วิปัสสนา-พัฒนาจิต

โดย หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม
ณ อุโบสถวัดอัมพวัน ค่ำวันที่ ๑๗ ต.ค. ๒๙

การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ถ้าพูดตามสมัยใหม่เขานิยมเรียกว่ามาพัฒนาจิต มาพัฒนาคุณธรรม ข้อเท็จจริงก็เป็นเรื่องเก่า เป็นเรื่องตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่โน้น ทรงชี้แจงต่อพุทธศาสนิก ให้บำเพ็ญจิตภาวนาพัฒนาจิตให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชีวิตโดยใช้สติปัญญาเป็นอาภรณ์ประดับจิตนั้นเอง

วิธีปฏิบัติในสติปัฏฐานสี่ ที่เรียกว่าทางสายเอกของพระพุทธเจ้านั้นเอง เรียกว่าการเจริญวิปัสสนา เป็นธุระหน้าที่ที่เราจะต้องดำเนินวิถีชีวิต โดยใช้สติปัญญาเป็นอาวุธ เพื่อไม่ให้พลาดผิดในหารทำงานทุกอย่าง เพราะหน้าที่และการงานเป็นผลงานของชีวิตที่เราต้องทำโดยใช้สติปัญญาตลอดเวลา แต่การทำงานที่ประกอบไปด้วยปัญญานั้น ถ้าเราไม่ฝึก เราไม่อบรม ด้วยความอดทนอย่างยิ่งแล้ว เราจะไม่พบความจริงดังที่กล่าวแล้ว

เริ่ม ยืน-เดินจงกรม

การเดินจงกรม ยืนกำหนดต้องใช้สติกำหนดมโนภาพ อันนี้มีประโยชน์มาก แต่นักปฏิบัติส่วนใหญ่ไม่ค่อยปฏิบัติจุดนี้ ปล่อยให้เลยล่วงไปเปล่าโดยใช้ปากกำหนดไม่ได้ใช้จิต ไม่ได้ใช้สติกำหนดให้เกิดมโนภาพ อันนี้มีความสำคัญสำหรับผู้ปฏิบัติมาก ผู้ปฏิบัติต้องจับจุดนี้ คำว่ายืนหนอ ๕ ครั้ง ยืนอยู่นั้นต้องหลับตาวาดมโนภาพ เพราะจิตนี้มันวุ่นวานฟุ้งซ่าน คิดอ่านอยู่เสมอ แต่แล้วเราใช้สติกำหนดตามจิตโดยว่ายืนหนอ ๕ ครั้ง

อาตมามีวิธีปฏิบัติให้เอามือไพล่หลัง มือขวาจับซ้าย  ก็ต้องการให้ตรงกระเบนเหน็บ หลังจะไม่งอในเมื่อเฒ่าแก่ชราลงไป บางท่านก็ถนัดเอามือไพล่ข้างหน้า ก็ใช้ได้แต่โดยวิธีการแล้ว ทำให้ห่อตัว ทำให้หายใจไม่ปกติ ปอดผายไม่เข้าสู่ภาวะ

และคำว่ายืน ๕ ครั้ง ท่านทั้งหลายทำได้แล้วหรือยังว่ากำหนดจิต คือต้องใช้สติ ไม่ใช่ว่าแต่ปากว่ายืนหนดๆๆๆ แล้วก็ลืมตาขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ไม่ได้มีจังหวะ ไม่ได้ใช้สติควบคุมจิต ดูแลจิต ให้มันได้จังหวะตัวกำหนด ไอ้ตัวกำหนดเป็นตัวฝึก อันนี้มีความสำคัญ อาตมาจึงต้องขอย้ำไว้ ซ้ำข้อนี้ เน้นหลักในข้อนี้ให้มาก เพราะมันมีประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติ เอาไปใช้ในกิจประจำวันได้อย่างดีที่สุด คำว่ายืนหนอนี้ไม่ใช่ความหมายว่า กำหนดอย่างนี้เสมอไป ต้องใช้จิตปักลงที่กระหม่อม กระหม่อมของเราทุกคนอยู่ตรงไหน ตั้งสติไว้ตามจิตลงไป……… ไม่ง่ายเลย แต่ต้องทำซ้ำๆให้เคยชิน ให้สติคุ้นกับจิต จิตคุ้นกับสติอย่างนี้ ถึงจะเกิดสมาธิ ไม่ใช่หมายถึงว่าเรากำหนดแล้วได้ผลเลยนะ ยังไม่ได้ผล แต่เราทำซ้ำๆซากๆให้เคยชิน เราจึงต้องมีการฝึกจิตอยู่ที่กระหม่อม วาดมโนภาพลงไปให้ซ้ำๆ ลมหายใจนั้นก็ไม่ต้องมาดู แต่หายใจให้ยาวๆมันจะถูกจังหวะ แล้วตั้งสติตามจิตไปว่ายืนที่กระหม่อมแล้วก็หนอ…..ลงไปที่ปลายเท้า ดูมโนภาพ จะเห็นลักษณะกายของเรายืนอยู่ ณ บัดนี้ เห็นกายภายนอก น้อมเข้าไปเห็นกายภายใน

