ปักษินจำพรรษาที่วัดอัมพวัน

โดย หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม

วันนี้อาตมาจะเล่าเรื่องอัศจรรย์ให้ญาติโยมฟัง เป็นเรื่องของนกชวนกันมาบำเพ็ญกุศลที่วัดอัมพวันนี้ มีความหมายเกี่ยวกับกฎแห่งกรรมเหมือนกัน

ปักษีและปักษาที่พากันมาสร้างกุศลอยู่จำพรรษาที่วัดนี้ทุก ๆ ปีเป็นเวลาติดต่อกันมา ๑๕ ปีแล้ว มาจากถิ่นต่าง ๆ กัน มีทั้งหมด ๖ ฝูง มาจำพรรษาตั้งแต่เริ่มต้นเข้ามาวัดวันอาสาฬหบูชา จนถึงวันกลางเดือนสิบสอง หมดฤดูฝน นกเหล่านั้นก็จะกราบนมัสการลาไปยังถิ่นฐานของตนเป็นกลุ่ม ๆ

กลุ่มหนึ่งอยู่ที่เชียงใหม่ จังหวัดแพร่ จังหวัดน่าน อีกกลุ่มอยู่ทางเพชรบูรณ์ ชัยบาดาล และกลุ่มสุดท้ายอยู่บางปะอิน

แต่ละกลุ่มต่างก็สอนลูก ๆ ของตนให้ถือปฏิบัติตาม นกเอี้ยง นกคลิ้งโคลง นกสาลิกา นกนานาชนิด มีอายุไม่ถึง ๓๐-๔๐ ปีหรอก ไปโดนพวกคนร้ายยิงเสียบ้าง เป็นโรคตายบ้าง อายุไม่ถึง ๑๐ ปีมันก็ตายแล้ว

แต่เหตุใดเล่าจึงพากันมาบำเพ็ญกุศลที่นี่ทุกปี ติดต่อกันถึง ๑๕ ปีผ่านมา เท่าที่จำได้ นกที่มามาก คือนกเอี้ยง สาลิกา เป็นต้น เมื่อมันมา มันจะคุยกัน มารักษาศีลกินบวชตลอดพรรษาทีเดียว

กลางวันก็ไปหากินถึงกำแพงเพชร อุตรดิตถ์ ไปหากินจังหวัดแพร่ ไปไกลจากวัดอัมพวันมาก มันก็พูดกันรู้เรื่อง

มีนกสองสามตัวขาหัก อาตมาก็ทาน้ำมันให้เอาผ้าเหลืองผูกขามันไว้ มันก็หาย

ต้นไม้ในบริเวณวัดอัมพวันที่ฝูงนกมาอาศัยจำพรรษา

มีคราวหนึ่งอาตมาไปบรรยายธรรมที่พิษณุโลก ระหว่างกลางพรรษา ไปอบรมทหารค่ายพระนเรศวรมหาราช ค่ายเอกาทศรถ กลับมาก็มาทำธุระข้างทางใต้นครสวรรค์ลงมา ที่ในป่านั้น นกเอี้ยงฝูงหนึ่งบินมา อาตมาจำได้ นี่นกวัดเรา เพราะมีผ้าเหลืองผูกขา ก็มาบินวนที่อาตมา ๆ ก็บอกว่า

“เอี้ยงเอ๊ย กลับไปก่อนเถอะ” แล้วก็ออกตามมาถึงวัดทีหลังนก นี่แหละขอเล่าสั้น ๆ

นกมันมาเกาะตามต้นไม้กว่าจะนอนใช้เวลา ๓-๔ ชั่วโมง ส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าว ๆ อยู่กันเป็นกลุ่ม ๆ อยู่ข้างโบสถ์ ข้างศาลา ข้างหอประชุม ข้างกุฏิอาตมา ข้างกุฏิกรรมฐานกับโรงครัว ข้างหอฉัน ทั้งหมด ๖ กลุ่ม

กลุ่มหนึ่งเป็นหมื่นตัว มากันมากมาย มันก็สั่งกันไว้ว่า “ลูกเอ๋ย พ่อตายแม่ตายนะ เจ้าจงมาบำเพ็ญกุศล รักษาศีลที่วัดอัมพวันนี้นะ” ก็สั่งลูกไว้

