กรรมฐานเบื้องต้น
สติปัฏฐาน ๔ สำหรับผู้ปฏิบัติ

ธุระในพระพุทธศาสนา

ธุระในพระพุทธศาสนามี ๒ อย่าง คือ ๑.คันถธุระ ๒.วิปัสสนาธุระ

๑. คันถธุระ ได้แก่ การศึกษาเล่าเรียนให้รู้เรื่องพระศาสนาและหลักศีลธรรม
๒. วิปัสสนาธุระ ได้แก่ ธุระ หรือ งานอย่างสูงสุดในพระศาสนา ซึ่งเป็นงานที่จะช่วยให้ผู้นับถือพระพุทธศาสนาได้รู้จักดับทุกข์ หรือเปลื้องทุกข์ออกจากตนมากน้อยตามควรแก่การปฏิบัติ ทางนี้ทางเดียวเท่านั้น ที่จะทำให้คนพ้นทุกข์ตั้งแต่ทุกข์เล็กจนถึงทุกข์ใหญ่ เช่น การเกิด แก่ เจ็บ ตาย และเป็นทางปฏิบัติที่มีอยู่ในศาสนาของพระพุทธเจ้าเท่านั้น

กรรมฐานมี ๒ ประเภท

๑. สมถกรรมฐาน กรรมฐานชนิดนี้เป็นอุบายให้ใจสงบ คือ ใจที่อบรมในทางสมถะแล้ว จะเกิดนิ่งและเกาะอยู่กับอารมณ์หนึ่งเพียงอารมณ์เดียว อารมณ์ของสมถกรรมฐานนั้น แบ่งออกเป็น ๔๐ กอง คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ พรหมวิหาร ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุวัฏฐาน ๑ อรูปธรรม ๔
๒. วิปัสสนากรรมฐาน กรรมฐานชนิดนี้เป็นอุบายให้เรืองปัญญา คือ เกิดปัญญาเห็นแจ้ง หมายความว่า เห็นปัจจุบัน เห็นรูปเห็นนาม เห็นพระไตรลักษณ์ และเห็นมรรค ผล นิพพาน

วิปัสสนากรรมฐานคืออะไร

วิปัสสนากรรมฐาน เป็นเรื่องของการศึกษาชีวิต เพื่อจะปลดเปลื้องความทุกข์นานาประการ ออกเสียจากชีวิต เป็นเรื่องของการค้นหาความจริงว่า ชีวิตมันคืออะไรกันแน่ ปกติเราปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปตามความเคยชินของมันปีแล้วปีเล่ามันมีแต่ความมืดบอด

วิปัสสนากรรมฐาน เป็นเรื่องของการตีปัญหาซับซ้อนของชีวิต เป็นเรื่องของการค้นหาความจริงของชีวิต ตามที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำมา

วิปัสสนากรรมฐาน เป็นการเริ่มต้นในการปลดเปลื้องตัวเราให้พ้นจากความเป็นทาสของความเคยชินในตัวเรา เรามีของดีที่มีคุณค่าอยู่แล้ว คือ สติสัมปชัญญะ แต่เรานำออกมาใช้น้อยนัก ทั้งที่เป็นของมีคุณค่าแก่ชีวิตหาประมาณมิได้

วิปัสสนากรรมฐาน เป็นการระดมเอาสติทั้งหมดที่มีอยู่ในตัวเรา เอาออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์

วิปัสสนากรรมฐาน คือ การอัญเชิญสติที่ถูกทอดทิ้ง ขึ้นมานั่งบัลลังค์ของชีวิต เมื่อมีสติขึ้นมานั่งบัลลังค์แล้ว จิตจะคลานเข้ามา หมอบถวายบังคมอยู่เบื้องหน้าสติ สติจะควบคุมจิต มิให้แส่ออกไปคบหาอารมณ์ต่างๆ ภายนอก ในที่สุดจิตก็จะคุ้นเคยกับการสงบอยู่กับอารมณ์เดียว เมื่อจิตตั้งมั่นดีแล้ว การรู้ตามความเป็นจริงก็เป็นผลตามมา เมื่อนั้นแหละเราก็จะทราบได้ว่า ความทุกข์มาจากไหน เราจะสกัดกั้นมันได้อย่างไร นั่นแหละผลงานของสติละ

ภายหลังจากที่ทุ่มเทสติสัมปชัญญะลงไปอย่างเต็มที่แล้ว จิตใจของผู้ปฏิบัติก็จะได้สัมผัสกับสัจจะแห่งสภาวธรรมต่างๆ อันผู้ปฏิบัติไม่เคยเห็นอย่างซึ้งใจมาก่อน ผลงานอันมีค่าล้ำเลิศของสติสัมปชัญญะ จะทำให้เราเห็นอย่างแจ้งชัดว่าความทุกข์ร้อนนานาประการนั้น มันไหลเข้ามาสู่ชีวิตของเราทางช่องทวารทั้ง ๖ ช่องทวารทั้ง ๖ นั้น เป็นที่ต่อและบ่อเกิดสิ่งเหล่านี้ คือ ขั้นธ์ ๕ จิต กิเลส…

การเรียนรู้วิปัสสนากรรมฐานนั้นเรียนได้ ๒ อย่างคือ ๑. เรียนอันดับ ๒. เรียนสันโดษ

การเรียนอันดับ คือ การเรียนให้รู้จักขันธ์ ๕ ว่าได้แก่อะไรบ้าง ย่อให้สั้นในทางปฏิบัติ เหลือเท่าใด ได้แก่อะไรบ้าง เกิดที่ไหน เกิดเมื่อไร เมื่อเกิดขึ้นแล้วอะไรจะเกิดตามมาอีก จะกำหนดตรงไหน จึงจะถุกขันธ์ ๕ เมื่อกำหนดถุกแล้วจะได้ประโยชน์อย่างไรบ้างเป็นต้น นอกจากนี้ก็ต้องเรียนรู้ในเรื่องอายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ โดยละเอียดเสียก่อน เรียกว่า เรียนภาคปริยัติ วิปัสสนาภูมินั่นเอง แล้วจึงจะลงมือปฏิบัติ

เรียนสันโดษ คือ การเรียนย่อๆ สั้นๆ สอนเฉพาะที่ต้องปฏิบัติเท่านั้น เรียนชั่วโมงนี้ก็ปฏิบัติชั่วโมงนี้เลย เช่น สอนการเดินจงกรม สอนวิธีนั่งกำหนด สอนวิธีกำหนดเวทนา สอนกำหนดจิต แล้วลงมือปฏิบัติเลย

หลักใหญ่ในการปฏิบัติวิปัสสนาฯ มีหลักอยู่ ๓ ประการ

๑. อาตาปี ทำความเพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน
๒. สติมา มีสติ คือระลึกอยู่เสมอว่าขณะนี้เราทำอะไร
๓. สัมปชาโน มีสติสัมปชัญญะ คือขณะนี้ทำอะไรอยู่นั้นต้องรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา

นอกจากนั้นผู้ปฏิบัติต้องมีศรัทธา ความเชื่อว่าการปฏิบัติเช่นนี้มีผลจริง ความมีศรัทธานี้เปรียบประดุจเมล็ดพืชที่สมบูรณ์ดีพร้อม ที่จะงอกงามได้ทันทีที่นำไปปลูก ความเพียรประดุจน้ำที่พรมลงไปที่เมล็ดพืชนั้น เมื่อเมล็ดพืชได้น้ำพรมลงไปก็จะงอกงามสมบูรณ์ทันที เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติจะได้ผลมากน้อยเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับสิ่งเหล่านี้ด้วย

การปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติจะต้องเปรียบเทียบจิตใจของเราในระหว่าง ๒ วาระ ว่าก่อนที่ยังไม่ปฏิบัติ และหลังการปฏิบัติแล้ว วิเคราะห์ตัวเองว่า มีความแตกต่างกันประการใด…

วิธีการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเบื้องต้น

ยืนหนอ ๕ ครั้ง
ก่อนเดินให้ยกมือไขว้หลัง มือขวาจับมือซ้าย วางไว้ตรงกระเบนเหน็บ ยืนตัวตรง เงยหน้า หลับตา ให้สติจับอยู่ที่กระหม่อม กำหนดว่า “ยืนหนอ” ช้าๆ ๕ ครั้ง เริ่มจากศีรษะลงไปที่ปลายเท้า และจากปลายเท้าขึ้นไปบนศีรษะ กลับขึ้นกลับลงจนครบ ๕ ครั้ง

แต่ละครั้งแบ่งเป็นสองช่วง ช่วงแรกคำว่า “ยืน” จิตวาดมโนภาพร่างกายจากศีรษะลงมาหยุดที่สะดือ คำว่า “หนอ” จากสะดือลงไปที่ปลายเท้า กำหนดคำว่า “ยืน” จากปลายเท้ามาหยุดที่สะดือ คำว่า “หนอ” จากสะดือขึ้นไปกระหม่อม กำหนดกลับไปกลับมา จนครบ ๕ ครั้ง ขณะนั้นให้สติอยู่ที่ร่างกายอย่าให้ออกไปนอกกาย…

เดินจงกรม
เมื่อยืนหนอ ๕ ครั้งเสร้จแล้ว ก้มหน้า ลืมตา ตามองที่ปลายเท้าข้างที่กำหนด สติจับอยู่ที่เท้า การเดิน กำหนดว่า “ขวา…” “ย่าง…” “หนอ…” กำหนดในใจ

คำว่า “ขวา” ต้องยกส้นเท้าขวาขึ้นจากพื้นประมาณ ๒ นิ้ว เท้ากับใจนึกต้องให้พร้อมกัน

คำว่า “ย่าง” ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าให้ช้าที่สุด เท้ายังไม่เหยียบพื้น

คำว่า “หนอ” วางเท้าลง เหยียบพื้นเต็มฝ่าเท้า อย่าให้ส้นเท้าหลังเปิด

เวลายกเท้าซ้ายก็เหมือนกัน กำหนดคำว่า “ซ้าย…” “ย่าง…” “หนอ…” คงปฏิบัติเช่นเดียวกับ “ขวา…” “ย่าง…” “หนอ…” ระยะก้าวในการเดินห่างกันประมาณ ๑ คืบ เป็นอย่างมาก เพื่อการทรงตัว ขณะก้าวจะได้ดีขึ้น เมื่อเดินสุดสถานที่ที่ใช้เดินแล้ว ให้นำเท้ามาเคียงกัน หลับตา เงยหน้า กำหนด “ยืน…หนอ…” ช้าๆ อีก ๕ ครั้ง (เหมือนกับที่อธิบายไว้แล้ว) ก้มหน้า ลืมตา

ท่ากลับ
การกลับกำหนดว่า “กลับหนอ…” ๔ ครั้ง คำว่า “กลับหนอ”

ครั้งที่ ๑ ยกปลายเท้าขวา ใช้ส้นเท้าขวาหมุนตัวไปทางขวา ๙๐ องศา

ครั้งที่ ๒ นำเท้าซ้ายมาวางเคียงกับเท้าขวา

ครั้งที่ ๓ ทำเหมือนครั้งที่ ๑

ครั้งที่ ๔ ทำเหมือนครั้งที่ ๒

เมื่ออยู่ในท่ากลับหลังหันแล้ว ต่อไปให้กำหนด “ยืน…หนอ…” ช้าๆ อีก ๕ ครั้ง ก้มหน้า ลืมตา แล้วกำหนดเดินต่อไป กระทำเช่นนี้จนหมดเวลาที่ตั้งใจไว้

นั่งสมาธิ
การนั่ง กระทำต่อจากการเดินจงกรมอย่าให้ขาดตอนลง เมื่อเดินจงกรมถึงที่จะนั่งให้กำหนด ยืนหนอ ๕ ครั้ง ตามที่กระทำมาแล้วเสียก่อน แล้วกำหนดปล่อยมือหนอลงข้างตัว กำหนดว่าปล่อยมือหนอๆ ๆ ๆ ๆ ช้าๆ จนกว่าจะลงสุด เวลานั่งค่อยๆ ย่อตัวลง พร้อมกำหนดตามอาการที่ทำไปจริงๆ เช่น ย่อตัวหนอๆ ๆ เท้าพื้นหนอๆ ๆ คุกเข่าหนอๆ ๆ นั่งหนอๆ ๆ เป็นต้น

วิธีนั่ง ให้นั่งขัดสมาธิ คือ ขาขวาทับขาซ้าย นั่งตัวตรง หลับตา นำสติมาจับอยู่ที่สะดือที่ท้องพองยุบ เวลาหายใจเข้าท้องพอง กำหนดว่า พองหนอ ใจนึกกับท้องที่พองต้องให้ทันกัน อย่าให้ก่อน หรือ หลังกัน หายใจออกท้องยุบ กำหนดว่า ยุบหนอ ใจนึกกับท้องที่ยุบ ต้องทันกันอย่าให้ก่อน หรือ หลังกัน  ข้อสำคัญให้สติจับอยู่ที่พองยุบเท่านั้น อย่าดูลมที่จมูก อย่าตะเบ็งท้อง ให้มีความรู้สึกตามความเป็นจริงว่า ท้องพองไปข้างหน้า ท้องยุบมาข้างหลัง อย่าให้เห็นเป็นไปว่า ท้องพองขึ้นข้างบน ท้องยุบลงไปข้างล่าง ให้กำหนดเช่นนี้ตลอดไป จนกว่าจะครบเวลากำหนด

เมื่อมีเวทนา เวทนาเป็นเรื่องสำคัญที่สุด จะต้องบังเกิดขึ้น แก่ผู้ปฏิบัติอย่างแน่นอน ผู้ปฏิบัติจะต้องมีความอดทน เพื่อเป็นการสร้างขันติบารมีไปด้วย ถ้าผู้ปฏิบัติขาดความอดทนเสียแล้วการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้นก็ล้มเหลว

ในขณะที่นั่ง หรือเดินจงกรมอยู่นั้น ถ้ามีเวทนาความเจ็บปวด เมื่อย คัน เกิดขึ้น ให้หยุดเดิน หรือ หยุดกำหนดพองยุบ ให้เอาสติไปตั้งไว้ที่เวทนาเกิด และกำหนดไปตามความเป็นจริงว่า ปวดหนอๆ ๆ เจ็บหนอๆ ๆ เมื่อยหนอๆ ๆ คันหนอ เป็นต้น ให้กำหนดไปเรื่อยๆ จนกว่าเวทนาจะหายไป แล้วให้กำหนดนั่ง หรือเดินต่อไป

จิต เวลานั่งอยู่ หรือ เดินอยู่ ถ้าจิตคิดถึงบ้าน คิดถึงทรัพย์สิน รือคิดฟุ้งซ่านต่างๆ นานา ก็ให้เอาสติปักลงที่ลิ้นปี่ พร้อมกับกำหนดว่า คิดหนอๆ ๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจิตจะหยุดคิด แม้ดีใจ เสียใจ หรือ โกรธก็กำหนดเช่นกันว่า ดีใจหนอๆ ๆ เสียใจหนอๆ ๆ โกรธหนอๆ ๆ เป็นต้น