แต่โดยวิธีปฏิบัติแล้ว ต้องเอาข้างในออกข้างนอก จึงจะมีข้อคิดให้เกิดปัญญาได้ ถ้าเราลืมตาขณะที่ยืนหนอ ๕ ครั้งแล้ว มันเห็นแต่ภายนอก แต่ภายในสภาวธรรมมันจะเห็นได้ยาก จึงต้องหลับตา จะได้ไม่มองเห็นสิ่งอื่น สิ่งแวดล้อมที่เรายืนอยู่ ณ บัดนั้น แล้วไม่เห็นกายข้างนอกให้เห็นกายภายใน กายภายในในกายนั้น ต้องประกอบไปด้วยสติ แล้วก็จิตปักลงไปว่ายืน….หนอ…. ลงไปถึงปลายเท้า เห็นชัดมาก แล้วก็สำรวมที่ปลายเท้า อย่างเพิ่งกำหนดให้มันติดกัน ยืนตั้งแต่ปลายผมลงไป จากกระหม่อมลงไปถึงปลายเท้า ว่ายืน…หนอ….หรือยืนนั้น จิตปักไปถึงสะดือแล้วหนอ จากสะดือลงไปปลายเท้าให้ได้จังหวะอย่างนั้น ไม่ใช่ยืนหนอแล้วก็จิตไปถึงปลายเท้า อันนี้เป็นอดีตแล้ว

เพราะวิธีปฏิบัตินี้ทำยาก ต้องทำให้ได้จังหวะ ได้ระบบของเขา มันจึงจะเกิดปัญญา เกิดสะสมเข้าใว้ด้วยดี โดยวิธีนี้

คำว่ายืน ปักลงที่กระหม่อมแล้วสติตามลงไปเลย วาดมโนภาพ ยืน…ถึงสะดือแล้ว ร่างกายเป็นอย่างนี้แหละหนอ จากสะดือลงไปก็ลงหนอ…. ลงไปปลายเท้า อย่างนี้ทำง่ายดี สำรวมใหม่สักครู่หนึ่ง จึงต้องอย่าไปว่าติดกัน ถ้าว่าติดกันมันไม่ได้จังหวะ

ขอให้ญาติโยมผู้ปฏิบัติทำตามนี้จะได้ผลอย่างแน่นอน

อันนี้เริ่มต้น ยืน….มโนภาพ หายใจยาวๆ หายใจให้ยาวๆว่า ยืน….ถึงสะดือแล้ว รวมจุดศูนย์สะดือ มโนภาพ หนอ…ลงไปปลายเท้า เห็นเท้าทั้งสองโดยมโนภาพยังไม่ชัด ครั้งหนึ่งยังไม่ชัด

ครั้งที่สอง สติก็ตามสำรวมที่ระลึกก่อนว่า เท้ามีสองข้างจากปลายเท้านั้น รวมอยู่ในจุดของเท้าทั้งสองข้าง แล้วก็บอกว่ายืนขึ้นมาถึงสะดือ หนอ…เรื่อยมาถึงกระหม่อม นี่ครั้งที่สอง

ครั้งที่สามจะชัด ยืน ถึงสะดือแล้วตั้งสติไว้ตามจิตที่ผ่านไปแวบถึงสะดือ แล้วสองบอกหนอจากสะดือถึงปลายเท้า สำรวมอย่างนั้นจึงจะได้จังหวะ

พอครั้งที่สี่ชัดขึ้น สำรวมจากปลายเท้าทั้งสอง เห็นได้ชัดแล้ว อันนี้เห็นชัด จิตก็ไม่กระสับกระส่าย ครั้งที่สี่นี้จิตไม่กระสับกระส่ายแน่นอน สำรวมอยู่ที่ปลายเท้า แล้วก็ตั้งสติไว้ให้ดีก่อน ระลึกว่าเท้าทั้งสอบข้างมีอะไรบ้าง แล้วก็จึงกำหนดจิต ใช้สติตามว่ายืนขึ้นมาถึงสะดือ จากสะดือต่อว่าหนอ… ขึ้นมาถึงปลายผม คือกระหม่อมเป็นครั้งที่สี่

ครั้งที่ห้านี้ชัดขึ้นไปกว่ายืนหนอในขั้นต้น ในข้อหนึ่งยืนครั้งที่ห้า ยืน…ถึงสะดือแล้วสำรวมจิตลงหนอลงไป มันจึงจะได้จังหวะดี ผู้ปฏิบัติไม่เข้าใจทำวรรคตอนเลย ก็ยืนหนอๆๆๆว่าไวๆจิตก็กำหนดไม่ได้ จิตมันเร็วแต่สติตามไม่ทัน เลยสมาธิไม่เกิด ปัญญาจะได้มาจากไหนเล่า สมภาคแสดงออกจะไม่ทราบ

ขอนักปฏิบัติธรรมทำตามแบบนี้ แล้วสำรวมลงไปปลายเท้าครั้งที่ ๕ ยืน…ถึงสะดือแล้ว หนอ…ลงไปช้าๆถึงปลายเท้าหนอพอดีที่เท้าทั้งสองยืนอยู่ที่พื้นนั้น แล้วก็ลืมตาทันที ลืมตาอย่าเพิ่งกำหนด ลืมตาดูเท้าสักครู่หนึ่งตั้งสติไว้ให้ดี จึงได้เขยื้อนเคลื่อนกาย

