั้น ด้วยประการฉะนี้
ผู้ต้องการเป็นคนดีจึงพยายามฝึกจิตด้วยการเจริญพระกรรมฐาน ให้จิตเข้มแข็ง อย่าให้ติดอยู่ใน รูป เสียงกลิ่น รส โผฏฐัพพะ สัมผัส มากเกินไปเลยเห็น รูป เสียงกลิ่นก็ดี อาหารก็ดี เปรี้ยวหวาน มัน เค็มก็ดี เราก็ปลงให้มันตก เราก็ปรุงให้มันสะอาดอย่าให้มันสกปรก รับประทานอย่าให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บก็พอแล้ว ไม่ต้องไปติดในรส ในเสียง ในกลิ่น แต่ประการใดท่านจะปลงตก
พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องนิวรณ์ไว้โดยเฉพาะกามฉันทะ ความพอใจในกาม ก็เพื่อให้สัตว์โลกได้ทราบถึงอันตรายแก่ชีวิต ได้ควบคุมดวงจิตไม่ให้ติดอยู่ในกามคุณ และเมื่อไม่ติดอยู่ในกามคุณ จะทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมนั้นปราศจาก อันตรายได้ ไร้ความโศก กามโยคะวิมุตติ นัตถิ โลเก กุโต ภะยัง เมื่อจิตพ้นจากกามแล้วความโศกและภัยย่อมไม่มีอีก ต่อไป
นอกจากนี้เมื่อปฏิบัติให้เคร่งครัดในพระกรรมฐานแล้ว จะทำให้รู้ได้ยิ่งขึ้นก็จะประสบผลสูงสุด ทำให้หลุดพันจากสังสารวัฏ ไม่ต้องกลับมาเกิดอีกต่อไป ไม่เวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสารสมดังบาลีใน กรณียเมตตสูตรว่า กาเมสุ วิเนยยะ เครัง นะหิ ชาตุ คัพภะเสยยัง ปุนะเรตีติ เมื่อกำจัดความกำหนัดในกามทั้งหลายได้แล้ว ก็จะไม่เกิดในครรภ์อีก ต่อไป เรียกว่าบรรลุถึงยอดสุดยอดในพระพุทธศาสนา มีนัยดังชี้แจงมา ณ บัดนี้ พอเป็นเครื่องชี้เฉพาะให้เห็นได้ชัดว่าการเจริญพระกรรมฐานเท่านั้นที่จะแก้ไขปัญหาชีวิตนี้ได้
ถ้าไม่เจริญกรรมฐานแล้วท่านจะมีดมนอาทรร้อนจิต ต่อไป ความเศร้าโศกโทมนัสก็จะเข้ามาอยู่ในจิตใจของ ท่าน ท่านจะแก้ไขไม่ได้เลย ถ้าท่านเจริญพระกรรมฐาน ท่านจะได้รู้ จิตจะใสใจจะโปร่ง โล่งใจ ทำอะไรก็เกิดผลเกิดมรรค จะประกอบอาชีพการงานก็ร่ำรวยสวยดี จะมีปัญญา จะไม่มีปัญหา ที่เป็นเรื่องถ้อยร้อยความไม่อยากจะหาเรื่องกับใครต่อไป ความโลภ โกรธ หลง ก็จะหยุดชะงักลง ความดีก็จะเข้ามาแทนที่สร้างความดีกันต่อไป
สุดท้ายนี้ขออนุโมทนาสาธุการแก่ผู้ปฏิบัติกรรมฐาน นี่แหละกรรมฐานเป็นการเข้าสู่ภาวะมุ่งหมายเข้าไปถึงความดีมีปัญญา ได้สมปรารถนาทุกประการ ขอความเจริญ รุ่งเรื่องจงมีแก่ท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ผู้หวังผลในพระพุทธศาสนา การปฏิบัติกรรมฐานแก้ไขปัญหาได้ การปฏิบัติกรรมฐานจะได้รู้ผลแห่งกรรมจากการกระทำของตนเอง จะได้รู้ปัญหานานาชนิดที่มาคิด มีหลายอย่างที่ควรจะแก้ กฎแห่งกรรมที่เราทำกรรมไว้ครั้งอดีตชาติ มาในชาตินี้เราจะได้รับเวรรับกรรมประการใด เราจะได้แก้ไขทั้งตัวเราและครอบครัวรวมทั้งลูกหลานในอนาคตต่อไป ก็ขอทุกท่านจงเจริญไปด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ นึกคิดสิ่งใดสมความมุ่งมาดปรารถนาทุกรูปทุกนาม ณ โอกาสบัดนี้เทอญ
๓๐ มีนาคม ๒๕๔๐