ประสบการณ์ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

โดย นิภา พงศ์วิรัตน์

พบหลวงพ่อ

ในราวปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้าพเจ้าได้รับเชิญเป็นวิทยากรลูกเสือชาวบ้าน ค่ายวัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ก็มีได้มีโอกาสมากราบหลวงพ่อวัดอัมพวัน โดยคลานตามหลังผู้อำนวยการค่ายไป เมื่อกราบแล้วก็ถอยออกมาอยู่ห่าง ๆ ได้ยินเสียงหลวงพ่อถามผู้อำนวยการค่ายว่านั่นใคร เสียงเหมือนจะแนะนำข้าพเจ้า จึงพนมมือขึ้นรับโดยอัตโนมัติ ก็ได้ยินหลวงพ่อพูดถึง ลักษณะนิสัยการทำงานของข้าพเจ้าเหมือนกับว่ารู้จักกันมานานนับปี ด้วยความที่ไม่เคยเข้าวัด ไม่รู้มารยาทต่อพระ ประกอบกับนิสัยขวานผ่าซาก ข้าพเจ้าจึงถามโพล่งไปว่า “หลวงพ่อรู้ได้ยังไง ใครมาเล่าให้ฟัง หลวงพ่อหัวเราะ หึหึ ตอบว่า “ฉันรู้เองบ้างไม่ได้รึไง… ใคร ๆ ก็รู้เองได้ถ้าฝึก” ข้าพเจ้าก็เลยถามท่านว่า ฝึกยังไง” ท่านตอบว่า “อยากรู้ก็มาฝึกเอาเองสิ” นับว่าการทักทายของหลวงพ่อได้ผลเพราะในเวลาต่อมาท่านก็ได้ลูกศิษย์ที่ดื้อที่สุดในโลก (ท่านว่า) ไว้เป็นศิษย์จนปัจจุบันนี้

 

ถูกปราบพยศ

วัดอัมพวันสมัยนั้น (ปี ๒๕๒๑-๒๕๒๒) ยังเป็นป่าไม้เป็นส่วนมาก มีกุฏิปฏิบัติธรรมเป็นเรือนไม้ทรงไทยหลังเล็ก ๆ อยู่เพียงไม่กี่หลัง คนฝึกกรรมฐานรุ่นเก่าที่พอจำได้มีแม่ใหญ่และคุณนายโสภา ความที่ไม่รู้มารยาทการปฏิบัติธรรม อยากดู อยากรู้ ว่าเขาฝึกกันอย่างไร ข้าพเจ้าถึงกับมารบกวนแม่ใหญ่ขณะปฏิบัติว่าขอดูการฝึกหน่อย ไม่คิดว่ากรรมหนักที่รบกวนการปฏิบัติในครั้งนั้นจะส่งผลมาให้กับตัวเองต้องถูกรบกวนอย่างหนักในเวลาต่อมา ปัจจุบันนี้เข็ดแล้ว ถ้ารู้ว่าใครกำลังทำกรรมฐานข้าพเจ้าต้องกำหนดจิตคารวะ แล้วรีบหนีไปไกล ๆ ไม่รบกวนเด็ดขาด หลาบจำจริง ๆ จากคำท้าทายของหลวงพ่อซึ่งเป็นกุศโลบายชักนำคนดื้อให้เข้ามาปฏิบัติธรรม เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าต้องจัดเสื้อผ้ามาวัดขอเข้าฝึกกรรมฐาน เพื่อเรียนรู้

หลวงพ่อทักว่า “มาแล้วเรอะ ดีแล้วให้ไปอยู่กุฏิกรรมฐานคนเดียว ห้ามพูดกับใคร ให้แม่ครัวส่งปิ่นโตให้ ขาดเหลือให้มาบอกหลวงพ่อ” จากนั้นท่านก็สอนกรรมฐานให้ว่าให้ทุกอิริยาบถเป็นกรรมฐาน กำหนดการเคลื่อนไหวอย่างมีสติ ให้เก็บอารมณ์ สำรวมหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ลุก นั่ง ยืน เดิน นอน อาบน้ำ กินข้าว หยิบ จับ เหลียวซ้าย แลขวา นั่งส้วม ก็ต้องมีสติหมด ไม่ให้สนใจเรื่องอื่นให้ตั้งใจปฏิบัติทั้งนั่งสมาธิและเดินจงกรม

เหมือนจับม้าพยศมาขังกรง ข้าพเจ้ารู้สึกอึดอัด วุ่นวาย อยู่ตามลำพัง อยากคุยกับหลวงพ่อ อยากฟังท่านเทศน์สนุก ๆ มากกว่า คอยฟังเสียงว่า เมื่อไรสมประสงค์จะมาเรียกว่าหลวงพ่อจะสอบอารมณ์ให้ หงุดหงิดใจเป็นกำลัง เมื่อหลวงพ่อเรียกสอบอารมณ์ก็มักจะสั่งมาด้วยว่าให้เดินจงกรมไป แดดก็ร้อนจัด เดินจงกรมบนพื้นปูนที่ตากแดด มันสุดทนจริง ๆ ท่านยังสั่งมาด้วยว่าให้เดินช้าที่สุด ถ้ามาถึงแล้วให้นั่งเก็บอารมณ์คอย ห้ามพูด ข้าพเจ้ารู้สึกอยากกลับบ้านจริง ๆ แต่อยากจะ “รู้เอง” ก็เลยต้องอดทนดูว่าฝึกกรรมฐานแล้วจะได้อะไรบ้าง ผลการสอบอารมณ์ก็มักจะได้รับคำตอบว่า…ใช้ไม่ได้…ไม่ได้เรื่อง…เพิ่มเวลาอีก…พูดนอกเรื่องแปลว่ายังใช้ไม่ได้…ให้นั่งสมาธิก็ฟุ้งซ่าน เดินจงกรมก็ผิด ๆ ถูก ๆ

