ภาพนิมิตที่สวนสามพราน
โดย หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม
๙ ธ.ค. ๓๐
อาตมาจะชี้แจงเกี่ยวกับภาพนิมิตแก่ญาติโยม ผู้ใคร่ธรรมสัมมาปฏิบัติในที่ประชุมนี้ ว่าภาพนิมิตนี้มีความจริงอย่างไร
คำว่า ภาพนิมิต มี ๒ ประการ
๑. นิมิตที่แสดงออกเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาให้เห็นเราเป็นภาพลวง
๒. ภาพแสดงธรรม ปริศนาธรรม จะเห็นิมิตรูปสวยงามหรือจะเป็นภูเขาลำเนาไพร ในเรื่องญาณวิถีก็ตาม แต่ถ้าเรามีสติครบ ผ่านโสฬสญาณไปได้แล้ว หรือรวบรวมสติไว้มาก ถ้าเรามีจิตสงบในตอนใด สติเราดีครบ ญาณ คือ ญาณํ ความรู้เกิดปัญญารอบรู้ในเหตุผล เกิดขึ้นในดวงหทัยแล้วจะเห็นนิมิตเรื่องจริงเกิดขึ้นได้
อย่างคำว่า เห็นหนอๆๆ นี่น่ะ มีประโยชน์มาก อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเหลวไหล จะเห็นอะไรก็ตั้งสติไว้ จนกว่าเราจะได้มติของชีวิตว่า เป็นปัจจัตตัง มีความรู้ในปัญญาแล้ว เราเห็นอะไรปัญญาจะบอกเอง
แต่การฝึกเบื้องต้นนี่ต้องฝึกกันไปเรื่อยไป ถึงญาติโยมกลับไปบ้าน ไปยังเคหะสถาน หรือจะประกอบการงานของโยมก็ไม่ต้องใช้เวลาว่าง ใช้งานนั่นแหละเป็นกรรมฐาน รูป รส เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ขันธ์ ๕ รูปนามเป็นอารมณ์ ทุกขณะจิตที่มันคิดอะไร มันจะเกิดขึ้นเป็นการสะสมนี่มีประโยชน์มาก
ถ้าเราไปเห็นไม่ได้สนใจดูนะ ไม่ได้เห็นหนอ ไม่สนใจดู สนใจฟัง, และเราก็ดูเรื่อยๆไปเหมือนคนธรรมดา การทำงานนี่มันก็เรื่องธรรมดาๆ ถ้าเราสำรวมจิตใช้สติเสียหน่อย ไม่ต้องไปเพ่งเรากำหนดธรรมดานี่เอง เห็นหนอนี่ โยมเดินมาอย่างนี้เป็นต้น ถ้าสติเราดีรงบรวมไว้ได้ สมาธิดีในการเห็น รับรองมีนิมิตเลย นิมิตอย่างไร นิมิตแปลว่าเครื่องหมาย
บางทีเราทำงานทั้งมือทั้งเท้า ขอประทานโทษ มันก็ต้องหยิบเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา คือ รูปหยิบก็ต้องกำหนด อยากหยิบหนอ คำว่า “อยาก” คือเจตสิกอันสำคัญ มีความหมาย ถ้าเรากำหนดจนเชี่ยวชาญแล้ว พอจะยกมือมันจะบอกเลยนะ “อยาก” มันเกิดเองโดยอัตโนมัติ “หยิบหนอ” หยิบอะไร “หยิบแก้วน้ำชา” และ”มาหนอๆ-ดื่มหนอ-กลืนหนอ” โอ้โฮ “ร้อนหนอๆ”มันก็บอกไปตามสภาวะของมัน มันเป็นธรรมชาติของมัน น้ำมันก็เย็นไปตามน้ำ ไฟก็ร้อนไปตามไฟ โดยธรรมชาติ นี่ราคาแพง
จะเล่าถึงภาพนิมิตของนายชาญศิลป์ ยุวบูรณ์ บุตรชายของคุณชำนาญ กับคุณหญิง วลี ยุวบูรณ์ ซึ่งปรากฏชัดแก่อาตมาที่สวนสามพราน แต่อาตมาไม่ได้เล่าให้เขาฟัง ไม่กล้าเล่าในวันนั้น อาตมารู้แล้วเพราะอะไร ขอให้ญาติโยมโปรดทราบ ที่ว่าตัดปลิโพธกังวล ไม่ไปสนใจกับใครน่ะถูกแล้ว สติจะได้มารวบรวมอยู่ที่จิตเรา ก็ดูชีวิตของเราอย่างนี้ กฎแห่งกรรมจะบอกทุกระยะ เขาบอกเราทุกคนเลย แต่เราไม่สนใจตัวเองนะ โยมไปสนใจข้างนอก กำลังยุ่งอยู่กับงานเขียนหนังสือบ้าง หยิบโน่น หยิบนี่บ้าง ไม่ได้กำหนดเลย ตัวเราจะเกิดอะไรในชั่วโมงนี้ไม่รู้ขอฝากไว้ด้วย ถ้าโยมมานั่งเงียบๆสงบ มันจะเกิดขึ้นทันที ถ้าเราได้อัตโนมัติ เราสะสมหน่วยกิตใช้ชีวิตผู้มีสติตลอดเวลาแล้ว กำลังทำงานสติจะบอกทุกระยะ อย่าทำ-อย่าหยิบ-ไม่ควร-ควร สติจะบอก-บอกละเอียดด้วยนะ แหม! มีประโยชน์เหลือเกิน แต่เรามองไม่เห็นกันขณะนี้ ขอให้ทำโดยต่อเนื่อง
บางคนบอกหลวงพ่อเจ้าขา “ดิฉันไม่มีเวลาว่างปฏิบัติ” บอก “ไปทำอะไร” “ทำงาน” “งานนั่นแหละปฏิบัติละ” หยิบอะไรก็กำหนดซิ หูเราต้องใช้ทุกวันนี้เราต้องใช้ทุกวัน กรรมฐานที่หู “เสียงหนอ” ถ้ามีคนมาพูดให้เราฟังมากๆ หลายรส หลายเรื่อง นั่นแหละกรรมฐาน ตั้งสติไว้ “เสียงหนอๆ” เดี๋ยวจะรู้อะไรแปลกๆนี่มันอยู่ตรงนี้นะ
ภาพนิมิตแห่งกุศล นิมิตแปลว่าเครื่องหมาย นิสัยแปลว่าแบบอย่าง อาตมาจะพูดเรื่อง “ภาพนิมิต” เครื่องหมายของคนนั้น ที่เราสนใจกับเขา เหมือนอย่างเราอยู่ร่วมกัน เราไม่สนใจกันก็ไม่เกิดประโยชน์ มันก็ไม่รู้เรื่องกัน ก็คนบ้านใกล้ชิดติดกัน ไม่สนใจกันไม่รู้เรื่องหรอก บ้านติดกันแท้ๆยังไม่สนใจกัน นี่แบบนี้ เหมือนเราไม่สนใจกับตัวของเรา จะรู้เรื่องตัวของเราหรือเรามัวไปสนใจเรื่องคนอื่นเขา
พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ให้วัดตัวเรา วัดกาย วัดวาจา วัดใจ ทุกขณะจิต อย่างที่เดินจงกรมนี่เป็นแบบฝึกหัดเพื่อให้ได้อาวุธคือ ปัญญา อาวุธสำคัญมาก คือ ปัญญาเท่านั้น
เราไปสนใจกับงาน เราเลยไม่รู้ตัวเราไม่ได้สนใจกับตัวเราเลย ถ้าเรามีสติครบนะ ทำงานก็กำหนดไปด้วยเขียนหนังสือก็ใช้สติเขียน หนังสือก็จะดีด้วย แล้วจะเกิดปัญญาในการเขียน นี่กรรมฐาน อันนี้เป็นแบบฝึกหัดให้เกิดวาระจิต และจะได้มีสติไปปฏิบัติงาน ในเมื่อโยมปฏิบัติงานจะมีประสบการณ์ทันที เหมือนโยมมาเรียนวิชาแพทย์ที่หอประชุมนี้ แล้วออกไปปฏิบัติงานต้องรักษา จะได้รู้ว่าโรคเป็นอย่างไร รู้ตอนประสบการณ์นะ ถ้าไม่มีประสบการณ์ ญาติโยมจะไม่รู้อะไรนะ
อันนี้ภาพนิมิตสำคัญมาก บางทีโยมเกิดสนใจกับตัวโยมขึ้นมา ทำงานด้วย สนใจกำหนดไปด้วย รับรองรู้เลย จะบอกกฎแห่งกรรมทุกระยะ
ในเมื่อเป็นเช่นนี้ นิมิต เช่น เห็นหนอ ถ้าเราเกิดสนใจตัวเขา เขาจะต้องสนใจกับเรา เดี๋ยวเราจะรู้นิมิตคนนี้เป็นอย่างไร เครื่องหมายคนนี้เป็นอย่างไร เห็นหนอๆ นิมิตบอกแล้ว “ตาย” ลองดูนะเกิดได้ นี่เรามีสติดีดูแล้วรู้สภาวะมันจะเกิดขึ้นทันที
เช่นคุณนายละม้ายเป็นต้น อ่านหนังสือไม่ออกเลย ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ทำไม่ได้ เปลี่ยนซ้ายเป็นขวาไปหมด พองหนอ ยุบหนอ ก็ทำไม่ได้ ทำยังไงก็สอนไม่ได้เลย ก็ต้อนแนะกันใหม่ เอาอารมณ์ใหม่ สวดพุทธคุณเท่าอายุเถอะ ให้เกินกว่าหนึ่ง พอสติถึงขั้นเดินจงกรมได้เองเลย ที่เคยสอนแล้วทำไม่ได้กลับทำได้หมดเลย พองหนอยุบหนอ คล่องแคล่ว ก็เป็นไปได้ เพราะสวดพุทธคุณเท่าอายุเกินหนึ่งเข้าสติดี และสามารถรู้วาระจิต และเขาสนใจสามีของเขา สนใจไปสนใจมา รู้เลย จะไปบ้านใคร เอาเงินไปให้ผู้หญิงที่ไหน บอกได้ใครย้อนกลับมาบอก คือสติตัวเดียวนี่เกิดประโยชน์อย่างนี้ ขอให้ทำจริงๆนะ ได้ผลแน่
เล่าเรื่องเหตุการณืในครั้งนั้นให้ฟังว่า สมัยก่อนนานมาแล้ว เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นเวลา ๑๘ ปีมาแล้ว เรื่องภาพนิมิตที่สวนสามพราน
ที่สวนสามพรานโน้น คุณหญิงวลี กับ คุณชำนาญ ยุวบูรณ์ พร้อมด้วยนายอำเภอพระนครตอนนั้น นายเกษ ดีฤกษ์กับคุณนายขันทอง มาอาราธนาอาตมาให้ไปแสดงธรรมที่สวนสามพราน ในวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๑๘ เวลาสองทุ่ม เรื่องความสามัคคี ให้เจ้าหน้าที่สวนสามพรานฟัง เพราะไม่ค่อยจะสามัคคีกัน งานการก็เหลาะแหละไม่สามัคคี อาราธนาหลวงพ่อพูดเรื่องสามัคคีให้จงได้ อาตมาก็รับนิมนต์ และขออาราธนาว่าให้ไปอยู่สักสองคืน พาลูกศิษย์ไปเที่ยวที่สวนสามพรานด้วย
อาตมาก็ชวนลูกศิษย์ไปเยอะแยะ เอารถปิคอัพบรรทุกกันไป ๒ คัน เตรียมมุ้งที่นอนไปค้างเสร็จ ในวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๑๘ จะกลับในวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๑๘ ตอนบ่าย จะค้างสักคืนเดียว
อาตมาก็เดินทางไปถึงสวนสามพรานในวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๑๘ ประมาณบ่าย ๔ โมง เมื่อถึงแล้ว คุณหญิงวลี มาต้อนรับ ให้ลูกศิษย์พักเรือนทรงไทยแฝดสองหลัง อาตมาพักหลังหนึ่ง ห้องน้ำมีบริการพร้อม ลูกศิษย์เตรียมขนของขึ้นจากรถไว้ที่บ้านทรงไทย และกางมุ้งกันเรียบร้อยแล้ว
อีกสักครู่หนึ่งประมาณ ๕ โมงเย็น คุณชำนาญ ยุวบูรณ์ กับคุณหญิงวลี พร้อมด้วยคุณทองเจือ เป็นน้องสาวของคุณหญิง พร้อมกับบุตรธิดา ได้มาคุยกับอาตมาที่บ้านทรงไทยหลังนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกชายของคุณชำนาญ ยุวบูรณ์ ชื่อ นายชาญศิลป์ ยุวบูรณ์ ที่เรียกตามชื่อเล่นว่า “เปาะ” มีพี่ชายคนหนึ่งชื่อนายโจ ชื่อจริงว่า ธนิต ยุวบูรณ์ นายเปาะเพิ่งกลับมาจากต่างประเทศ