ตัวมันเองตายไปแล้ว ลูกก็มาต่อให้ จึงได้มีนกมาทุกปี มารักษาศีลถึงกลางเดือนสิบสอง พระสงฆ์รับกฐินเสร็จเรียบร้อยแล้ว เขาก็กราบนมัสการลา กลับไปยังเคหสถานของเขา กลุ่มสุดท้ายไปบางปะอิน มันก็เล่าอย่างนี้

ย่ำรุ่ง ตอนที่จะเดินทางไปหากิน ฝูงนกจะลุกเวลาตี ๔ พร้อมพระวัดอัมพวัน พระเจริญกุศลภาวนา นกมันก็เจี๊ยวจ๊าวอนุโมทนา เตรียมตัวไปหากิน และบินไปไกล ๆ มาก

ยามเย็นกลับมาแล้วก็ตรวจตราพวกมันว่า ตัวผู้ตายกี่ตัว ตัวเมียตายกี่ตัว มีใครบ้าง หัวหน้านกก็ตรวจตรา เขารักกันดี สามัคคีกันดี เจี๊ยวจ๊าวกว่าจะนอน พอตรวจตราเรียบร้อยเขาจะเงียบเลยทั้งหมดในวัดนี้

บางทีมีคนร้ายเข้ามานกเขาจะตื่น หรือพระถิ่นอื่นมาอบรมที่วัดนี้ห่มผ้าไม่เรียบร้อย ตบไม้ตบมือ นกเขาจะบินขึ้นมาแล้วถามว่า “เอ๊! พระวัดเราไม่น่าเป็นอย่างนี้ไปได้”

หัวหน้านกเขาก็จะบอกว่า “ไม่ใช่พระวัดนี้ ดูให้ดี” นกจึงเงียบไป

นกมันก็สั่งกันไว้ นกเอี้ยงก็สั่ง กลุ่มสุดท้าย กลุ่ม ๖ บินไปทางใต้ ทางบางปะอิน

ต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ ปีนี้เอง โยมตลิบ พันธุ์สุผล อยู่ที่บางปะอินมาเล่าเหตุการณ์ให้ฟังว่า เกิดอัศจรรย์ดลบันดาล นกเอี้ยงที่เลี้ยงไว้พูดได้เรื่องแปลกมาก เขาเล่าประวัติของนกว่า

นกเอี้ยงมันตกจากต้นกระทุ่มที่หลังบ้านของแก ลูกเขยนำมาเลี้ยงไว้ ๓ ปีแล้ว มันโตขึ้นก็พูดได้

โยมตลิบ พันธุ์สุผล

แม่ตลิบนี่อายุ ๗๕ ปีแล้ว เขาไปนากันหมด นกก็บอกว่า “แม่แก่ ขอข้าวกินหน่อย หิวแล้ว” แม่แก่ก็พูดว่า

“เอี้ยงเอ๊ย แม่แก่ลุกไม่ไหวหรอก ไม่สบาย เหนื่อยเหลือเกิน มันหืดหอบ แพ้อากาศ ปวดขาลุกไม่ไหว”

“แม่แก่กินข้าวเสียซิ แม่แก่กินข้าวเสียก่อนก็ได้ กินแล้วค่อยมาให้เอี้ยง ขอกินข้าวหน่อย” แม่แก่ก็พูดต่อไปอีกว่า “เอี้ยงเอ๊ย แม่แก่ลุกไม่ไหวจริง ๆ นะ มันปวดขา ให้เขากลับจากนาก่อน ค่อยกินข้าวนะ”

“แม่แก่ไปวัดทิพวัน จังหวัดสาดซิ แม่แก่จะได้หาย หายนะแม่ต้องไปนะแม่แก่นะ ไปวัดนั้นนะ”

ลูกสาวกลับจากนาก็บอกกับลูกสาวว่า นกมันพูดได้นะ แม่ลุกไม่ไหวก็บอกให้ไปวัดนี้ จังหวัดนี้ แล้วจะหาย ลูกสาวก็บอกว่า

“โอ๊ย! ไปเชื่อมันทำไม วันเดือนปี ไม่เคยออกจากกรงไปไหน จะรู้วัดทิพวันจากไหน”

แม่แก่ก็บอกว่า “มันไม่เคยออกจากกรงไปไหนก็จริงอยู่นะลูกนะ แต่ทำไมพูดอย่างนี้ บอกให้ไปอย่างนี้”