เวลานอน เวลานอนค่อยๆ เอนตัวนอนพร้อมกับกำหนดตามไปว่า นอนหนอๆ ๆ จนกว่าจะนอนเรียบร้อย ขณะนั้นให้เอาสติมาจับที่ท้องแล้วกำหนดว่า พองหนอ ยุบหนอ ต่อไปเรื่อยๆ ให้คอยสังเกตให้ดีว่าจะหลับตอนพอง หรือ ตอนยุบ

อิริยาบทต่างๆ การเดินไปในที่ต่างๆ การเข้าห้องน้ำ การเข้าห้องส้วม การรับประทานอาหาร และการกระทำกิจการงานทั้งปวง ผู้ปฏิบัติต้องมีสติกำหนดอยู่ทุกขณะในอาการเหล่านี้ ตามความเป็นจริง คือ มีสติสัมปชัญญะเป็นปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา

สติปัฎฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม สำหรับผู้ปฏิบัติ

การบำเพ็ญจิตภาวนาตามแนวทางสติปัฎฐาน ๔ ของพระพุทธเจ้าของเรานี้ วิธีปฏิบัติเบื้องต้นต้องยึดแนวหลักสติเป็นตัวสำคัญสติปัฎฐาน ๔ มีอยู่ ๔ ข้อ สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมใหม่ จงท่องความหมายนี้ไว้ก่อน

ข้อที่ ๑ กายานุปัสสนาสติปัฎฐาน

กายานุปัสสนาสติปัฎฐาน แปลตามศัพท์ว่า พิจารณากายในกายนี้สักแต่ว่ากาย ไม่มีตัวตนบุคคลเราเขา แต่โดยวิธีปฏิบัติแล้ว ให้เอาสติ เอาจิตเพ่งดูกาย ยืน เดิน นั่ง นอน เหลียวซ้าย แลขวา จะคู้แขน เหยียดขาต้องติดตามดู คือใช้สตินี่เอง ดูร่างกายสังขารของเรา อันนี้เรารู้ไว้เป็นเบื้องต้นก่อนสำหรับข้อหนึ่ง… เราจะคู้ เราจะเหยียดขา จะได้รู้ว่ามีระยะเท่าไร มีภาวะเป็นอย่างไรในตัวเรา ไม่ใช่ไปดูคนอื่น…

การสำรวมจิตใช้สติไปที่กายแล้วเราภาวนา เคลื่อนย้ายโดยกาย จิตเป็นผู้สั่ง กายเป็นผู้เคลื่อน สติระลึกอยู่เสมอ สัมปชัญญะรู้ตัวขณะปัจจุบัน จิตของเราที่กระสับกระส่ายและฟุ้งซ่าน ก็จะสงบเข้าสู่แหล่งแห่งกาย เรียกว่า กายานุปัสสนา

ภายในก็แจ่มใส สติควบคุมจิตไว้ได้ กายจะเคลื่อนย้ายไปทางไหนก็เต็มพร้อมไปด้วยศีล เพราะเรามีสติดี ความรู้ตัวดี เคลื่อนย้ายอยู่ปัจจุบันขณะเคลื่อนย้ายไปย้ายมาก็รู้ตัว

ความรู้นั้นคือตัวสัมปชัญญะ สัมปชัญญะตัวนี้คือรู้ปัจจุบัน สติรู้ตอนขณะจะเคลื่อนจะย้าย รู้ตัวอยู่เรียกว่า สติ สัมปชัญญะตัวนี้คือรู้ปัจจุบัน สติตอนรู้ขณะจะเคลื่อนจะย้ายก็รู้ว่าจะย้าย รู้ตัวไปควบคู่กับจิต เรียกว่า สติสัมปชัญญะ

แล้วเรารู้เคลื่อนย้ายในสภาวะรูป รูปกายคือเรารู้เคลื่อนไปทางไหน รู้หมดในขณะกำหนดปัจจุบันนั้น ปัญญาคือความรู้ มันก็เกิดรู้จริงในอารมณ์ของเรา ถ้าไม่มีอย่างนี้ ความรู้ที่เกิดขึ้นขณะนั้นก็รู้ไม่จริง รู้สิ่งที่เคลื่อนย้ายไปเฉยๆ ขาดสติสัมปชัญญะเรียกว่าเรื่องธรรมดา นักปฏิบัติต้องกำหนดให้ละเอียด มีสติสัมปชัญญะนี้ทำยาก ไม่ใช่ทำง่าย

แต่มันง่ายสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมบ่อยๆ จะเคลื่อนย้ายก็ใช้สติอยู่เสมอ ใช้ความรู้คือตัวสัมปชัญญะ ในการเคลื่อนย้ายให้ทันปัจจุบัน ปัญญาคือความรู้ก็เกิดมารู้ในอารมณ์ รู้แน่นอนโดยละเอียด ว่าจิตจะเคลื่อนย้ายซ้ายขวาประการใด เราจะรู้ตัวแจ้งชัด ละเอียดอ่อน เรียกว่ารู้สภาวธรรม

การรู้อย่างนี้ต้องมีจิตละเอียด จิตละเอียดได้ต้องมีสมาธิ จิตจับจุดอยู่ในการเคลื่อนย้ายของกาย จึงเรียกว่าสมาธิ แต่สติไม่ย้ายไปที่ไหนอยู่ในอารมณ์จิตที่กายเคลื่อนย้าย ก็ตามไปตามอันดับ คำว่าตามไปนั้น เรียกว่า ตัวสัมปชัญญะ รู้ตัวขณะตามจิต รู้ตัวย้ายเคลื่อน เหลียวซ้ายแลขวา จะคู้หรือจะเหยียด รู้พร้อมมูลบริบูรณ์ดี เรียกว่า รูปนาม

เคลื่อนเป็นรูปนามรูปมันเคลื่อน แต่จิตรู้เป็นตัวนาม ประกอบด้วยปัญญาญาณ รู้ละเอียดอ่อน รู้มารยาท รู้ปัจจัตตัง รู้ขณะนั้นเรียกว่า ปัญญา ปัญญาตัวนี้แปลว่า รู้รอบในกองสังขาร เรียกว่ารู้ขันธ์ ๕ รูปนามประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ที่ประกอบด้วย ขันธ์ ๕ นั้น คือ รูป สักแต่ว่ารูป ก็เป็นรูปเคลื่อนย้าย แปรผันกลับกลอก ไม่คงที่เรียกว่ารูป มันเสื่อมได้ มันเป็นสมมุติขึ้นมาไปรูปกาย โยกย้ายเคลื่อนคลอนได้ เรียกว่าสภาวรูป

ข้อที่ ๒ เวทนานุปัสสนาสติปัฎฐาน

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนาเป็นสภาพที่ทนอยู่ไม่ได้ บัญชาการไม่ได้ ต้องเป็นตามสภาพนี้ และเป็นไปตามธรรมชาติเหล่านี้ เวทนามีอยู่ ๓ ประการด้วยกัน ได้แก่ สุขเวทนา ทุกขเวทนา และอุเบกขาเวทนา

ทั้งสามประการนี้ จุดมุ่งหมายก็ต้องการจะให้สติไปพิจารณาเวทนานั้นๆ เช่น ฝ่ายสุขก็มีทั้งสุขกาย สุขใจ อันนี้เรียกว่า สุขเวทนา แล้วก็ทุกข์กายทุกข์ใจ หรือจะว่าทุกข์ทางด้ายกายและใจก็ได้ เรียกว่า ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา ก็คือไม่สุขไม่ทุกข์ จิตใจมักจะเลื่อนลอยหาที่เกาะไม่ได้ เรียกว่าอุเบกขาเวทนา

วิธีปฏิบัติต้องใช้สติกำหนด คือตั้งสติระลึกไว้ ดีใจก็ให้กำหนด กำหนดอย่างไร หรือ กำหนดที่ลิ้นปี่ หายใจยาวๆ จากจมูกถึงสะดือให้ได้ หายใจขึ้นลงยาวๆ กำหนดว่า ดีใจหนอ ดีใจหนอ

