พรหมนคร เมืองแห่งความหลัง
โดย หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม
๒๗ มี.ค. ๓๔
จะขอเล่าประวัติเมืองพรหมนครว่ามีประวัติมาอย่างไร ต่อเนื่องกับเมืองพรหมนคร คือเรื่องแม่ครัวหัวป่า ทีเรียกแขก ๒๕ แม่ครัว๓๐ แม่ครัวหัวป่าอยู่ตรงไหนกัน ได้รับพรจากพระพุทธเจ้าหลวงทำขนมอร่อยหมด และจะเล่าถึงอาตมาได้ผงจากพระเครื่องของสมเด็จพระนเรศวรประการใด เรื่องนี้ยังไม่เคยเปิดเผยให้ใครฟัง
เมืองพรหมนครเป็นเมืองมาแต่สมัยโบราณ พระเจ้าพรหมมหาราช พระราชบิดาพระเจ้าไกรสรราช ผู้ทรงสร้างเมืองสิงห์บุรี เป็นผู้สร้าง เพราะชื่อเมืองตรงกับพระนามของพระองค์พระเจ้าพรหมมหาราช ทรงสร้างเมืองพรหมบุรีแล้ว ต่อมาพระเจ้าไกรสรราช พระราชโอรสทรงสร้างเมืองสิงห์บุรีขึ้น พระราชทานนามเมืองให้สอดคล้องกับพระนามว่า “สิงห์บุรี”
เมืองสิงห์ไม่ใช่อยู่ตรงปัจจุบันนี้ เป็นเมืองสิงห์อยู่ที่แม่น้ำน้อยโน้น ที่เรียกว่า เมืองสิงห์ เมืองสรรค์ เมืองสุพรรณบุรี บ้านช้าง บ้านตาล บ้านพรานแสวงหา บ้านกุ่ม บางบาล อำเภอวิเศษไชยชาญ หัวตะพาน กบเจา อยู่แม่น้ำสายโน้น
เมืองพรหมบุรีนี้ปรากฏพงศาวดารว่า เป็นเมืองที่มีมาตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ผู้ทรงสร้างกรุงศรีอยุธยา เรียกว่า “เมืองพรหมนคร” และในกฎมนเฑียรบาลก็เรียกว่า เป็นเมืองสำหรับหลานหลวงปกครอง
มาในสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดให้ยุบลงเป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดสิงห์บุรีที่ตั้งเมืองพรหมนครเก่านั้น อาตมาได้สอบประวัติได้ถูกต้องหมดแล้ว เมืองพรหมนคร ตั้งอยู่ใต้วัดอัมพวัน เหนือวัดประสาท (เจดีย์หัก) ตำบลพรหมบุรี ปัจจุบันคือบ้าน นางเฮี๊ยะ พรหมายน อาศัยอยู่ขณะนี้ นางเฮี๊ยะ นั้นเป็นแม่ยาย ช่างปุ่น เชยโฉม มัคทายกวัดนี้ และเป็นผู้สืบเชื้อสายเจ้าเมืองพรหมนคร
ตัวเมืองเก่ามีกำแพงเมืองถึงเหนือวัดอัมพวัน ที่เรียกว่าวัดกำแพงเมือง ยังมีซากอยู่ขณะนี้ เหนือขึ้นไปเรียกว่าวัดพระแก้ว มีเนื้อที่มากบริเวณเมืองด้านตะวันออกยังมีวัดสมิด วัดช่างเหล็ก วัดช่างทอง ขณะนี้ไม่มีซากเหลืออยู่ เพราะถูกขุดถูกทำลายไปหมด
สมัยนั้นเจ้าคณะเมืองฝ่ายสงฆ์คือ พระครูญาณสังวร วัดอัมพวัน ต่อมาสมัยหลังคือ พระครูพรหมนครบวรราชมุนี วัดอัมพวัน เป็นเจ้าคณะเมือง