เมื่อฝึกต่อมาอีกไม่นาน ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเวทนาหนักมากขึ้นทุกที ปวดหัว ตัวร้อน ท้อแท้ หมดกำลังใจ ดูเหมือนหลวงพ่อจะรู้อาการลูกศิษย์ เรียกไปสอบอารมณ์ใหม่ ข้าพเจ้าเรียนท่านว่า ปวดมาก ทนเวทนาไม่ไหว ท่านกลับบอกว่า ดีแล้ว ดีแล้ว ครูใหญ่มาแล้ว เวลาปวดนั้น ฟุ้งซ่านไหม ข้าพเจ้าตอบท่านว่า ไม่…ท่านว่า น่าน…ครูใหญ่มา นักเรียนก็ไม่ซน จึงจับใจความได้ว่า การไม่ฟุ้งซ่านเป็นเรื่องดี ก็ถ้าอย่างนั้นครูใหญ่ (เวทนา) มาหรือไม่มา นักเรียน (จิต) ไม่ซน (ฟุ้งซ่าน) ก็ได้นี่ คราวนี้ได้ทางไปปฏิบัติ ก็เลยได้สมาธิเป็นครั้งแรก ชุ่มฉ่ำใจจริง ๆ ก็ดีใจว่า เราเข้าใจบ้างแล้วละ เลิกคิดกลับบ้าน เลิกสนใจทุกสิ่งหมด ทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับการปฏิบัติเพียงอย่างเดียว จากนั้นเป็นต้นมาข้าพเจ้าก็ยึดถือกรรมฐานเป็นธงชัยของชีวิตที่ทำเป็นประจำเสมอมาจนถึงปัจจุบัน

 

ร่อนเร่แสวงหา

หลังจากพบทางปฏิบัติแล้ว ข้าพเจ้าก็คิดว่าเราจะเดินทางธรรมโดยแท้แล้ว สมควรจะหาทางลัด ทางปฏิบัติที่เร็วที่สุด สำนักปฏิบัติธรรมก็มีมากมาย หลวงปู่หลวงพ่อก็มีหลายองค์ สมควรจะไปกราบไหว้ฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อเรียนกรรมฐานกับท่านทั้งหลายนั้น จากนั้นข้าพเจ้าก็เริ่มเดินทางไปวัดเขาสุกิม จ.จันทบุรี จากนั้นก็ไปสำนักปฏิบัติธรรมที่ อ.โป่งน้ำร้อน เดินทางไปโดยอาศัยเกวียนของชาวบ้านโป่งน้ำร้อนเข้าไป ขอข้าวเขากินและพักค้างคืนด้วย ๑ คืน รุ่งขึ้นจึงเดินทางถึงสำนักปฏิบัติ ได้ยินเสียงปืนใหญ่เขมรชายแดนที่ยิงสู้กันอยู่ ปฏิบัติธรรมได้ระยะหนึ่ง ก็กลับมาฝึกต่อที่วัดอัมพวัน

จากนั้นก็เดินทางไปวัดถ้ำผาปู่ จ.เลย ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่คำดี ปภาโส และทดลองทำกรรมฐานในป่า ขณะนั้นอ่านหนังสือมาก อ่านเรื่องพระป่า ก็เลยคิดอยากจะเป็นชีป่าดูบ้าง ข้าพเจ้าขออนุญาตแม่ชีผู้ดูแลแล้วขอรับประทานอาหารมื้อเดียวแบบรวมคือมีอะไรก็ใส่รวมกันมาทั้งคาวหวาน ข้าพเจ้าเรียนแม่ชีด้วยว่าหากมิตรสหายของข้าพเจ้ามาหา ขอให้ตอบว่าห้ามเยี่ยม เพราะไม่อยากคุยด้วยเวลาทำกรรมฐาน เวลาต่อมาญาติสนิทมิตรสหายพอรู้ว่ามาอยู่วัดก็มาเยี่ยมจริง แม่ชีตอบว่าอาจารย์เธอมักสงบ ไม่ควรไปรบกวนเธอ เขาก็ไม่ละความพยายาม ไปดักรอพบที่ศาลาบำเพ็ญกุศล ข้าพเจ้าเห็นเขาเดินตรงมาจะทักข้าพเจ้าก็หลับตานิ่งเฉยเสีย เขาก็ชะงัก ข้าพเจ้าใช้หลีกเก็บอารมณ์ไม่พูด ไม่สนใจ ไม่มอง เดินผ่านเขาไปด้วยอาการอันสงบ