เมื่อก่อนนี้เขาไปเรียนหนังสือที่กรุงวอชิงตัน เพิ่งงกลับมาเยี่ยมบ้าน เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๑๗ ซึ่งเป็นเวลาปิดภาคเรียนและในโอกาสที่พี่ชาย ชื่อแป๊ะ จะเข้าสู่พิธีมงคลสมรสในวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๑๘ พอดีในวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๑๘ อาตมาไปแสดงธรรมที่สวนสามพราน เขาก็มาคุยกัน ล้อมวงหมดเลยนะ ก็มีคุณชำนาญ ยุวบูรณ์ คุณหญงวลี คุณทองเจือ พร้อมด้วยคุณโจ คุณเปาะ คุณเปาะก็เล่าว่าจะมาแต่งงาน พี่ชาย ชื่อแป๊ะก็รออยู่ แล้วจะไปเรียนต่อที่เมืองนอกต่อไป
เปาะได้ไปเรียนที่ประเทศอังกฤษเมื่ออายุ ๑๑ ปี เป็นคนเรียนเก่งมาก นิสัยดี บุคลิกลักษณะโหงวเฮ้งดีมาก ดีทุกอย่าง เมื่อคุยไปคุยมา ลูกศิษย์อาตมาก็พักกันเรียบร้อย ก็ออกเดินเที่ยวสวนสามพรานกัน
อาตมาก็นั่งคุยและถามนายชาญศิลป์ เขาก็เล่าประวัติไปเรียนต่างประเทศ
“ผมไม่เคยไปทำบุญเลย เพราะไปเรียนหนังสือตั้งแต่เล็กๆ” ตั้งแต่ชั้นอนุบาล อยู่โรงเรียนฝรั่งตลอด ศาสนาอื่น ไม่ใช่ศาสนาพุทธ
ดูท่าทีมารยาทและโหงวเฮ้งที่หน้าว่ามีการศึกษาสูง คนนี้มีดวงการศึกษาสูง ต้องได้ปริญญาเอกเหมือนพ่อของเขาแน่นอน ก็นึกไว้ในใจ ดูไปเรื่อยๆเห็นหนอๆๆๆ ประมาณ ๑๘ นาฬิกาตรง มืดแล้วก็ยังคุยถึงเรื่องการศึกษา อาตมาก็คุยถึงแนวการศึกษาเล่าสู่ให้เขาฟัง เขาเกิดซึ้งใจ เกิดติดใจ เกิดพอใจ และชอบใจ ถามว่า
“หลวงพ่อ วันนี้เทศน์เรื่องอะไร”
“เทศน์เรื่องความสามัคคี คุณแม่นิมนต์อาตมาเทศน์เรื่องสามัคคีนะ”
“แหม! ผมไม่เคยคุยกับพระเลยนะครับ ผมไปเรียนต่างประเทศอยู่โรงเรียนฝรั่งตลอด นิสัยผมไม่ติดฝรั่งหรอก แต่ผมก็ไม่เคยไปฟังเทศน์ที่ไหน ยังไม่เคยฟังมาแต่ก่อนเลย เป็นครั้งแรกวันนี้จะต้องขอฟัง”
อาตมาก็ดูโฉมหน้า เห็นหนอๆๆ จิตมันก็แวบขึ้นศีรษะอาตมา เกิดเป็นแสงที่หน้าเขา นี่เห็นหนอๆ เพราะสติเราดีขึ้นแล้ว เกิดนิมิตภาพซ้อนขึ้นมาว่าศีรษะเขาหายไปไหน เห็นหนอ เดี๋ยวศีรษะหายไป เดี๋ยวศีรษะมาติด เอ๊ะรูปร่างไม่ใช่นายเปาะ กลายเป็นหน้าใหม่ พอเห็นหนอๆภาพหายไปเลย
สักประเดี๋ยวปรากฏรูปร่างสวยมาก ผิดปกติทันที เอ๊ะยังไงภาพซ้อนภาพ หรือประสาทเราจะไม่ดี ก็ตั้งสติไว้ สติเราเป็นอย่างไร ทำไมเห็นอย่างนี้ ไม่เคยเห็น ตั้งแต่มีมาไม่เป็นอย่างนี้ เห็นหนอๆ เดี๋ยวมีภาพซ้อนภาพขึ้นมาทันทีบนศีรษะ ก็มาพูดกับคุณหญิงวลีทันที ใส่ชฎา ถือพระขรรค์มากันเยอะ มีพานดอกไม้ ธูปเทียน คล้ายๆเทียนแพที่เราทำกัน พูดว่า
“คุณหญิงๆ วันนี้มาขอลูกคืนนะ ลูกของเรากลับมาแล้วหมดเวลา เราจะขอคืน ขอคืนเวลาตี ๑ คืนวันนี้”
อาตมาเห็นหนอๆ ก็ดูหน้า เคยเห็นหน้าที่ไหน ตาคนนี้ หน้าสีทอง ตาสีฟ้า ประกายวับจับตาเรา และพูดมาอีกครั้งว่า
“คุณหญิง ลูกของเรานะ มีบุญวาสนา ก็มาช่วยส่งเสริมเจ้าพอสมควรแก่เวลา ๒๐ กาลฝนแล้ว” ท่านพูดอย่างนี้
“เราจะมารับของเราไปในวันนี้ เวลาตี ๑” และชี้มาอีกคนที่เป็นร้อยตำรวจโท “เจ้าคนนี้เอาไว้ก่อน เอาไปทีหลัง” ว่าแล้วมิทันช้าก็มานมัสการอาตมาและยิ้มหายวับไปกับตา
ภาพซ้อนของชาญศิลป์ กลับแวบหายไปเป็นคนเดิม ผมโป่งผมยาวเหมือนผู้หญิง แต่คุณหญิงมัวคุยกับอาตมา สงสัยไม่ได้ยิน คุณหญิงไม่ได้สนใจกับเทวดา ถึงจะเป็นภาพเทวดาหรือไม่ก็ยังไม่ทราบ นี่เล่านิมิต ให้ทราบดังนี้
อาตมาก็ย้อนกลับมาในใจว่า ชาญศิลป์ จะต้องตายจากโลกนี้ เวลาตี ๑ คืนนี้แน่นอนที่สุด นี่เห็นหนอๆ และเกิดสนใจนิมิตเครื่องหมาย แต่เขาไม่ใช่เป็นคนมาจากนรก คนมีบุญวาสนาสูง
เหมือนอย่างหลวงบุเรศบำรุงการมานอนที่วัดอัมพวัน เทวดามาขอรับฝัน ๓ คืนติดๆกัน อาตมายังทำนิทรรศการที่ห้องในวัด ใครอย่ามาลบห้องนี้ไม่ได้ ยังมีติดตัวอักษรไว้ เทวดามาขอรับคล้ายกันบอกว่า “คุณหลวงไปด้วยกันเถอะ คราวนี้น่ะ ไปคราวหน้าไม่มีเกียรติ” คุณหลวงมาปรึกษาอาตมา อาตมาก็คิดว่าตรงกันแล้ว ยังงี้ต้องไปภายใน ๑ เดือน เขามาเชิญ
นี่คล้ายกันกับพ่อไชยฺ กรินชัย ที่นครราชสีมา อันเดียวกันเลย อาตมาคุยและให้ขนมเปี๊ยะไปวันนั้น โอนี่ เห็นไหมนี่!