ต่อมาสมัยหลังอีก เจ้าคณะเมืองย้ายไปอยู่วัดคงคาเดือด ซึ่งตรงกับวัดอัมพวัน ปัจจุบันเรียกว่าวัดป่าหวาย สมัยต่อมาเมืองพรหมบุรีย้ายที่ตั้งทำการใหม่ ไปตั้งที่ปากบางหมื่นหาญ ต.บางหมื่นหาญ ปัจจุบันคือร้านดาวทอง ตลาดปากบาง และย้ายไปตั้งที่ ทำการจวนหัวป่า เหนือวัดพรหมเทพาวาส แล้วย้ายข้ามไปฝั่งตะวันออกที่ ร.ร. พรหมวิทยาคาร สมัยต่อมา นายอนันต์ โพธิ์พันธ์ นายอำเภอพรหมบุรีได้ย้ายที่ว่าการอำเภอ
ล่องไปตั้งอยู่ที่เหนือวัดกุฎีทองในปัจจุบันนี้
ประวัติพระเครื่องเมืองพรหมบุรี วัดประสาท เดิมเป็นวัดโบราณใหญ่โตมาก มีเนื้อที่ถึง ๑๘๐ ไร่ เจริญมาก่อนที่พม่าจะได้สร้างค่ายคูแห่งนี้ขึ้น
ในสมัยก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่า เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ได้ขนย้ายทรัพย์สินสิ่งของมีค่ามาเก็บไว้ในวัดนี้มากมาย ภายหลังชำรุดทรุดโทรมลงมากมายจนกลายเป็นวัดร้างไป เหนือวัดอัมพวันที่เรียกว่าบ้านเตาอิฐนั้น เป็นหมู่บ้านมอญ ได้ทำอิฐสร้างเจดีย์องค์ใหญ่ของวัดประสาทสมัยนั้น อาตมาได้ทราบจากศิลาจารึก ถึงการสร้างพระเครื่องนั้น สร้างบรรจุสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ประกาศอิสรภาพและออกสงคราม จนได้ปลงพระชนม์พระมหาอุปราชา ณ สถานดอนเจดีย์ เสร็จสงครามแล้ว ได้จัดสร้างพระเครื่องขุนแผนเนื้อแบบกระเบื้องดินเมืองจีน บรรจุไว้ ณ วัดป่าแก้ว (วัดใหญ่ชัยมงคล) อยุธยา พระเครื่องประกอบด้วย แร่มะขาม เป็นพระขุนแผนเสมาชัย ขุนแผนเสมาขอ และทำการฉลองใหญ่ ฉลองการมีชัยชนะแก่พม่าในครั้งนั้น
เสร็จแล้วได้นำไปบรรจุตามวัดต่าง ๆ ในกรุงศรีอยุธยาและวัดประสาท เมืองพรหมนคร (พรหมบุรี) ในศิลาจารึกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าวัดชัยชนะสงคราม เจดีย์วัดประสาทก็ได้ชำรุดโดยภัยธรรมชาติ จากแรงน้ำพุ่งจากวัดคงคาเดือด (ป่าหวาย) เจดีย์ก็หักลงแม่น้ำเจ้าพระยา เหลือแต่ฐานแล้วหักลงน้ำมาได้ ๔๐ กว่าปีแล้ว พระเครื่องจากเจดีย์นั้นมากมาย เรียกว่าเสมาชัยเสมาขอมีความศักดิ์สิทธิ์มาก
ใน พ.ศ. ๒๕๐๐ อาตมาได้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน ปีนั้นก็มีอุบาสกคนหนึ่งชื่อ ก๋งเหล็ง ช่างปราณีต บ้านใต้วัดอัมพวัน ได้นำ พระเสมาชัย เสมาขอ ที่ชำรุดไปถวาย ได้จากเจดีย์วัดอัมพวันบ้าง และได้แร่มะขามจากเจดีย์หักบ้าง อาตมาคิดว่าพระเครื่องประวัติศาสตร์ อำเภอพรหมบุรีของเราจะสูญไปโดยคนรุ่นใหม่จะไม่ทราบประวัติ จึงได้นำเอาแร่มะขามและพระที่ชำรุดนั้น มาประกอบเป็นองค์ขึ้นใหม่ เป็นการจำลองพระขุนแผนเสมาชัย และขุนแผนเสมาขอ เมื่อประกอบพิธีมหาพุทธาภิเษกแล้ว ก็ได้แจกแก่ท่านทั้งหลายเพื่อเป็นสิริมงคลต่อไป นับว่าเป็นพระมิ่งขวัญประวัติศาสตร์ของเมืองพรหมนคร จังหวัดสิงห์บุรี