ขวา ยกขึ้นมา แล้วก็สัมปชัญญะบอกให้รู้ปัจจุบัน ย่าง…หนอ… ลงพื้นพอดี จิตดวงนั้นไปไหน ถ้าเห็นสภาพความเป็นอยู่ของจิตมันจะรู้ว่าวูบลงไปตรงไหน อย่างไร จิตดวงใหม่จะแสดงออกคือบอกให้ทราบใหม่เกิดขึ้น จิตก็เกิดดับอย่างนี้

ถ้าท่านทั้งหลายทำเร็ว ท่านจะไม่มองเห็นธรรมชาติของจิตในสภาวะธรรม จึงต้องทำให้ช้าที่สุดที่จะช้าได้เท่าไหร่ยิ่งดีที่สุดโดยวิธีนี้ ลมหายใจเข้าออกด้วยวิธีกำหนดนี้ มันก็ล่าช้าลงไป ทำให้เห็นภาวะข้างในได้ชัดเจน นี้ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ ไม่ใช่กำหนดแต่ปากอย่างที่เคยกำหนดกัน เดี๋ยวเราก็ไม่มีสติเลย จิตมันก็วูบวาบไปที่โน่น คลอนแคลนไปที่นี่ เดี๋ยวแวบที่นั่น แวบที่นี่ กระสับกระส่ายอยู่เสมอ อันนี้เราทำได้จังหวะแล้ว จิตจะไม่กระสับกระส่ายแต่ประการใด

แล้วขวาย่างหนอ…ลงพื้นซ้ายย่าง…หนอ ลงพื้นพอดี ทำช้าๆเดินจงกรมไปเรื่อยๆเราจะเห็นได้ว่า อ๋อ ขวากับซ้ายมันอันเดียวกันหรือไม่ จะเห็นชัด แสดงออกตอบได้ทันทีว่ามันเป็นอันเดียวกันหรือเปล่า ตอบได้ด้วยตนเอง ประการที่สอง จิตที่กำหนดขวากับจิตที่กำหนดซ้ายเหมือนกันไหม คล้ายคลึงกันไหม จะไม่เหมือนกันเลยนะ มันดับวูบลงไปแล้ว จิตดวงใหม่เกิดขึ้นขณะเกิดนั้น คือสติระลึกก่อนมันจะบอกว่าซ้าย ยกขึ้นมาพอดีได้จังหวะ นั่นคือตัวสติเป็นตัวกำหนดใหม่ แล้วก็ย่าง…หนอ ลงพื้นพอดี สติมา สัมปชาโนมีสติเกิดขึ้น ระลึกก่อนปัจจะบันธรรมก็ได้ผล คือ สัมปชัญญะปัพพะปัญญาก็เกิดขึ้น ภาวะธรรมสภาพความเป็นอยู่ของการปฏิบัติก็ชัดลงไป มันก็แจ้งชัดแล้วคล่องแคล่วดีกว่าเดิม

ขอให้นักปฏิบัติเดินให้มากๆ ถ้าท่านผู้ใดเดินไม่ได้เพราะขาไม่ดี ปวดแข้งปวดขา เดินไม่ได้เลยก็ไม่เป็นไรนะ เราก็นั่ง เราก็นอนได้ ทุกวิถีทางอิริยาบถ ๔ ทำได้ทุกอิริยาบถ แต่ถ้าเราอินทรีย์พร้อมมูลบริบูรณ์ดี ก็ยืนเดินนั่งนอนได้ ก็ทำให้เราทำได้ไว ทำให้ติดต่อกัน ไปได้ไวมากโดยไม่ขาดสาย

แต่พระพุทธเจ้าทรงชี้แจงแสดงไว้ว่า การปฏิบัตินี้จะยืนก็ได้ จะเดินก็ได้ จะนั่งก็ได้ จะนอนก็ได้ ในอิริยาบถ ๔ ด้วยกาย เวทนา จิต ธรรม ในภาคกาย ในภาคเวทนาต้องครบ เพราะทุกคนต้องมีเวทนาด้วยกันไม่พลาดแน่ ไม่ใช่นั่งสบาย ไม่มีเวทนาเลย นี่แหละ อริยสัจ ๔ ก็ครบในอิริยาบถ นี่เหมือนกันโดยกาย เวทนา จิต ธรรม มันก็อยู่ตรงนี้ทั้งนั้น

ต้องมีภาคกายภาคเวทนา ปวดเมื่อยทุกข์กาย ทุกข์ใจ สุขกาย สุขใจ และก็เป็นแบบเรียน เป็นบทเรียนให้เรา ที่เราจะต้องใช้เป็นตำราอยู่ในเวทนาครบ สติก็ดีขึ้นในเวทนา ด้วยวิธีฝึกกำหนดเวทนา เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป แล้วอนิจจังไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ก็แก้ไขได้ โดยอนิจจังคือความไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์อย่างนี้แหละหนอ แล้วอนัตตาก็แสดงให้เราเห็นเป็นพระไตรลักษณ์เกิดขึ้นตั้งอยู่ ดับไป สูญไปไม่มีอะไรติดตัว เดี๋ยวก็วนมาอีก เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ก็เรียกว่าอนัตตา มันเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติของมันเองโดยเฉพาะ เรียกตามศัพท์ภาษาธรรมะก็เรียกว่าพระไตรลักษณ์เกิดขึ้นแก่เราในขณะนั้น ปัญญาถึงจะเกิดต่อภายหลัง จึงเรียกว่าวิปัสสนาตอนนั้น ตอนต้นก็เรียกว่าอุปาทาน ยังมีขันธ์ในอุปาทาน ยังยึดขันธ์อยู่ เช่นรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ มันมีขันธ์ทั้ง ๕ อยู่ที่เราครบ