ทำไมต้องปฏิบัติ เช่นนี้เล่า เพราะความดีใจและสุขกายสุขใจนั้นเดี๋ยวก็ทุกข์อีก สุขเจือปนด้วยความทุกข์อย่างนี้เพื่อความไม่ประมาทในชีวิตของเราจะต้องรู้ล่วงหน้า รู้ปัจจุบันด้วยการกำหนด จึงต้องกำหนดที่ลิ้นปี่

บางคนบอก กำหนดที่หัวใจ ถูกที่ไหน หัวใจอยู่ที่ไหนประการใด อันนี้ผู้ปฏิบัติยังไม่ต้องรับรู้วิชาการ ทิ้งให้หมด ปฏิบัติตรงนี้ให้ได้…

ที่เรียกว่า เวทนาขันธ์ คำว่าเวทนาขันธ์นี้ มันเกิดมาจากตัวเราบังคับบัญชาไม่ได้ เราอยากจะรู้จักขันธ์ข้อที่ ๒ คือ เวทนานี้ ต้องใช้สติสัมปชัญญะเช่นเดียวกัน ขันธ์ของรูป รูปขันธ์ทิ้งไป อย่าไปไขว่คว้าอยู่ในจุดรูปขันธ์ ต้องเคลื่อนย้ายมาอยู่ในจุดเวทนา เรียกว่า เวทนาขันธ์

เวทนาขันธ์ข้อนี้สำคัญมาก มีปวดเมื่อย เรียกว่าทุกข์ภายในด้านกาย มันเกิดขึ้นกับตัวเรา มันก็ต้องประกอบไปด้วยรูป เพราะสังขารทั้งหลายปรุงแต่ง มันเกิดเวทนาเช่นนี้ เราต้องอาศัยสติไปอยู่ที่จิตจับจุดเวทนา ลึกเข้าไปเวทนาในเวทนา สัมปชัญญะขณะรู้ว่าปวด สติบอกเวทนา

ตัวสัมปชัญญะจะบอกว่า ปวดมากน้อยประการใด นักปฏิบัติต้องจับจุดนี้ก่อน เรียกว่า เวทนาขันธ์ ก็กำหนดที่ขันธ์นั้นเกิดขึ้นแก่ตัวเรา แต่ในขั้นนี้เราจะแยกแยะอย่างไรเล่า เราใช้สติไประลึกว่า อ๋อนี่คือเวทนา เราก็ใช้สตินี้ไปควบคุมดูเวทนาของจิต เอาจิตไปจับที่มันปวด ที่มันเมื่อยอยู่ในจุดนั้น แล้วเราก็ใช้ตัวรู้คือการปรุงแต่ง มันก็เกิดขึ้น ในเมื่อเกิดขึ้นเช่นนี้แล้ว เราก็กำหนดว่า ปวดหนอๆ

หนอนี้รั้งจิตให้มีสติ หนอตัวนี้สำคัญ ทำให้เรามีสติ ทำให้รู้ตัวเกิดขึ้นโดยไม่ฟุ้งซ่าน ในเรื่องเวทนาที่มันปวด และเราก็ตั้งสติต่อไป ปวดหนอๆ หายใจยาวๆ ด้วย แล้วก็เอาจิตเกาะอยู่ที่เวทนาในภายนอก

เวทนาตัวใน คือรูป นาม ขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ ตัวเวทนาตัวใน ไม่มีอื่นไกล คือรูปกับนามทั้งสิ้น อยู่ในจุดนั้นทำไมเกิดรูปนามเกิดนาม ตอนเกิดสัมผัสและปรุงแต่ง มันเกิดขึ้นในเวทนา เวทนาปวดหนอๆ ปวดนี้เป็นกรรมอันหนึ่ง หรือเป็นอุปสรรคอันหนึ่งสำหรับผู้นั่งสมาธิ อาจจะไม่ทนต่อเหตุการณ์ปวดได้ จึงต้องทน อดทน เราต้องฝึก เราต้องฝืนใจเป็นอันดับต้น เพราะผู้ปฏิบัติเพิ่งเข้ามาใหม่ ยังไม่เคยปฏิบัติ ต้องฝืนใจก่อน

บางท่านไม่เคยนั่งพับเพียบนาน ไม่เคยนั่งสมาธิสองชั้นนาน ถึงจะนั่งก็นั่งเปลี่ยนอิริยาบถ จึงไม่รู้จักตัวกฏแห่งกรรม คือ คำว่าปวด ไม่รู้ไม่เข้าใจ เพราะเราเปลี่ยนอิริยาบถอยู่เสมอ นั่งนานเราก็ลุกเดิน เดินแล้วเมื่อยก็นั่ง นั่งเมื่อยเกินไปก็เอนหลังนอน เปลี่ยนโยกย้ายอย่างนี้ เราจะรู้ของจริงไม่ได้ เราจะรู้ได้เพียงของปลอม

บางครั้งปวดมาก โยมต้องศึกษา ต้องเรียนขันธ์นี้ให้สำเร็จ คือ เวทนาขันธ์ เพราะขันธ์นี้เกิดขึ้นแก่ตัวเราแล้ว คือเวทนา ไม่สบาย บังคับไม่ได้ ทนต่อเหตุการณ์นี้ไม่ได้

ต้องฝืนต้องใช้สติไปพิจารณษเกิดความรู้ว่าปวดขนาดไหน ปวดอย่างไร แล้วก็ภาวนากำหนดตั้งสติไว้ เอาจิตเข้าไปจับ ดูการปวด เคลื่อนย้ายของเวทนา เดี๋ยวก็ชา เดี๋ยวก็สร่าง จับมันได้ว่า บังคับมันไม่ได้ มีความเข้าใจในขันธ์นี้ เรียกว่า เวทนาในเวทนา คำว่าในเวทนานี้ จะอธิบายให้โยมฟังง่ายๆ คือ ในจิต จิตไปเกาะเวทนา รู้สภาพเวทนาเป็นอยู่อย่างนี้ แล้วก็แจ้งในขันธ์นี้ มันก็เกิดขึ้นโดยสังขารปรุงแต่ง แล้วก็จะเสื่อมโดยสภาพของมัน แล้วก็จะแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ความปวดนั้นก็จะเคลื่อนย้าย เราก็จับในเวทนาได้ว่า อ๋อ ในเวทนานี้ มันปวดขนาดนี้

เรารู้ตัวอย่างนี้ เราเข้าใจอย่างนี้ เราก็มีปัญญาญาณเกิดขึ้น รู้ข้อคิดในอารมณ์ของเวทนา ว่าปวดอย่างนี้ คนอื่นไม่ปวดอย่างเรา เพราะปวดคนละคนเราจะรู้ของคนอื่นก็ยาก เราต้องรู้ตัวอย่างนี้ พอรู้ได้แล้ว เราก็กำหนดเวทนา จิตก็คล่องแคล่ว สมาธิเกิด ในเมื่อสมาธิเกิดด้วยสังขารปรุงแต่ง ความเบาก็เกิดขึ้นในสภาวธรรม เรียกว่าเคลื่อนย้าย และเคลื่อนจากปวดสูงเต็มที่แล้ว มันก็เคลื่อนย้ายลง ยุบลงๆ แพ้สยบเราแล้ว