อาตมาบรรจุไว้ในโบสถ์ และทรัพย์สมบัติจากพระนครศรีอยุธยาก็เคลื่อนที่อยู่ในป่าของบริเวณกรรมฐานนี้มากมาย มีทั้งทอง เพชรนิลจินดา แต่เราเอาไม่ได้ ไม่ใช่ของเรา ขอฝากไว้ นี่เมืองพรหมนคร ไม่มีใครรู้ประวัติ และพอดีอาตมาได้ประวัติมา และยังมีอีกมากมายหลายประการ ก็ได้ไว้เป็นของเก่าแก่ของดีมีปัญญาเก็บไว้เป็นหลักฐาน และได้มากกว่านี้ สมัยก่อนก็มีประวัติมากกว่านี้ด้วย อาตมารวบลัดตัดความให้ท่านฟังสั้น ๆ เพราะเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้โดยไม่ยากนัก ได้จากสมุดหมายเหตุของชาติด้วย ในประวัติศาสตร์ของชาติไทย และได้จากศิลาจารึกมาปะติดปะต่อ
พระเสมาชัย เสมาขอยังอยู่ อาตมาก็จัดพิธีมหาพุทธาภิเษกที่ดอนเจดีย์ เพราะได้แร่มะขามผุดขึ้นมาจากวัดชนะสงคราม และนำมาผสมไม่มีใครรู้ต้องการให้เด็กรุ่นใหม่ได้ทราบว่าพระประวัติศาสตร์ของเมืองพรหมนคร สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระเสมาชัย เสมาขอก็
เอาบรรจุไว้ บางคนเห็นพระใหม่ไม่อยากได้ นี่แหละเราก็ไม่เคยไปแจกจ่ายให้ใคร ก็เล่าสู่กันฟังพระพุทธเจ้าหลวงเคยเสด็จมาที่วัดนี้ ตอนนั้นเสด็จแปรพระราชฐานมาอยู่ที่พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เสด็จวัดพระนอนจักรสีห์ทางชลมารคถึง ๒ ครั้งในด้านพุทธจักรคณะสงฆ์ก็สั่งจากมณฑลอยุธยาลงมา ให้วัดอารามต่าง ๆ ประดับธงทิว และปลูกพลับพลาหน้าวัดถวายพระพรชัยมงคล ตอนที่พระองค์เสด็จชลมารคมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา มีเรือขาว มีเรือนำมากมาย แห่โหมยมนาเสด็จไปตามชลธาร
ตอนนั้นจังหวัดสิงห์บุรียังไม่มี จังหวัดสิงห์อยู่ที่แม่น้ำน้อย เรียกเมืองสิงห์ เมืองพรหมนครมีอาณาเขตถึงบ้านบางเบิก เลยตัวจังหวัดไปติดต่ออำเภออินทร์บุรีนั้น วัดพรหมสาครบ้านบางพุทรานั่นแหละ เป็นสถานที่ของเมืองพรหมนคร และตัวจังหวัดสิงห์บุรีปัจจุบันก็คือ เขาเมืองพรหมนคร พระพุทธเจ้าหลวง ท่านเสด็จมาวัดนี้ ปัจจุบันตอนนั้น ร.ศ. ๑๒๕ มีเจ้าอาวาสชื่อ พระครูพรหมนครบวรราชมุนี ชินสีห์ภานุวัตรสังฆปาโมกข์ เป็นเจ้าคณะเมืองพรหมนคร ขณะนั้นเมืองยังอยู่ใต้วัดนี้ ยังไม่ได้ล้มเมืองพระครูพรหมนครก็สั่งลูกวัดในเขตของท่าน ได้ปลูกพลับพลาหน้าวัด เพราะน้ำเจ้าพระยาเพียบเต็มฝั่ง เมื่อพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จ ตามวัดก็ถวายพระพรชัยมงคล สวดชยันโต