อีกวันหนึ่งเขาออกไปนากันอีก นกเอี้ยงก็ขอข้าวกินอีก แม่แก่ก็บอกลุกไม่ไหว ไปไม่ได้ เหนื่อยเหลือเกิน

“แม่แก่ไปนะ แม่แก่ไปให้ได้เชียว วัดทิพวัน จังหวัดสาด” มันพูดไม่ชัด แต่แม่แก่จำได้ชัด ก็เล่าให้ลูกสาวฟังอีก

พอดี รร.จอมสุรางค์อุปถัมภ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเคยพานักเรียนมาปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวัน มีหลานของบ้านนี้มาด้วย เลยบอกแม่แก่ว่า

“ไม่ใช่วัดทิพวันหรอก วัดอัมพวันแน่ จังหวัดสิงห์บุรี หนูไปอบรมมาแล้วหลายวัน มีมะขามกายสิทธิ์ มีน้ำมันด้วย”

“เห็นจะถูกของเอี้ยงแล้ว” อยู่ต่อมาก็บอกว่า

“เอี้ยงเอ๊ย ถ้าแม่แก่ไปหาวัดนี้เจอนะ แม่แก่จะเอากล้วยงาม ๆ มาให้” เอี้ยงหัวเราะใหญ่เลย เป็นไปได้น่าสนใจเหมือนกัน

ต่อมาไม่นานแม่แก่ตลิบนี้ ก็ชวนคนข้างบ้านมาเที่ยวเสาะแสวงหาวัดอัมพวัน มาลงที่สิงห์บุรี มาถามเขาดู

เขาก็บอกให้ขึ้นรถวัดตราชูมาลงหน้าวัด แวะเข้ามากว่าจะคุยกับอาตมา เป็นเวลา ตี ๒

อาตมาก็นึกถึงเรื่องเก่ามาเล่ากันใหม่ นกเอี้ยงมันบอกลูกมันไว้ บอกหลานมันไว้ สั่งไว้ยังงี้ มันก็ทำให้สังหรณ์จิต บอกแม่แก่ไปวัดนี้เถอะ หายแน่

อาตมานึกว่าต้องหายแน่เลย ก็บอกยาไปให้คือตะไคร้ชง ให้น้ำมันไปขวดหนึ่ง ยาผง ๒ ห่อ เหนื่อยนี่หายแน่ และติดตามผลได้ทราบมาว่าหายแล้ว

อาตมาก็สงสารเอี้ยงมัน ปู่ย่าตายายมาจำศีลที่วัดเรา นึกว่าให้เกียรติมันด้วย ให้เกียรตินกเอี้ยงพูดได้

อาตมาพูดมาเพื่อเป็นแนวคิดถึงนกปักษีและปักษาที่มาเจริญภาวนาบำเพ็ญกุศล เป็นแสน ๆ ล้าน ๆ ตัวที่วัดของเรา เป็นเวลา ๑๐ กว่าปีแล้ว มันก็สั่งลูกไว้ให้มาที่นี่

อย่างแม่ตลิบที่บางปะอินนั้น นกมันตกไปเก็บมาเลี้ยงไว้มันก็บอกอย่างนี้แหละ ได้อัดเทปไว้เพื่อเป็นหลักฐานเกี่ยวกับกฎแห่งกรรม นับประสาอะไรกับนก คนเรายังไม่ค่อยอยากจะมา เพราะไม่อย่างสร้างความดีให้มีปัญญา ก็แล้วไป อาตมาชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลาในที่ประชุม ก็เกรงใจพี่น้องกำลังจะง่วงนอน แต่อาตมาต้องกลับไปทำงานถึงตี ๓ ก็แก่แล้วนะ ไม่ใช่หนุ่มสาวอย่างท่านทั้งหลาย แต่เราก็ต้องทำงานให้เสร็จ ตามที่เราตั้งใจไว้

คนเราที่ตั้งใจอย่างไร ทำอย่างนั้น แล้วมีวาจาสิทธิ์ จะนึกเงินไหลนอง นึกทองไหลมาแน่

ถ้าพูดแล้วไม่ทำ เป็นกิจกรรมที่เลวร้ายเป็นกฎแห่งกรรม เสียสัจจะ คนนั้นจะทำมาหากินไม่ขึ้น และคนนั้นจะทำอะไรไม่ได้รับผล ไม่ได้อานิสงส์ ไม่สมความมุ่งมาดปรารถนาอย่างแน่นอน ความเจริญรุ่งเรืองก็จะไม่มาสู่ชีวิตของเขา มีความหมายอย่างนี้

ขอความสุขสวัสดีจงมีแก่ท่านทั้งหลาย ขอทุกท่านจงเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณธนสารสมบัติ จะนึกคิดสิ่งหนึ่งประการใด สมความมุ่งมาดปรารถนา ด้วยกันทุก ๆ ท่านเทอญ..

