ธรรมะจัดสรร

ข้าพเจ้าได้มีโอกาสดูแลโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน ปี ๒๕๓๗
ของยุวพุทธฯ ถวายหลวงพ่อฯ

คุณมณเฑียร ถ่ายรูปที่ระลึกกับหลวงพ่อ วันลาสิกขา

ข้าพเจ้ารู้จักวัดอัมพวันเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๓๖ เนื่องจากข้าพเจ้าได้ลาออกจากงาน เพราะความอึดอัดใจผู้ร่วมงาน เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ๘ วันแห่งการตกงาน ข้าพเจ้าได้งานใหม่ที่ได้เงินเดือนเท่าเก่า และยังได้อิสระในการทำงาน คือจะเข้างานเวลาใดก็ได้ จะกลับเวลาใดก็ได้ เพราะข้าพเจ้าบอกนายจ้างใหม่ว่า จะต้องไปเรียนปริญญาโทต่อตอนค่ำ ซึ่งท่านก็ยอมรับเงื่อนไขได้ ก็นับเป็นความโชคดีที่มีผู้จ้างข้าพเจ้าด้วยเงินเดือนสูงถึง ๖๕,๐๐๐ บาทในเงื่อนไขที่ช่างเหมาะสมกับข้าพเจ้าในยามนี้เสียเหลือเกิน

หลังจากได้งานแล้ว ข้าพเจ้าตัดสินใจจะขอพักผ่อนสัก ๒ เดือน หลังจากที่ทำงานมา ๑๓ ปีโดยแทบจะไม่ได้พักผ่อนยาว ๆ เลย เพราะตั้งใจจะไปเที่ยวสหรัฐอเมริกา เนื่องจากตอนที่ข้าพเจ้าลาออกนั้น เจ้านายที่บริษัทเก่าคงเห็นว่าข้าพเจ้าตัดสินใจลาออกโดยมิได้มีความผิดอะไร และผลงานของข้าพเจ้าก็ดี จึงได้แถมเงินเดือนให้กับข้าพเจ้าอีก ๖ เดือน ข้าพเจ้ายังทำงานไม่ครบ ๓ ปีเลย ข้าพเจ้าจึงคิดจะไปเที่ยวและใช้ชีวิตสบาย ๆ สักพัก เพราะงานใหม่ก็ได้แล้ว ยังมีเงินเดือนเหลืออีกตั้งเยอะ และแล้ววันหนึ่ง ภรรยาของข้าพเจ้าได้พาข้าพเจ้าไปที่โรงพิมพ์กุลสตรีเพื่อซื้อหนังสือ สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ชุดหนึ่ง ๒ เล่ม เนื่องจากภรรยาของข้าพเจ้าเป็นแฟนคอลัมน์นี้ของ คุณสุทัสสา อ่อนค้อม และได้เคยพูดถึงหลวงพ่ออยู่บ่อย ๆ แต่ข้าพเจ้าไม่เคยสนใจเลย ข้าพเจ้าอยู่ว่าง ๆ เลยหยิบหนังสือมาอ่านฆ่าเวลา …แต่ยิ่งอ่านก็ยิ่งติด จนวันรุ่งขึ้นตอนเที่ยง ๆ ข้าพเจ้าอ่านจบทั้งสองเล่ม จึงบอกภรรยาว่า ข้าพเจ้าจะไปวัดอัมพวัน (หรือวัดป่ามะม่วง) นะ และอาจจะไปเข้ากรรมฐานสัก ๓ วัน แล้วข้าพเจ้าหอบเสื้อผ้าใส่รถ ซื้อผ้าไตรอย่างดี ๑ ชุด พร้อมธูปเทียนแพและสังฆทาน ๑ ถัง ขับรถไปที่วัดทันที

เมื่อถึงวัด ข้าพเจ้าก็ได้ทันถวายผ้าไตรหลวงพ่อพอดี เพราะท่านกำลังจะขึ้นรถออกไปงานศพ ท่านให้พรเสร็จแล้วก็ไปเลย ข้าพเจ้าจึงไม่ได้คุยอะไรกับท่าน ออกมาพบ พระธีรวัฒน์ ฐานุตฺตโร ที่ท่านคอยต้อนรับญาติโยมอยู่ จึงได้สนทนากับท่านว่าอยากมาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานต้องทำอย่างไร ท่านจึงแนะนำให้มาอยู่ที่วัดสัก ๗ วัน ที่กุฏิกรรมฐานของฆราวาส ข้าพเจ้าลาท่านแล้วรีบกลับไปจัดการธุระต่าง ๆ ให้เรียบร้อยพร้อมเตรียมสัมภาระมาให้พออยู่วัด ๗ วัน

ข้าพเจ้ากลับมาเข้ากรรมฐานที่วัดในอาทิตย์ต่อมา โดยมี แม่ชีสมคิด เป็นผู้ดูแลเรื่องที่พักให้อย่างดี และมี แม่ชีซูง้อ ช่วยสอนกรรมฐานเรื่องการยืน เดิน นั่ง นอน ให้ ซึ่งข้าพเจ้าก็ทำตามอย่างว่าง่าย เพราะไม่มีความรู้เลย คือ เรียนกรรมฐานแบบเด็กเลี้ยงควาย เขาบอกให้ทำอะไรก็ทำ

วันรุ่งขึ้น ข้าพเจ้าได้พบกับ พอง-ยุบ ในตอนบ่าย ซึ่งเป็นการพบที่ประหลาดมาก เหมือนกับการค้นพบสิ่งอัศจรรย์ในชีวิตเป็นครั้งแรก ปีติและน้ำตาของข้าพเจ้าไหลอาบแก้มอย่างดีใจที่เหมือนพบกับดวงกรรมฐานอันวิเศษ