ปรารภกำหนดก็มีอยู่ ๒ ประการ มีรูปกับนามเท่านั้น อย่างอื่นหาได้มีไม่ เลยก็ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีเราไม่มีเขา แล้วจะมีทิฐิมานะต่อกันอย่างไรเล่า อันนี้ภาวะมันจะบอกเองโดยเฉพาะอีกประการหนึ่ง

ในเมื่อขณะที่กำหนดยืนหนอ บางคนเข้าผลสมาบัติได้ ไม่จำเป็นต้องพองหนอ ยุบหนอ พอยืน… หนอ ยืน…สำรวมขึ้นมาหนอ บางคนปัญญาเกิดตอนนั้น ได้ผลตอนนั้น ยืนวูบลงไปที่สะดือ วูบลงไป ๓ ชั้น จิตเป็นภาวะ ผลสมาบัติเกิดขึ้นเลยไม่รู้ ภาวะนอก รู้ภาวะข้างใน ยืนอยู่เป็นเวลา ๑ ชั่วโมง ภาวะข้างนอกไม่สัมผัสก็เรียกว่า เข้าผลสมาบัติตอนยืนหนอได้ ไม่ใข่เข้าผลสมาบัติเฉพาะตอนพองหนอ ยุบหนอทุกคนไป บางคนได้ตอนยืนหนอ สติสัมปชัญญะดี สมาธิดี มันจะวูบลงไปถึงสะดือแล้ววูบอีกครั้งหนึ่ง มันจะปิดอายตนะ ธาตุ อินทรีย์ ในภายนอก แล้วภายในจะแสดงออกด้วยปัญญา เขาเรียกว่าพละกำลังของสมาธิ ประกอบไปด้วยสติสัมปชัญญะภายใน เรียกว่าเข้าผลสมาบัติ ขณะที่ยืนหนอได้ทันที

ตรงนี้สำคัญนะ ผู้ปฏิบัติอย่าคิดว่ายืนหนอไม่ได้ผล ต้องเอาข้อนี้ก่อนเป็นหลัก แล้วเราก็เดินจกรมไปเรื่อยๆบางคนเดินจงกรมหวิวทันที เวียนศีรษะ แต่แล้วเกาะข้างฝากำหนดเสียให้ได้ คือเวทนาจิตวูบลงไป แว้บลงไปเป็นสมาธิ ขณะที่เดินจงกรม แต่เราหาได้รู้ไม่ว่าเป็นสมาธิ กลับหาว่าเป็นเวทนาเลยเป็นลม เลยเลิกทำไป ข้อเท็จจริงบางอย่างไม่ได้เป็นลม แต่เป็นด้วยสมาธิในการเดินจงกรม มันวูบมันหวิวเหมือนอย่างที่เราเดินเวียนศีรษะฉะนั้นมันอาจเป็นได้หลายวิธี มันอาจเป็นด้วยเป็นลมก็ได้ ไม่แน่นอน บางครั้งสมาธิเกิดขณะที่ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ มันจะหวิวลงไป เหมือนเป็นลมฉะนั้นขอให้ผู้ปฏิบัติกำหนดหยุดการเดินจงกรม กำหนดหวิวเสียให้ได้ กำหนดรู้หนอเสียนให้ได้ เดี๋ยวท่านจะเกิดปัญญาในขณะนั้นทันที จากการเดินจงกรมนั่นเองอันนี้มีวิธีบอกแก้

บางทีเดินจงกรมไปมีเวทนาอย่าเดิน หยุด-กำหนดเวทนาเป็นสัดส่วนให้หายไปก่อน และให้รู้จักหลักเวทนาเหมือนครูมาสอนโดยธรรมชาติของเวทนาต้องจัดเป็นรูปแบบและสัดส่วนให้เกิดปัญญา แต่ละอย่างแยกรูปแยกนามได้ เวทนาก็แยกได้ ด้วยการเดินจงกรมนั้นเช่นเดียวกัน

เดินไปอีก หวิว-เวียนศีรษะคิดว่าไม่ดี หยุด กำหนดหวิวหนอซะ ตั้งสติไว้เสียให้ได้ให้ดีก่อนและเดินต่อไป ปัญญาเกิดทันทีสมาธิมา ปัญญาเกิดในการเดินจงกรมทันที จะทำให้รวบรวมสมาธิตั้งไว้ได้นานดีกว่านั่ง แล้วไปนั่งก็ติดต่อกันไปโดยวิธีนี้ประการหนึ่ง มีอะไรก็กำหนดไปเป็นอย่างๆอย่าไปสับสน

ขณะเดินจงกรมจิตออกไปข้างนอกขณะเดิน หยุด กำหนดหยุดเสีย กำหนดจิตเสียให้ได้ที่ลิ้นปี่ กำหนดคิดหนอ คิดหนอ ยืนหยุดเฉยๆ ตั้งสติไว้เสียให้ได้ แต่ละอย่างให้ช้า เดี๋ยวสติดีปัญญาเกิด จิตนั้นกลับมาสู่ภาวะแล้ว ก็มีความรู้เก็บหน่วยกิตเข้าไป คือตัวปัญญา จากการกำหนดนั้นมีความสำคัญอีกประการหนึ่งนี้สำคัญมาก