คนมีบุญวาสนา
อาตมาก็บันทึกในใจไว้ว่า อ๋อ ลูกคุณหญิงวลี เป็นคนมีบุญวาสนา และให้มาอยู่กับคุณหญิง ๒๐ ปี แล้วมารับคืนกลับมาส่งเสริมให้ครอบครัวยุวบูรณ์นี้เจริญรุ่งเรืองตลอดมา หมดเวลาแล้วต้องเอาลูกคืน
อาตมาเห็นนี่จะเป็นความจริงประการใด แต่คุณหญิงก็อยู่นั่น อาตมาว่าคุณหญิงคงไม่ได้ยิน มายืนอยู่บนศีรษะลอยอยู่บนเช่นนี้ เป็นภาพนิมิตและเป็นความจริงไม่ได้หลอกลวง เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แน่นอน อาตมากำหนดอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น และได้ยินเสียงประหลาดดังอย่างนั้น
และวันนี้เป็นโชคดีของนายชาญศิลป์กับนายธนิต ยุวบูรณ์ที่จะได้ฟังเทศน์ อาตมาเห็นภาพนิมิตหาย เป็นภาพนายชาญศิลป์ก็คุยถามปัญหาว่า หลวงพ่อครับพุทธศานา มีความสำคัญอย่างไร อาตมาก็เล่าสู่กันฟังพอหมดเวลาเพราะหนึ่งทุ่มครึ่งแล้ว และจะต้องเดินทางไปหอประชุม ชาญศิลป์กราบแล้วพูดว่า
“หลวงพ่อครับ ผมไม่เคยคุยกับใครได้ซึ้งใจอย่างนี้” น้ำตาหล่อเบ้าเลย แต่คุยหลายเรื่องนะที่คุยนี่เล่าสั้นๆ
“ผมเรียนคริสต์ตลอดมา เรียนฝรั่งตลอดครับ ผมไม่เคยได้รับฟังคำพ่อแม่เลย และไม่เคยเข้าวัด เพิ่งจะฟังเทศน์หลวงพ่อเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย” ส่วนนายธนิตนั้นเฉยๆ
ได้เวลา ๒ ทุ่มแล้ว พี่น้องทุกคนเข้าหอประชุมหมด คนงานก็เข้าฟังหมด ที่หอประชุมเต็มเขามาเรียกแล้ว อาตมาเดินออกไป ก็บอกกับคุณชำนาญ ยุวบูรณ์ว่า
“ออกไปก่อน เดี๋ยวอาตมาเข้าห้องน้ำแล้วจะตามไป ท่านลงไปก่อน”
คุณชำนาญ เดินทางไปแล้ว พอดี นายอำเภอ เกษ ดีฤกษ์ กับคุณนายขันทอง ตอนนั้นดำรงตำแหน่งเป็นนายอำเภอพระนครก็เตรียมมาพร้อม อาตมาก็เข้าห้องน้ำ เขาก็ออกกันไปหมดแล้ว
อาตมาก็ประชุมลูกศิษย์เรียกรวมเลย บอกให้คนหนึ่งไปตามลูกศิษย์อาตมามาที มาพร้อมกันเดี๋ยวนี้
“หลวงพ่อมีอะไรครับ”
“เฉยๆให้เขาไปกันเสียก่อน” พอไปแล้วก็บอกกับลูกศิษย์ว่า “ถ้าอาตมาเข้าหอประชุมนะ มีเจ้าหน้าที่เฝ้าบ้านทรงไทยอยู่บอกเขา เตรียมเก็บของให้หมดขึ้นรถกลับวันนี้ ไม่ค้าง”
“อ้าว! หลวงพิ่ ผมจะดูช้าง ดูโน่น ดูนี่หน่อย ยังไม่ได้ดูเลย”
“เตรียม อยู่ไม่ได้ ที่วัดมีงาน”
“แหม! หลวงพ่อ ผมยังไม่ทันเที่ยวเลย”
“เฉยๆเถอะน่า เชื่อหลวงพ่อไว้หน่อยนะ ถ้าเทศน์จบ เตรียมรถจอดหน้าหอประชุมนะ”
พอบอกแล้ว อาตมาก็เดินไปหอประชุม ไปถึงหอประชุมเรียกนายอำเภอ เกษ ดีฤกษ์ มาพบเป็นส่วนตัว แล้วบอกว่า
“ท่านนายอำเภอ อัดเทปที่เทศน์ไว้ แล้วเอากล้องมาถ่ายภาพที่กำลังฟังเทศน์ ในวันนี้ให้จงได้”
“ครับกระผม” ว่าแล้วก็ขับรถไปตามช่างภาพมา และบอกคุณนายขันทอง ศรีภรรยา ผู้เป็นมือขวาของคุณหญิงวลี ไปเอาเทปมาอัดเรียบร้อยทุกประการ
พอได้เวลาสองทุ่มตรง อาตมาก็ขึ้นธรรมาสน์ อาราธนาศีลพร้อมกันที่สวนสามพราน แล้วอาราธนาธรรม ลีลาแบบแสดงธรรมไม่ได้บรรยาย คุณหญิงก็บอกว่าให้เทศน์เรื่อง สามัคคีสัก ๑ ชั่วโมงก็พอ ให้สามัคคี ให้รักกันหน่อยก็พอ ก็ตั้งใจอย่างนั้น
พอดีคุณเปาะ ชาญศิลป์ ยุวบูรณ์ นั่งฟังข้างหน้าเลยคุณป๋า คุณแม่ฟังหน้า พี่น้องทุกคนนั่งฟังที่สวนสามพราน คุณเปาะฟังเต็มที่ ไม่มีกระดุกกระดิกตลอด ๑ ชั่วโมง ฟังเทศน์ตลอดและบอก “คุณป๋าครับ ผมเป็นเจ้าภาพเอง” คุณชำนาญตกใจ เอ๊ะเจ้านี่ไม่เคยฟังเทศน์ ไม่เคยกระตือรือร้นนี่ และบอกกับคุณหญิงวลีว่า
“คุณแม่ครับ ผมขอประเคนเอง”
คุณหญิงบอก “หนูไม่ต้องประเคนหรอก เดี๋ยวป๋าประเคนเอง”
“ผมขอไม่ได้เหรอ ผมขอเป็นเจ้าภาพในวันนี้”
แต่คุณป๋ากับคุณหญิงไม่ทราบว่าเขาบริจาคเท่าไร เขาเดินถือเอาขันไปรอบหอประชุมสวนสามพราน พวกสวนสามพรานเห็นเด็กคนนี้ไม่เคยฟังเทศน์เลยควักเงินทำบุญกันเป็นหมื่น ชาญศิลป์ทำบุญออกนำคนเดียวเลย ๕๐๐ บาท
พอเอาขันมาประเคนบอกว่า “หลวงพ่อครับ ชื่นใจมาก ไม่มีวันไหนชื่นใจเหมือนวันนี้เลยนะครับ ผมฟังโดยตลอด”