เมื่อทุกขเวทนาแพ้เราแล้ว เราจะรู้เวทนาตัวใน คือรู้ทันเวทนาตัวใน เรียกว่ารู้ทันรูปนาม ตัวในเรียกว่ารู้ทันปัจจุบัน ในเมื่อทันปัจจุบันเช่นนี้แล้ว ญาณก็เกิด คือ ปัญญา สามารถจะรอบรู้ในกองสังขาร ในการปรุงแต่งได้ จิตก็แยกออกมา รูปก็แยกออกไป เพราะอาศัยกันอยู่ มันถึงได้ปวดหนัก พอแยกได้เมื่อใด พระไตรลักษณ์แจ้งชัด คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้หนอ เวทนาเอ๋ย เวทนานั้นก็เสื่อมชำรุดยุติแค่นั้น

เวทนานี้มันปวดลึกซึ้ง มันปวดในกระดูก แต่เราก็ไม่รู้มัน เพราะเราไม่เอาจิตไปเกาะ กลับไปเคลื่อนย้ายมัน ไปเดิน ไปนั่ง ไปนอน ไปเปลี่ยนอิริยาบถ ไปนั่งชมวิวแล้วก็ชื่นใจ ตัวเวทนานั้นมันต้องสู้กับเราต่อไป เพราะเราจับมันไม่ได้ เรารู้เท่าไม่ถึงการณ์ของมัน เราก็ไม่สามารถจะทราบว่าเวทนาของเราเป็นประการใด เพียงรู้เวทนาในเปลือกของมันว่า ปวด

แต่รู้ภายใน ก็เรียกว่ารู้ด้วยปัญญา รอบรู้ในกองสังขาร เข้าใจสังขารของเราดี เข้าใจว่าเป็นสภาพอย่างนี้ด้วยกันทุกคน ไม่มีอื่นใดมาปะปนระคนกันอารมณ์เราก็เข้าสู่ สถาวะเอกัคตา ในเวทนาสมาธิ ปัญญาก็เกิดรอบรู้ในกองสังขาร ไม่เที่ยงหนอ อย่าไปพะเน้าพะนอมันเลย

เวทนาในเวทนานี้ ไม่มีอะไรดีเลย มีแต่เกาะเกี่ยวเกี้ยวพันในสันดาน สืบเนื่อง มันก็ปรุงแต่งให้เราปวด ปรุงแต่งให้เราเจ็บ ปรุงแต่งให้เรากระทาย ปรุงแต่งให้เราเหนื่อย ปรุงแต่งให้เราเมื่อย ตลอดรายการ

ปวดเมื่อยไม่ต้องแก้ มันไม่หาย แต่เรารู้เท่าทันเวทนาได้ เวทนาในเวทนา เราก็แยกจิตออกเป็นส่วนหนึ่ง เอารูปออกมาอีกส่วนหนึ่ง นามธรรม รูปธรรมก็แยกกัน เรียกว่าแยกสังขารเวทนาออก เรียกรู้ในเวทนา เวทนาตัวบอกคือรูป แยกจิตออกจิตไม่เกาะในเวทนา จิตก็ไม่ปวดกับมัน จิตแยกออกมาเพลิดเพลินด้วยสมาธิ ปัญญาภาวนาเกิดขึ้น เวทนาที่ปวดนั้นมันก็วูบวาบหายไป เพราะเหตุใดหรือ

ตอบให้โยมฟัง ถ้ารู้เท่าทันเวทนาเมื่อใด ปัญญาเกิด จิตไม่ไปเกาะ ไม่มีอุปาทานยึดมั่น ก็รู้ของจริงตามสภาพความเป็นอยู่ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ อนิจจัง มันไม่เที่ยงมันจึงเป็นทุกข์ ทุกขัง มีแต่ทุกข์อยู่ในจิตใจ จิตมันไปเกาะทุกข์ ไปเกาะที่เวทนา เลยเวทนาเกิดขึ้น ไม่หายอย่างนี้

นักปฏิบัติต้องมีความเข้าใจข้อนี้ด้วย ถ้าไม่เข้าใจจริง กำหนดไม่หายเลิกเลย แล้วก็เคลื่อนย้ายไปนั่ง ไปนอน ไปคุยกัน รับรองโยมจะไม่พบพระไตรลักษณ์ ไม่พบอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเลย เห็นเป็นของจริงที่ไม่แน่นอน ของที่ไม่แน่นอนกลับเห็นเป็นของแน่นอน เหมือนเรามีแว่นตาที่เป็นสี มองไม่เห็นของจริง หญ้าแห้งๆ เห็นเขียวๆ พอเอาแว่นสีออกจะมองเห็นว่าหญ้านั้นมันแห้ง ไม่เป็นสีเขียวแต่ประการใดนี้ก็เปรียบเทียบเช่นเดียวกัน

การรับรู้ของจริงนั้นต้องรู้ในเวทนา ไม่ใช่รู้เพียงปวด ไม่ใช่รู้เพียงเมื่อย ไม่ใช่รู้เพียงแต่ว่าเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ในวิชาการต้องรู้ว่า เกิดอย่างไร เกิดขึ้นกับตัวเองอย่างไร เคลื่อนย้ายอย่างไร

เวทนาเกิดจากไหน ก็เกิดจากของไม่เที่ยง คือ อนิจจัง จิตมันไปเกาะที่เจ็บ จิตเกาะที่ปวดท้อง จิตไปเกาะที่ปวดศีรษะ จิตเกาะที่หัวใจเป็นโรคหัวใจ เราเข้าใจอย่างนี้ สิ่งทั้งหลายเลยเกาะกันแน่น เลยจิตก็อุปาทานยึดแน่น ท่านจะไม่พบของจริง คือ พระไตรลักษณ์ จึงแยกเวทนาออกจากจิตไม่ได้เพราะมันมีรูปบังเกิด สมส่วนควรกันในสังขารปรุงแต่ง มันจึงปวดหนักและเราไม่ไปเพลิดเพลิน

ยกตัวอย่างให้โยมฟัง จิตไม่ไปเพลินที่เวทนา จิตกลับเพลินที่เราพูดคุยกัน จิตไปเพลินที่ไปดูอะไรต่างๆ ที่เราเรียกว่าลืมปวด ลืมเมื่อยนั่งเอง ลืมไปหมดนี่มันแยกออกไปได้ เพียงแต่จิตรู้เท่าทันของเวทนาที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แปรปรวน ดับไป โดยสังขารปรุงแต่ง แล้วก็เกิดอนัตตาความไม่แน่นอน เป็นอย่างนี้แหละหนอ

จิตที่ไปเกาะนั้นมันก็ถอยออกมา ไม่ไปเกาะเวทนาต่อไป ความเมื่อยปวดนั้นก็หายวับไปกับตา ด้วยสังขารที่ปรุงแต่ง มันก็เกิดขึ้นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จิตของเราก็เข้าสู่ภาวนา จิตก็เข้าสู่ปัญญาญาณเรียกว่าแยกรูปแยกนามได้

แยกขันธ์แต่ละขันธ์ออกเป็นสัดส่วน เรียกว่าเวทนาขันธ์ จะเป็นความสุข ความทุกข์ ความดีใจ ความเสียใจ อิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ หรือ จะเป็นโทมนัสสัง โสมนัสสัง เกิดขึ้นในทุกข์ ทุกข์อยู่ประจำ หรือทุกข์จรเข้ามาจิตมันก็แยก ไม่เกาะ จิตมันเหมาะเจาะอยู่ในรูปนาม ไหนล่ะทุกข์จรจะเข้ามาหาเราได้ ทุกข์ประจำมันก็ออกไป แล้วเราจะไปทุกข์มันเรื่องอะไร มันจะบอกเราด้วยปัญญา แปลว่า รอบรู้ในกองการสังขาร เมื่อปรุงแต่งเกิดขึ้น เราไม่ติดที่ปรุงแต่ง