หลังกรรมฐานแล้ว ข้าพเจ้าพยายามดู พอง-ยุบ ที่ได้มานี้ว่ายังอยู่หรือเปล่า ก็ปรากฏว่ายังอยู่กับข้าพเจ้าตลอดและเคลื่อนไหวให้กำหนดได้อย่างช้า ๆ เป็นอัศจรรย์ หลังจากที่ข้าพเจ้าพบพอง-ยุบแล้ว ข้าพเจ้าก็เริ่มรู้จักกฎแห่งกรรม ที่ไม่มีใครสอน เพราะข้าพเจ้านั่งปวดขาข้างเดียวอย่างมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน พอใกล้จะหมดเวลาข้าพเจ้าก็เห็นหน้าสุนัขที่ข้าพเจ้าเคยเลี้ยง ๒ ตัวโผล่ออกมา ในจิตตอนนั้นบอกว่า ข้าพเจ้าเคยไปเตะมันไว้จึงทำให้ข้าพเจ้าปวดขามาก ข้าพเจ้าเสียใจมาก ในวินาทีนั้น ข้าพเจ้านึกขออโหสิกรรมต่อกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ ทันใดนั้นก็เกิดปีติขนลุกซู่ และเกิดอาการซ่าที่ขาข้าพเจ้าปวดแทบตายนั้นและความปวดก็หายไปในบัดดล หลังจากนั้นข้าพเจ้าก็รับกรรมในรูปแบบต่าง ๆ กันอีกกว่า ๑๐ รอบ รวมไปถึงกรรมของการขับรถทับลูกแมวที่วิ่งตัดหน้ารถโดยไม่ตั้งใจ ทำให้รู้ว่าถึงแม้ไม่ได้ตั้งใจก็ต้องชดใช้ แต่เบากว่ากรรมที่ตั้งใจทำ

แทบทุกรอบของการปฏิบัติกรรมฐาน ข้าพเจ้าได้เสียน้ำตาให้กับความเจ็บปวด และความเสียใจในกรรมทั้งหลายที่ข้าพเจ้าได้ก่อขึ้นในรอบก่อนเพลของวันที่ ๕ ของการปฏิบัติกรรมฐาน ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังนั่งอยู่ต่อหน้าหลวงพ่ออยู่นั้นก็มีกำลังมหาศาล มากดที่ศีรษะข้าพเจ้าลงติดพื้น ข้าพเจ้าเจ็บปวดทรมานกว่าทุกรอบของเวทนาที่พบและตกใจมากคิดว่าต้องแย่แน่เพราะขยับตัวไม่ได้ จะทำอย่างไรดี?

ขณะที่เจ็บปวดแทบตายอยู่นั้น ก็มีเสียงก้องออกมาว่า ฟังอาญาสวรรค์แล้วก็มีนิมิตให้ข้าพเจ้าเห็นผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งข้าพเจ้ารู้จักดีโผล่ขึ้นมา แล้วก็มีการแจ้งข้อหาที่ข้าพเจ้าเคยกระทำผิดไว้ ข้าพเจ้าเจ็บปวดแทบตาย น้ำตาไหลพราก เลยคิดถามไปว่า “แล้วจะให้ข้าพเจ้าชดใช้อย่างไรเล่า?” อีกครู่ต่อมาก็มีนิมิตเป็นรูปพระโผล่ขึ้นมาในบรรยากาศของวัดอัมพวัน ด้วยความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส ข้าพเจ้าจึงได้รีบตกปากรับคำว่า ตกลง ข้าพเจ้าจะบวชและจะมาปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดนี้ ๑๕ วันเพื่อชดใช้หนี้กรรมนั้น

พอสิ้นเสียงอธิษฐาน แรงมหาศาลที่กดข้าพเจ้าอยู่ก็ได้อันตรธานไปจนหมดสิ้น และตัวข้าพเจ้าก็ดีดกลับมาอยู่ในท่านั่งอย่างเดิมโดยอัตโนมัติ ข้าพเจ้าทั้งตกใจและกลัวมาก ไม่นึกว่าจะพบสถานการณ์แบบนี้และคิดว่าข้าพเจ้าจะทำอย่างไรต่อไป ถ้าพบกับสถานการณ์แบบนี้อีก?

และแล้ว… ช่วงบ่ายก็มาถึง ข้าพเจ้าเริ่มปฏิบัติอีก และก็กลับมานั่งที่เดิมหน้าหลวงพ่อดำ พอนั่งไปได้สักพัก อาการเดิมก็เริ่มอีก คือค่อย ๆ มีแรงกดข้าพเจ้าลงไป ข้าพเจ้าเกร็งตัวฝืนทันทีโดยสัญชาติญาณ เพราะความเจ็บปวดและความกลัวที่ยังไม่หายไปจากใจ

ทันใดนั้นข้าพเจ้ารู้สึกเจ็บแปลบที่หลัง มีความรู้สึกเหมือนกับใครเอาหอกแหลม ๆ มาทิ่มข้างหลัง แล้วมีเสียงสำทับว่า ฟังอาญานรก ข้าพเจ้าไม่มีทางเลี่ยงเพราะเจ็บปวดมาก จึงต้องถูกกดศีรษะติดพื้นอีกเป็นครั้งที่ ๒และแล้วก็มีรูปภาพและเสียงในฟิล์มแจ้งข้อหาข้าพเจ้าอีก ข้าพเจ้าได้เสนอวิธีชดใช้กรรมของข้าพเจ้าออกไปแรงกดก็ทุเลาลง