แต่คุณหญิงแปลกใจ นิมนต์เทศน์เรื่องสามัคคี กลับไปเทศน์เรื่องอะไรก็ไม่รู้ ก็เทศน์เรื่องตั้งแต่พ่อแม่เลี้ยงลูก จนกว่าจะมีหลักฐานมีงานทำ ลำบากลำบนก็ว่ากันไป เทศน์ผิดเรื่องนิดหน่อย ก็ให้เหมาะสมกับงานศพทำนองนี้
ชี้ให้เห็นได้ชัดแล้ว ที่นิมิตเครื่องหมาย บอกให้เรารู้ด้วยกันทุกคน แต่เราไม่สนใจกับนิมิตนี้ในตัวของเรา จึงไม่รู้เรื่องของเรา อาตมาก็เห็นหนออย่างนี้ คุยกันไปเรื่อยๆ สัมผัสไปเรื่อยๆ สัมผัสๆๆๆ ตลอดเกิดจิต เกิดปัญญา เหมือนหูสัมผัสกับเสียง ตาสัมผัสกับรูปฉะนั้น กายสัมผัสร้อนหนาวอ่อนแข็ง อย่างนี้ โยมโปรดจำไว้ตั้งใจทำไปเรื่อยๆเถอะ มีประโยชน์เหลือเกินนะ
ชาญศิลป์ ยุวบูรณ์ เป็นคนเรียนเกก่งมาก เป็นคนกตัญญู เขาซึ้งใจในการฟังเทศน์ ตอนตายนี่ตรงตามนิมิตเลย อายุ ๒๐ ปี ๓ เดือน ๒๗ วัน ตรงตามที่เทวดาบอก เขาบอก “ได้ ๒๐ กาลฝน” เทวดาพูดเป็น ๒๐ กาลฝน เขาไม่ได้บอก ๒๐ ปี
ในวันนั้น หลังการแสดงธรรมที่หอประชุมสวนสามพรานแล้ว เวลา ๔ ทุ่มก็แยกย้ายกันไป คุณโจกับคุณเปาะก็ขับรถไป อาตมาพอเทศน์จบออกมา รถจอดคอยอยู่แล้วหน้าหอประชุม อาตมาก็ขอเจริญพรลา คุณชำนาญกับคุณหญิงบอก
“อ้าว! หลวงพ่อค้างนี่นะ พรุ่งนี้ถวายสังฆทาน จะถวายของ อาหารเตรียมแล้ว สั่งแม่ครัวแล้วทำอย่างดี หลวงพ่อทำไมจะหนีเล่า”
“ขออภัย อาตมานึกได้ว่าที่วัดมีงาน อยู่ได้ยังไงล่ะ ตี ๑ จะเป็นอย่างนี้แล้ว เขาจะไปทางโน้นกันหมด เราก็แพ้วนะซี นี่เรื่องราวเป็นอย่างนี้”
เลยก็บอกว่า “อาตมาขอลา” ถึงวัดตี ๑ พอดี พอถึงแล้วรีบแผ่เมตตา นั่งสวดมาต์ภาวนา เจริญวิปัสสนา แผ่ส่วนกุศลให้กับคุณโจกับคุณเปาะต่อไป อาตมาถึงได้รู้ตายตอนนั้น และอยู่ที่วัดก็รู้ รู้ได้อย่างไร สติบอกว่าเขาขับรถไปชนคน และชนเสาไฟฟ้า ไฟลุกไหม้ คุณเปาะ ชาญศิลป์ตายและเอาไปโรงพยาบาล คุณโจ คือ คุณธนิต ยุวบูรณ์ สมองเปิดหมดเลย ไม่มีเหลือเลยต้องเอาพลาสติกมาครอบ แล้วไปนอนแพ้วอยู่ที่โรงพยาบาล หายใจแม่บๆ แล้วศพของคุณเปาะ ชาญศิลป์ ยุวบูรณ์ ได้นำเอาไปไว้วัดธาตุทอง
อาตมาอยู่ที่วัดรู้แล้ว พรุ่งนี้จะไปวัดธาตุทองแน่ ไปอาบน้ำศพกันต่อไป อาตมาไปไม่ทันเขา มืดแล้ว และเขาไปกราบท่านเจ้าคุณธรรมรัตนากร สมัยโน้นภายหลังได้เป็น “พระธรรมปัญญาบดี” ท่านเคยเลี้ยงคุณชำนาญมาเป็นเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ท่านบอก
“ขอจับมือ เก่งมาก ดีมาก ท่านพระครูดีมาก ท่านพระครูไปเทศน์ผมดีใจมาก คนที่ตายเขาได้ฟังเทศน์”
ท่านชำนาญ กับคุณหญิงก็สลดใจมากมาย แต่ก็ดีใจที่ลูกได้ฟังเทศน์ แล้วก็สังหรณ์ใจว่า ทำไมท่านไม่เทศน์เรื่องสามัคคี เทศน์เสร็จแล้วก็ลากลับ และท่านแหงนมองตรงโน้นตรงนี้
อาตมาเห็นคุณหญิงคุณนายร้องไห้กันมากมาย ส่วนท่านชำนาญบอกกับอาตมาว่า
“หลวงพ่อครับ เจ้าโจนี้ ยังลูกผีลูกคน แพทย์ยังไม่รับรอง เพราะสมองระเบิด ต้องเอาพลาสติกหุ้มไว้หมด”
อาตมาบอก “ไม่เป็นไร ให้งานศพชาญศิลป์ ผ่านไปก่อน”
อาตมาให้นายอำเภอ เกษ ดีฤกษ์ อัดเทป ถ่ายภาพ ก็ได้มีโอกาสถอดเทปในวันรุ่งขึ้น และถ่ายภาพก็รีบล้างเลย นำมาพิมพ์เป็นรูปเล่ม แจกงานศพ ๑๕ มกราคม ๒๕๑๘ พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ ๑ ชุด ภาษาไทย ๑ ชุด ภาษาอังกฤษให้เพื่อนเขาที่ต่างประเทศ ไม่พอแจกเลย
อาตมาได้ไปเยี่ยมที่บ้าน หลังจากทำศพเรียบร้อยแล้ว ก็บอกอยากให้คุณโจ รอดไหม ถ้าอยากให้รอด ขอบิณฑบาต ๒ ข้อ จะเชื่ออาตมาหรือไม่เชื่อก็ตามใจ แต่ก็ต้องเชื่อเราเพราะเหตุการณ์มันเป็นจริงเช่นดังกล่าวมา อาตมาขอเจริญพรท่านชำนาญดังนี้
๑. ขอยุติการเมือง ท่านอย่าเล่นต่อไป เชื่ออาตมานะ
๒. สองคนตายายสวดพุทธคุณ เจริญกรรมฐาน อย่างต่ำสวดเท่าอายุ พาหุงมหากา(รุณิโก) อุทิศส่วนกุศลให้ลูกคือ เจ้าโจ เจ้าเปาะไม่เป็นไรแล้ว เขาไปสบายแล้ว เขารับคืนลูกเขาไปแล้ว ไม่ต้องห่วงนะ อย่าเสียใจเลย