 

วัดทิพวัน

“วัดอัมพวัน” สิงห์บุรีของหลวงพ่อจรัญ ใคร ๆ ก็รูว่า “วัดป่ามะม่วง” แต่เจ้าวิหกนกน้อยแสนกตัญญูตัวนี้ กลับตั้งชื่อใหม่ให้ว่า “วัดทิพวัน” ซึ่งมีความหมายว่า วัดนี้เป็นที่สถิตของทวยเทพผู้มีเทวธรรมประจำใจ

คุณป้าตลิบ พันธ์สุผล อายุ ๗๕ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๓๕ หมู่ ๘ ต.คลอกจิก อ.บางปะกิน จ.พระนครศรีอยุธยา กับคุณน้าทองโปรย สุวรรณนุช เพื่อนข้างบ้าน ได้เดินทางไปพบหลวงพ่อที่วัดอัมพวัน ตามเสียงบอกของนกเอี้ยงที่เลี้ยงไว้ เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๓๒ หลวงพ่อได้เมตตาสนทนาด้วยและบันทึกเทปไว้ คำสนทนามีดังนี้

คุณป้าตลิบ : ฉันไม่สบายจ้ะหลวงพ่อ ไปให้หมอเขารักษาแล้ว แต่ไม่หาย

หลวงพ่อ : เขาว่ายังไง

คุณป้าตลิบ : เขาบอกว่า หายขาดน่ะ มันไม่หายขาดหรอก

หลวงพ่อ : มีอาการยังไง

คุณป้าตลิบ : เหนื่อยจ้ะ เหนื่อยจนแน่น

หลวงพ่อ : ทานข้าวได้ไหม

คุณป้าตลิบ : เวลาเหนื่อยขึ้นมา อะไร ๆ รับไม่ได้ทั้งนั้น เพราะมันแน่นจนตึง

หลวงพ่อ : ท้องผูกไหม

คุณป้าตลิบ : ท้องไม่เชิงผูกจ้ะ เวลาเหนื่อยขึ้นมาไปรับหมอมาฉีดยา เขาบอกว่าฉีดให้ฉัน ๒ เข็ม ฉีดหรือเปล่า ก็ไม่รู้ มันเผลอตัว เช้าขึ้นมาขอโทษเถอะหลวงพ่อ ถ่ายรดเมื่อไรไม่รู้ ไอตัวฉันออก อุจจาระแห้งติดตัว ฉันต้องเอาน้ำรดเอาแปรงขัด หลวงพ่อ ตอนนั้นอยู่โรงพยาบาลหรืออยู่ที่บ้าน

คุณป้าตลิบ : อยู่ที่บ้านจ้ะ

หลวงพ่อ : หมออะไร

คุณป้าตลิบ : ชื่อหมอต๊ะ เป็นผู้หญิง เขามาเป็นอนามัยอยู่หน้าบ้าน

หลวงพ่อ : อ้อ

คุณป้าตลิบ : นกเอี้ยงที่ฉันเลี้ยงไว้

หลวงพ่อ : มันไปยังไง มายังไง

บ้านคุณป้าตลิบที่บางปะอิน

คุณป้าตลิบ : มันอยู่ข้างบนต้นกระทุ่มจ้ะ ฝนตกลงมากิ่งไม่ฟาดนกเอี้ยงพลัดตกลงมา ๑ ตัว จะเป็นตัวผู้หรือตัวเมียก็ไม่รู้ละ ลูกเขยฉันไปเห็นเข้าเขาก็เลยจับเอามา มันสั่นงกๆ จะตาย มาถึงก็เอาผ้าห่อไว้ เช้าขึ้นมาก็เอาข้าวป้อนทีละเม็ดสองเม็ดไปอย่างนั้น ปากข้าง ๆ ขาวยังเล็กมาก ขนขึ้นบ้างไม่ขึ้นบ้าง เลี้ยงมาจนโต มาปีนี้เขาบอกกับฉันว่า “แม่แก่ขอข้าวกินหน่อย” ฉันก็บอกว่า