เดินต่อไปอีกปัญญาก็สะสมไว้จากากรเดินจงกรม ทำให้เกิดคล่องแคล่ว ทำให้ขวาย่างซ้ายย่างเห็นชัด รู้จักคำว่าแยกรูปแยกนาม รู้จักคำว่าจิตคนละดวง รู้จักคำว่าซ้ายย่าง ขวาย่างคนละอัน และก็ย่างไปมีกี่ระยะ จิตที่กำหนดนั้น มันเป็นขั้นตอนประการใด ผู้ปฏิบัติจะแจ้งแก่ใจชัดมากในตอนนั้น ถามจะต้องตอบได้ตามญาณวิถีอย่างนี้เป็นต้น

ขณะที่จิตออกก็กำหนด จิตฟุ้งซ่านก็กำหนด ทุกอย่างเป็นเรื่องกำหนดทั้งหมด และเราก็เวลามานั่งต่อไป และขณะที่เราตั้งสัจจะว่า จะเดินจงกรมเพียง ๓๐ นาที แล้วเราหาที่นั่งไว้ พอได้ ๓๐ นาทีก็เกิดสัจจะ แล้วก็เดินจงกรมมานั่งที่จัดสถานที่เข้าไว้ จะตรงไหนก็ตามแล้วเรามานั่ง นั่งย่อตัวลงไปว่านั่งหนอๆ ต้องปฏิบัติให้ติดต่อ เหมือนด้ายกลุ่มออกจากลูกล้อ อย่าให้ขาดสาย ต้องปฏิบัติโดยต่อเนื่อง กำหนดได้ทุกระยะ อย่าไปขาดตอน ไม่ใช่เดินจงกรมเสร็จแล้วไปทำงานอื่นแล้วกลับมา นั่งทีหลัง ผู้ปฏิบัติจะไม่ได้ผล จะไม่ได้ผลเลย

ถ้าเรานั่งติดต่อกันโดยเจ็ดวัน ท่านได้ผลแน่ภายใน ๗ วัน ได้แน่นอน เป็นการสะสมหน่วยกิตไว้ ในวันที่ ๗ ท่านจะรู้เรื่องในญาณวิสุทธิ มีสติได้ดีกว่าเดิมที่ผ่านแล้ว มันจะเกิดขึ้นเป็นขั้นตอนของระยะของเขานั่นเอง เพราะทำติดต่อกัน ไม่ใช่ว่าวันนี้นั่งสมาธิเดินจงกรม พรุ่งนี้เว้น มะรืนทำต่อไปและเว้นต่อไปอีกหลายวัน ทำอย่างนี้แล้วท่านจะไม่ได้ผล ถ้าเราฝึกแล้วขอให้ฝึกติดต่อกันไป โดยวิธีปฏิบัติอย่างนี้

และเรามานั่งหายใจเข้าให้ยาว หายใจออกให้ยาว ส่วนใหญ่อาตมาถามผู้ปฏิบัติกานใจไม่ได้กำหนด กำหนดไม่ได้จังหวะ โดยหายใจเข้าท้องพอง หายใจออกท้องยุบ หายใจยาวๆท้องมันพองระยะไหน เราก็บอกพอง แล้วลงหนอยาวๆ ไว้ ยุบก็ลงหนอยาวๆไว้ ถ้าเราพองยาว หนอมันก็ไม่ได้ เดี๋ยวก็ยุบ ยุบแล้วไม่ทันหนอมันก็พอง อย่างนี้มันจะอึดอัด ทำให้ติดขัดในการกำหนด จึงต้องกำหนดให้ช้าๆหายใจยาวๆไว้ แล้วมันอึดอัดในเบื้องต้นนิดหน่อย ต่อไปก็คล่องแคล่วว่องไวขึ้นมา

กำหนดพองหนอ…ยุบหนอ…ทีแรกก็ใช้พลังช่วยด้วย ใช้จิตดัน ดันพอง ดันยุบ ใช้สติควบคุมไปก่อน หนักเข้าความคยชินก็เกิดขึ้น ความดันเข้าดันออกก็หายไป แล้วกำหนดคล่องแคล่วว่องไวมากขึ้น หายใจเข้าหายใจออก พองหนอ ยุบหนอ ก็คล่องแคล่วว่องไว สติก็ดีขึ้น ปัญญาก็เกิด สามธิก็ดี ตามขั้นตอนของภาคปฏิบัติ มิฉะนั้น เรากำหนดพองหนอ ยุบหนอไม่ได้จังหวะ คือ ใช้ด้วยกำหนดจิตไม่มีสติ คือว่าแต่ปาก พองหนอ ยุบหนอ นี่ว่าแต่ปาก ถ้าใช้สติควบคุมไปให้ได้จังหวะ รับรองปัญญาเกิด ในช่วงจังหวะนั้น บางครั้งพองหนอ ในจังหวะนั้น บางครั้งพองหนอ ยุบหนอ ตาหลักวิธีปฏิบัติ เราจะรู้ขึ้นมาเอง เหมือนเดินจงกรม