คุณหญิงกล่าวว่า “โอ! หลวงพ่อเจ้าขา โจคนนี้นะฉันห่วง เรียนเก่ง จิตใจดี อารีอารอบพี่น้องเหลือเกิน เสียดายจิตใจเขาเป็นกุศล รับงานอะไรเขาต้องทำให้เสร็จ แล้วเรียนเก่งด้วย”
“เรียนเก่งซิ ลูกเทวดาไม่เก่งอย่างไร ต้องเก่ง คุณหญิงอย่าเสียใจ เอาอย่างที่ขอบิณฑบาตแล้วกัน”
ในเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว สองคนตายายก็นั่งสวดมนต์กันใหญ่ อิติปิโส ภควา… เมื่อก่อนไม่ได้สวด สวดเล็กๆน้อยๆ
คุณชำนาญถามว่า “เพราะเหตุใดครับ ถึงไม่ให้ผมเล่นการเมือง” “คิดเอาเอง” อาตมาพูดสั้นๆ “ท่านเป็นถึงดอกเตอร์” ทั้งสองคนก็ทราบยอมรับตั้งแต่นี้ไป ผมจะสวดพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ พาหุงมหากาฯและย้อนสวดพุทธคุณเท่าอายุเกินกว่าหนึ่งและต่อไปนี้ผมจะไม่เล่นการเมืองอีกต่อไป
อีกวันหนึ่งอาตมาไปเยี่ยมนายโจ อยู่ในห้องคนไข้ มีนางพยาบาลนางหนึ่งอยู่ใกล้ๆ อาตมาก็มองดู เห็นหนอๆ แล้วก็รู้ว่าพยาบาลนี่ไม่ช้าได้แต่งงานกันแล้วแต่งจริงๆเลย เห็นไหมนี่เห็นหนอนี่มีประโยชน์อย่างนี้นะ อย่าไปเห็นที่ไม่เข้าเรื่องนะ
คุณชำนาญเล่าเรื่องการเมืองที่ทำมาแล้วให้อาตมาฟังยีงงี้เลยคุณโยม ใสแจ๋วเลย แต่ไม่ทำ ไม่เอา บอกไม่ทำ
อาตมาไปเยี่ยมที่บ้าน มากันเป็นแถวเลย เดี๋ยวพรรคโน้นมา พรรคนี้มา “ใต้เท้าครับช่วยเป็นหัวหน้าพรรคหน่อย”
คุณชำนาญมองดูอาตมา อาตมาเลยยิ้ม และบอก “ตามใจ ท่านซิ”
ท่านก็บอกว่า “ขอเรียนพวกเราทุกคน ขอตัวต่อไปนี้เราไม่เล่นการเมืองแล้ว ขอให้ลูกเรารอดปลอดภัยเถิด”
ในที่สุดไม่เอาจริงๆ ไปถามท่านชำนาญดู ดูซิคุณชำนาญเล่นการเมืองไปตั้งแต่นั้นมา
สองคนตายายก็นั่งเจริญกรรมฐาน เข้าวัดเข้าวา หนักเข้าคุณโจก็ดีขึ้น เป็นเรื่องแปลกมาก นายแพทย์บอกไม่น่าหาย แต่แขนไม่ดีหน่อยเท่านั้นเอง เลยหนักเข้าก็ยังเอาพลาสติกใส่อยู่เดี๋ยวนี้เป็นปกติแล้ว ผลสุดท้ายได้แต่งงานกับพยาบาล มีบุตร ๒ คน อาตมายังไม่ได้พบอีกเลย
คุณชำนาญก็ขอปวารณา “หลวงพ่อต้องการอะไร นิมนต์ที่บ้านนี้” อาตมาก็กล่าวว่า “สาธุ อนุโมทามิ” ขอบพระคุณท่านมากไม่รบกวน ไม่แจกฎีกาด้วย ไม่ใช่พระแจกฎีกา เขาก็เชื่อถืออาตมามาตามลำดับ
เมื่อสองวันมานี้ นายธนศักดิ์ ยุวบูรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี อายุ ๔๔ ย่าง ท่านไปเที่ยวทัศนศึกษาในเขตสิงห์บุรีไปช่วยราษฎร พวกราษฎร พวกข้าราชการเขาบอกว่า
“เจ้าประคุ้ณ เจ้าเมืองหนุ่มจังเลย เพิ่ง ๔๐ กว่าเท่านั้นเองหรือนี่”
คุณธรศักดิ์ ยุวบูรณ์ พูดว่า “คุณป้า คุณน้า คุณอา ท่านทั้งหลายเอ๋ย พ่อกระผมเป็นผู้ว่าหนุ่มกว่าผม ผมเป็นผู้ว่าเมื่ออายุมากกว่าพ่อ” อาตมาถึงทราบ คุณชำนาญเป็นผู้ว่า อายุไม่ถึง ๔๐ ดูเหมือนจะ ๓๘ พวกราษฎรเขามาเล่าให้อาตมาฟัง
ในที่สุด คุณโจ ธนิต ยุวบูรณ์ หายวันหายคืนด้วยอำนาจบารมีของพ่อแม่ สองคนตายาย สวดแผ่เมตตา สวดพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ตอนหลังก็ดีขึ้นมาหมด ไปนั่งวิปัสสนากับคุณแม่สิริ กรินชัย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖
ท่านผู้ว่าฯ บอกว่า “หลวงพ่อครับ ตั้งแต่คุณพ่อ คุณแม่เจริญกรรมฐาน สวนสามพรานก็ดีขึ้นมา อย่างอื่นที่มันขัดข้องหายไปหมดเลยครับ”
ขอฝากภาพนิมิตที่สวนสามพรานนี้ไว้เป็นนิทัศนอุทาหรณ์ เพื่อการศึกษาสืบไป
เพื่อให้เรื่อง “ภาพนิมิตที่สวนสามพราน” ของท่านพระครูภาวนาวิสุทธิ์ เป็นรายงานเรื่องวิญญาณที่เพียบพร้อมด้วยหลักฐานและสักขีพยานมากที่สุด คณะผู้จัดทำจึงขอนำหลักฐานเอกสารจากหนังสือแจกในงานศพของนายชาญศิลป์ ยุวบูรณ์ เฉพาะเรื่องสำคัญบางเรื่อง มาลงพิมพ์ประกอบเรื่องไว้ท้ายนี้ด้วย
ต่อไปนี้เป็นข้อความ
จากหนังสืออนุสรณ์งานศพ
นายชาญศิลป์ ยุวบูรณื ซึ่ง
ขอคัดมาประกอบเรื่องภาพนิมิตที่สวนสามพราน
เพียงบางตอนคือ…..