สังขารมันเกิดขึ้น มันเป็นธรรมชาติของมัน ต้องปรุงแต่ง ห้ามไม่ได้ มันจึงปวดรวดร้าวทั่วสกนธ์กาย เหมือนโยมเป็นไข้ แยกเวทนาออก ไข้มันร้อน ปวดศีรษะเป็นกำลัง จิตก็มีอุปาทานยึดในปวดนั้น แยกออกมาเป็นสัดส่วน

รูปนามขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์เมื่อใด โยมจะไม่มีจิตเป็นไข้ ใจไม่เป็นไข้ แต่เป็นไข้เฉพาะสังขารที่มันปรุงแต่งอยู่เสมอ แต่จิตก็แยกออกมา เรียกว่านามธรรม สภาวธรรมเกิดขึ้นนั้น เรียกว่า ตัวปัญญา สามารถจะรอบรู้ในกองการสังขารได้ชัดเจน

รู้ของจริงต้องรู้สภาพความเป็นจริงของสังขารที่เกิดตามสภาวะ โดยสี โดยสัณฐาน โดยอาการของมันอย่างนี้แล้วถึงจะเรียกว่ารู้จริง รู้ว่ามันปวดอย่างไร รู้จริงขึ้นมาด้วยตนเอง ตามศัพท์นี้เรียกว่า “ปัจจัตตัง” รู้ได้เฉพาะตน ของตนเองเท่านั้น คนอื่นเขาไม่รู้ คนอื่นเขาไม่เข้าใจ

แต่ปัญญาในหลักกรรมฐานนี้ ต้องจับจุดปัญญาได้ แยกเวทนาได้ เอาเวทนาไปฝากไว้ก่อน เอาจิตใจเราไปทำงานอื่นเสียก่อน สบายใจ เพราะเวทนาไม่มาเกี่ยวกันกับสังขาร ไหนเลยล่ะ จิตจะไปพัวพันให้ปวดหนอต่อไป

เพราะฉะนั้นต้องอาศัยสมาธิภาวนา รู้ว่าสังขารไม่เที่ยงหนอ เราไม่พะเน้าพะนอสังขารมัน สังขารมันก็ปรุง เกิดสัมผัส เกิดบัญญัติว่า ปวดจัง เลยไม่ทราบเจ็บหนัก เจ็บเบาประการใด ท่านเรียกว่ามายา เกิดขึ้นคือของปลอม ของปลอมเรียกว่ามารยาสาไถย แต่ของจริงไม่ใช่มายา เป็นของจริงแจ้งโดยปัจจัตตัง รูปนามขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ การปวดหนักก็กลายเป็นเบาเพราะจิตไม่ไปเกาะ ถ้าจิตไปเกาะมากมันก็ปวดมาก จิตเกาะน้อยมันก็ปวดน้อย ถ้าจิตไม่เกาะเกี่ยวมัน ไหนเลยล่ะจะปวดได้ อันนี้บั้นปลายแล้ว

แต่วิธีฝึก วิธีปฏิบัติต้องเอาสมาธิเข้าขันธ์เวทนา เอาจิตจับจุดให้เป็นสมาธิปัญญาก็เกิดในขันธ์เวทนา คือ รู้จริง รู้ทุกสิ่งแปรปรวน รู้โดยสี โดยสัณฐาน โดยอาการของมัน ในเวทนานั้นก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป

เวทนาก็หายวับไปกับตา กลับซู่ซ่า เวทนากับจิตที่อยู่คู่กันจะหายจากกันไป โดยแยกออกไปเป็นสัดส่วน จึงรู้ว่าควร ไม่ควร เหมาะสมประการใด

ไม่ใช่ปวดแล้วเลิก แล้วก็พลิกไปพลิกมา อย่างนี้จะไม่พบของจริง แต่โยมใหม่ๆ ค่อยเป็นค่อยไปนะ ทำ ๕ นาที ๑๐ นาที ค่อยๆ เรียนรู้ เล็กๆ น้อยๆ ค่อยเก็บเล็กผสมน้อยไป จึงต้องมีเวทนาทุกคน

อาตมาก็เป็น ไม่ใช่ไม่เป็น บัดนี้ปวดไหม ปวด! ปวดมากหรือน้อย โยมรู้ไหม โยมก็ไม่รู้ ใครเป็นผู้รู้ ใครเป็นเจ้าของก็รู้ว่ามันปวด แต่เจ้าของไม่สนใจกับมัน แยกมันอยู่เสีย จิตก็ไม่เกาะเท่านี้เอง กลายเป็นเวทนาในเวทนาแก้ปัญหาจากเวทนาปวดเมื่อย ยกตัวอย่าง โยมเป็นโรคปวดขา โยมก็เกาะเกี่ยวกันด้วยการกำหนด ปวดขาหนอ ปวดขาหนอ พอสมาธิเกิดขึ้นจากการภาวนา เรียกว่า เกาะจับจุด

สมาธิแปลว่าอะไร สมาธิแปลว่าจับจุดเดียว แต่งกายแต่งตัวในชุดเดียว เรียกว่าสมาธิ โยมกำลังทำงานไม่ข้องเกี่ยวกับใคร ถือว่าทำงานด้วยสมาธิจิตไม่วอกแวก จิตไม่ส่งไปที่อื่นแต่ประการใด เรียกว่า เวทนาสมาธิ เกิดสมาธิมันก็เกิดแจ้งจิตใจ จิตสงบลงที่สมาธิ ในภาวนาของเวทนา ขันธ์ ๕ ในรูปเวทนานี้ มันก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แปรปรวน วูบหายไป เวทนาตัวหนักก็เบาลงไป

ใจก็ใสสะอาดในภายใน โยมจะเห็นชัด นี่แหละตัวอนิจจัง ไม่แน่นอน ปวดเดี๋ยวก็ปวดอีก ไม่ใช่ว่าดิฉันนั่งสมาธิได้ดีแล้วเจ้าขา ได้ญาณสูง นั่งทีไรไม่เคยปวดเมื่อยเลย ไม่จริง! ทุกสิ่งมากน้อย ต้องเป็นทุกคน ต้องประสบขันธ์ ๕ ทุกคน

รูปก็อยู่ตามรูป เวทนาขันธ์ปนกับรูป แต่แยกออกมา เรียกว่าขันธ์หนึ่ง เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ วิญญาณขันธ์ สังขารขันธ์ รวมเรียกเป็นหนึ่งว่า นามกับรูป

เวทนาก็คงเป็นเวทนา นามรู้ปวด สัญญาความจำ จำได้หมายรู้ เรามีความจำในขันธ์ สัญญา มีสมาธิภาวนาแล้ว จำแม่นไม่ลืม จำดูดดื่มในปัญญา จำอะไรหรือ จำรูป จำนาม จำขันธ์ ๕ ได้

นามธรรมเป็นสมาธิในสัญญา ในสมาธิภาวนา มันจะจำไม่ลืม ไปจำเอาตอนจิตเป็นทุกข์ตายขณะนั้น โยมไปนรก ถ้าไปจำตอนมีสุขไปเจือปนตอนนั้โยมตายไปสวรรค์ สุคติปาฏิกังขา จุดนี้เป็นจุดสำคัญ มีความหมายในเวทนานี้

สัญญาจำเวทนาได้ไหม ต้องจำได้ ถ้าเราเคยปวด เคยทำ โอ๊ย จำได้ ปวดขาอีกแล้วตามเดิม มันก็จำตัวสัญญาบอกให้จำ แต่เราขาดสติสัมปชัญญะ

นี่อะไรโยม “สัญญา” ความจำได้หมายรู้ ได้มาจากไหน สัญญาขันธ์ ขันธ์ตัวนี้มั่นคง มีสมาธิลงด้วยองค์ภาวนา ประกอบไปด้วยสติ สัมปชัญญะ แยกรูปแยกนามได้ ไม่ปนกัน