พองหนอยุบหนอเป็นอันเดียวกันไหม มันจะแจ้งชัดขึ้นมา จิตก็คนละอันแน่ เพราะกำหนดแล้วมันก็วูบขึ้นไป จิตดวงใหม่มันก็แสดงออกมาใหม่ เหมือนแสงนีออนเกิดดับฉะนั้น มันเป็นตามขั้นตอน มองไม่เห็นชัด ถ้าเรากำหนดได้เราจะเห็นชัดว่าจิตคนละดวง กายพองกายยุบคนละอันแน่ ไม่ใช่อันเดียวกัน แต่อาศัยเหตุที่เกิดขึ้นเป็นตัวปัจจัย ทำให้รูปนามขันธ์ ๕ แยกประเภทออกมาเป็นรูป ออกมาเป็นนาม ออกมาเป็นเวทนา ออกมาเป็นสัดส่วน เราจะรู้ได้ว่าแยกรูปแยกนามได้โดยธรรมชาติของมันเองโดยเฉพาะ

พองหนอ ยุบหนอ บางครั้งตื้อ ไม่พองไม่ยุบเกิดขึ้นแล้วทำอย่างไร ปัญญาแก้อย่างไร ไม่พอง ไม่ยุบ และก็เราสังเกตได้ว่าสติดี จะรู้ว่ามันหายไปตอนพองหรือ ตอนยุบ พองหนอ ยุบหนอนี่ มันจะต้องกำหนดได้มีจังหวะ แต่มันหายไปตอนพองหรือตอนยุบ ปัญญาอยู่ตรงนั้น เราก็มีสติดี จะรู้ได้ว่ามันตื้อไม่ยุบไม่พองก็หายไป ตอนพองหรือตอนยุบ จะเห็นชัดแล้วเราก็กำหนดรู้หนอๆ แล้วกานใจเข้ายาวๆหายใจออกยาวๆ ให้ได้ที่ แล้วจึงใช้สติกำหนดต่อไปว่า พองหนอ ยุบหนอ ปัญญาเกิดสมาธิดี ก็ทำให้พองหนอ ยุบหนอสั้นๆนาวๆ แล้วทำให้แวบออกข้างๆ ทำให้จิตวนอยู่ในพองยุบ ขึ้นๆลงๆอย่างนี้ถือว่าดีแล้ว มันเกิดภาวะเช่นนี้แล้ว ทำให้เรากำหนดต่อไป ขอให้จิตนี้วนอย่างนี้จริงๆ

พองหนอยุบหนอเดี๋ยวขึ้นลง เดี๋ยวขึ้นลง ไม่ออกทางพอง ไม่ออกทางยุบ และจิตก็แวบออกไปแวบเข้ามา เดี๋ยวก็จิตคิดบ้าง ฟุ้งซ่านบ้าง สับสนอลหม่านกัน อย่างนี้ถือว่าได้ประโยชน์ในการปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติอย่าทิ้ง ผู้ปฏิบัติจะต้องตามกไหนดต่อไปว่ามันฟุ้งซ่านจิตมันขึ้นๆลงๆแล้วพองหนอยุบหนอ กระสับกระส่ายแล้วพองหนอ ยุบหนอไม่ชัด ตอนนั้นได้ผลแล้วในเมื่อไม่ชัดก็ไม่เป็นไร ตื้อขึ้นมาไม่พองไม่ยุบ ตื้อขึ้นมาพองยุบบนลิ้นปี่ เดี๋ยวตื้อมาพองยุบที่หน้าอก แล้วเราก็กไหนดลงไปที่ท้องกำหนดรู้หนอๆๆเสียก่อน แล้วก็หายใจเข้าออกต่อไปใหม่ นี่วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง

ขอนักปฏิบัติธรรมทำตามหลักนี้จะได้รับผลอย่างแน่นอน บางทีทำพองหนอยุบหนอ พอจิตสงบดี จิตออกแล้วมันคอยจะเผลอ มันคอยจะพลาด จิตคอยแวลออกไป แต่เรามีปัญหาอยู่ว่าจิตออกไปไม่รู้ เพราะไม่มีสติ ถ้าสติดีจิตออกไปต้องรู้แน่ ออกไปรู้เลยว่า ออกไปตอนพองหรือตอนยุบ จะเห็นชัด

บางทีขณะที่พอง ขณะที่ยุบ จิตออกไปแล้ว บางคนไม่รู้เลย จิตออกไปเสียเมื่อไหร่ ไปคิดเสียตั้งนาน แล้วนี่อย่างนี้ ก็แสดงเหตุผลให้ทราบว่าขาดสติ สติไม่พอ ถ้าสติเราพอแล้วออกไปตอนไหนรู้ตอนนั้น หนักเข้าเรากำหนดเชี่ยวชาญ ชำนาญการไปแล้ว มันก็ทำให้จิตออกรู้ตัวทำใหม่ๆ จิตออกจะไม่รู้ตัวจิตก็พองหนอยุบหนอ สติกำหนดพองหนอยุบหนอจิตหนึ่งก็ออกไปคิดข้างนอกไปคิดอะไรมากมายจริง ในเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ให้หยุดพองยุบ มากำหนดรู้หนอหรือคิดหนอก็ได้ แล้วแต่กำหนดอย่างใดอย่างหนึ่ง