การทำกรรมฐานที่วัดถ้ำผาปู่ จ.เลย นี้สงบมาก เรือนพักแยกไปอยู่ในป่าที่เป็นป่าจริงๆ มีเห็ดดอกโตสีขาวขึ้นในบริเวณนั้นด้วย ข้าพเจ้าตื่นนอนตอนเช้ามืดก็เปิดไฟแล้วเดินจงกรมข้างบ้านพัก แจ้งแล้วก็ไปถวายภัตตาหารเช้าแด่หลวงปู่กับแม่ชี ฟังธรรมของหลวงปู่ซึ่งเป็นธรรมะที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมเป็นส่วนมาก ข้าพเจ้าคิดว่าการทำกรรมฐานในป่าคงจะเป็นเรื่องง่ายเพราะว่าป่าเป็นที่สงบร่มรื่นสมควรแก่การปฏิบัติธรรม ข้าพเจ้ามองหาสถานที่สมควรแห่งหนึ่งใต้ต้นไม้ หาเศษไม้มาวาง นำใบทองซึ่งโตกว่าใบไม้อื่นซึ่งหล่นเกะระกะอยู่มารองนั่ง แล้วกำหนดจิตสู่สมาธิ เพียงไม่กี่นาทีต่อมา ก็เกิดเหตุที่ไม่คาดคิด คือฝูงยุงริ้นตัวใหญ่น้อยมากมายมารุมตอมกัดข้าพเจ้าจนแสบคันไปหมด ครั้นจะลุกหนีก็จะเสียสัจจะที่ตั้งไว้ในที่สุดก็ตัดสินใจ กำหนดจิตวางปล่อยให้กินตามสบาย คิดว่าให้เป็นทาน จิตก็หมดกังวลจับลมหายใจเข้าสมาธิไปจนครบเวลาตามที่กำหนด

บัดนี้ข้าพเจ้าได้รู้แล้วว่าการเป็นพระป่านั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ถ้าไม่มีความรู้เรื่องป่าอยู่บ้าง การปฏิบัติธรรมในป่าก็เป็นเรื่องลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสตรี ถ้าขาดผู้ปกป้องดูแล เช่น แม่ชีหรือโยมวัด การปฏิบัติธรรมก็จะขาดเสียซึ่งสัปปายะ ๑๕ วันในวัดถ้ำผาปู่ จ.เลย ทำให้ข้าพเจ้าเรียนรู้เรื่องการต่อสู้กับความลำบากภายนอกและความลำบากภายใน (จิต) มิใช่น้อย ซึ่งก็นับว่ามีประโยชน์มากสำหรับฝึกเยาวชนปฏิบัติธรรมในเวลาต่อมา

 

เรื่องของเสือ

ประมาณปี ๒๕๒๓ ข้าพเจ้าได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรอบรม ทสปช.และทหารอาสา ในเขตพื้นที่สีชมพู บริเวณอำเภอด่านช้าง ข้าพเจ้าขอสัญญาแลกเปลี่ยนในการทำงานว่าต้องพาไปกราบหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ที่วัดหินหมากเป้ง  อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย และในครั้งนั้นข้าพเจ้าก็ได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับหลวงปู่ซึ่งพอสรุปใจความสำคัญได้ดังต่อไปนี้ ข้าพเจ้ากราบเรียนต่อหลวงปู่ว่าข้าพเจ้าสนใจการปฏิบัติธรรมและได้ปฏิบัติอยู่เสมอ หลวงปู่ตอบว่า ดี…ดีแล้ว…ทำต่อไปนะ ข้าพเจ้าถามหลวงปู่ว่า เมื่อหลวงปู่เดินธุดงค์ในป่า หากพบเสือเข้า หลวงปู่จะทำอย่างไร” หลวงปู่ตอบว่า แผ่เมตตาให้เสือสิ ข้าพเจ้าถามต่อไปว่า หลวงปู่ไม่กลัวเสือหรือท่านยิ้มด้วยเมตตาแล้วตอบว่า “คนไม่กลัวตายจะกลัวเสือทำไม” ข้าพเจ้าก็คิดว่า อ้อ! คนกลัวตายนั้นเอง แต่ยังมีข้อขัดแย้งในใจอยู่จึงกราบเรียนต่อไปว่า ดิฉันไม่กลัวตาย จะให้ตายเดี๋ยวนี้ก็ได้ แต่ทำไมดิฉันกลัวเสือ คราวนี้ท่านหัวเราะในลำคอ คงจะขำคำถามของข้าพเจ้ากระมัง ท่านตอบว่า “ก็เรายังกลัวตายอยู่น่ะสิ…ความกลัวตายมันอยู่ลึก กลับไปทำต่อมากๆ นะ แล้วจะรู้เอง เราน่ะเป็นคนมีปัญญาดี ทำไปเรื่อย ๆ นะ อย่าทิ้ง” ความชุ่มชื่นใจที่ได้จากการสนทนาธรรมในครั้งนั้นทำให้ข้าพเจ้ามีกำลังใจปฏิบัติธรรมขึ้นอีกมาก

