ผลกรรมรังแกผึ้ง
โดย หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม
วันนี้จะเล่ากฎแห่งกรรมถวายพระภิกษุนวกะ กฎแปลว่าดัน กรรมแปลว่าแต่ง หรือการกระทำให้เป็นไปตามนั้น ถ้ากรรมดีมีปัญญา มันจะดันไปหาความดีให้มีจิตใจสูง มีสติปัญญาด้วย เรียกว่ากฎแห่งกรรม อันนี้มีศีล ๕ เป็นข้อพิสูจน์ด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
กิรดังที่ได้ยินมา เมื่อผมเป็นเด็กได้ประสบการณ์มาด้วยตนเอง ที่บ้านบางปะทุน หรือเรียกว่า บ้านเกาะ ที่ตรงนั้นเป็นหัวเกาะ ที่ปากน้ำบางพุทราเข้ามา เรียกว่า บ้านเกาะ ต่อมาก็เรียกว่าบ้านบางปะทุน เนื่องจากที่บางนั้นเหมือนปะทุนเรือ ผมเคยถามโยมคนแก่คนเฒ่าว่า ทำไมเรียกบางปะทุน ได้รับคำตอบว่า หลานเอ๋ย บางนี่มันกลม มันไม่ลึก ไม่ตื้น มันกลมเหมือนปะทุนเรือข้าว มีป่าต้นมะขามเทศ ยอดมันอ่อนช้อยเข้ามาหากัน เหมือนปะทุนเรือ เขาเลยเรียก บางปะทุน
บัดนี้ถมเต็มหมดแล้ว หาบางปะทุนไม่มีแล้ว ที่นี่เป็นบ้านของผมเอง คนรุ่นเก่าเรียกว่าบ้านเกาะ คนรุ่นกลางเรียกบางปะทุน คนรุ่นหลังเรียกตำบลบางม่วงหมู่ เมื่อก่อนนี้ขึ้นกับตำบลต้นโพธิ์มาตอนหลังแยกออกไป เป็นตำบลบางม่วงหมู่
เมื่อวานซืนนี้ โยมบ้านแพรก สำมะเนียง อยุธยา มาพูดเรื่องความกลุ้มใจในเรื่องครอบครัว ลูกหลานไม่สามัคคีกัน และเล่าเรื่องเหตุการณ์ให้ฟัง ผมเลยนึกได้เหตุการณ์ย้อนหลังของผมเอง
เมื่อผมเป็นเด็ก อายุประมาณ ๑๒ ขวบ เข้าโรงเรียนแล้ว รุ่นผมเข้าโรงเรียนอายุ ๙ ขวบ ไม่เหมือนพวกท่านเข้าโรงเรียนกัน ๔ ขวบ ชั้นอนุบาล ชั้นประถม ผมเข้า ๙ ขวบชั้นเตรียม ๑ แล้วขึ้นชั้น ป.๑ ไปออกชั้น ป.๔ เดี๋ยวนี้เพิ่มเป็นประถม ๕ ประถม ๖
ข้างบ้านผมเองนะครับ มีลุงเป็นลูกพี่ลูกน้องกับโยมผู้หญิง เรียกว่า ลุงโปร่ง เรียกป้าสะใภ้ว่า ป้าเขียว มีพี่สาวของผมคนหนึ่งเป็นลูกสาวของลุงโปร่งนี้ ชื่อ พี่สมบุญ สามีเขาเป็นคนอีสานชื่อ นายพรหม เป็นสามีคนที่สอง สามีคนแรกชื่อนายเกลี้ยง
แหม! ผมนึกได้เลย มันลืมไปแล้ว ปู่ย่าตายาย พี่ป้าน้าอาของผม ตั้งแต่เป็นเด็กอายุ ๑๑ – ๑๒ ขวบ และผมก็จากบ้านไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ไปอยู่บ้านคุณลุงศร ศิลปบรรเลง บ้านหลวงประดิษฐ์ไพเราะ หลวงธารา รินน้ำร้อนถวาย รัชกาลที่ ๖ เล่นโขน ตีระนาดด้วย ผมไปอยู่บางแวกมาเป็นเวลา ๒ ปีนะครับ
พอดีกับโยมไท้บ้วนกับโยมละมาย มะกล่ำทอง บ้านอยู่อำเภอบ้านแพรก ท่านพระครูสังฆรักษ์ท่านบอกว่า ชื่อบ้านสำมะเนียง ที่มีวัดหลวงพ่อเขียว เคยไปกับท่าน ไปฉันบ้านงานเขาทำบุญ บ้านนี้ใจบุญ ร่ำรวยพอสมควร ลูกดีทุกคน สร้างความดีมาทุกคน คุณพ่อคุณแม่ก็สร้างความดีกับลูก ทำถูกไว้กับหลาน ลูกบ้านนี้ทำมาหากินจากยากจนมาร่ำรวย มีกิจการค้าที่ตลาดบ้านแพรก