กำหนดคิดหนอ คิดหนอ พอสติดีปัญญาก็บอกว่า คิดเรื่องอะไรได้ผลเป็นประการใด มันก็สะสมจิต แฝงใว้ในจิตแฝงไว้ในใจ คือ ตัวปัญญาต่อไป ได้แก่แสงสว่างอย่างนั้นเอง พอกำหนดไปแล้วจิตที่คิดมากฟุ้งซ่าน แวบไปแวบมาทำให้เกิดเวทนาได้ ทำให้ปวดเมื่อย ทำให้ร่างกายสังขารไม่อยู่ในภาวะแห่งความปกติ เราก็ต้องกำหนดสังขารร่างกายที่มันปวดตรงไหน เมื่อยตรงไหน เกิดขึ้นโดยวิธีนั้นแล้ว มันก็จะค่อยๆคลาย หายลงไป จิตก็เข้ามาสู่ภาวะของพองหนอยุบหนอ ต่อไปใหม่

อาการ“วูบ”

บางครั้งนั่งมันวูบ วูบลงไปถึงกระดาน บางทีวูบผงะ วูบไปข้างหลัง วูบไปข้างหน้า บางทีวูบไปทางซ้าย บางทีวูบไปทางขวา บางทีพองหนอบางทียุบหนอ วูบไปแล้ว บางทีพองก็วูบไปแล้ว มันวูบหลายอย่าง ต้องใช้สติกำหนดรู้หนอๆเพราะมันวูบลงไป

บางครั้งวูบมี ๒ อย่าง เกิดด้วยสมาธิสูงไป สติไม่พอ มันวูบลงไปโดยไม่ทันรู้ตัว เกิดตกใจอย่างหนึ่ง วูบอีกอย่างหนึ่งคือ วูบในการง่วง ถีนมิทธะเข้าครอบงำ ง่วงเหงาหาวนอนทำให้วูบหน้า วูบหลัง ผงกหน้าผงกหลัง เกิดขึ้นได้ในขณะที่นั่งภาวนาพองหนอยุบหนอ อย่างนี้ถือว่าถีนมิทธะ ง่วงเหงาหาวนอนมันเกิดขึ้นมิใช่เป็นตัวสมาธิ ถ้าเป็นตัวสธิแล้ว มันจะเกิดขึ้นโดยวูบอย่างแรงแต่ไม่ใช่ง่วง รู้ตัวตลอดเวลากาลอย่างนี้ สามธิดีแต่สติน้อยไปทำให้วูบลงไปได้อย่างหนึ่งอย่างนี้

บางครั้งกำหนดไปกำหนดมาเกิดปิติ เกิดขนลุกขนพองสยองเกล้า กำหนดขนลุกเสีย กำหนดขนพองเสีย เกิดปิติแล้วต้องกำหนดเสียให้ได้ พอกำหนดได้แล้ว กลับมาพองหนอยุบหนอต่อไปใหม่ ปัญญาจะเกิดตอนนั้น

บางอย่างสมาธิจะดีต้องมีอุปสรรค สติดีต้องมีอุปสรรค เช่นเวทนา เป็นต้น มาขัดขวางเป็นมารสำคัญทำให้เรารู้ในธรรมะคือเวทนา บางครั้งสมาธิจะดีทำให้เกิดฟุ้งซ่าน ถ้าเราผ่านฟุ้งซ่าน ผ่านไปได้ ด้วยใช้สติดี ปัญญาดี กำหนดได้ รับรองปัญญาก็เกิดขึ้น หลังจากที่ผ่านทุกข์นั้น จังเข้าสู่ภาวะของญาณ

นอนสมาธิ

เริ่มต้นด้วยนามรูปปริจเฉทญาณ แยกรูปแยกนามได้ ในเบื้องต้น อย่างนี้ภาวะของธรรมด้วยการกำหนดช้าๆอย่ากำหนดไว แล้วมานั่งแล้วนอนลงไป กำหนดได้ ๓๐ นาที หรือ ๑ ชั่วโมงที่ตั้งใจไว้ เราก็นอนลงไปอย่างเพิ่งแผ่เมตตา นอนเปลี่ยนอิริยาบถแล้วกำหนดที่ท้องต่อไปให้ติดต่อกันไปดูซิ จะเป็นกลางวันก็ดีกลางคืนก็ตาม

ขณะที่ผู้ปฏิบัติอยู่ที่ห้องกรรมฐานได้ดีแล้ว ตัดปลิโพธกังวลมาดีแล้ว ขอให้ทำติดต่อไป อย่าไปนั่งคุยกัน อย่าไปนั่งสนทนา อย่าไปนั่งคิดเรื่องเก่า มาเล่ากันใหม่แต่ประการใด เราก็กำหนดนอน พองหนอ ยุบหนอยาวๆ กำหนดเรื่อยไปที่ท้อง ขณะนอนนั้นชัดมาก เดี๋ยวจะรู้สึกขึ้นมาว่าสมาธิดี ปัญญาเกิด เดี๋ยวมันจะวูบลงไป มันจะเพลินลงไป เผลอลงไปบางประการ สติดี จะรู้ทุกวิธีทางว่ามันวูบตรงไหน เป็นอย่างไร จับได้ทุกอย่างขณะที่นอน