จากนั้นข้าพเจ้าก็ร่อนเร่ไปปฏิบัติธรรมตามสำนักต่างๆ ที่มีภูเขามีถ้ำ บางแห่งอยู่เป็นเดือนก็มี บางแห่งชักชวนให้ข้าพเจ้าบวชเสียที่สำนักนั้นๆ เลย การท่องเที่ยวปฏิบัติธรรมของข้าพเจ้านี้ ทำให้ข้าพเจ้าได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกว่า แต่ละสำนักปฏิบัติ มีธรรมเนียมและวิธีการปฏิบัติที่แตกต่างกันไปตามคำสอนของเจ้าสำนัก หากเจ้าสำนักประสบผลจากการปฏิบัติในแนวทางใดก็จะอบรมสั่งสอนสานุศิษย์ในแนวทางนั้น ข้าพเจ้าในฐานะผู้ศึกษาก็พยายามฝึกปฏิบัติตามแนวคำสอนจากทุกสำนักด้วยความเคารพในฐานะของศิษย์ที่ดี แม้ว่าบางเรื่องไม่ตรงกับจริตนิสัยของข้าพเจ้า ก็ยินดีน้อมรับมาปฏิบัติโดยดุษณี เพราะคิดว่าข้าพเจ้าเองก็เป็นครูมีลูกศิษย์มากมาย เด็กหลายพันคนที่จะเรียนรู้จากข้าพเจ้า และเด็กเหล่านั้นก็มีจริตนิสัยต่างกัน ข้าพเจ้าจึงต้องฝึกทุกเรื่อง รู้ทุกอย่าง เพื่อจะได้สั่งสอนอบรมศิษย์ได้ตรงกับจริตนิสัยของศิษย์แต่ละคน เพื่อให้ศิษย์ของข้าพเจ้าได้เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและถ้าศิษย์มีปัญหา ข้าพเจ้าเป็นครูควรจะช่วยศิษย์ได้ ในเรื่องการปฏิบัติเป็นส่วนตัวนั้น ข้าพเจ้าก็มีสิทธิในการตัดสินใจเลือกปฏิบัติเฉพาะแนวทางที่ตรงกับจริตนิสัยของข้าพเจ้าเอง

บัดนี้การร่อนแร่แสวงหาเพื่อศึกษาการปฏิบัติธรรมในโลกมนุษย์ของข้าพเจ้ายุติลงแล้ว เพราะข้าพเจ้ารู้แล้วว่าทางลัดที่ข้าพเจ้าต้องการอยู่ที่ตัวของข้าพเจ้าเอง และที่สัปปายะของข้าพเจ้าก็อยู่ที่วัดอัมพวันเรื่องของต้นไม้

วันหนึ่งข้าพเจ้าได้ยินหลวงพ่อวัดอัมพวันพูดเรื่องต้นไม้บอกเหตุได้ ข้าพเจ้านึกแปลกใจว่าจะบอกได้อย่างไร เมื่อได้ยินนักปฏิบัติธรรมพูดว่าต้นไม้สื่อสารกับคนได้ ยิ่งสนเท่ห์ใจนัก คิดว่าไม่น่าเป็นไปได้ เพราะข้าพเจ้ายังไม่เคยได้รับประสบการณ์เช่นนี้มาก่อน วันหนึ่งข้าพเจ้าเดินจงกรมอยู่ในสวนพุทธประวัติ ข้างหลวงพ่อเทพนิมิตในบริเวณวัดอัมพวัน เห็นดอกเข็มแดงชูช่อสวยงามเหลือเกิน ก็หยุดชั่วขณะ กำหนดจิตทักทายต้นเข็มว่า “แม่สุดสวย วันนี้งามจริงนะ” ช่อดอกเข็มพร้อมทั้งใบก็ไหวระริกแล้วก็หยุด ข้าพเจ้าคิดว่าลมพัด ขณะนั้นก็ไม่มีลม ข้าพเจ้าจึงลองทักดูใหม่ “สวยจังนะ ถ้าบูชาพระจะเป็นมหากุศล” ทั้งช่อและใบไหวระริกอีกครั้งแล้วก็หยุดอีก ทั้งที่ไม่มีลม ข้าพเจ้าสังเกตดูว่าเมื่อลมมาอาการไหวเหมือนกันหรือไม่ ก็พบว่าการไหวไปตามแรงลมกับการไหวระริกรับคำทักทายนั้น มีอาการต่างกัน เมื่อแน่ใจแล้ว ข้าพเจ้าก็ทดลองกับต้นมะกรูด ต้นมะละกอ ก็พบว่ามีผลเหมือนกัน จะต่างกันก็ตรงที่ จะไหวรับเมื่อผู้ทักมีสมาธิหรือมีจิตใจเยือกเย็นเท่านั้น ท่านผู้อ่านลองทักทายต้นไม้ดูซิ อย่าลืมทำสมาธิให้จิตเยือกเย็นก่อนเสมอ มิฉะนั้นจะไม่ได้เห็นอาการตอบรับ เพราะจิตที่เยือกเย็นใครๆ ก็ชอบ