“เอี้ยงเอ๊ยแม่แก่ไปไม่ไหว” บอกให้ฉันกินข้าว

“กินซิ กินเสียซิ” พอไปกิน ก็กินไม่ได้ เขาบอกกับฉันว่า “ไปวัดทิพวันซิแม่แก่ จังหวัดสาดน่ะ”

ฉันก็มาเล่าให้ลูกสาวฟัง ลูกเขาก็บอกว่า

“จะไปเชื่อถืออะไรแม่เอ๊ย นกนี่วันเดือนปีก็ไม่เคยออกจากกรง มันจะเอาเรื่องมาจากไหน พูดเรื่อยเปื่อยไป”

ฉันยังฟังหูไว้หู ฉันก็เฉย มาสักอาทิตย์กว่า ๆ นี่หลานสาวของฉันอยู่ รร.จอมสุรางค์อุปถัมภ์ที่อยุธยา ครูอาจารย์เขาพามาวัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี

หลานเล่าให้ฟังด้วย เขาเก็บมะขามไป หลวงพ่อบอกว่ามะขามต้นนั้น เป็นมะขามกายสิทธิ์ หลานฉันก็เก็บเอาไปและไปแกะดูข้างในมีหู ๒ หู เป็นศีรษะบ้าง เป็นนางกวักบ้าง ด้วยความเคารพนับถือหลวงพ่อ ฉันก็ติดต่อมานี่

คุณป้าตลิบกับคุณน้าทองโปรย

ฉันก็เลยไปชวนคนนี้ (คุณทองโปรย สุวรรณนุช เพื่อนบ้าน) เขามา บอกว่า “ไปด้วยกันเถอะ” เขาถามว่า “ป้าเคยไปไหม” ก็บอกว่า

“ไม่เคย นกเอี้ยงมันบอก ก็จะมาตามที่นกเอี้ยงพูด”

หลวงพ่อ : “นกเอี้ยงมันพูดได้”

คุณป้าตลิบ : “จ้ะ เลี้ยงมา ๓ ปีเข้านี่แล้ว”

หลวงพ่อ : “มันพูดอะไรได้บ้างละ”

คุณป้าตลิบ : “มันเรียก แม่แก่ ทับทิม ร้องเรียกได้ นาน ๆ ก็สายชลกินข้าว”

หลวงพ่อ : มันพูดได้นะ แต่ตอนบอกมาทิพวัน นะ แม่แก่ทำงานไม่ไหว เอาข้าวให้กินไม่ได้ นกเอี้ยงบอกให้มารึ”

คุณป้าตลิบ : “จ้ะ บอกให้มา ไปจังหวัดสาดนะแม่แก่ ฉันก็นึกว่าจังหวัดสาดน่ะ จะครั้งไหนก็ไม่รู้ เอี้ยงถึงพูดว่าจังหวัดสาด”

คุณน้าทองโปรย : “ฉันถามเขามาเรื่อยว่า ทิพวัน จังหวัดสาดอยู่ที่ไหน ก็ไม่มีใครรู้ เขาบอกว่ามีแต่วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี

หลวงพ่อ : “มีวัดอัมพวัน วัดเดียว นี่แหละ วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา”

คุณป้าตลิบ : “ฉันนึกไว้แล้วว่า ถ้าพบหลวงพ่อก็จะเล่าให้หลวงพ่อฟัง”

หลวงพ่อ : “นกเอี้ยงมันพูดบ่อยไหม หรือบอกตอนไม่สบาย”

คุณป้าตลิบ : “จ้ะ ฉันไม่สบาย ขอข้าวกิน ฉันก็พูดว่าไปไม่ไหว เขาก็บอกให้ฉันมาทิพวัน จังหวัดสาด ฉันก็นึกเอ! จังหวัดสาดที่ไหนก็ไม่รู้ ถามเขาก็ไม่มีใครรู้สักคน”
หลวงพ่อ : “นกมันก็รู้ดีเหมือนกันนะ”

คุณป้าตลิบ : “จ้ะ หลวงพ่อ ตั้งแต่เลี้ยงมา ก็ไม่เคยเปิดกรงออกเลย”

หลวงพ่อ : “มันคงเชื่องนะ”

คุณป้าตลิบ : “จ้ะ เชื่องแล้ว”

หลวงพ่อ : “โยมอยู่บ้านทำอะไร”