หลังจากนั้นก็เป็นการสอนเรื่องกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณต่าง ๆ ในชีวิตนี้ ข้าพเจ้าจำได้ว่าได้ทำกรรมต่อบุพการีน้อยมาก เพราะข้าพเจ้าได้ถูกส่งไปให้คุณยายเลี้ยงตั้งแต่เกิดจนถึง ๑๐ กว่าขวบ ข้าพเจ้าจำความได้ว่าแทบจะไม่เคยเถียงพ่อแม่เลย ไม่ว่าจะผิดหรือถูก เพราะคิดว่าเวลาท่านว่าเราแล้ว เราไม่เถียงไม่นานท่านก็เลิก พอเถียงแล้วแทนที่จะถูกอบรมสั้น ๆ ก็เลยกลายเป็นยาวไป ข้าพเจ้าใช้หลักอดทนนี้มาโดยตลอด แต่ก็ยังเคยพลาด ปิดประตูดังปังใส่แม่ครั้งหนึ่งเพราะท่านว่าผิดคน ซึ่งกรรมอันนี้เกิดขึ้นมา ๒๐ กว่าปีแล้ว ได้กลับมาให้ข้าพเจ้าเห็นชัด ๆ อีกครั้งหนึ่ง

ข้าพเจ้าร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวร เสียใจอย่างสุดซึ้ง อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน หลังจากนั้นก็มีเสียงมาสอนข้าพเจ้าเรื่องความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณต่าง ๆ ตั้งแต่ แม่ พ่อ ครู อุปัชฌาย์ อาจารย์ โรงเรียน ศาสนา ประเทศชาติ ฯลฯ ว่าต้องทำอย่างไรกับบุคคลและสถาบันต่าง ๆ เหล่านี้เพื่อทดแทนพระคุณของท่าน เรื่องกตัญญูนี้สอนข้าพเจ้าได้อย่างซาบซึ้ง ข้าพเจ้าเรียนรู้ด้วยน้ำตาไหลนองหน้าอย่างซาบซึ้ง เสร็จแล้วก็มีนิมิตให้ข้าพเจ้าเห็นพระอริยสงฆ์ที่ข้าพเจ้านับถือ มากหลายองค์เหมือนมายิ้มอวยพรข้าพเจ้า หลังจากนั้นก็เห็นท่านสมเด็จโต มาบอกให้ข้าพเจ้ากลับบ้านเถอะ เพราะที่บ้านกำลังวุ่นวายที่ข้าพเจ้าอยู่ดี ๆ ก็หายไปอยู่วัด (หลังจากข้าพเจ้ากลับไปแล้วตรวจสอบดูก็เป็นความจริง เพราะที่บ้านกำลังจะยกครอบครัวมาเยี่ยมในวันรุ่งขึ้น ซึ่งถ้ามาจริง ๆ อารมณ์กรรมฐานของข้าพเจ้าคงต้องกระเจิงเป็นแน่) ท่านยังบอกอีกว่าอย่างไรเสีย ข้าพเจ้าก็ต้องกลับมาทำกรรมฐานใช้หนี้กรรมที่นี่อยู่แล้วตั้ง ๑๕ วัน แล้วค่อยมาปฏิบัติต่อก็ได้ (เพราะข้าพเจ้าตั้งใจว่าจะอยู่ให้ครบ ๗ วัน นี่เพิ่งถึงวันที่ ๕ เอง) พอหมดชั่วโมง ข้าพเจ้าจึงเดินออกไปถามผู้ปฏิบัติธรรมว่า ที่นี่มีสมเด็จโตด้วยหรือ? เพราะข้าพเจ้าไม่เคยสังเกตเลย เขาเลยชี้ให้ให้ข้าพเจ้าดูที่ศาลาใกล้ ๆ อาคารภาวนา-กรศรีทิพา ซึ่งข้าพเจ้าปฏิบัติธรรมอยู่ ข้าพเจ้าจึงคิดว่าเรื่องนี้อาจจะเป็นความจริงก็ได้ จึงตัดสินใจกลับบ้านก่อนกำหนดในคืนนั้น

หลังจากที่ตัดสินใจกลับบ้านแล้ว ข้าพเจ้าได้ไปกราบเรียนหลวงพ่อเรื่องขอบวชใช้หนี้กรรม ซึ่งท่านได้บอกให้ไปปรึกษาพระครูปัญญาประสิทธิคุณ รองเจ้าอาวาส ข้าพเจ้าได้ตรวจสอบตารางการบวชของวัด ปรากฏว่าไม่สามารถบวชได้เนื่องจากเวลากระชั้นชิดเกินไป หลวงพี่ธีรวัฒน์ จึงแนะนำให้ข้าพเจ้าไปบวชที่กรุงเทพฯ แล้วทำหนังสือมาขอปฏิบัติธรรมที่วัดแทน เมื่อข้าพเจ้าบวชแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้กลับมาที่วัดอัมพวันเพื่อชดใช้หนี้กรรมตามสัญญา