ต่อมาเกิดวุ่นวาย ลูกชุดหนึ่งไปหาเจ้าเข้าทรงว่า ถูกทำ คนเอาของมาทำใต้บ้าน พี่น้องไม่สามัคคีกัน ทะเลาะกันไม่พัก ไม่มีความสุขเลย มีคนหนึ่งเป็นโรคประสาท ไม่ทราบเป็นไปได้อย่างไร เลยก็เชื่อเจ้าเข้าทรง อีกชุดหนึ่งไม่เชื่อ เชื่อพระเลยก็วุ่นวายมากมาย คนโน้นเป็นอย่างนี้ คนนี้เป็นอย่างนั้น พิจารณากฎแห่งกรรมปัจจุบันไม่มี ยังรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะเหตุใดหรือ มันต้องมีเหตุผล
โยมละมายเล่าต่อไปว่า “หลวงพ่อ จะเป็นอย่างนี้หรือเปล่าก็ไม่ทราบ ตอนก่อสร้างตึก สร้างบ้าน ยังไม่เสร็จ ผึ้งมาเกาะอาศัยอยู่ รังใหญ่มาก ผึ้งมาเกาะที่บ้าน” โยมละมายเกรงว่ามันจะไปต่อยพวกช่างก่อสร้าง เดี๋ยวจะไปกวนต่อยคนโน้นคนนี้ คิดว่าไล่ไปคงไม่บาปหรอก กำลังก่อสร้าง ทำเสร็จแล้วค่อยมาอยู่เถอะ ให้ลูกเอายามาฉีด ให้กลิ่นเหม็นๆ ผึ้งจะได้ไป ลูกคงจะฉีดเข้าไปมาก ผึ้งก็ตายหมด หล่นเละ ที่ไม่ตายก็หนีไปเลย
จากนั้นเหตุการณ์ก็ผันผวน ทำให้บ้านไม่มีความสุขเลย ทะเลาะกันไม่พัก คนนั้นป่วย คนนี้ป่วย คนนี้หาย คนโน้นเป็นตลอดรายการ หาความสุขไม่ได้ ลูกไปหาหมอดูเจ้าเข้าทรง ว่าถูกกระทำ คนเอาของมาไว้ใต้บ้าน อาตมาบอก ไม่ใช่หรอกโยม เป็นเพราะผึ้ง ท่านทั้งหลายอย่าทำนะ
ผมก็นึกมาถึงตัวผมเอง เมื่อครั้งอายุ ๑๑ – ๑๒ ขวบ ที่บ้านลุงโปร่ง ป้าเขียว พี่สาวของผมลูกลุงชื่อพี่สม-บุญ ยังไม่มีครอบครัว พอมีครอบครัว ผมก็โตเข้าโรงเรียนชั้นเตรียม ก็จำได้บ้างไม่ได้บ้าง พอมาทราบข่าวเรื่องนี้จากโยมละมายก็นึกได้ ว่าเป็นความจริงอีกเช่นเดียวกัน
มีผึ้งมาเกาะรังใหญ่ที่บ้านลุงผม อยู่บ้านติดกัน วันนั้นเขาออกไปนอกบ้านเกือบหมด ลุงผมไปเลี้ยงควาย ป้าเขียวหาบของไปขายที่ตลาดบางขาม พี่สมบุญกำลังตั้งครรภ์ คนที่สองก็ไปขายด้วย เหลือแต่พี่เขยอยู่บ้าน ก็ชวนผมเอาไฟเผาผึ้ง เขาเป็นคนใช้เรา แต่เราก็เป็นเด็ก ไม่รู้ว่าเป็นบาปแต่ประการใด
ลุงกลับมาด่าแหลกเลย ลุงเป็นนักอุโบสถ ถือศีลกินบวช ด่า ๓ วัน ๓ คืน แต่ไม่ได้ด่าผมหรอก ด่าลูกเขยเขา ด่าไปด่ามา คว้าดาบตีกันเข้าแล้ว ฟันกันหัวร้างข้างแตก ตีกัน ๓ วัน ๓ คืน แล้วด่ากันแหลกไปอีก เพราะเหตุกฎแห่งกรรมนะครับ
ในที่สุดพี่สมบุญกับพี่เกลี้ยง เขาไม่ทะเลาะกันเลยนะ เขาไม่มีเรื่องอะไรเลยนะครับ แต่จำเป็นต้องออกจากบ้านไป เพราะพ่อตาคือลุงผมคว้าดาบฟันลูกเขย ลูกเขยก็กลุ้มใจ จะศอกกลับไปบ้างก็โดนพ่อตา ถ้าไปทำ คนไม่มีธรรมะก็จะตีหัวพ่อตา เพราะไปฟันลูกเขย ผมอยู่ที่นั่นเลย นี่เพิ่งจะระลึกได้ ที่โยมบ้านแพรกเล่าเหตุการณ์ตรงกัน กฎแห่งกรรมแน่ ไม่มีความสุขนะครับ คนดีทะเลาะกันได้ แยกแตกกันได้