พระพุทธเจ้าหลวงพอพระทัย จึงได้จอดเรือประเทียบเข้ามาเทียบท่า และ ได้ถวายพระบรมฉายาลักษณ์ให้แก่วัดนี้ โดยมีลายพระหัตถ์ใจความว่า “ถวายวัดอัมพวัน ร.ศ. ๑๒๕” ลงพระปรมาภิไธยว่า “จุฬาลงกรณ์” ยังอยู่ทุกวันนี้ ชาวบ้านเมืองนี้ไม่มีบุญ ไม่รู้จักคุณค่าประโยชน์ของสำคัญในวัด จึงได้นำพระบรมฉายาลักษณ์พระพุทธเจ้าหลวงไปประดับไว้ที่ศาลาการเปรียญ พร้อมด้วยรัชกาลที่ ๖ เอาแขวนไว้ธรรมดา เพราะไม่มีใครดูว่าเป็นข้อสำคัญ
ในเวลากาลต่อมา อาตมาก็มาที่นี่เป็นเจ้าอาวาส พ.ศ. ๒๔๙๙ รักษาการ ๑ ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส พอถึง พ.ศ. ๒๕๐๐ เกิดลมเกย์พัดเอาศาลาพัง พัดกระเบื้องลงน้ำไป ตอนนั้นน้ำเต็มฝั่งเจ้าพระยา พระบรมฉายาลักษณ์ก็ปลิวลงน้ำทั้งรูป กระจกแตกหมด รูปนั้นก็ม้วนห่อลอยไปตามกระแสน้ำและลอยขึ้นมา อาตมาไปสรงน้ำที่แพท่าที่วัดนี้ก็ไปหยิบดู อ้าว! นี่พระบรมฉายาลักษณ์ ตัวหนังสือขาดรุ่งริ่ง การเสด็จครั้งนี้ เสด็จวัดพระนอนจักรสีห์ แต่ท่านไม่ได้ลงวันที่ไว้ว่าเดือนอะไร เพียงแต่ระบุ ร.ศ. ๑๒๕ เสด็จไปพักแรมวัดพรหมสาคร เจ้าเมืองตั้งพลับพลารับ ค้างแรมคืนที่พลับพลานั้น
ต้นกำเนิดคำว่า “แม่ครัวหัวป่า”
ในเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เจ้าเมืองก็เกณฑ์พวกคณะราชบริหารของเจ้าเมืองพรหมนคร บ้านนั้นเรียกว่า จวนหัวป่า ในสมัยพระพุทธเจ้าหลวงอยู่ตรงนี้เอง เรียกว่า ตำบลหัวป่า ที่เป็นหัวป่า เพราะที่โรงสีหน้าปากบางเป็นแหลมไปถึงวัดแจ้ง มันแหลมจึงเรียกว่าหัว แหลมชนไปที่ท้ายจักรสีห์เป็นป่าดงพงไพรมากมาย
บัดนี้น้ำแทงเอาหัวแหลมหายไป เลยหัวป่าก็เป็นมาอย่างนี้ และคนหัวป่าเมื่อครั้งก่อนมา ทำกับข้าวไม่อร่อย ก็ทำกับข้าวแบบธรรมดา แต่ไม่ทราบได้รับพรอันใด เจ้าเมืองก็ขอร้องช่วยเหลือกัน ทำกับข้าว แกงส้มแตงกวา น้ำพริกปลาร้า แกงคั่ว อะไรทุกอย่าง ถวายขนมคาวหวาน ลอดช่อง ข้าวหลามตัด ข้าวหลามบ้อง ข้าวหลามเผา ทำไปถวายหมด พระพุทธเจ้าหลวงทรงอยู่เสวยถึง ๒-๓ วัน เสวยแล้วก็พอพระทัยมาก ชื่นอก ชื่นใจ แกงส้มแตงกวา น้ำพริกปลาร้าที่โบราณท่านว่าไว้ “แม่ครัวหัวป่า แขก ๒๕ แม่ครัว ๓๐” ก็ตั้งใจจะไปทำเอาหน้าเอาตากันเสวยเสร็จแล้วทรงประสาทพร “นี่แน่ะ แม่ครัวหัวป่า แม่ครัวทั้งหลาย ขออนุโมทนา ข้าพเจ้าขอบใจที่ทำอาหารอร่อย อาหารดี โปรดรักษารสอาหารอย่างนี้ไว้ถึงลูกหลานนะ” พระองค์ทรงมีสุนทรวาจาพระราชทานพรและโอวาทต่อไป “จงรักษาความดีไว้ มีฝีมือมาก” นี่แม่ครัวหัวป่ามีฝีมือจริง ๆ พริกก็อร่อย น้ำปลาร้าก็อร่อย แกงส้มแตงกวาก็ อร่อย อร่อยไปหมด
