ประสบการณ์จากการอบรมพัฒนาจิตใจ
โดย อร เพ็ชรเอี่ยม
เมื่อวันที่ ๑-๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ได้มีการเปิดค่ายอบรมพัฒนาจิตใจขึ้นที่วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี โดยยุวพุทธิกสมาคม ซึ่งคุณสมพร เทพสิทธา เป็นประธานจัดการ มีนักศึกษาจากวิทยาลัยครูทั่วประเทศเข้ารับการ อบรมในครั้งนี้ประมาณร้อยคนเศษ รวมทั้งดิฉันและเพื่อนอีก ๕ คน ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยครูธนบุรี
ในวันแรกที่มาถึงวัดทุกคนดูสนุกรื่นเริงเหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไป ส่งเสียงดังไม่เกรงใจใคร แต่ก็ไม่มีผู้ใดในวัดดุว่าพวกเราให้เจ็บใจ
หลวงพ่อพระครูภาวนาวิสุทธิ์ (สมณศักดิ์ในขณะนั้น) เป็นผู้ให้การอบรมเพียงผู้เดียว คอยสั่งสอนว่ากล่าวตักเตือนด้วยวาจาที่ไพเราะ จนเรียกเสียงเฮฮาจากพวกเราได้เป็นระยะ ๆ
ท่านมีเมตตามาก ยอมเสียสละเวลาและกำลังกายของท่านตลอด ๗ วัน ๗ คืน ไม่ได้หลับนอน เพื่อถ่ายทอดวิชาที่ไม่เคยมีสอนในสถานศึกษาให้พวกเรา อีกทั้งเลี้ยงอาหารตลอด ๓ มื้อทุกวันมิให้อดอยาก ผู้ที่ติดในรสอาหารก็รับประทานเสียมากมาย พอถึงเวลาปฏิบัติสมาธิจึงหลับไปตาม ๆ กัน
หลวงพ่อเป็นผู้สอนเองตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย โดยเริ่มด้วยการรับศีลในโบสถ์ ท่านสาธิตท่านั่งและท่าเดินให้ดู แล้วพาออกไปเดินรอบโบสถ์ โดยท่านเดินนำ นักศึกษาเดินตาม สักครู่ก็กลับเข้าไปนั่งสมาธิในโบสถ์ แล้วแยกย้ายกันกลับไปนอนทำสมาธิต่อที่ที่พักของตัวเอง
ผู้ชายนอนตามกลดที่ปักไว้ ส่วนผู้หญิงพักอยู่กับแม่ชี ดิฉันพักอยู่กับเพื่อนรวม ๔ คนในห้องแคบ ๆ ซึ่งแม่ชีเสียสละให้
เพื่อน ๆ คุยกันเสียงดังรบกวนแม่ชีมาก หลายคนไม่ยอมทำตามทำสอนที่ว่า กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย และทำความเพียรมาก ทั้ง ๆ ที่ทุกคนสมัครใจมากันเอง
ส่วนดิฉันทำตามอย่างเคร่งครัด ด้วยเหตุผลคือ ความที่ไม่เคยมีศรัทธาในพระสงฆ์มาก่อน แต่เมื่อมาพบหลวงพ่อ ได้รับฟังคำสอนเป็นภาษาไทย (มิใช่ประเภทเทศน์เป็นบาลีสวดเรี่ยไรเงิน แต่ไม่เคยสอน) แม้ว่าจะพอมีศรัทธาขึ้นมาบ้าง แต่ก็ยังไม่เชื่อว่า สิ่งที่ท่านสอนนั้นจะเป็นไปได้
ตัวอย่างเช่น ให้เดินช้า ๆ เหมือนคนไข้ แล้วไปนั่งเฉย ๆ ไม่ขยับเลย แม้ขาชาก็ให้กำหนดว่า ชาหนอ ๆๆ ในใจ กำหนดไปเรื่อย ๆ แล้วจะคลายไปเอง ดิฉันไม่เชื่อจึงลองทำตามดู อาการชาหายไปจริง ๆ ศรัทธาเริ่มมากขึ้น
แต่ที่ถูกใจดิฉันมาก มิใช่นิมิตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการเจริญสมาธิ ดิฉันมีความประสงค์จะเรียนให้จบไว ๆ จะได้รีบทำงาน แต่ปัญหาของดิฉันคือ นอนตื่นสาย ไม่สามารถบังคับตัวเองได้ หลวงพ่อบอกว่าทำสมาธิแล้วนอนกำหนด อยากตื่นเวลาใด ตื่นได้โดยไม่ต้องใช้นาฬิกาปลุก