พี่เขยผมเลยบอกผมว่า น้องเอ๊ย! พี่อยู่ไม่ได้แล้วนะ ขอลา เป็นเพราะผึ้งนี่เอง ลุงด่า ๓ วัน ๓ คืน ด่าพักจนลูกเขยอดกลั้นไม่ได้ ก็เถียงเข้าไปบ้าง ก็คว้าดาบฟันลูกเขย ผมอยู่ที่นั่นเห็นชัด
ฝ่ายพี่สาวเขาก็บอกพ่อ ไปโทษพวกบ้านฉันทำไมเล่า พี่สาวเลยซัดทอดผมเข้าไปอีก บอกผมเป็นคนจุด สามีเขาไม่ได้จุด เลยไม่รู้จะโทษใครถูก เป็นกฎแห่งกรรมด้วยกันทั้งคู่
พี่เกลี้ยงก็เตรียมกระเป๋ากลับบ้าน บ้านอยู่ใต้วัดไชโยไป ๕ -๖ ท่า ผมเคยไป เขาก็เลยไปได้ครอบครัวใหม่ ทั้งๆที่เมียเก่าไม่เคยทะเลาะกันเลย ต้องแยกกันไปเพราะกฎแห่งกรรม แต่ก็ไปมาหาสู่กัน ลูกออกมาชื่อนายสอน ตอนนี้ตายไปแล้ว ลุงผมเห็นหน้านายสอน นึกถึงลูกเขยก็ด่าหลานแทน ในไม่ช้าลุงผมก็ตาย ตายอย่างน่าอเนจอนาถ นี่เป็นกฎแห่งกรรมชัด
ผมเองโตขึ้นอยู่ชั้น ป.๔ ยังไม่ได้โกนเปีย มันเป็นกฎแห่งกรรมที่ผมไปเผาผึ้ง ไปวัดไหนไปงานที่ไหน โดนต่อยทุกงาน เคยถามเขาว่า “ลื้อมาต่อยอั๊วทำไม” เขาบอกว่า “กูคลื่นไส้มึง” ไปวัดตึก เด็กวัดรุ่นเดียวกันขับต่อย มาวัดศรัทธาภิรมย์ขับต่อยอีก ผมก็ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด มานึกได้ตอนบวช อ๋อ! เป็นกฎแห่งกรรมของเราเอง ที่เราไปเผาผึ้ง ผึ้งต่อยก็เอาเท้าขยี้ ยังเป็นเด็กก็ไม่ทราบ ไปไหนเลยถูกต่อยเรื่อยเลย
นี่เป็นกฎแห่งกรรมนะครับ ขอถวายในวันนี้ ต้องซัดเซพเนจร พี่น้องต้องแตกระหองระแหงกัน หาความสุขไม่ได้เลย จึงขอเรียนถวาย โปรดกรุณาอย่าไปทำผึ้งเลย ผึ้งมาอาศัย เขาจึงได้เอาขี้ผึ้งมาควั่นเทียน นอกจากใช้ประกอบพิธีกรรมแล้ว ยังแฝงข้อคิดสอนธรรมะแก่เราว่า
เราไปไหนต้องหาที่พึ่ง จุดเข้าแล้วในร้อน น้ำตาไหลเลย
ร้อนคือราคะ ร้อนคือโทสะ ร้อนคือโมหะ มันมีน้ำตาไหลเห็นไหม ผึ้งคือเทียน ถ้ามันไม่ร้อน น้ำตามันจะไหลได้อย่างไรเล่า ไส้เทียนหมด ขี้ผึ้งหมด เราก็หาที่พึ่งกันไม่ได้
เพราะฉะนั้น ผึ้งเป็นสัญลักษณ์ทำให้พึ่งพาอาศัย ไปไหนหาที่พึ่งไว้เถอะขอรับ หาที่อยู่ที่พึ่งอาศัยเป็นปัจจัย ๔ เราจะได้อยู่ดีกินดีมั่งมีศรีสุข
ถ้าหากว่าไปอยู่บ้านเรือนใคร ถ้าเป็นอย่างนี้อย่าให้เขาทำ ห้ามไว้เถอะครับ เป็นบาปเห็นทันตา ลองดูได้ ถ้ามีผึ้งเกาะที่บ้านท่าน หากเอาไฟจุด ไม่ช้าหรอก ไม่เกิน ๗ วัน ๑๕ วัน จะเกิดมีเรื่องร้อนใจแย่เลยนะครับ
ขอความสุขสวัสดีจงมีแก่ภิกษุเถระ พระคณะครูอาจารย์และพระภิกษุนวกะ จงงอกงามไพบูลย์ในบวรพุทธศาสนา ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และจงเจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ จะนึกคิดสิ่งหนึ่งประการใดจงสมความมุ่งมาดปรารถนาด้วยกันทุกรูปทุกนามเทอญ