เรื่องของต้นไม้บอกเหตุ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ข้าพเจ้าประสบมาด้วยตนเอง วันนั้นข้าพเจ้านั่งกรรมฐานได้ระยะหนึ่งแล้ว ก็คิดจะเดินจงกรมหน้ากุฏิ ตรงข้างทางเดินมีต้นมะลิ ต้นมะละกอ ต้นกระดุมทอง ต้นมะนาว ต้นไม้เหล่านี้ข้าพเจ้าก็เคยทักทายอยู่เสมอ แต่วันนี้แปลกมากการทักทายไม่ได้รับการตอบสนองทุกต้นมีอาการแข็งทื่อ เหมือนต้นไม้พลาสติก วันนี้เป็นอะไรหนอ ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร เมื่อเลิกสนใจต้นไม้ ก็กลับมาตั้งใจเดินจงกรมแทน วันนี้ตั้งสัจจะว่าจะเดินสัก ๒ ชั่งโมง ข้าพเจ้าหยุดนิ่งพนมมือตั้งสัจจะอธิษฐานต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขออนุญาตเดินจงกรมสัก ๒ ชั่วโมง แล้วแผ่เมตตาต่อสรรพสัตว์ อย่ามารบกวนในทางเดิน ขอให้หลีกไปก่อน หากเดินจงกรมครบวาระแล้วจะอุทิศส่วนกุศลไปให้ อธิษฐานเสร็จแล้ว ก็รีบเดินจงกรม ชั่วเวลาไม่นานนัก ก็เกิดลมพายุฝนฟ้าคะนอง ฝูงมดแดงไฟที่พื้นดินขึ้นมาบนทางเดินจงกรมเต็มไปหมด จนข้าพเจ้าต้องอธิษฐานจิตขอหยุดพักในวันนั้น ข้าพเจ้านึกเฉลียวใจว่า ต้นไม้อาจจะมีสัมผัสที่ละเอียดอ่อนกว่าข้าพเจ้า ที่สามารถรับรู้ความกดดันของอากาศที่เปลี่ยนไปจากปกติและกำลังจะมีพายุฝน จึงมีอาการผิดปกติให้เห็น แต่ข้าพเจ้าไม่เข้าใจ

 

นุ่งขาวห่มขาว

อันว่าธรรมชาติของคนดื้อ ไม่ค่อยจะเชื่ออะไรง่าย ๆ ใครทำอะไรย่อมจะหาเรื่องมาค้านมาจับผิดได้เรื่อยไป ไม่รู้จักจบสิ้น ข้าพเจ้าก็เช่นกัน เห็นคนนุ่งขาวห่มขาวมาวัดก็ตั้งท่าค้านในใจว่าสีผ้าไม่เกี่ยวกับจิตถ้าจิตสะอาด สว่าง สงบ ใส่ผ้าสีอะไรก็เหมือนกัน จิตที่สูงขึ้นเป็นจิตที่ไม่เกี่ยวกับเสื้อผ้า คิดดังนั้นแล้ว ก็ใส่สีตามใจฉันมาเข้ากรรมฐานวัดอัมพวัน ระยะแรกก็ใส่สีดำ แดง เขียว เหลือง ลายตามใจชอบ ในช่วงนั้นนักปฏิบัติธรรมไม่มากเหมือนทุกวันนี้ถ้ามี ๖-๗ คน ก็นับว่ามากแล้ว บางคนมาบวชแก้บนไม่ได้มาทำกรรมฐาน คนเหล่านี้มักใส่สีขาวกัน มีข้าพเจ้าหัวดื้อ ใส่ผ้าสีผ้าลาย เพียงคนเดียว

ในเวลาต่อมาก็เกิดเหตุ คือระยะแรกที่มาฝึกกรรมฐาน หลวงพ่อสั่งให้เก็บตัว นั่งสมาธิ เดินจงกรม แต่ในกุฏิ ส่งปิ่นโตให้ทานอาหารในกุฏิอีกเรียกว่า ให้อยู่แต่ในกุฏิเท่านั้น นานเข้าข้าพเจ้าก็ขออนุญาตออกมาเดินจงกรมหน้ากุฏิ โดยเก็บอารมณ์ไม่มองใคร ไม่พูดกับใคร กับญาติสนิทมิตรสหายก็ไม่ทักทายปราศรัยเพราะเกรงว่าหากอ้าปากพูดแล้วอารมณ์กรรมฐานที่อุตส่าห์เก็บไว้จะรั่วหมดเหมือนตุ่มรั่วใส่น้ำเท่าไรก็ไม่เต็มอารมณ์กรรมฐานเบากว่าน้ำรั่วง่ายเหตุนี้หลวงพ่อจึงห้ามพูด เมื่อพบคนก็หลับตาเรียกว่าปิดอายตนะหมดเพื่อเก็บอารมณ์ การใส่ผ้าสีต่างๆ อยู่ในกุฏิ ไม่มีปัญหาอะไร เมื่อออกมาเดินจงกรมภายนอกก็เกิดผลทันที ฝูงไก่ตกใจวิ่งหนี สุนัขในวัดหลายตัวมายืนเห่ากันเกรียวกราว กว่าจะยอมหยุดเห่าก็เป็นเวลานาน ทำความรำคาญให้คนในวัดมาก ปกติสัตว์มาอาศัยอยู่ในวัดก็เคยชินกับพระและแม่ชี เมื่อมีคนนุ่งห่มสีแปลกไปก็ปฏิกิริยาโต้ตอบทันที ความดื้อรั้นของข้าพเจ้าเรื่องการนุ่งขาวห่มขาวทำความเดือดร้อนให้คนในวัดมิใช่น้อย