คำนำ
ในการพิมพ์หนังสือเพื่อแจกในวันฌาปนกิจศพ นายชาญศิลป์ ยุวบูรณ์ นี้เจ้าภาพได้เลือกพิมพ์ คำเทศน์ของพระครูภาวนาวิสุทธิ์ วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี เหตุที่เลือกพิมพ์คำเทศน์ก็เนื่องจาก ทางสวนสามพราน ได้นิมนต์พระคุณเจ้าองค์นี้มาแสดงพระธรรมเทศนาให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ และคนงานในสวนฯ เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๑๘ เริ่มเวลา ๒๐.๐๐ นาฬิกา เป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงเต็ม แต่เพื่อความสะดวกของท่านที่ไม่มีเวลาอ่านคำเทศน์ตัวจริงเรา จึงขอให้ ดร.ทวีรัสมิ์ ธนาคม ย่อให้รวบรัดลงในท้ายเล่ม ผู้ถึงแก่กรรมได้ร่วมฟังพระธรรมเทศนาโดยตลอด และเมื่อจบแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่และคนงานได้บริจาคปัจจัยสมทบกับทางสวนฯ ร่วมทำบุญด้วยหลังจากเทศน์แล้ว ผู้ถึงแก่กรรมได้บอกกับพี่สาวว่า พระท่านเทศน์ดีเหลือเกิน ก่อนถึงแก่กรรมเล็กน้อย ยังได้พูดกับเพื่อนว่า “วันนี้สบายใจจัง” และได้ทำบุญพระเทศน์ไป ๕๐๐ บาท ทางครอบครัวจึงทราบว่านายชาญศิลป์ ยุวบูรณ์ได้บริจาคเงินของตนเองร่วมทำการกุศลกับพนักงานเจ้าหน้าที่และคนงาน ทางเจ้าภาพเห็นว่านายชาญศิลป์ ยุวบูรณ์มีความศรัทธาเลื่อมใสในคำเทศน์นี้ จึงได้นำมาพิมพ์ไว้เป็นอนุสรณ์แก่ผู้ถึงแก่กรรม
ประวัติ
นายชาญศิลป์ ยุวบูรณ์ (เปาะ) เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๖ กันยายาน ๒๔๗๙ ณ โรงพยาบาลศิริราช อ.บางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของนายชำนาญ และคุณหญิงวลี ยุวบูรณ์
เปาะเป็นเด็กดีที่น่ารักของครอบครัวมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย ในฐานะที่เป็นลูกชายเล็ก และมีอายุอ่อนกว่าพี่ๆมากสักหน่อย จึงทำให้รู้สึกว่าเปาะเป็นเด็กเล็กๆอยู่เสมอ ซึ่งเปาะเองก็พอใจ ต่อเมื่อเปาะอยู่กับปุ้มน้องสาวคนเดียว เปาะจึงเป็นพี่ชายที่น้องกลัวและเกรงมากที่สุดทั้งที่วัยก็ใกล้เคียงกันมาก เมื่อเล็กเปาะเริ่มเรียนอนุบาลที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย เพราะเนื่องจากพี่สาวเป็นนักเรียนวัฒนาฯอยู่แล้ว จึงตามพี่สาวไปเรียนจนจบชั้นที่เด็กผู้ชายจะเรียนได้คือชั้นประถมปีที่ ๒ จากนั้นจึงไปต่อที่โรงเรียนศรีวิกรม์ จนจบชั้นประถมปีที่ ๔ และได้ไปเรียนต่อโรงเรียน Aymestrey, Worcester และที่ Rendcomb College, Gloncester ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี ๒๕๐๘ จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๖ จึงได้กลับมาประเทศไทย และคิดว่าจะไปเรียนต่อชั้นมหาวิทยาลัยที่สหรัฐอเมริกา แต่เมื่อถึงบ้านแล้ว เนื่องจากกิจการของครอบครัว ซึ่งต้องอาศัยการพูดภาษาและการบริการเป็นส่วนสำคัญ และเปาะก็เข้ารับหน้าที่นี้โดยเต็มใจ และทำได้เป็นอย่างดีที่สุด ซึ่งทำให้พ่อ แม่ ญาติพี่น้อง ปลื้มใจในตัวเปาะมาก เปาะได้ทำงานให้กับครอบครัวทั้งในและนอกประเทศ ถึงหนึ่งปีเต็มๆ จึงได้กลับไปเรียนต่อที่ American University ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในสาขา Political Science ซึ่งตรงกับอุปนิสัยและใจคอของเปาะมาก เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ นี้เอง และได้กลับมาเยี่ยมบ้านเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๑๗ ซึ่งเป็นเวลาปิดภาคเรียนและเป็นโอกาสที่ พี่ชาย (แป๊ะ) จะเข้าสู่พิธีมงคลสมรสในวันที่ ๕ มกราคมด้วย และตั้งใจว่าจะกลับไปเรียนต่อในวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๑๘ เปาะเป็นเด็กน่ารักมาตั้งแต่ยังเล็ก มิใช่แต่เฉพาะในครอบครัวเท่านั้น ทั้งญาติและพี่น้องและเพื่อนนฝูงของพี่ๆ ก็รักและเอ็นดูเปาะแทบทุกคน เปาะเป็นคนรักสวย รักงาม ชอบแต่งตัวดูดีและพูดเพราะอยู่เสมอ ซึ่งคุณหญิงผู้เป็นญาติ จะพูดจาตักเตือนทักท้วงบางอย่าง เปาะก็ยิ้มรับไม่เคยแสดงกิริยาโต้ตอบใดๆ ใครจะใช้สอยไหว้วานเปาะก็ไม่รังเกียจ ถ้าทำได้ก็ทำให้ด้วยความเต็มใจ เปาะเป็นอย่างนี้เสมอมาตั้งแต่เล็กจนโตและการเรียน ชอบพูดคุยเป็นเรื่องเป็นราวและมีความคิดอ่านมากขึ้น และคิดว่าจะไม่กลับบ้านในเวลาหยุดภาคฤดูร้อน เพื่อจะรีบเรียนให้จบภายในระยะเวลา ๓ ปีครึ่ง
จนวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๑๘ ที่สวนสามพรานได้นิมนต์พระครูภาวนาวิสุทธิ์ เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี มาเทศน์ให้เจ้าพนักงานของสวนฯฟัง เปาะก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังด้วย พร้อมกับครอบครัวโดยสงบตั้งแต่ต้น เวลาประมาณสองทุ่ม จนจบซึ่งเป็นเวลาประมาณ ๔ ทุ่มเศษ จึงได้แยกย้ายกันกลับเข้ากรุงเทพ โดยเปาะแยกกลับมาก่อนพร้อมด้วยพี่ชายโจ (ธนิต ยุวบูรณ์) จนเวลา ๓ นาฬิกา จึงได้ทราบข่าวว่า เปาะได้ถึงแก่กรรมแล้วที่โรงพยาบาลตำรวจ นับอายุได้ ๒๐ ปี ๓ เดือน กับ ๒๗ วัน
