วัดอัมพวันเป็นวัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก สภาพทั่วไปนั้น มีต้นไม้ประมาณ ๓๐๐ ต้น เป็นไม้ดอก – ไม้ใบ ที่ปลูกใหม่ เดิมสภาพพื้นที่จะเป็นที่ที่น้ำท่วมถึง มาบัดนี้ทางวัดได้ทำถนน – คูกั้นน้ำ จึงสามารถป้องกันน้ำไว้ได้ จึงได้มีการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น
หลักฐานการตั้งวัด
จากการสำรวจทางราชการประมาณกาลตั้งแต่ พ.ศ. ๒๑๗๕ การสร้างอุโบสถ ผูกพัทธสีมา มาแล้ว ๒ ครั้ง ครั้งแรกเมื่อรัชกาลที่ ๓ ครั้งที่ ๒ นี้ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๗๐ เมตร และได้ผูกพัทธสีมา วันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๓
ประวัติความเป็นมาของวัด
วัดอัมพวัน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี เป็นชื่อเดิมมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา ศิลาจารึกในอุโบสถหลังเก่าจารึกเป็นภาษาจีนว่า คนจีนได้สร้างอุโบสถวัดอัมพวัน สมัยเหม็งเชี้ยว คนจีนได้นำเรือกำปั่นมาทำการค้าขายกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมืองลพบุรี มากับฝรั่งชาติฮอลันดา จอดหน้าวัดอัมพวัน ได้สร้างโบสถ์วัดอัมพวัน สมัยเจ้าอาวาสวัดอัมพวันชื่อ พระครูญาณสังวร อายุ ๙๙ ปี สร้างโบสถ์เสร็จแล้ว ฝรั่งเพื่อนคนจีนได้ขอพระราชทาน พระหน้าปรกหินทั้งสององค์จากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ให้คนจีนเอาไว้ในโบสถ์ จนถึงการสร้างโบสถ์หลังใหม่มาจนถึงทุกวันนี้
- อุโบสถหลังเก่าได้ชำรุดและพังลง เมื่อวันอังคารที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๑ ตรงกับวันแรม ๗ ค่ำเดือน ๓ ปีจอ เวลา ๐๙.๔๕ น.
- ได้รื้อถอนเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๑ ตรงกับแรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๒ เวลา ๑๐.๐๐ น. ด้วยแรงชาวบ้านและรถยกของ ป.พัน ๑๐๑ มาช่วยกันรื้ออุโบสถ เสร็จเรียบร้อยภายใน ๔ วัน
- เริ่มก่อสร้างอุโบสถ วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๑ วางศิลาฤกษ์ ๑๔-๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๒ สร้างเสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ รวมเวลาการก่อสร้าง ๑ ปี ๔ เดือน ๑๕ วัน
- ผูกพัทธสีมาวันที่ ๘-๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๓
วัดนี้เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ ตามลำดับ มาถึง พ.ศ. ๒๕๑๓ กรมการศาสนาได้ยกย่องให้เกียรติ เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างมาจนบัดนี้
รายชื่อเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน
เท่าที่ปรากฏหลักฐาน มีดังนี้
- รูปที่ ๑ พระครูพรหมนครบวรราชมุนี พ.ศ.๒๓๘๒ ถึง พ.ศ.๒๓๙๗
- รูปที่ ๒ พระครูปาน พ.ศ.๒๓๙๘ ถึง พ.ศ.๒๔๑๒
- รูปที่ ๓ พระอธิการเทศ พ.ศ.๒๔๑๒ ถึง พ.ศ.๒๔๒๗
- รูปที่ ๔ พระอธิการเยื้อน พ.ศ.๒๔๒๘ ถึง พ.ศ.๒๔๔๒
- รูปที่ ๕ พระใบฎีกาแย้ม พ.ศ.๒๔๔๓ ถึง พ.ศ.๒๔๕๖
- รูปที่ ๖ พระอธิการเลี่ยม พ.ศ.๒๔๕๖ ถึง พ.ศ.๒๔๖๕
- รูปที่ ๗ เจ้าอธิการสัว พ.ศ.๒๔๖๖ ถึง พ.ศ.๒๔๗๖
- รูปที่ ๘ พระอธิการล้วน พ.ศ.๒๔๗๖ ถึง พ.ศ.๒๔๘๐
- รูปที่ ๙ พระอธิการหล่ำ เหมโก พ.ศ.๒๔๘๑ ถึง พ.ศ.๒๔๙๙
- รูปที่ ๑๐ พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) พ.ศ.๒๕๐๐ ถึง ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๙