ในที่สุดข้าพเจ้าก็ยอมแพ้ ลองนุ่งขาวห่มขาวดูบ้าง เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในวัด ไม่ให้สัตว์ใหญ่น้อยที่อาศัยอยู่ในวัดแตกตื่น ทำความรำคาญให้กับพระและแม่ชีอีก แต่ที่ข้าพเจ้าพบคือนอกจากเหตุดังกล่าวมาแล้วนั้น เวลาเดินจงกรมยุงยังรบกวนน้อยกว่าการนุ่งห่มสีคล้ำหรือผ้าลายสีอีก ในโอกาสต่อมาจึงทราบจากการปฏิบัติธรรมว่าสีขาวมีคุณสมบัติประจำสีมากมายและมีผลต่อจิตใจของมนุษย์และสัตว์ ก็คงเช่นเดียวกับสีอื่น ๆ ที่มีคุณสมบัติประจำสีต่าง ๆ กันไป ปรมาจารย์ผู้ชาญฉลาดได้มองเห็นแล้วว่าสีขาวมีคุณสมบัติเป็นเลิศ จึงให้ผู้ถือศีลปฏิบัติธรรมใช้เครื่องนุ่งห่มสีขาว ข้าพเจ้าจึงยอมรับสนิทใจตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

ระลึกชาติ

เมื่อข้าพเจ้ามาปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวันนานปีมากขึ้น ซึ่งตามปกติจะปีละ ๒ ครั้ง ครั้งละ ๑๕ วันบ้าง ๑๒ วันบ้าง ๗ วันบ้าง ตามฤกษ์สะดวก ระยะหลังนี้มีการสร้างกุฏิกรรมฐานใหม่เป็นห้องแถว นักปฏิบัติธรรมเริ่มมากขึ้น หลวงพ่อดำริจะสร้างหอประชุมใหญ่ เพราะหลวงพ่อบอกว่านับจากนี้ไป บัณฑิตจะเข้ามาวัดอัพวันมาก นักปฏิบัติธรรมจะมาจากคนมีวิชาความรู้พวกเราต้องเตรียมตัวต้อนรับคณะกองทัพธรรมนี้ให้ดี ถ้าสร้างศาลาช้าไปจะไม่ทันการ ต้องมีโรงอาหาร ต้องสร้างส้วม ต้องสร้างที่พักเพิ่ม หลวงพ่อเตรียมการใหญ่ ข้าพเจ้ามองไปก็เห็นมีกันอยู่ไม่กี่คนหลวงพ่อว่าจะมาเป็นร้อยเป็นพันจะเป็นไปได้อย่างไร แม่ใหญ่บอกว่านักปฏิบัติธรรมในอดีตชาติจะมาทำกรรมฐานกันรวมเป็นคณะใหญ่เช่นที่มาทำกันขณะนี้ (ปี พ.ศ. ๒๕๒๓-๒๕๒๔) ก็เคยทำกรรมฐานร่วมกับแม่ใหญ่มาตั้งแต่ชาติที่ ๔ และจะมากันอีกมากมายตามหลวงพ่อเพราะนักปฏิบัติเหล่านี้ล้วนเคยอยู่ร่วมกันกับหลวงพ่อมาก่อนในอดีตชาติ ได้เวลาที่จะต้องมารวมกันอีกครั้งหนึ่งแล้ว นักปฏิบัติธรรมเล่าเรื่องอดีตชาติให้ข้าพเจ้าฟังอีกหลายราย ข้าพเจ้าก็พยายามสืบสวน ดูจะเป็นจริง เช่นเคยเป็นแม่ลูกกัน เคยโกรธกัน เคยฆ่ากัน เกิดมาชาตินี้ก็ยังมีจิตผูกพันเดิมอยู่ทั้งดีและร้าย นี่ละกระมังที่หลวงพ่อเรียกว่ากฎแห่งกรรม กายดับ จิตไม่ดับ ที่อาฆาตแค้นก็จองเวรกันไป ที่รักกันก็ยังรักกันไป กรรมเวรนี้น่ากลัวจริง ๆ เพราะติดตัวกันข้ามภพข้ามชาติจองเวรกันไม่เลิกรา ข้าพเจ้ารู้สึกน่ากลัว น่าเกลียด และเบื่อหน่ายเหลือเกิน ดังนั้นเมื่อปฏิบัติกรรมฐานทุกครั้ง จะอธิษฐาน ขออโหสิกรรมขอตัดกรรมเสมอ ฟังเรื่องอดีตชาติแล้ว ข้าพเจ้าก็สงสัยว่าข้าพเจ้าจะสามารถรู้บ้างได้ไหม คิดว่าน่าจะได้ข้าพเจ้าจึงทดลองเข้าสมาธิ ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์พระกรรมฐานตามลำดับ แล้วกำหนดจิตถึงหลวงพ่อ อยากรู้จริงว่าทำไมจึงดื้อรั้นต่อท่านนัก ปกติข้าพเจ้าก็เป็นคนเคารพครูอาจารย์ เป็นศิษย์ที่ดี แต่กรรมใดหนอจึงทำให้ชอบเถียงหลวงพ่อ ท่านสอนอย่างไรก็ไม่ค่อยจะฟัง จนท่านโมโหและว่า “ดื้อที่สุดในโลก