คุณป้าตลิบ : “ฉันไม่ได้ทำอะไรเลย น้ำเขาก็ไม่ให้ตัก ข้าวเขาก็ไม่ให้หุง อะไรก็ไม่มีทำ ของเก่า ๆ ที่เราเคยทำชักลืมบ้างแล้วหลวงพ่อ ทำไม่ไหวเข้า”

หลวงพ่อ : “อุตส่าห์แสวงหามา นกเอี้ยงมันบอก”

คุณป้าตลิบ : “จ้ะ ฉันมาตามปากนกเอี้ยงว่า ไปซิแม่แก่ ไปเถอะแม่แก่ ไปเถอะ ๆ นกเอี้ยงมันว่ายังงั้นจริง ๆ”

นกเอี้ยงแสนรู้ แนะทางสุข

หลวงพ่อ : กลับไปนี่โยม อาตมาจะบอกให้ เอาต้นตะไคร้มาสับเข้า ตากแดดให้แห้ง แล้วคั่วให้เหลือง รากกับใบไม่เอาใส่ถุงเก็บไว้ ชงน้ำร้อนดื่มตลอดไป ดื่มต่างน้ำเลย มันจะหายเหนื่อย แล้วก็หายปวดขาด้วย ต้นตะไคร้จำไว้นะ ต้นที่เขาเอามาแกงนี่แหละ ตามบ้านพอหาได้ไหมเล่า

คุณป้าตลิบ : เจ้าประคุณเอ๋ย ขอให้หายเสียทีเถิด ฉันก็พึ่งลูก ทำมาหากินกับเขาไม่ไหวหลวงพ่อ ต้องอาศัยลูก

หลวงพ่อ : ทำนาเยอะไหม

คุณป้าตลิบ : นาไม่มีจ้ะ เดิมมีอยู่ ๒๕ ไร่ แบ่งให้ลูกชาย ๑๑ ไร่ ลูกสาว ๑๔ ไร่ ฉันก็หมดตัวเลย ให้ลูกไว้ เผื่อฉันตายไปลูกจะได้ไม่รบกัน ขออาศัยเท่านั้นแหละ ลูกชายเขาอยู่กรุงเทพฯ เขาส่งเงินมาให้ทีละร้อยสองร้อย แต่เขามีครอบครัวแล้วก็เกรงใจเขา ที่อยู่นี่อยู่กับลูกสาว

หลวงพ่อ : อย่าลืม เอาตะไคร้หั่นตากแดดให้แห้ง คั่วให้เหลือง ๆ ชงต่างน้ำชา ดื่มตลอดไปเลย หิวน้ำก็ดื่มน้ำตะไคร้นี่แหละ

คุณป้าตลิบ : หลวงพ่อ ฉันเคยไปวัดที่จังหวัดอยุธยา ไปนั่งกองทานกับเขา ชีคนนั้นเขาบอกกับฉัน บอกว่า

“ยาย เมื่อก่อนนี้ลูกของยาย คนที่ยังไม่ได้แต่งงาน ยายมีสมบัติอะไรก็ให้ลูกไว้ เขาก็เอาฝังไว้ ตายไปของก็ยังถูกฝังอยู่ ให้ยายปลูกศาลเสีย เขาจะเอาเงินมาคืนให้ จะจริงไหมหลวงพ่อ

หลวงพ่อ : ไม่จริงหรอก เชื่ออะไรไม่เข้าเรื่อง อย่าไปเชื่องมงาย ปลูกศาลที่ไหนอีกเล่า เขาให้ปลูกศาลที่ไหน เราเป็นชาวพุทธ ต้องนับถือพระ สวดมนต์ไหว้พระถึงจะถูก ปลูกศาลทำไม ปลูกให้ใครอยู่ล่ะ ไม่ได้เรื่อง เดี๋ยวนี้หากินหลอกลวงกันเหลือเกิน ไม่ได้เรื่องได้ราว

คุณป้าตลิบ : ไม่จริงเหรอหลวงพ่อ
หลวงพ่อ : เดี๋ยวจะให้ยาผงไป ๒ ห่อ ทำเอาไว้ใช้ เป็นยาระบายเลือดระบายลมที่ไม่ดี ละลายน้ำผึ้ง ปั้นลูกกลอน ทานก่อนนอน อีกห่อหนึ่งสีเหลือง ๆ ทานตอนเช้า ละลายน้ำผึ้งเหมือนกัน