แต่พระพุทธเจ้าหลวงประมุขของชาติไทย องค์พระปิยมหาราช ท่านมีบารมีสูง มีบุญญาธิการมาก เพียงแต่ประกาศสุนทรวาจาว่า“อาหารอร่อย ถูกปาก ถูกใจ ทำดี รักษารส รักษากลิ่น รักษารสชาติที่ตนทำด้วยฝีมือไว้ตลอดไปนะ” ตั้งแต่นั้นมาบ้านหัวป่าทำกับข้าวอร่อยหมดถึงลูกหลาน
อาตมาบวชใหม่ ๆ ก็ไปฉันตามบ้านหลายตำบล หลายวัด หลายแห่ง แต่ก็ติดใจรสอาหารหัวป่า เด็กเล็กเกิดมารุ่นใหม่ทำอาหารอร่อยหมด มันเป็นพรสวรรค์ อีกครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จวัดพระนอนจักรสีห์อีก ก็ได้มีรับสั่งว่า ให้เจ้าเมืองพรหมนครจัดอาหารเสวยโดยแม่ครัวหัวป่า ท่านเจ้าเมืองพรหมนครก็จัดอาหารถวาย พระองค์ท่านจึงพอพระทัย ตั้งแต่นั้นมา เท่าที่อาตมาสังเกต ตำบลหัวป่าได้รับพรพระพุทธเจ้าหลวง เด็กเล็ก ๆ หัดทำกับข้าวใหม่ ๆ ก็อร่อยหมด มีพรสวรรค์เจ็ดชั่วโคตร
ตำบลหัวป่าอยู่เหนือวัดชลอน อยู่ใต้ปากบางแต่อยู่คนละฟากแม่น้ำ วัดชลอน เมื่อก่อนนี้เรียก วัดพรหมเทพาวาส ท่านผู้ใหญ่เล่าว่าตรงนี้น้ำเชี่ยวมาก เรียกว่าวัดชลวน คนเก่าเขาตั้งให้ชาวเรือเมือง เหนือเมืองใต้มา แล้วเรือขึ้นมาถึงนี้จะชนกัน เพราะน้ำมันเชี่ยวมากและวนด้วยเรือต้องชนกัน เรียกชลวน อ่านไปอ่านมาเลยกลายเป็นวัดชลอนไป ชลอน (อ่านว่า ชะลอน) กับชลวน (อ่านว่า ชล-วน) ใกล้เคียงมาก
นี่แหละบ้านหัวป่าทำกับข้าวอร่อยจริง ๆ ทำขนมนมเนยอร่อยมาก แล้วก็มีอาชีพทำขนมขาย ขนมตะโก้ ขนมเปียกปูน ขนมตัด
ข้าวหลามตัด ข้าวหลามเผา ข้าวหลามบ้องอร่อยหมด ทำข้าวหมากก็อร่อย เครื่องจิ้มก็อร่อยจนทุกวันนี้ เพราะได้รับพรพระพุทธเจ้าหลวง คนกรุงเทพฯ หาว่าหัวป่าอยู่แปดริ้วบ้าง หัวป่าอยู่ในวังบ้าง พูดส่งไป ได้ พูดไม่รู้จริง นี่พระพุทธเจ้าหลวงให้พรเจ้าเมืองพรหมนครไว้
พอถึง ร.ศ. ๑๒๗ พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จอีกครั้งหนึ่ง สั่งยุบเมืองพรหมนคร สั่งยุบเมืองอินทร์บุรี ขึ้นต่อเมืองสิงห์บุรี แล้วย้ายเมืองสิงห์จากแม่น้ำน้อย ขึ้นมาอยู่แม่น้ำเจ้าพระยา ทรงตั้งให้เป็นตัวจังหวัด และสร้างศาลตัดสินสำเร็จทันเวลา ร.ศ. ๑๒๙ และฝากบังคับทะเบียน หอทะเบียน ไว้ที่จังหวัดอ่างทองชั่วคราว และสร้างศาลากลาง และหอทะเบียน ร.ศ. ๑๓๐
นี่คือประวัติศาสตร์พระพุทธเจ้าหลวง ทรงสร้างหอทะเบียนศาลากลาง และศาลตัดสิน เหมือนกันหมด สวยงามมาก แต่เจ้าเมืองรุ่นใหม่รื้อของเก่าหมด ไม่อนุรักษ์ศิลปกรรมของท่านไว้เลย เรื่องเมืองพรหมนครและแม่ครัวหัวป่าก็ขอจบลงแต่เพียงนี้
พรหมนครถูกสาป และ วิธีแก้กรรม