ทันใดนั้นพลันปรากฏภาพนิมิตเป็นปราสาทราชวัง ข้าพเจ้าเห็นตัวเองเป็นเด็กวัยรุ่น ซุกซน วุ่นวาย อารมณ์ร้าย ไม่เกรงกลัวใคร เห็นหลวงพ่อแต่งตัวคล้ายนักรบทะเลาะกับข้าพเจ้า เถียงกัน มีภาพออกรบ ข้าพเจ้าสร้างความวุ่นวายในการรบ รู้สึกสนุกเป็นกำลัง คนหลายคนในวัดอัมพวันปรากฏในภาพว่าเคยอยู่ร่วมกันในครั้งนั้นด้วย เหตุนี้เองข้าพเจ้าว่าควรหมดเวรกรรมได้แล้ว จึงเอาดอกไม้ธูปเทียนไปกราบหลวงพ่อ ขอขมาโทษในฐานะที่เป็นเด็กเคยล่วงเกินผู้ใหญ่ไว้มากมาย บัดนี้ขออโหสิกรรม

หลวงพ่อยิ้มแล้วว่า “ไม่ถือสาอะไรหรอก เถียงกันมานานแล้ว” จากนั้นข้าพเจ้าก็ไม่รู้สึกอยากเถียงหลวงพ่ออีก และทำตัวเป็นลูกศิษย์ที่ดีไม่นอกลู่นอกทางอีก ข้าพเจ้าสนุกกับการนั่งดูชาตินั้น ชาติโน้น ชาตินี้ เคยผูกพันกับคนโน้นคนนี้วุ่นวายไปหมด จนฉุกใจคิดได้ว่าวิชาระลึกชาตินี่เป็นวิชาที่ประเสริฐมีไว้ให้ผู้ที่ได้รับรู้ตัดบ่วงกรรม ที่มัดตัวเองไว้กับโลกียะให้หลุดพ้นจากพันธนาการให้เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จิตจะได้เบาและลอยสูงขึ้นสู่โลกุตระได้โดยง่าย  แต่หากนักปฏิบัติยังมัวยึดติด เข้าสู่วงเวียนแห่งกระแสกรรมเก่า แทนที่รู้แล้วจะหาวิธีแก้กรรม ตัดกรรม อโหสิกรรม กลับมาสร้างเวรกรรมเพิ่มเติม มัดตัวเองให้ดิ้นไม่หลุดหนักขึ้น ทำให้จิตจมดิ่งลงไปอีกเรียกได้ว่ามีอาวุธเอาไว้ตัดกรรมแล้วใช้ไม่เป็น กลับกลายเป็นอาวุธประหารตัวเอง เราท่านทั้งหลายเมื่อรู้แล้วจึงมักอโหสิกรรม แล้วละวางสิ่งนั้นเสียเพราะมัววุ่นวายดูอยู่ก็ไม่รู้จบ มีแต่จะทำให้จิตตกต่ำลงไปอีก

 