ขณะนั้นเป็นเวลาเดียวกับโครงการบรรพชา-อุปสมบทของภิกษุ-สามเณรภาคฤดูร้อนของยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ทำให้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมร่วมกับภิกษุ-สามเณรในโครงการนี้ด้วย ด้วยความเมตตาของท่านพระครูสังฆรักษ์ (ชูชัย อริโย) ข้าพเจ้าจึงได้มีโอกาสเล่าประสบการณ์กฎแห่งกรรมของข้าพเจ้าแก่ภิกษุ-สามเณรของโครงการฯ และยังได้มีโอกาสแนะนำสามเณรถึงวิธีการที่ข้าพเจ้าได้เคยปฏิบัติมา ซึ่งในช่วงเวลานี้ได้เกิดสิ่งอัศจรรย์แก่ข้าพเจ้ามากมาย เป็นต้นว่าบางคืนอยู่ดี ๆ ก็เหมือนถูกปลุกมาเรียนกรรมฐาน เช่น วิธีการแก้ง่วง วิธีทำพองยุบให้ชัด (พร้อมคำอธิบายว่าลมหายใจของคนปฏิบัติกรรมฐานและคนทั่วไปจะไม่เหมือนกันอย่างไร?) บางทีขณะที่ข้าพเจ้านั่งอยู่ในโบสถ์ ก็มีสภาวธรรมบางอย่างมาให้ข้าพเจ้าทราบ พอข้าพเจ้าเดินออกไปยังไม่ทันพ้นประตูโบสถ์ ก็มีเณรมาถามในเรื่องเดียวกับที่ข้าพเจ้าเพิ่งทราบมาพอดี เสมือนสอนข้าพเจ้าเพื่อให้ไปสอนเณรอีกที บางครั้งก็มาสอนเรื่องแปลก ๆ เช่นการนั่งหลับสมาธิ ที่กายเหมือนหลับไปทั้งตัวเห็นแต่พอง-ยุบ ชัดอยู่ที่ท้องอย่างเดียว ซึ่งข้าพเจ้ามั่นใจว่าไม่ใช่สมถกรรมฐาน เพราะสามารถกำหนดรูป-นามได้ตลอด และที่สำคัญก็คือสติยังสมบูรณ์ ไม่ง่วงเลย แต่พอกำหนดคลายแล้วจะสดชื่นแจ่มใสมาก

นอกจากนี้ ข้าพเจ้ายังได้มีโอกาสเรียนธรรมะที่เรียกว่าเกิดขึ้นมาเอง มาสอนให้ข้าพเจ้าเข้าใจเรื่องการทำงานของใจ สติ อารมณ์ การเกิดของกิเลส อริยสัจ ๔ อย่างง่าย ๆ เหมือนสอนเด็กเลี้ยงควาย ซึ่งไม่เคยเห็นในตำราใด ๆ มาก่อน ทำให้ข้าพเจ้าได้ซาบซึ้งกับพระธรรมว่าที่จริงแล้วธรรมะนั้นไม่เห็นยาก เหมือนอย่างที่ข้าพเจ้าเคยเรียนเลย ถ้าสอนธรรมะที่ข้าพเจ้าเคยเรียน ข้าพเจ้าคงไม่มีปัญญาจะเข้าใจพระธรรมเป็นแน่แท้ เพราะข้าพเจ้าโง่มาก ๆ ในเรื่องนี้ นอกจากนี้ยังมีคำถามหนึ่ง ที่ได้ถามข้าพเจ้าในระหว่างทำกรรมฐาน ซึ่งข้าพเจ้าขอฝากท่านเป็นการบ้านว่า นิพพานเป็นกิเลสหรือเปล่า?
 ระยะเวลากว่า ๑๐ วัน ข้าพเจ้ารู้สึกผูกพันกับโครงการนี้อย่างอธิบายไม่ถูก คิดว่าจะดีสักเพียงไหน ที่เยาวชนของชาติจะได้มีโอกาสเรียนรู้ของดีที่ข้าพเจ้าได้รับจากวัดนี้ จะได้ไม่ทำอะไรผิด ๆ อย่างที่ข้าพเจ้าเคยกระทำมาก่อน ซึ่งกว่าจะรู้ผิดชอบชั่วดีจริง ๆ ก็ต้องรอจนถึงอายุ ๓๓ ปี ข้าพเจ้าคิดว่าถ้ามาวัดนี้เร็วกว่านี้ คงจะทำกรรมน้อยกว่านี้มาก โดยเฉพาะช่วงที่ทำงานแล้ว ข้าพเจ้าทำกรรมอะไร ๆ ไว้มากทีเดียว แต่นั้นก็เป็นแค่เพียงความคิด เพราะว่าข้าพเจ้าไม่รู้จักใครที่ยุวพุทธฯ เลย

ในวันสุดท้าย ขณะที่ข้าพเจ้านั่งอยู่ในโบสถ์ก็มีเสียงมาบอกข้าพเจ้าถึงสามเณรรูปหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้ารู้สึกรักและผูกพันตั้งแต่วันแรกที่พบกันเหมือนกับน้องชาย ว่าให้ข้าพเจ้ารับเขาเป็นน้องเสีย เพราะเขาเป็นน้องชายในอดีตชาติที่เคยทำบุญร่วมกันมา ข้าพเจ้าใจหนึ่งก็คิดว่าเป็นเรื่องประหลาดที่อยู่ดี ๆ ก็จะไปตู่ใครมาเป็นน้อง กลัวเขาจะว่าบ้า แต่อีกใจหนึ่งก็อยากจะบอกเขาอย่างนั้น เพราะคิดอย่างนั้นจริง ๆ จึงตัดสินใจบอกเขาว่า “ตอนนั่งในโบสถ์มีเสียงมาบอกให้หลวงพี่รับเธอเป็นน้องนะ ส่วนเธอจะรับหลวงพี่เป็นพี่หรือไม่ก็ตามใจนะ…” เขาฟังก็คงดูแล้วรู้สึกแปลกๆ เหมือนกัน แต่เห็นว่าคงจะไม่เสียหายอะไร จึงไม่ปฏิเสธอะไร

หลังจากนั้น ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปกราบลาหลวงพ่อ และได้กราบเรียนท่านว่าข้าพเจ้าได้ของดีจากวัดนี้มากมาย ข้าพเจ้าขอกราบฝากตัวเป็นลูกศิษย์ถวายตัวรับใช้ ท่านกลับตอบว่า เราไม่เคยคิดอยากได้ของใคร ชีวิตเรามีแต่ให้ บาทเดียวเราก็ไม่เคยคิดจะเอาของใคร… ซึ่งกินใจข้าพเจ้าเหลือเกิน และอีกประโยคหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้ข้าพเจ้าอยากทำโครงการนี้ยิ่งขึ้นคือ เราน่ะอยากจะสอนเด็กมาก เพราะผู้ใหญ่นั้นสอนยาก ข้าพเจ้าได้กราบเรียนท่านถึงความรู้ที่ข้าพเจ้าได้รับว่าจะเชื่อถือได้เพียงไร เพราะข้าพเจ้าไม่เคยเห็นหลวงพ่อสอนอย่างนี้เลย ท่านตอบอย่างมีเมตตาว่า เห็นไหมว่าธรรมะนั้นเป็นปัจจัตตังฯ ผู้รู้ก็รู้ได้ด้วยตนเอง ข้าพเจ้าประทับใจในความดีของหลวงพ่อมาก และคิดว่าอย่างไรเสียต้องหาโอกาสทดแทนพระคุณของท่าน และวัดอัมพวันที่ได้ให้ชีวิตใหม่แก่ข้าพเจ้าให้จงได้
 และแล้วธรรมะก็เริ่มทำหน้าที่จัดสรร...ในช่วงที่ข้าพเจ้าบวชใหม่ ๆ ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังนั่งกรรมฐานอยู่นั้น มีเสียงมาบอกข้าพเจ้าว่า คุณยายซึ่งเปรียบเสมือนมารดาคนที่สองของข้าพเจ้า เพราะเลี้ยงข้าพเจ้ามาตั้งแต่เกิดจนถึง ๑๐ ขวบจะอยู่อีกไม่นาน ข้าพเจ้าฟังแล้วไม่สบายใจมาก เพราะเพิ่งได้เรียนคำว่ากตัญญูจากวัดอัมพวัน ยังไม่มีโอกาสได้ตอบแทนพระคุณคุณยายท่านเลย ท่านก็จะมาด่วนจากไปเสียแล้ว ในขณะนั้นข้าพเจ้าตั้งจิตอธิษฐานขอให้กุศลผลบุญที่ข้าพเจ้าได้เคยกระทำมาได้ปกปักรักษาคุณยายด้วย และได้เล่าเรื่องนี้ให้คุณแม่ของข้าพเจ้าฟัง

สองวันหลังจากที่ข้าพเจ้าลาสิกขาแล้ว คุณแม่ก็โทรมาบอกว่า คุณยายป่วยหนักมากต้องเข้าห้องไอ.ซี.ยู. ข้าพเจ้าฟังแล้วเข่าอ่อนเพราะไม่นึกว่าสิ่งที่ตนรู้ในกรรมฐานจะเป็นเรื่องจริง จึงรีบตั้งหน้าตั้งตาขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วย แต่ก็ไม่มีความมั่นใจใด ๆ ที่คิดว่าจะช่วยคุณยายได้ จนในขณะที่ข้าพเจ้ากำลังขับรถไปเยี่ยมท่านนั้น ข้าพเจ้าจึงหวนนึกถึงการบวช คิดว่าถ้าตั้งใจบวชทำกรรมฐานก็คงจะมีอานิสงส์เพียงพอที่จะช่วยคุณยายได้ จึงได้ตั้งจิตอธิษฐานออกไปว่าคุณยายอาการดีขึ้นข้าพเจ้าจะบวช ๑ เดือน เพื่อตอบแทนพระคุณท่าน และขอให้ท่านได้อยู่อย่างน้อยสัก ๑ ปี เพราะข้าพเจ้าตั้งใจจะบวชให้ท่านในช่วงเวลาเดียวกันนี้ของปีหน้า พออธิษฐานเสร็จ สักครู่ก็มีคำตอบว่าที่ข้าพเจ้าได้อธิษฐานจิตไปนั้นตกลงว่าได้ ข้าพเจ้าจึงเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้คุณแม่ฟังและบอกท่านว่าคุณยายคงจะรอด

สิ่งอัศจรรย์ก็ได้เกิดขึ้น….คุณยายอาการดีขึ้นเป็นลำดับ จากที่คุณแม่บอกว่า ตอนเข้าโรงพยาบาลตัวเย็นเหมือนคนตายแล้วกลับมาเป็นปกติ เช่นคนทั่วไปในเวลาต่อมา ท่านกลับมาเป็นคนอายุเกือบ ๙๐ ปี ที่มีสุขภาพดีกว่าตอนที่จะป่วยเสียอีก เมื่ออธิษฐานแล้วในวินาทีที่รู้ว่าคุณยายท่านคงจะรอดนั้น ในใจก็บอกกับตนเองว่าที่จริงก็อยากจะมาบวชอยู่แล้ว ในช่วงที่มีโครงการบรรพชาฯ ปีหน้า แต่หาสาเหตุเป็นข้ออ้างกับคุณแม่ คุณพ่อ เพื่อจะบวชครั้งที่ ๒ คงจะลำบาก เพราะท่านจะหาว่าข้าพเจ้างมงาย หาเรื่องไปบวชโดยไม่ว่าอะไรมาก ข้าพเจ้าจึงมีข้ออ้างที่จะบวชอีกครั้งหนึ่งได้เป็นอย่างดี…

ในวันอาทิตย์ต่อจากนั้น ยุวพุทธฯ ได้ทำหนังสือขอเชิญผู้ร่วมโครงการบรรพชาฯ ทุกคนมาร่วมพบปะเพื่อประเมินผลโครงการฯ ข้าพเจ้าทราบว่าน้องชายคนใหม่จะไปด้วยจึงรับอาสาไปส่งที่ยุวพุทธฯ ให้ ในใจก็คิดว่าอยากได้มีโอกาส เขียนจดหมายไปเล่าสิ่งที่ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นปัญหาต่าง ๆ ระหว่างที่อยู่วัดแก่นายกยุวพุทธฯ แต่ข้าพเจ้าก็ไม่รู้จักใครเลย ก็เลยคิดอีกว่าถ้าส่งไปแล้วจะมีใครสนใจจดหมายข้าพเจ้าไหมนะ? แต่ก็ตั้งใจว่าจะเขียนแน่ ๆ เพราะอยากให้เขาทำโครงการให้ดีขึ้น

เมื่อข้าพเจ้าถึงยุวพุทธฯ ทิดเณรหลาย ๆ คนก็เข้ามาทักทาย ก็ได้สนทนาไต่ถามสารทุกข์สุกดิบกันพอสมควร เสร็จแล้วเจ้าหน้าที่ของยุวพุทธฯ ก็เรียกประชุม ข้าพเจ้าจึงนั่งรออยู่ข้างนอก เพราะไม่ได้มีส่วนร่วมอะไรกับเขา ทันใดนั้นก็มีบุรุษหนุ่มร่างขาวท้วมท่าทางเหมือนอาเสี่ยมานั่งข้าง ๆ ข้าพเจ้า เขาทักข้าพเจ้าก่อนด้วยกิริยาอันสุภาพ แล้วสอบถามความเป็นมาของข้าพเจ้า เพราะตอนนั้นข้าพเจ้าก็ยังเป็นทิดสึกใหม่ ๆ อยู่ ข้าพเจ้าบอกเขาว่าข้าพเจ้ามาส่งน้องมาที่ยุวพุทธฯ ไม่ได้มาประชุมอะไรเพราะไม่ได้บวชในโครงการฯ แต่ตอนอยู่วัดก็ไปปฏิบัติธรรมร่วมกับพระ-เณรยุวพุทธฯ ด้วย เลยมีคำถามต่อว่าข้าพเจ้ามีความเห็นเป็นอย่างไรบ้าง? ข้าพเจ้าจึงร่ายยาวเป็นชุดเลยถึงปัญหาต่าง ๆ ที่ข้าพเจ้าทราบมา เขานั่งรับฟังด้วยความสนใจยิ่ง จนถึงที่สุดข้าพเจ้าเริ่มเอะใจจึงถามว่า

“ขอโทษครับ ไม่ทราบว่าผมกำลังสนทนากับใครอยู่?” เขาหยิบเอานามบัตรมาให้ข้าพเจ้าพร้อมแนะนำตัวว่า
“ผม…อนุรุธครับ เป็นนายกของยุวพุทธฯ…” ข้าพเจ้าจึงตอบไปว่า “แหม…ผมกำลังจะเขียนจดหมายถึงนายกยุวพุทธฯ พอดีเกี่ยวกับสิ่งที่ผมเพิ่งเล่าให้คุณฟังนี้ ดีแล้ว…เมื่อผมเล่าแล้วผมก็ไม่ต้องเขียนแล้วซิ” เขาบอกว่า
“ช่วยเขียนให้ผมด้วยซิครับ เพราะผมอยากจะเอาไปให้กรรมการท่านอื่น ๆ ดูด้วย”

ข้าพเจ้าเลยได้ทีแนะนำต่อเลยว่า โครงการนี้ควรทำอย่างไรเพื่อให้ได้ผลดียิ่งขึ้น คุณอนุรุธนั่งฟังแล้วจึงสวนข้าพเจ้ามาว่า ที่จริงปัญหาของท่านก็มีอยู่ว่ามีแต่คนให้ความเห็นแต่ไม่ค่อยมีคนทำ แล้วจึงถามข้าพเจ้าว่า “แล้วคุณจะมาช่วยผมทำไหมล่ะ?” ข้าพเจ้าอึ้งไปครู่หนึ่งแล้วตอบไปว่า “ตกลงครับ ผมจะช่วย…” และนี่คือสัญญาของข้าพเจ้าที่จะทำโครงการนี้ทั้ง ๆ ที่ข้าพเจ้ายังไม่ได้รู้เลยว่าทางข้างหน้าจะเป็นเช่นไร

ตุลาคม ๒๕๓๖… ข้าพเจ้ารู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องเริ่มโครงการนี้เสียที จึงโทรไปหาคุณอนุรุธอีกครั้งหนึ่ง ท่านใช้เวลาทบทวนความจำ ถึงเรื่องของข้าพเจ้าสักพัก ข้าพเจ้าก็เริ่มเล่าถึงวิธีทำโครงการ นั่นคือการเน้นคัดเลือกตัวผู้สมัครบวช และเตรียมความพร้อมให้ดีที่สุด เพื่อให้สามารถอดทนต่อสภาพการเป็นสามเณร ที่เพียบพร้อมด้วยระเบียบ วินัยและจริยาวัตรอันงดงามสมกับที่มีหลวงพ่อเป็นองค์อุปัชฌาย์ เพราะผู้ที่ถูกครูบาอาจารย์บังคับมา หรือมีความอดทนต่ำ จะไม่สามารถทนต่อระเบียบที่เข้มงวดของวัด และที่สำคัญที่สุดคือจะไม่สามารถ อดทนทำกรรมฐาน ซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาจิตใจตามที่โครงการได้วางไว้ได้

คุณอนุรุธ และข้าพเจ้าใช้เวลาปรับความคิดให้ตรงกันพอควร และแล้วคุณอนุรุธได้แนะนำข้าพเจ้าต่อคณะกรรมการสมาคม เพื่ออนุมัติให้ข้าพเจ้าได้ดำเนินการตามแผนที่วางไว้ ข้าพเจ้าได้รับความเมตตาจากคณะกรรมการทุกท่านเป็นอย่างดี จนงานได้ดำเนินมาจนถึงวันปฐมนิเทศ ในวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๓๗ มีผู้เข้าร่วมโครงการสูงเป็นประวัติการณ์กว่า ๑๔๐ คน

ข้าพเจ้าเริ่มทดสอบความอดทนโดยการให้ผู้สมัครปฏิบัติแบบเดียวกับที่จะต้องพบเมื่อไปถึงวัดอัมพวัน เช่นต้องคุกเข่าได้ ๑๕ นาที โดยไม่ขยับนั่งพับเพียบได้นาน ๓๐ นาที โดยไม่เปลี่ยนข้าง และทำกรรมฐานวันละ ๘ ชั่วโมง กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย ทำความเพียรมาก

ผลปรากฏว่า ผู้สมัครค่อยๆ หายไปๆ จนเหลือไปบวชเพียง ๗๐ คน ซึ่งทำให้ปัญหาต่างๆ ที่เคยมีมาในอดีตลดลงมาก สามเณรภาคฤดูร้อนปีนี้ส่วนใหญ่ปฏิบัติกรรมฐานได้ดีและได้พบสภาวธรรมต่างๆ มากมาย มีเกินกว่าครึ่งที่ได้เห็นกรรมที่ทำไว้กับบุพการี และเกิดความสำนึกในความกตัญญูกตเวทีขึ้นมาด้วยตนเอง อีกร่วม ๓๐ ที่สามารถเรียนรู้กฎแห่งกรรมที่ทำไว้กับสรรพสัตว์ทั้งหลาย สามเณรรุ่นนี้ปฏิบัติได้ดี จนได้รับคำชมเชยจากหลวงพ่อเป็นอย่างมาก และยังประพฤติตนให้เป็นที่รักของครูบาอาจารย์ พระพี่เลี้ยงในวัด จนหลวงพ่อได้มอบเหรียญที่ระลึกของการทำความดีให้เป็นพิเศษด้วย สามเณรรุ่นนี้นับว่าโชคดีมาก เพราะได้รับความเมตตาจากหลวงพ่อมากกว่ารุ่นใด ท่านได้ลงมาให้โอวาทสั่งสอนอย่างใกล้ชิดหลายครั้ง และยังได้ติดตาม สอบถามให้ข้อแนะนำในการปฏิบัติที่เป็นประโยชน์มากมาย เช่น การสอนกรรมฐาน โดยใช้หลักง่ายๆ ว่าจะต้องทำยืนหนอ ๕ ครั้ง ให้ได้ดีเสียก่อน ให้เริ่มทำช้าๆ กำหนดให้ทัน ตอนแรกหัดใหม่ๆ ให้กำหนดเป็น ๒ ช่วง คือ จากศีรษะมาหยุดที่สะดือก่อนกำหนด ยืนแล้วถอนหายใจ กำหนด หนอจากสะดือถึงปลายเท้า ทำกลับไปกลับมา ๕ ครั้ง เพราะตรงกับ กรรมฐาน ๕ อย่างที่องค์ อุปัชฌาย์สอนพระ เณรตอนบวช ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้ ท่านสอนว่า ถ้าทำยืนหนอได้ อย่างอื่นจะทำได้หมด ท่านสอนวิธีเดินว่า เวลาหัดเดินใหม่ๆ ให้หยุดเป็นจังหวะก่อน เพื่อตั้งสติกำหนดให้ทัน เช่น ขวา ย่างหนอให้หยุดกำหนดเป็นช่วงๆ ก่อน แล้วให้เดินช้าที่สุดเหมือนคนจะตาย เมื่อยืนดี เดินดี พอง ยุบ ก็จะชัดเอง หลวงพ่อยังให้แบ่งกลุ่มผู้ปฏิบัติออกเป็น ๓ กลุ่ม ตามความสามารถในการปฏิบัติ เนื่องจากท่านบอกว่าคนเรานั้นมีปัจจัยมาไม่เท่ากัน บางคนอาจมีบุญมากปฏิบัติได้ก้าวหน้าเร็วก็ให้ไปอยู่กลุ่มที่ปฏิบัตินานกว่า ท่านยังให้คำแนะนำอีกว่าความอดทนหรือขันติบารมีเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของความสำเร็จ ผู้มีปัจจัยมาน้อยแต่มีความอดทนตั้งใจปฏิบัติ ก็พบความสำเร็จได้ อุปมาดังนิทานเรื่องกระต่ายกับเต่า

ในปีหน้า ถ้าข้าพเจ้าได้มีโอกาสมาทำโครงการนี้อีก ข้าพเจ้าจะได้นำหลัก ความอดทนนี้เป็นข้อคัดเลือกคุณสมบัติของผู้สมัคร เนื่องจากว่าจำนวนผู้สมัครคงจะต้องเพิ่มขึ้นอีกมากเพราะโครงการนี้เป็นโครงการเดียว ที่จะสามารถบวชเณรที่วัดอัมพวัน โดยมีหลวงพ่อเป็นองค์อุปัชฌาย์ให้ เพราะที่วัดไม่รับบวชเณรมาหลายปีแล้ว ผู้ที่จะสามารถบวชได้จึงต้องเป็นผู้ที่อดทนที่สุดเท่านั้นจึงไม่แนะนำให้ผู้ปกครองบังคับบุตรหลานมาบวช เพราะในปีที่ผ่านๆ มาผู้ที่ถูกบังคับมา มักจะสร้างปัญหาเนื่องจากไม่สามารถอดทนต่อการปฏิบัติกรรมฐานได้

นอกจากนี้ ผู้ปกครองที่มุ่งหวังจะให้โครงการนี้เปลี่ยนแปลงนิสัยที่ไม่ดีของบุตรหลานนั้น ขอได้อย่าคาดหวังมากนัก เพราะส่วนใหญ่เด็กที่มีปัญหาด้านพฤติกรรม มักจะเป็นคนที่มีความอดทนต่ำ อาจจะไม่ผ่านการคัดเลือกที่เข้มข้นได้ และขอให้ท่านผู้ปกครองที่เคี่ยวเข็ญ บุตรหลานของท่านมาบวช เพราะหวังว่าจะเกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ ได้โปรดเข้าใจว่าโครงการนี้เป็นการพัฒนา คุณภาพจิตให้มีความอดทน มีระเบียบวินัย รู้รักสามัคคี เป็นคนดีของครอบครัว สังคม และประเทศชาติ เพื่อให้กุลบุตรผู้บวชแล้ว เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติความอดทน มีปัญญาสามารถเรียนหนังสือได้ถึงขั้นสุดยอด ผลทางด้านบุญนั้นจะถือเป็นผลพลอยได้ เนื่องจากวัดผลได้ยาก และเป็น ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ คือ ผู้รู้ก็ย่อมรู้ได้ด้วยตนเอง กุศลใดๆ ที่สามเณรจะได้กระทำมากหรือน้อยจึงขึ้นอยู่กับความพากเพียรเป็นหลัก ถ้าสามเณรสร้างความดีน้อย ผิดศีลธรรม บาปกรรมจะต้องตกอยู่ที่ผู้ปกครอง ผู้เคี่ยวเข็ญบุตรหลานมาบวชเช่นกัน ขอให้ท่านดูทั้งประตูบุญ และบาปด้วย

ผู้ที่สามารถผ่านการคัดเลือกครั้งนี้ จะต้องเป็นผู้ที่มีความอดทนอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกายที่จะต้องตื่นนอนเช้า ตี ๓ ครึ่ง นอนไม่เกิน ๓ ทุ่มครึ่ง รับประทานอาหารอย่างสำรวมในปริมาณไม่มากวันละ ๒ มื้อ มีน้ำปานะ วันละ ๒ ครั้ง เพื่อยังชีพ เพราะรับประทานมากไป จะทำให้หลับเวลาทำกรรมฐาน ส่วนทางด้านจิตใจ ต้องอดทนกับระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด รักษาศีลไม่ให้ด่างพร้อย คอยระวังจริยวัตร โดยถือตามพระวินัยของภิกษุคือ เสขิยวัตร ๗๕ ข้อ ต้องพิจารณาปัจจัยสี่ตั้งแต่รับประเคนและก่อนบริโภคทุกครั้ง ห้ามรับประเคนเงิน และของรับประทานต่างๆ รวมทั้งนม เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการผิดศีล เป็นต้น

ส่วนทางด้านพิธีการ ต้องสามารถท่องคำขอบรรพชา และองค์ศีล ๑๐ ให้ได้ก่อนวันเข้าร่วมโครงการ เพราะจะมีการสอบข้อเขียน ผู้ที่ไม่ผ่านการสอบข้อเขียน จะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้

ข้าพเจ้าหวังว่ากุลบุตร ผู้สามารถผ่านเข้าไปบวชเป็นเณรในปี ๒๕๓๘ จะเป็นบุคคลที่มีโอกาสประสบความสำเร็จได้ในชีวิต ดังที่หลวงพ่อได้เคยสอนไว้ว่า ธรรมะคือการฝืนใจ ต้องรู้จักอดทน อดกลั้น อดออม จึงจะประสบความสำเร็จได้ สำหรับผู้ที่ตั้งใจจะบวชเณรที่วัดอัมพวันในปี ๒๕๓๘ ที่จะถึงนี้ ขอได้โปรด เตรียมใจให้พร้อมที่จะผ่านการคัดเลือกเข้าไปในรุ่น สามเณรใจเพชร นี้ให้ได้

จากประสบการณ์ปี ๒๕๓๗ ผู้ที่ผ่านการคัดเลือก และปฏิบัติได้ดีมักจะมีอายุน้อยๆ ระหว่าง ๑๒ – ๑๔ ปี บางคนตัวเล็กนิดเดียวแต่อดทน ใจเท่านั้นที่เป็นตัวบอกธาตุทรหดของแต่ละคน ขออวยพรให้ผู้ที่มีศรัทธาแรงกล้าที่จะบวชเป็นสามเณรในโครงการ ฯ ของยุวพุทธฯ ณ วัดอัมพวัน นี้ได้พัฒนาความอดทน ให้สามารถผ่านการคัดเลือก ทุกๆ ท่านเทอญ

เลี้ยงลูกเอาบุญ อย่าเลี้ยงลูกเอาคุณ จะเสียใจภายหลัง