ขอเล่าเปิดอกให้ลูกหลานฟัง เมื่อสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จตีทัพเชียงใหม่แตกไปแล้ว ก็เสด็จล่องลงมา ถึงเมืองพรหมนคร ชาวบ้านชาวเมืองแถวนี้ทูลความเท็จ ปิดบังอำพรางท่าน ทั้ง ๆ ที่พม่ามาซ่อนซุ่มอยู่ก็ทูลว่าไม่มี เมื่อทรงทราบความจริง ก็ทรงพระพิโรธ ทรงสาปแช่งไว้
แล้วทรงยกกองทัพล่องเรือไปสว่างที่วัดสระเกศ จึงไปสระพระเกศา และสรงพระพักตร์ที่วัดสระเกศ เพราะประวัติศาสตร์บันทึกไว้เช่นนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันจึงเสด็จไปยังวัดสระเกศ เมื่อ ๒-๓ ปีที่ผ่านมานี้ ขอให้พวกเราหมั่นเจริญกุศลภาวนา หันหน้าเข้าวัด จะสามารถแก้กฎแห่งกรรมที่ถูกสาปข้อนี้ได้ แล้วลูกหลานจะร่ำรวย มีวิชาความรู้สูงขึ้น
จากกาลกระโน้นผ่านมาถึงปัจจุบันนี้ ทั้งชาววัดชาวบ้านก็ค่อย ๆ กลับฟื้นรุ่งเรืองขึ้นมาอีก เพราะพระพุทธเจ้าหลวง ท่านตรัสบอกเหตุการณ์ไว้ ก็ตรงกับความจริงทุกประการ
วันนี้อาตมาเชิญชวนพี่น้องเรา ชาววัดอัมพวันมาพร้อมใจกันบำเพ็ญกุศล ก็เพื่อจะแก้กรรมที่ต้องโดนสาปนี้เพราะฉะนั้นขอจงพร้อมจิตอุทิศส่วนกุศลให้แก่ท่านเจ้าเมืองพรหมนครในอดีต ผู้เป็นปู่ย่าตาทวดของบ้านเรา รวมทั้งบิดามารดาของโยมปุ่น โยมสงบ เชยโฉมโดยเฉพาะนางเฮี๊ยะ พรหมายน ซึ่งเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองพรหมนคร ดังกล่าวในโอกาสนี้ด้วย
ศุภนิมิตอันเป็นมงคลที่เห็นได้ชัด ก็เช่นพระสงฆ์องค์เจ้า ๔๙ จังหวัด ก็มาอบรมที่นี่แล้ว สงขลา ปัตตานี ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน ท่านก็มาหมด รู้จักวัดของเราดีขึ้น แสดงว่าบ้านที่โดนสาป กำลังจะพ้นจากคำสาปแล้ว กำลังกลับร้ายกลายดีเป็นส่วนมากแล้ว
โปรดทราบว่า พระพุทธเจ้าหลวง ท่านเสด็จมาให้พรนะ จึงกลับร้ายกลายดีขึ้นมามากมายหลายอย่าง อาตมารู้สึกซึ้งใจเหลือเกิน ที่ญาติโยมต่างถิ่นเขามากันมืดค่ำ ยามดึกลงรถที่หลังวัด คนบ้านเรามีน้ำใจเข้าไปทักทายเชิญขึ้นรถอีแต๋น เชิญซ้อนท้ายจักรยานยนต์ มาส่งเขาที่วัด ขออนุโมทนาสาธุการ ขอให้พี่น้องเราชาววัดอัมพวัน โปรดเอาไปใช้ทำความดีต่อไปเถิด จะเจริญสุข สวัสดีมีชัย
การแก้กรรมที่เยี่ยมยอดที่สุดคือ การที่ญาติโยมมานั่งเจริญกรรมฐาน แล้วแผ่ส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร ทุกท่านจะกลับร้ายกลายดีลูกหลานจะมั่งมีศรีสุข จะประกอบอาชีพการงานก็จะมีเงินไหลนองทองไหลมาขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยบุญกุศลทั้งหลายโปรดประทานพรให้ลูกหลานพี่น้องเราทุกคน ทั้งที่มาและมิได้มาก็ตามจงมีความสุข ความเจริญวัฒนาสถาพร ด้วยกันทุกท่านเทอญ