คู่กรรม

ญาติสนิทมิตรสหายชอบถามข้าพเจ้าเรื่องเนื้อคู่และการไม่แต่งงานจึงคิดว่าน่าจะเขียนเรื่องนี้ขึ้น เพื่อตอบคำถามเหล่านั้น อันที่จริงเราเวียนว่ายตายเกิดกันมานาน ผูกพันกันไม่รู้จบ กรรมเก่าเวียนมาพร้อมกับจิตที่เกิดใหม่ ชักนำให้ตามไปใช้กรรมกันไม่จบสิ้น ดังเช่นนายตำรวจผู้หนึ่งเข้ารับอบรมหัวหน้าสำนักงานระดับจังหวัด ซึ่งข้าพเจ้าเป็นวิทยากรอยู่ ท่านผู้นั้นเกิดความเมตตาข้าพเจ้า คอยให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ อยู่เนืองนิจ จนมีเสียงเล่าลือว่าสนิทสนมกับข้าพเจ้าผิดปกติ ข้าพเจ้าร้อนใจมาก ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ข้าพเจ้าบอกเพื่อนที่อยู่บ้านเดียวกันว่ารู้สึกเหมือนนายตำรวจผู้นี้เป็นพี่ชายและเป็นพี่ชายที่หายสาบสูญไปนาน เพิ่งจะมาพบกัน จึงรู้สึกดีใจเหมือนเด็ก ๆ ที่อยากวิ่งซุกซนไปรอบ ๆ ตัว บุคคลผู้นี้ไม่เคยคิดเป็นอย่างอื่นเลย และนายตำรวจผู้นี้ก็ดูจะเมตตาจริง ๆ ไม่มีอะไรที่ผิดปกติ แต่ธรรมดาชายหญิงสนิทสนมกันแม้ด้วยความเมตตาก็เกิดข่าวลือขึ้นได้ตามกิเลสของคนลือ มิใช่กิเลสของคนที่ตกเป็นข่าว เมื่อมีโอกาสปฏิบัติธรรม ข้าพเจ้ายกจิตขึ้นสู่อารมณ์สมาธิตามดังเช่นที่เคยปฏิบัติมา แล้วกำหนดจิตถึงนายตำรวจผู้นั้น จากนิมิตนั้น ข้าพเจ้าเห็นเขาเลี้ยงดูน้องหญิงเล็ก ๆ คนหนึ่ง คือตัวข้าพเจ้าเอง ต่อมาเขามีครอบครัวและทิ้งข้าพเจ้าไว้ตามลำพังคนเดียว ข้าพเจ้าต้องอาศัยอยู่กับพระที่วัด ช่วยกวาดพระอุโบสถ ช่วยพระตักน้ำ เก็บฟืน ข้าพเจ้าคอยพี่ชาย แต่เขาไม่กลับมาอีกเลย ข้าพเจ้าจึงถือศีลปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดนั้น เป็นเช่นนี้เองเขาจึงเมตตาข้าพเจ้า และข้าพเจ้าก็รู้สึกดีใจเมื่อเขามา เมื่อรู้กรรมต้องรีบแก้กรรมนั้น ข้าพเจ้าจึงไปไหว้เขาแล้วเรียกว่าพี่ใหญ่ บัดนี้หมดกรรมแล้ว น้องเล็กขอลาก่อน ความเป็นพี่น้องจบสิ้นแล้ว ความเป็นจริงคือต่างคนต่างเดินตามทางของตน ข้าพเจ้าไม่ได้เล่าเรื่องนี้ให้ใครฟัง นอกจากเคยบอกหลวงพ่อครั้งหนึ่ง ที่นำมาเขียนเล่าให้ท่านทั้งหลายทราบในครั้งนี้ มีเจตนาเพื่อจะให้ท่านทั้งหลายพิจารณา ความผูกพันทางจิตนั้น แม้พี่-น้องผูกพันกันข้ามภพ  ข้ามชาติได้ ถ้าสามีภรรยาเล่าจะเป็นอย่างไร ขอให้พิจารณาต่อไป

คู่กรรมของข้าพเจ้าในชาติต้น เป็นชายผิวขาว ร่างสูงใหญ่ ใจดี มีลูกชายหญิง ตัวข้าพเจ้าเองเป็นภรรยาที่ชอบช่วยเหลือชาวบ้าน ช่วยบ้านโน้น ช่วยบ้านนี้ ช่วยงานวัดโน้น ช่วยงานวัดนี้ ใครทำอะไรที่ไหนช่วยเขาไปหมด ทิ้งพ่อบ้านให้หากินเลี้ยงลูก ดูแลบ้านเรือนตามลำพัง แม่บ้านก็รับแต่คำยกยอปอปั้นของชาวบ้าน จนพ่อบ้านอึดอัด เดือดร้อน รำคาญว่ามีแม่บ้านที่ไม่เอาใจใส่เรือนตน ดีแต่ทำงานให้ผู้อื่น ไม่เอาใจใส่ดูสามีและลูก ความชอกช้ำใจของสามีครั้งนั้น เขาอธิษฐานจิตว่า เกิดชาติภพใด ขออย่าได้ครองคู่กับหญิงผู้นี้อีกเลย แรงอธิษฐานของเขาในชาตินั้นมีผลมาถึงชาติปัจจุบัน เมื่อเรามาพบกันในชาตินี้ เหมือนมีไฟฟ้าดึงดูดให้สนใจกันและกันทันที เราสนิทสนมกันอย่างรวดเร็ว อยู่มาวันหนึ่งเขาบอกข้าพเจ้าว่า เขาอธิษฐานไว้ว่าจะไม่แต่งงาน เขารู้สึกว่าเขาเข็ดผู้หญิงไม่ชอบผู้หญิงเลย ข้าพเจ้าอยากตะโกนบอกเขาว่า “ฉันเป็นคนดีแล้ว ฉันจะดูแลสามีและลูก ฉันจะเป็นแม่บ้านที่ดี ฉันจะไม่ทอดทิ้งครอบครัวอีกแล้ว” แต่มันสายเกินไปต้องตัดกรรม ต่างคนต่างไป ข้าพเจ้ายังมีคู่กรรมอยู่อีกในหลายภพหลายชาติ แต่ไม่ใช่คนคนเดียวกันเลย แสดงว่าคู่ครองเปลี่ยนกันไปได้ตามกรรมที่จะผูกพันกันทุกชาติอย่างที่เขาชอบอธิษฐานกันนั้น คงจะต้องทำความดีให้เสมอกันไว้ หากผู้ใดดีกว่า ผู้ที่ดีน้อยกว่าจะตามไม่ทัน ก็ขาดกันไป อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปรากฏชัดจริง ๆ