คนที่อารมณ์ดี จิตมั่นคง คนที่มีอารมณ์เยือกเย็นเป็นบัณฑิต จิตมั่นคง สัญญาก็ไม่ขาด สัญญาเกิดความจำ สัญญาฝึกอยู่ในเทป คือจิตสำนึก สมัญญา เรียกว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฎฐาน

ข้อที่ ๓ จิตตานุปัสสนาสติปัฎฐาน

จิตตานุปัสสนาสติปัฎฐาน ต้องท่องให้ได้ ทำไมเรียก จิตตานุปัสสนาสติปัฎฐาน ฐานของจิตต้องยึดในฐานทัพนี้ จิตเป็นธรรมชาติ ที่คิดอ่านอารมณ์ รับรู้อารมณ์ไว้ได้เหมือนเทปบันทึกเสียง จิตเกิดที่ไหน ผู้พัฒนาจิตต้องรู้ที่เกิดของจิตอีกด้วย

จิตเกิดทางอายตนะ ธาตุอินทรีย์นี่เอง จะพูดเป็นภาษาไทยให้ชัด ตาเห็นรูปเกิดจิตที่ตา หูได้ยินเสียงเกิดจิตที่หู จมูกได้กลิ่นเกิดจิตที่จมูก ลิ้นรับรสเกิดจิตที่ลิ้น กายสัมผัสร้อนหนาว อ่อนหรือแข็งที่นั่งลงไป เกิดจิตทางกาย เรียกว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฎฐาน…

จิตเป็นธรรมชาติ คิดอ่านอารมณ์ รับรู้อารมณ์ไว้ได้เป็นเวลานาน มาเปิดเมื่อใดโผล่ออกมาเมื่อนั้น สัญญาความจำได้หมายรู้ มันเป็นกิจอันหนึ่ง เป็นสัญญาลึกซึ้งนี่จิตตานุปัสสนาสติปัฎฐาน จิตฟุ้งซ่านเป็นธรรมชาติของจิต ต้องผันแปร แต่อารมณ์ที่จำได้ มันเกี่ยวเนื่องกับสัญญาขันธ์ เป็นขันธ์ที่จำได้แม่นยำ ต้องประกอบด้วยสติ ประกอบด้วยสัมปชัญญะ สติมา สัมปชาโน โผล่ออกมาในสังขาร ในสัญญาขันธ์

สติสัมปชัญญะได้มาจากไหน ได้มาจากการกำหนด กำหนดได้มาจากไหน ได้จากการเจริญสติปัฎฐาน ๔

เดินยืนนั่งนอนได้มาจากไหน ได้มาจากอินทรีย์ หน้าที่การงานรับผิดชอบ ตาเห็นรูปกำหนด หูได้ยินเสียงกำหนด จมูกได้กลิ่นตั้งสติไว้ด้วยการกำหนด เพื่อสัญญาความจำ เป็นสมาธิภาวนาเกี่ยวโยง

ความจำมี ๒ อย่าง จำฝ่ายดี จำฝ่ายชั่ว จำเอาตัวไม่รอด จำด้วยราคะ จำด้วยโทสะ จำด้วยโมหะ จำได้แม่น ทำไมถึงจำด้วยโทสะ เพราะเมื่อวานซืนต่อยกันมา เมื่อปีกลายตีกันหัวแตก จำได้ไหม ได้อะไรเป็นตัวจำ ตัวสัญญาจำ

นี่แหละจิตตานุปัสสนาสติปัฎฐาน อารมณ์จิต มีสัญญาจำ ๒ ประการ จำดี จำชั่ว จำชั่วไว้เป็นโรคประสาท จำดีไว้ในสมองปัญญาดี จิตใจผ่องใสในทางดี

จำทางชั่วไว้ จิตใจเป็นอกุศลตลอดไป มันลืมไปแล้ว เห็นคนนี้มานั่งพอเห็นปั๊บพลุ่งขึ้นทันที ความจำเก่าสัญญาขึ้นมา อ๋อเมื่อ ๓ ปี คนนี้ทะเลาะกับเรามันจำที่ไม่ดีนะ เพราะเหตุใด เพราะแยกรูปแยกนามไม่ออก แยกความชั่ว แยกความดีไม่ออกจากกัน ไปผสมกัน เจอชั่วก็จำได้ เจอดีก็จำได้

เหมือนคนมาทำบุญละบาปไม่ได้ เหมือนมาบวชกันละชั่วไม่ได้ เอาดีได้อย่างไร มันจำแต่ชั่ว ดีไม่ค่อยจำ นี่เรียกว่าสัญญาอันหนึ่ง ถ้ามาเจริญวิปัสสนากรรมฐานแล้ว แยกรูปแยกนามได้ แยกชั่วกับดีออกจากกันได้ แยกเอาชั่วทิ้ง เอาดีไว้ แยกเอากุศลเข้าไว้ เอาอกุศลออก แยกโลภะ แยกโทสะ แยกโมหะ

แยกตรงไหน ตาเห็นรูป ชอบไหม ชอบเป็นโลภะ ไม่ชอบเป็นโทสะ จำได้แม่น ตากับรูปเป็นคนละอันกัน รูปกับตา อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม พอแยกออกจากกันแล้ว มันก็ออกไป ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันก็สลดปั๊บดับลงไป

มาสร้างบุญกุศล ทำไมเอาบาปมาคิดเล่า มาสร้างความดี ทำไมเอาชั่วติดมาเล่า มาเป็นมนุษย์ ทำไมเอาลิงติดกันมาเล่า เสียใจสำหรับผู้ปฏิบัติกรรมฐานนะไม่น่าเลย

ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย รูปนามขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ เสียงหนอ เขาด่าเรา เราจำได้ เอามาไว้ในใจ ไม่กำหนดเสียงหนอ จำเอาเสียงด่ามาไว้ในใจ เลยก็กลุ้มอกกลุ้มใจนี่แหละกฏแห่งกรรมนะ หนีไปไหนจะเห็นคนด่า คนว่า มีที่ไหน แยกรูปแยกนามได้เสียเถิด จะได้ประเสริฐเป็นพระ ใจประเสริฐแล้ว จะได้ไม่จำที่ชั่วที่อยู่ในตัวเราบันทึกเทปไว้เสียเต็มเปา เต็มกระเป๋าเลย แยกรูปไม่ออก แยกนามไม่ออก จิตเป็นอกุศลกรรม…

ตาเห็นรูปจิตเกิดทางตา ตั้งสติไว้ที่หน้าผาก (อุณาโลม)

วิธีปฏิบัติทำอย่างไร ให้ทำอย่างนั้น ที่มาของจิตรู้แล้วเกิดทางตา ตาเห็นเห็นอะไรก็ตั้งสติไว้ จับจุดไว้ที่หน้าผาก อุณาโลม…กดปุ่มให้ถูก เหมือนเรากดเครื่องคิดเลข บวกลบคูณหารมีครบ กดปุ่มให้ถูกแล้วผลลัพธ์จะตีออกมาอย่างไร

เห็นหนอๆ เห็นอะไร เห็นรูป รูปอยู่ที่ไหน สภาวะรูปนั้นเป็นอย่างไร สภาพผันแปรกลับกลอกหลอกลวงได้ เยื้องย้ายได้ทุกประการ เรียกว่า รูป เป็นเรื่องสมมุติ และเป็นเรื่องทำลายได้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แปรปรวนดับไป คือรูป ต้องกำหนด นักปฏิบัติอย่าทิ้งข้อนี้ไม่ได้