คุณป้าตลิบ : เขาว่าหลวงพ่อมีน้ำมันด้วย

หลวงพ่อ : มี น้ำมันที่กรอกใส่ขวดแล้วมีหรือเปล่าก็ไม่รู้ เดี๋ยวตอนเช้ามาขอเขา ใช้น้ำมันทาแขน ทาขาแก้ปวดแก้เมื่อย ทีนี้ถ้าดื่มน้ำตะไคร้ชง ก็ไม่ปวดไม่เมื่อยหรอก คุณน้าทองโปรย พวกบ้านเขาเป็นเหน็บชา

หลวงพ่อ : เป็นเหน็บชากินตะไคร้เข้าไป ตะไคร้ชงนี่แหละกินต่างน้ำเลยนะ ถ้าเชื่ออย่างนี้หาย ไม่เป็นไร และเหนื่อยก็จะหายไป หลอดคอมันตีบ หายใจไม่สะดวกมันก็หอบ ได้กลิ่น ได้ละอองก็หอบ

คุณป้าตลิบ : แหม! แทบขาดใจตายเชียวหลวงพ่อ

หลวงพ่อ : หอบคล้าย ๆ หืดนี่แหละ แต่ดื่มน้ำตะไคร้เรื่อยไปเถอะ ลมจะไม่เป็นด้วย จำไว้นะ ไม่เป็นไรหรอก
คุณป้าตลิบ : ฉันว่ามานี่จะมาเล่าให้หลวงพ่อฟัง ว่ามาตามที่นกเอี้ยงบอก

หลวงพ่อ : นกเอี้ยงมันบอกให้มา ก็ดีแล้ว คงจะเป็นบุญของโยม จะหายโรคหายภัย พรุ่งนี้มาเอาน้ำมันไปขวดหนึ่ง ให้เจ้าโน้นอีกขวดหนึ่ง ทาแขนทาขาแก้เมื่อยแก้ปวด อย่าลืม น้ำตะไคร้น่ะ ปวดขาหาย ไม่เป็นลม ไม่เป็นโรคมะเร็ง ไม่เป็นโรคลำไส้ ตะไคร้ชงดื่มต่างน้ำเลย อย่าไปกินอย่างอื่น น้ำมันทาแก้ปวดแก้ชา ยาถือไปอย่าลืม เช้าเอาน้ำมันไปทานะ

คุณป้าตลิบ : จ้ะ

บันทึก เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๓๒ คณะลูกศิษย์หลวงพ่อได้เดินทางไปเยี่ยมคุณป้าตลิบตามที่อยู่ที่บอกไว้ ได้พบคุณป้า ลูกสาว หลาน ๆ และเพื่อนบ้าน ถ่ายรูปนกเอี้ยงและคุณป้าไว้ด้วย พวกเราเข้าไปคุยกับเอี้ยง

เอี้ยง พวกเรามาจากวัดอัมพวันนะ จะขอถ่ายรูปเอี้ยงแต่งตัวให้สวย ๆ นะ”

นกเอี้ยงเอียงคอมองแล้วไซร์ปีก พร้อมทั้งโก่งคอจนหงอนที่หัวตั้งชั้น ดูสวยงามมาก แล้วพูดว่า

“กินซะ กินซะ” คุณป้าเล่าว่า พอกลับมาถึงบ้านก็ซื้อกล้วยให้เอี้ยง เขากินเสียตั้งหลายวัน และได้ต่อว่าเอี้ยงว่า

“เอี้ยงเอ๊ย ไหนบอกว่า วัดทิพวัน ไม่ใช่สักหน่อยเป็นวัดอัมพวัน ต่างหาก”

นกเอี้ยงเอียงคอมองแล้วพูดว่า

“เอาหูวางกับดินเสียบ้างซิ ไม่ใช่วัดกระเดี๋ยวกระด๋าว วัดเก่าวัดแก่” คุณป้าเล่าว่าหลังจากนั้นเอี้ยงก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้อีกเลยจากที่สังเกตขณะสนทนา คุณป้ามีอาการกระปรี้กระเปร่า และเดินได้คล่องแคล่ว อาการเหนื่อยไม่ปรากฏให้เห็นเลย

เมื่อกลับถึงวัด ได้ถวายรายงานหลวงพ่อ ท่านบอกว่า นกเอี้ยงพูดเป็นปริศนา สอนคุณป้าให้มีใจหนักแน่น