คำเทศนา ของ พระครูภาวนาวิสุทธิ์(หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) โดยย่อ
คุณชำนาญ และคุณหญิงวลี ยุวบูรณ์ รู้จักกับท่านพระครูภาวนาวิสุทธิ์ เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี โดยนายเกษ ดีฤกษ์ ซึ่งเคยเป็นนายอำเภอพรหมบุรี เป็นผู้แนะนำ ท่านพระครูมาชมสวนสามพราน และติดใจความงามสะอาดมีระเบียบเรียบร้อยของสวนสามพรานมาก จึงมาดูเป็นครั้งที่ ๒ ก่อนหน้าที่คุณชำนาญ ยุวบูรณ์ จะนิมนต์ท่านมาเทศน์ให้เจ้าหน้าที่และคนงานของสวนฟังที่สวนสามพราน เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๑๘ ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่
ท่านพระครูสรรเสริญเจ้าภาพ ในฐานะที่เป็นผู้มีความคิดริเริ่มจัดทำสวนสามพรานขึ้น และได้บริหารงานชิ้นนี้จนสำเร็จลงด้วยดี ความประทับใจในสวนสามพรานของท่านเป็นปกติวิสัยของมนุษย์ทุกรูปนามที่อยากรวย อยากสวย อยากดี ความงามก็เป็นความดีอย่างหนึ่ง
ฉะนั้น เมื่อท่านได้ความคิดจากสวนสามพรานจึงนำไปพัฒนาวัดอัมพวันทำให้วัดเป็นสวนสามพรานย่อยขึ้น ความจริงความงาม ความมีระเบียบ ความสะอาด ในวัดเป็นตัวประกอบสำคัญของบรรยากาศความสงบในวัดไม่ควรจะขาดในวัดใด
พรปีใหม่สำหรับผู้ฟังเทศน์ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ทุกคนอยากอายุยืน อยากสวย อยากมีสุขภาพดี มีความเจริญ แต่ผู้ที่จะรับพรนี้จะต้องมีของดีรับ คือต้องเป็นคนมีความเคารพนบนอบ และต้องบูชาคน ๓ ประเภท คือ ชาติวุฒิ วัยวุฒิ คุณวุฒิ คือผู้ที่เกิดมาดีอยู่เป็นเวลานานและมีคุณสมบัติ ความเคารพแสดงออกได้ทางกาย ทางวาจาทางใจ คือมีจิตนบนอบยำเกรง ทั้งต่อหน้าและลับหลัง นอกจากนี้จะต้องมีความกตัญญู กตเวที รู้พระคุณและสนองพระคุณของผู้มีคุณ
การเคารพจะต้องประกอบด้วยหลัก ๕ ประการ คือ สักการะเคารพ บูชา นับถือ และเชื่อฟัง สักการะหมายถึงจุดธูปเทียนหรือเอาใจใส่ เคารพนอกจากไหว้ คำนับ ยังหมายถึงมั่นคงต่อผู้มีคุณ ถือในคำนับถือหมายถึง ยึดเหนี่ยวหลักข้อปฏิบัติของบุคคลที่ดีไว้เป็นแบบอย่าง เช่นเอาอย่างผู้ที่ทำงานดี เรียบร้อย งานมีผลสำเร็จผ่านพ้นไปได้ด้วยดีตามความมุ่งหมาย เมื่อเรานับถือคนเช่นนี้เราก็จะนำหลักการปฏิบัติของเขามาใช้
การเชื่อฟังหมายถึง การปฏิบัติตามคำสั่งของผู้มีพระคุณ เราะจะได้รับพรอันประเสริฐได้นั้นต้องเป็นผู้รู้พระคุณ ผู้มีพระคุณจำแนกออกเป็น ๔ ประเภท คือ คน สัตว์ ชาติภูมิ (มาตุภูมิ) เครื่องอุปกรณ์หรือเครื่องใช้ไม้สอย
คนต้องพึ่งพาอาศัยกัน แม้แต่อวัยวะต่างๆในตัวคนก็ต้องทำงานด้วย เช่นเวลาหยิบต้องใช้ทั้งห้านิ้วจึงจะหยิบได้ กายกับจิตก็ต้องทำงานด้วยกัน คนทุกคนมีคุณค่า มีสิทธิมนุษยชนเหมือนกัน ต่างกันตรงที่บางคนมีบารมี บางคนไม่มีบารมี คือ ไม่มีความเพียร ความเพียรช่วยให้งานการสำเร็จลงได้ สัตว์ก็มีหัวใจ มีเจ้าของทำประโยชน์ให้คน บ้านเมืองของเรามีคุณต่อเรา เพราะช่วยให้เรามีการงานทำ เราจึงมีความสุข ข้าวของเครื่องใช้ก็ให้ความสะดวกสบาย ถ้าเสียก็ไม่มีใช้ ทั้งหมดนี้นับว่ามีคุณแก่เรา
นอกจากรู้พระคุณสี่ข้อแล้ว เราจะต้องมีชีวิตอยู่อย่างมีความหวัง อย่าทำงานอย่างสักแต่ว่าทำให้เสร็จๆไป ผลงานทั้งดีและเลว ตกอยูที่ตัวเรา ฉะนั้นจะต้องทำอย่างสุดความสามารถให้คนเห็นฝีมือประโยชน์จากงานที่เราทำนั้น คือทุนของเรา ทุนมิได้หมายถึงทรัพย์อย่างเดียว หมายถึงชื่อเสียง ตลอดจนความรัก ถ้าไม่มีชื่อเสียงว่าทำงานดี ก็จะไม่มีใครเขาให้งานทำ และต้องมีความรักจึงจะไปทำงานร่วมอยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างสะดวกสบาย ทุนทั้งสามอย่างนี้จะต้องเป็นสร้างสมไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชื่อเสียงจะสร้างชื่อได้ต้องมีสัจจะ มีวาจาสัตย์ ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่
พระพุทธเจ้าสอนให้คนขยันหมั่นเพียร บางคนชอบแต่จะพักผ่อนอย่าลืมว่ามีดยิ่งลับยิ่งคม สมองยิ่งใช้ยิ่งคล่อง ส่วนการพักนั้นยิ่งพักจะยิ่งทำให้ปัญญาทึบ คนยิ่งทำงานยิ่งจะอายุยืน งานที่ทำจะยิ่งช่วยให้สติปัญญาแตกฉาน หลักที่ควรจำคือ “ขยันเอาการ งานสะอาด ฉลาดรอบบคอบ ชอบระวัง ตั้งใจตรง ทรงศีลธรรม นำถูกทาง ปลูกสติ ดำริชอบ” ถ้าทำได้ทั้งเก้าข้อนี้จะก้าวไปสู่ความเจริญและประสบผลสำเร็จ จะได้งานได้การเป็นกำไรของชีวิต
ความเจริญของคนมาจากการบูชาผู้มีอุปการคุณต่อตน ทำงานเหมิอนกันทั้งต่อหน้าและลับหลังนายจ้าง กิจการของสวนสามพรานจึงจะเจริญ กิจการเจริญ ผู้ทำกิจการก็จะสบายด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย ขอให้ทุกคนใช้เวลาดำเนินชีวิตไปสู่ความสำเร็จ ทำได้ดังนี้ เมื่อใดเมื่อนั้น เราก็จะได้รับพร ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะพละ