กำไลจากในนิมิต
โดย พนิดา พิริยะวงศ์
เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ข้าพเจ้าได้นอนหลับและฝันไปว่า ได้เดินทางไปอยู่ในสถานที่หนึ่ง ที่แห่งนั้นเป็นเรือนไม้สองชั้น สีเรือนออกสีดำ ๆ ตามสีของเนื้อไม้ รูปทรงของเรือนกะทัดรัด ไม่ใหญ่นัก จะว่าเป็นทรงโบราณก็ไม่เชิง จะว่าเป็นเรือนสมัยใหม่ก็ไม่ใช่ แต่สิ่งที่ข้าพเจ้าจำได้ติดตาก็คือช่องลมลายฉลุ
ตัวเรือนหลังนี้อยู่ในบริเวณทุ่งนา มีทางเข้าจากทางถนนใหญ่ ข้าพเจ้าต้องนั่งรถยนต์ไปตามทางที่คล้าย ๆ ทางเกวียนเป็นทางที่ขรุขระ ทำให้รถต้องกระโดกกระเดกไปตลอดทาง ข้าพเจ้าเดินทางผ่านโคกใหญ่ซึ่งทางนั้นมีน้ำขังอยู่ ทำให้ผิวดินอ่อน ข้าพเจ้าจึงจำเป็นต้องลงจากรถ เพราะกลัวว่ารถจะติดหล่ม ผ่านไปไม่ได้
จนในที่สุดข้าพเจ้าก็เดินทางมาจนถึงเรือนหลังนั้น แต่ในฝันนั้นข้าพเจ้าก็ไม่รู้ตัวเองเลยว่า ทำไมต้องเดินทางมาบ้านหลังนี้ มาบ้านหลังนี้ด้วยจุดประสงค์ใด
ข้าพเจ้าเดินเข้าไปในบ้าน และสำรวจดูทั่วเรือน จนมาสะดุดตาอยู่ที่ช่องลมของบ้าน เหตุที่ข้าพเจ้าสะดุดตาและหยุดคิด เพราะว่าไม่คิดว่า บ้านที่อยู่กลางทุ่งนา สามารถตกแต่งลวดลายฉลุได้สวยงามอย่างนี้ ซึ่งตามธรรมดาแล้วช่องลมของบ้านกลางทุ่งกลางนาทั่ว ๆ ไป ไม่มีที่จะทำลวดลายช่องลมเช่นนี้
แต่นั่นไม่ใช่สาเหตุสำคัญ แต่สิ่งที่ทำให้สายตาข้าพเจ้าต้องสะดุด มองตามขึ้นไปข้างบนนั้น ซึ่งสิ่งที่ข้าพเจ้าได้เห็นเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าต้องจดจำความฝันนี้อย่างฝังใจเป็นพิเศษก็คือ
ข้าพเจ้าเห็นชายคนหนึ่ง รูปร่างสูงสันทัด ผิวกายสีดำนั่งอยู่บนชั้นบนของบ้าน ซึ่งพื้นบ้านชั้นบนนั้นยังปูพื้นไม่เสร็จดี คือยังเหลือช่องกว้างประมาณ ๔ x ๔ เมตร และยังไม่มีบันไดขึ้นลง
ข้าพเจ้าเห็นชายผู้นั้นนั่งห้อยขาอยู่ตรงบริเวณช่องว่างนั้น และชี้มือที่ยาวกว่าคนทั่วไปลงมาที่ข้าพเจ้า แล้วมองข้าพเจ้าด้วยสายตาและท่าทีว่า จะดุก็ไม่ใช่ จะใจดีก็ไม่ใช่ ข้าพเจ้ารู้สึกกลัวท่าน แล้วท่านก็พูดขึ้นพร้อมกับชี้มาที่กำไลว่า กำไลนั่นของเรา
กำไลวงนี้มีความหลังก่อนที่ข้าพเจ้าจะได้มาว่า เป็นกำไลทรงแขกออกโบราณ น้องสาวของข้าพเจ้าได้มาจากที่ไหนไม่ทราบ เขาชอบกำไลวงนี้มาก มักจะใส่อยู่เสมอ แต่ด้วยนิสัยของน้องคนนี้ที่ถ้าหากว่าตัวเองชอบอะไร ก็จะต้องให้ข้าพเจ้าชอบด้วย
ในความฝันวันนั้น ข้าพเจ้าก็ใส่กำไลวงนั้นไป ชายคนนั้นกลับทึกทักว่าเป็นของตนเองเช่นนี้ ทำให้ข้าพเจ้าตอบย้อนกลับไปทันทีว่า “กำไลนี้ไม่ใช่ของท่าน แต่เป็นของน้องสาวให้ข้าพเจ้า” แต่ชายผู้นั้นยังคงยืนยันว่าเป็นเจ้าของกำไลนั้นให้ได้ จนในที่สุดชายผู้นั้นก็พูดขึ้นว่า “รู้ไหมเราคือใคร เราคือ เจ้าพ่ออินทรบุรี” เมื่อสิ้นสุดคำพูดนี้ ข้าพเจ้าก็รู้สึกตัวตื่นขึ้น
ความฝันนั้นติดตามรบกวนจิตใจข้าพเจ้าตลอดมา จนทำให้ข้าพเจ้าคิดจะติดตามหาตัวเจ้าพ่ออินทรบุรีให้ได้ จนในที่สุดข้าพเจ้าก็ได้รับทราบจากเพื่อนว่า ที่จังหวัดสิงห์บุรี มีอำเภอหนึ่งชื่ออินทรบุรี ข้าพเจ้าก็ติดตามไปที่อำเภอนั้น ไปถามชาวบ้านดูว่ามีศาลเจ้าที่ไหนที่มีเจ้าพ่อชื่ออินทรบุรีอยู่บ้าง ซึ่งได้รับคำตอบว่าอยู่ตรงนั้นตรงนี้ ข้าพเจ้าก็พยายามไปตามที่เขาบอก ก็กลับไม่พบสถานที่ที่จะเหมือนกับในฝันนั้นสักที จนทำให้ข้าพเจ้ายกเลิกความฝันเรื่องนี้ไป เพราะคิดว่าเป็นความฝันที่ไร้สาระ
จนกระทั่งเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ข้าพเจ้าได้พบกับ คุณหมอวิทูรย์ วิสุทธเสรีวงศ์ ที่จังหวัดเชียงใหม่ คุณหมอได้แนะนำให้ข้าพเจ้าอ่านหนังสือกฎแห่งกรรม ของหลวงพ่อจรัญ แห่งวัดอัมพวัน เพราะตัวคุณหมอเองได้ไปปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวันมาก่อนแล้ว และเกิดศรัทธาในตัวหลวงพ่อมาก
คุณหมอได้เล่าถึงวัดอัมพวันว่า เป็นสำนักปฏิบัติธรรมที่สะอาด สะดวก และหนังสือที่หลวงพ่อท่านเขียนน่าอ่านมาก ซึ่งตัวของข้าพเจ้าไม่ได้สนใจในเรื่องการปฏิบัติเลย แต่ที่สนใจก็เพราะเห็นว่า ตัวคุณหมอเองยังสนใจการปฏิบัติธรรม แสดงว่าคงมีอะไรดี ๆ ที่วัดอัมพวันนี้แน่
จนกระทั่งวันหนึ่งเพื่อนข้าพเจ้าต้องเดินทางไปที่จังหวัดลพบุรี จึงได้ชักชวนกันมาแวะที่วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรีก่อน ปรากฏว่าเมื่อข้าพเจ้าเข้ามาในวัด ก็ได้มีโอกาสพบหลวงพ่อพอดี ท่านกำลังพูดถึงเรื่องของกฎแห่งกรรม แต่ข้าพเจ้าก็อยู่ฟังไม่ได้ จึงรีบกลับเสียก่อนเพราะกลัวจะมืด แต่ในครั้งนั้นข้าพเจ้าก็ได้หนังสือหลวงพ่อมาศึกษา
หลังจากข้าพเจ้าอ่านหนังสือกฎแห่งกรรมจนถึงเล่ม ๓ ข้าพเจ้ากับเพื่อนจึงพร้อมใจกันจัดหาชุดขาวเพื่อที่จะมาปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวันโดยทันที เพราะเกิดความรู้สึกว่าคงรอต่อไปไม่ได้อีกแล้ว ต้องรีบปฏิบัติ เดี๋ยวจะเสียโอกาสทองของชีวิต
ข้าพเจ้าได้มาถือศีล ๘ และปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวันหลายต่อหลายครั้ง มาครั้งใดก็รู้สึกชื่นใจ อิ่มใจ อิ่มบุญ จากผลของการปฏิบัติ และฟังธรรมะของหลวงพ่อยิ่งนัก
และในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่วัดอัมพวันก็ได้มีโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน ร่วมกับยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ข้าพเจ้าจึงรีบตัดสินใจนำบุตรชายเข้าร่วมโครงการนี้ทันที และจนกระทั่งทุกวันนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจ และมั่นใจอย่างยิ่งว่า ที่ตัดสินใจให้ลูกชายบรรพชาในครั้งนั้น ข้าพเจ้าตัดสินใจไม่ผิดเลย เพราะหนึ่งเดือนที่วัดอัมพวันสามารถอบรมขัดเกลา จนจิตใจลูกชายข้าพเจ้าเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีมากมาย ลูกสวดมนต์เป็น มีมารยาท มีสัมมาคารวะ มีจิตใจอ่อนโยน รู้บุญคุณพ่อแม่ ว่านอนสอนง่ายขึ้นทันตาเห็น และข้าพเจ้าก็พยายามสอนลูกตามแนวทางที่หลวงพ่อแนะนำ ไม่ดุด่าว่าตี แต่สั่งสอนพูดคุยกันด้วยเหตุผลว่าแม่ต้องการอย่างไร ลูกต้องการอย่างไร แล้วก็ตกลงกันอย่างมีเหตุผล ตั้งแต่ลูกบรรพชาเมื่ออายุ ๑๕ ปีขึ้นมา ข้าพเจ้ายังไม่เคยหนักใจเรื่องการสอนลูกเหมือนก่อนหน้านี้เลย เพราะได้ธรรมะ และปฏิบัติตามแนวทางคำสอนของหลวงพ่อซึ่งทั้งแม่ทั้งลูกต่างเข้าใจกันได้โดยง่าย
ข้าพเจ้าแอบชื่นชม ฟังคำสั่งสอนและปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดอัมพวันหลายปี ไม่เคยได้พบและเข้ากราบนมัสการท่านเป็นการส่วนตัวเลย กระทั่งวันหนึ่งเพื่อนของข้าพเจ้าบอกว่ามีเพื่อนจะพามากราบหลวงพ่อ ข้าพเจ้าดีใจยิ่งนัก วันนั้นข้าพเจ้าไปนั่งคอยที่กุฏิท่านนานพอสมควร ระหว่างนั้นก็ได้เห็นคนอื่น ๆ ที่มาคอยกราบหลวงพ่อ ซึ่งหลายต่อหลายคนมีความทุกข์ร้อนต่าง ๆ นานา หลวงพ่อเองท่านก็ไม่ค่อยสบายและยังต้องเขียนหนังสืออีก ข้าพเจ้านั่งคอยท่านตั้งแต่เวลาทุ่มกว่า ๆ ไปจนสี่ทุ่มกว่า ๆ ก็เกิดความรู้สึกว่าไม่ควรมารบกวนเวลาของท่านเลย เพราะเวลาของท่านเป็นประโยชน์ต่อผู้คนโดยส่วนรวมมาก ควรหลีกทางให้กับ ผู้มีความทุกข์เดือนร้อนจริง ๆ ดีกว่า ข้าพเจ้าจึงบอกเจ้าหน้าที่ที่กุฏิว่าข้าพเจ้าคงไม่รบกวนหลวงพ่อแล้ว และขอกลับที่พักผู้ปฏิบัติสักครู่หนึ่งเจ้าหน้าที่ก็เข้ามาตามและบอกว่า หลวงพ่อเขียนหนังสือเสร็จแล้ว ให้ข้าพเจ้าเข้าพบได้ ข้าพเจ้าจึงได้กราบหลวงพ่อท่านสมความตั้งใจ
เมื่อมีโอกาสสนทนากับหลวงพ่อเป็นการส่วนตัวเช่นนี้ ข้าพเจ้าจึงได้กราบเรียนถามข้อข้องใจเกี่ยวกับความฝันที่รบกวนจิตใจข้าพเจ้ามานานแล้วว่า “หลวงพ่อเจ้าคะ กุฏิหลังนี้เมื่อก่อนไม่ใช่เป็นแบบนี้ใช่ไหมเจ้าคะ และทางที่จะมากุฏินี้ต้องผ่านโคกใหญ่ที่มีน้ำแฉะ เป็นทางคล้ายทางเกวียนใช่ไหม” หลวงพ่อท่านมองหน้าข้าพเจ้าด้วยความสงสัยและถามว่าทำไมข้าพเจ้าจึงถามเช่นนี้ ข้าพเจ้าจึงตอบท่านว่า ข้าพเจ้าเคยฝันว่ามาบ้านหลังนี้ สถานที่แห่งนี้ แต่ทุกอย่างกลับไม่เหมือนเดิม เค้าโครงเดิมหายไป เช่น โคกใหญ่ที่มีน้ำแฉะก็ไม่มี ถนนก็ดีขึ้น สีของกุฏิก็ไม่ใช่สีดำ ๆ เหมือนในฝัน แต่ที่จำได้แม่นยำก็คือลักษณะการเดินทางเข้ามา และลวดลายของลายฉลุ และทิศทางที่ตั้งของกุฏิ และอีกหลาย ๆ อย่างที่ข้าพเจ้าไม่สามารถอธิบายได้ แต่โดยสรุปแล้วก็คือข้าพเจ้าได้พบบ้านในฝันนั้นแล้ว
หลวงพ่อได้กรุณาเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนนี้ที่ดินวัดอัมพวันมีอยู่มาก มีโคกใหญ่ มีหนองน้ำ แต่ต่อมาแบ่งให้กรมชลประทานทำคลองส่งน้ำ และโคกใหญ่นั้นได้ขุดย้ายมาถมที่เพื่อทำพระอุโบสถใหม่ เพราะเมื่อก่อนน้ำมักท่วมโบสถ์และกุฏิหลวงพ่อหลังนี้เพิ่งทำการต่อเติม และทาสีใหม่ จากนั้นหลวงพ่อได้กรุณาเล่าให้ฟังถึงเรื่องสมัยก่อนมากมาย เกินกว่าที่ข้าพเจ้าจะบรรยายได้ แต่ทั้งหมดทำให้ข้าพเจ้าหายข้องใจในความฝันที่ติดค้างใจข้าพเจ้ามาหลายปี แม้จะดูว่าความฝันนั้นไม่สำคัญนักก็ตาม
แต่สิ่งที่ข้าพเจ้าได้จากหลวงพ่อนั้น ยิ่งใหญ่ มีค่ายิ่งในชีวิตของข้าพเจ้า เพราะเมื่อก่อนหน้านี้ข้าพเจ้ามักคิดและเข้าใจว่า คำว่ากฎแห่งกรรมคือการได้รับความทุกข์จากกรรมที่ตามมาทัน ทำให้กลัวคำว่ากรรมตามทันมากที่สุด ไม่เคยกล้าทำบาป แต่ก็ไม่ทำบุญ ดำเนินชีวิตตามแนวศีล ๕ แต่ก็ไม่เคร่งครัด ทำได้เท่านั้นก็มากพอแล้ว ไม่เคยเข้าใจคำว่าพัฒนาจิตจนได้ศึกษาธรรมจากหลวงพ่อและหนังสือกฎแห่งกรรม ๒ – ๓ ครั้ง ทำให้ข้าพเจ้าเริ่มเข้าใจคำว่าพัฒนาจิต และเข้าร่วมกับงานพัฒนาจิตของหลวงพ่ออย่างเต็มใจ ซึ่งนับแต่นั้นมาข้าพเจ้าคิดว่า กรรมดีที่ข้าพเจ้าได้พากเพียรปฏิบัติพัฒนาจิตกำลังตอบสนองข้าพเจ้าแล้ว
นับจากนี้ไป ข้าพเจ้าคงดำเนินชีวิตได้อย่างมีหลักมีเกณฑ์ตามแนวทางของพระพุทธศาสนา แม้ชีวิตนี้จะมีความทุกข์หรือความสุข ข้าพเจ้าก็มีสติที่จะรับรู้ตามความจริงนั้น ๆ มีศีลกำกับกาย มีธรรมกำกับใจ มุ่งมั่นปฏิบัติกรรมดี เป็นคนดีของครอบครัวและสังคม ให้สมกับที่หลวงพ่อได้เหนื่อยยาก อุทิศทั้งร่างกาย จิตใจ เพื่อพัฒนาจิตเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้สืบไป นับเป็นบุญของข้าพเจ้ายิ่งนัก ที่ได้มีโอกาสพบพระสงฆ์ผู้เป็นสัพพัญญู ได้รับเมตตา และบารมีจากหลวงพ่อพระราชสุทธิญาณมงคล