หูได้ยินเสียง ตั้งสติไว้ที่หู

หูได้ยินเสียง หูกับเสียงอย่างไร ไกลแค่ไหนอย่างไร ไม่ต้องไปประเมินผล ไม่ต้องวิจัย ห้าม! ห้ามเพราะเหตุใด เพราะมันเป็นวิปัสสนึกไป นึกขึ้นมาก็วิจัยตาม วิชาการ มันจะไม่ได้ผล เราก็ตั้งสติไว้ที่หู ฟังเสียงหนอ เราฟังเฉยๆ ไม่ได้หรือ ทำไมต้องกำหนดด้วย? ถ้าเราไม่กำหนด เราจะขาดสติ ถ้ากำหนดก็เป็นตัวฝึกสติให้มีสติอยู่ที่หู จะได้รู้ว่าเสียงอะไร เสียงหนอๆ กำหนดเสียงเฉยๆ ได้ไหม ได้! แต่ไม่ดี

จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายถูกต้องสัมผัส
อารมณ์ที่เกิดจากใจ ต้องกำหนด

ผู้ปฏิบัติจะต้องมีสติอยู่ทางนั้น จมูกก็ดี เมื่อได้กลิ่นจะเหม็นหรือหอมไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่มีสติควบคุมในการดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรสอาหาร ก็ต้องตั้งสติไว้ ทำได้รับรองว่าต้องได้ผล สำหรับผู้ปฏิบัติธรรม สำคัญผู้ปฏิบัติธรรมที่ไม่กำหนด ไม่ใช้สติมันก็ไม่เกิดประโยชน์ในการปฏิบัติเลย ว่างเปล่า ไม่ได้ผล คนเรามีสติอยู่ตรงนั้น มีหน้าที่การงานต้องสัมผัสอยู่ตลอดรายการ ลิ้นรับรสเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ต้องปฏิบัติ กำหนด ตักอาหารก็ต้องกำหนด เคี้ยวก็ต้องละเอียด กำหนดกลืนด้วย ก็ได้ใจความออกมาว่า ต้องมีสติทุกอิริยาบถ กายสัมผัส (โผฎฐัพพะ) เย็น ร้อน อ่อนแข็ง, อารมณ์ที่เกิดจากใจ (ธรรมารมณ์) ต้องกำหนดทั้งนั้น

นักปฏิบัติต้องกำหนดทุกอิริยาบถ
ไม่ใช่จ้องแต่จะเดินจงกรม หรือจ้องแต่ท้องพองยุบ

นักปฏิบัติต้องกำหนดทุกอิริยาบถในการฝึก เป็นการดัดนิสัยให้เข้าสู่จุดมุ่งหมายของผู้มีปัญญา เป็นความเคยชินจากการปฏิบัติธรรม ส่วนใหญ่พูดอย่างนี้ใครก็ทำได้ ใครก็รู้แต่ปฏิบัติจริงๆ ไม่ได้ เพราะไม่เคยกำหนดเลย ปล่อยเลยไปหมด เข้ามาถึงจิตใจภายในจิต คือ ประตูทั้ง ๖ ช่อง เข้ามาถึงห้องใน ที่นอนของเราแล้ว จนแต้มจนด้วยเกล้า จนด้วยปัญญา แก้ไขปัญหาไม่ได้เลย เพราะมันอยู่ในจุดนี้เป็นจุดสำคัญ

แต่ผู้ปฏิบัติธรรมเอาไปทิ้งหมด ไม่เคยปฏิบัติจุดนี้เลย มีแต่จะจ้องเดินจงกรม จ้องท้องพองหนอยุบหนออย่างเดียว เป็นไปไม่ได้ ไม่ครบสติปัฎฐานสี่ ปฏิบัติในข้อจิตตานุปัสสนาสติปัฎฐานสูตร ข้อนี้เป็นข้ออินทรีย์หน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบตัวเอง ต้องกำหนดเสียงหนอๆ ถ้ากำหนดไม่ทัน มันเลยเป็นอดีตไปแล้วเกิดเข้ามาในจิตใจเกิดโทสะ เกิดโกรธขึ้นมาทันทีทำอย่างไร ไปเสียงหนออีกไม่ได้ต้องกำหนดตัวสัมปชัญญะ กำหนดที่ไหน กำหนดที่ลิ้นปี่

บางทีไปสอนไม่เหมือนกันเสียแล้ว หลับหูหลับตาว่าส่งเดชไป จะถูกจุดได้อย่างไร กดเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่ถูก กดไม่ถูกจุด แล้วมันจะออกมาอย่างที่เราต้องการไม่ได้ นี้สำคัญ

ผู้ปฏิบัติเน้นในข้อนี้ให้มากต้องกดที่ลิ้นปี่ แต่อรรถาธิบายอย่างไรนั้นจะไม่อธิบายในที่นี้ ขอให้ท่านโง่ไว้ก่อน อย่าไปฉลาดตอนปฏิบัติเดี๋ยวจะคิดเอาเอง เกิดขึ้นมาเดี๋ยวท่านจะได้ของปลอมไปนะ จะได้ของไม่จริงไปอย่างนี้

ข้อที่ ๔ ธรรมานุปัสสนาสติปัฎฐาน

ธรรมานุปัสสนาสติปัฎฐาน ธรรมในธรรม หมายความว่า เรามีสติปัญญาจะรู้แยกจิตของเราว่า คิดเป็นกุศลหรืออกุศล ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง จะตัดสินอยู่ที่ธรรมานุปัสสนาสติปัฎฐาน ในข้อที่ ๔ นี้ ข้าพเจ้าทำงานนี้ไปเป็นกุศลหรืออกุศล เดี๋ยวจะรู้ตัวตนขึ้นมาทันทีที่มีปัญญา เรียกว่า ธรรมานุปัสสนาสติปัฎฐาน อาตมาหมายถึงปฏิบัติการ ไม่ใช่วิชาการ วิชาการจะไม่อธิบายอย่างนี้

เป็นการปฏิบัติการในธรรมานุปัสสนาสติปัฎฐาน ธรรมในธรรม ทำนอกทำใน ธรรมกับทำมันต่างกัน ทำไปแล้วเป็นกุศลหรืออกุศล ทั้งทางโลกทางธรรม มันอยู่ร่วมกันนี่ ธรรมานุปัสสนาสติปัฎฐาน เรียกว่าทำนอก ทำใน ทำจิต ทำใจ ทำอารมณ์ แสดงออกเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ส่วนใหญ่เราจะเข้าข้างตัวเองเลยคิดว่าตัวเองน่ะคิดถูก ทำถูกแล้ว

ถ้าเรามานั่งเจริญกรรมฐานแก้ไขปัญหา กำหนดรู้หนอๆ คือ ธรรมานุปัสสนาสติปัฎฐาน เพราะเรายังไม่รู้จริง รู้หนอ หายใจยาวๆ รู้หนอๆ ๆ เดี๋ยวรู้เลย ว่าที่เราทำผิดพลาดเป็นอกุศล ไม่ใช่กุศลมูลเป็นอกุศลกรรมจากการกระทำทางกาย วาจา ใจ ก็ถ้าแสดงออกเป็นอกุศล นี่ธรรมานุปัสสนาเชิงปฏิบัติการ ไม่ใช่วิชาการนะ

บางคนบอกหลวงพ่อวัดอัมพวันอธิบายผิดแล้ว ใช่ มันผิดหลักวิชาการแต่มันถูกปฏิบัติการ มันจะรู้ตัวเลยว่า เราทำนั่นเป็นกุศล ผลงานส่งผลคือเป็นบุญ เป็นความสุข สิ่งนี้ที่ข้าพเจ้าทำเป้นอกุศลกรรม ทำแล้วเกิดความทุกข์ นี่ง่ายๆ ทางเชิงปฏิบัติการ วิชาการ เขาอธิบายละเอียดกว่านี้ ถ้ามีกิจกรรมทำได้ไม่ยากเลย อยู่ตรงนี้เอง…