ดิฉันลองทำปรากฏว่า ในจำนวนเพื่อนสี่คนที่นอนด้วยกัน ไม่มีใครตื่นก่อนดิฉันเลย ตลอด ๗ วันไม่เคยตื่นสาย นอนหลับสบาย ไม่ฝันร้ายเหมือนนอนอยู่บ้าน แม้จะนอนน้อย ก็ไม่ง่วงไม่เพลีย ดิฉันสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างเคร่งครัด ไม่พูด ไม่คุย จะพูดเมื่อจำเป็นจริง ๆ
วันหนึ่งมีเหตุการณ์วุ่นวายเกิดขึ้น ดิฉันจำไม่ได้ว่าวันใด ได้ยินว่าพระไม่สบาย เลือดไหลมาก ก็สำรวมทางหู ไม่ตกใจ ไม่กลัว จนค่ำวันหนึ่งนักศึกษาได้ถูกจัดให้นั่งในเต้นท์ (มีรูปถ่ายอยู่ในโบสถ์) บริเวณมีต้นไม้มาก เวลานั้นมืดแล้ว มองอะไรไม่ชัดเจนนัก
หลวงพ่อนั่งบนยกพื้นที่สร้างขึ้นชั่วคราว มีพระอีกรูปหนึ่งผิวคล้ำนั่งอยู่ด้วย หน้าเหมือนคนจีน หลวงพ่อแนะนำว่า พระรูปนั้น คือ บัวเฮียว เป็นคนญวน เพิ่งมาขออยู่กับท่าน แล้วพระบัวเฮียวก็เริ่มเล่าเรื่องของตัวเอง เล่าไม่ยอมหยุด เกี่ยวกับการทำบาปกรรมของท่าน รับจ้างเขาฆ่าวัวควายและหมู
ดิฉันจำคำพูดของท่านไม่ได้มากนัก เพราะไม่สนใจว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตได้อย่างไร จำได้แต่ท่าท่างของท่านดูเหนื่อยหอบ และหลวงพ่อก็มีสีหน้าเคร่งขรึมไม่พูดให้พวกเราได้เฮฮาเหมือนวันก่อน ๆ
ท่านบอกให้พระบัวเฮียวหยุดพูด ให้พอแค่นั้น แต่พระท่านอยากพูด พยายามจะพูดต่อ หลวงพ่อจึงถือไมโครโฟนไว้เสียเอง สักครู่หนึ่งพระบัวเฮียวจึงสงบลง
วันต่อมาการอบรมค่ายพัฒนาจิตใจก็สิ้นสุดลง ด้วยการอภิปรายของบุคคลในศาสนาต่าง ๆ เช่น คุณหญิงแสงดาว สยามวาลา ฯลฯ และการแสดงความคิดเห็นของตัวแทนนักศึกษาแต่ละวิทยาลัย
ทุกคนพอใจที่ได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมในครั้งนี้ รวมทั้งดิฉัน เราต่างได้รับประโยชน์มากมาย ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่จะต้องจำไปจนตาย สิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนเรื่องไม่จริง
ดิฉันเชื่อครึ่ง ไม่เชื่อครึ่ง ว่า มีวัดและพระเช่นนี้อยู่ในประเทศไทย และเมื่อกลับไปบ้านเล่าให้ใครฟัง เขาก็ไม่สนใจ ดิฉันนำวิธีปฏิบัตินี้ไปฝึกที่บ้าน หลายคนคัดค้านว่าไม่ควรทำเสียเวลานอน เสียเวลาทำงานบ้าน การปฏิบัติจึงสิ้นสุดลง
ด้วยความสงสัยไม่แน่ใจในข้อปฏิบัติที่หลวงพ่อให้ไป หลังจากนั้น ๘-๙ ปี ดิฉันกลับมาที่วัดนี้อีก ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป บริเวณที่เคยนั่งอบรม สร้างเป็นหอประชุมใหญ่ ที่พักและห้องน้ำ ห้องส้วมมีเพิ่มขึ้นมากมาย
ดิฉันจึงเริ่มมาปฏิบัติอีก แต่น่าเสียดายไม่ได้ผลเลย ต้องเริ่มต้นใหม่ ต้องใช้ความพยายามมากกว่าเดิมกว่าจะได้ผล
ผลที่ได้นั้นมากมายถ้าปฏิบัติจริง ดิฉันไม่กล้ายืนยัน เพราะเพิ่งปฏิบัติได้รับผลเป็นที่น่าพอใจในวันนี้ (๑๒ พ.ค. ๓๒) แล้วรู้สึกตื่นเต้นมากที่ต้องเขียนเรื่องที่ตัวเองไม่เคยศรัทธาเชื่อถือมาก่อน แต่ด้วยความซึ้งในคุณครูบาอาจารย์ ผู้ปฏิบัติศาสนาด้วยความเหนื่อยยาก จึงยอมสละแม้ชีวิตเพื่อพิสูจน์ว่า สติปัฏฐาน ๔ เป็นหนทางเดียวที่จะดับทุกข์เราได้
น.ส. อร เพชรเอี่ยม
ที่บ้าน ๘๕๗/๑๙ ตรอกอาเหนียว
อ.ตากสิน แขวงคลองต้นไทร
เขตคลองสาน กทม. ๑๐๖๐๐