ถ้าหากว่ามันจะหลับ ไม่ใช่หลับด้วยถีนมิทธะง่วงเหงา มันหลับโดยปกติ โดยมีสติสัมปชัญญะดี มันจะรู้ตัวขึ้นมาว่าเพลินเผลอ แวบไปตอนพองหรือตอนยุบ ผู้ปฏิบัติต้องจับได้ ถ้าจับได้ตอนพองหรือตอนยุบจำไว้ หลับวูบลงไปแล้วสติดีตลอดขณะที่นอนอยู่นั้น ขณะนอนอยู่นั้นสติภายในดีมาก จิตภายในรู้อยู่ตลอดเวลา พลิกตัวกี่ครั้งรู้หมด และทำให้เราจะกำหนดตื่นเวลาไหน แม้เพียง ๑๐ นาทีก็ได้ หลับอย่างสนิท แต่ภายในมีสติ อย่างนี้ถือว่าหลับสนิทภายในมีสติ คือหลับโดยใช้ปัญญาฝากไว้ในภายใน นึกจะตื่นเวลาไหน ใครเรียกขึ้นมาในเวลาใดรับปากเมื่อนั้น อันนี้ตื่นไวชวนะจิตรับสู่อารมณ์ได้ไวด้วย ขณะที่นอนหลับมีสติ

นักปฏิบัติธรรมอย่าลืม ทำให้ติดต่อกันไป ในเมื่อท่านเดินจงกรม นั่งภวนาแล้ว นอนลงไป กำหนดเสีย ๑๐ นาที หรือ ๒๐ นาที ค่อยมาเดินจงกรม เปลี่ยนอิริยาบถต่อไปใหม่ ถ้าทำโดยต่อเนื่องติดต่อกันไป ภายใน ๗ วัน รับรองเห็นผลแน่ ผลที่จะพึงได้จากการเจริญวิปัสสนาญาณ ทำญาณวิถีรู้เท่าทันเหตุการณ์ของชีวิตได้โดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่ง

กำหนดสัมผัส

แต่ข้อใหญ่ใจความของการเจริญวิปัสสนานั้น ผู้ปฏิบัติธรรมอย่าลืมอีกอันหนึ่งคือสัมผัสอายตนะต้องกำหนด ตาเห็นรูปกำหนด หูได้ยินเสียงกำหนด จมูกได้กลิ่นกำหนด ลิ้นรับรสกำหนด กายสัมผัสต้องกำหนด เพราะที่มาของทวารหก เป็นที่มาของกิเลส และเป็นที่มาของขันธ์ ๕ รูปนาม เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน จำเป็นต้องกำหนดตลอดเวลา ให้เชี่ยวชาญ ชำนาญทุกอย่างหูได้ยินเสียงตั้งสตินั้นเอง ปัญญาก็บอกได้ในการฟังจากเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้น เกิดปัญญาในการฟัง ตาเห็นรูปก็ดี ตั้งสติไว้ที่หน้าผาก กำหนดเสียให้ได้ในการสัมผัส รับรองปัญญาก็เกิดสะสมเข้าไว้เป็นหน่วยกิต และมาเดินจงกรมนั่งภาวนารับรองได้ไว

กำหนดนิมิต

ถ้าท่านทั้งหลายกำหนดหน่วยกิตนี้ โดยอายตนะธาตุอินทรีย์ดังกล่าวมาแล้ว ไปเดินจงกรม…………….นิมิตเป็นพระพุทธรูป นิมิตเป็นหมอกเมฆต่างๆนานาประการ นิมิตให้เราเห็นต้นหมากรากไม้ก็ได้ เช่นนี้ถือว่ามีสมาธิ แต่แล้ววิธีปฏิบัติต้องกำหนดเสียว่าเห็นหนอๆในนิมิตนั้น นิมิตนั้นแปรผันเปลี่ยนแปลง เป็นสภาวรูปที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป นิมิตนั้นก็หายวับไปกับตา ปัญญาก็เกิดเข้ามาแทนที่ นิมิตนี้เป็นเครื่องหมายเท่านั้น แสดงให้เรารู้ถึงสภาวะของรูปที่มันเกิดขึ้นในทางนิมิต มันอาจจะเกิดขึ้น ๒ ประการ

กรรมนิมิต เกิดทางกรรม นิมิตเครื่องหมายให้เราได้ทราบจากครั้งอดีตก็ได้ หรือนิมิตเครื่องหมายบอกให้เราทราบในเรื่องของการกระทำและมารที่มาขัดขวางก็ได้ วิธีปฏิบัติไม่ให้วิจับ ไม่ให้ประเมินผล ไม่ต้องไปดูปริยัติ แต่ประการใด มีวิธีปฏิบัติอยู่อันมีผลคือตั้งจิตกำหนด ใช้สติตลอดอย่างนี้อย่าไปวิจับ ใก้เกิดผลในทางอื่น เพราะการปฏิบัตินี้ไม่ใช่เรียนหนังสือต้องทำโง่ไว้ ต้องทำโง่ ทำไม่รู้อะไร ทำให้เกิดเอง ปัญญาเกิดเอง และรู้เองอย่างงี้โดยไม่ได้รู้ตามอื่นบอกเล่า ไม่ใช่รู้ในตำรา ไม่ใช่รู้ในหนังสือ ไม่ใช่รู้ว่าญาณทัสสนะวิสุทธิเกิดขึ้น ในหนังสืออย่างนี้เป็นความรู้ธรรมะ

แต่ภาคปฏิบัตินี้ เป็นการปฏิบัติให้เกิดเองโดยภาวนานี้ มันเกิดเอง แล้วก็ปัญญาก็เกิดเอง บอกตัวเองได้ โดยวิธีปฏิบัตินี้ อันนี้นักปฏิบัติอย่าลืมด้วยตัวกำหนด มันมีอะไรเกิดขึ้นทุกวิถีทาง ต้องกำหนดให้หาย ถ้ากำหนดไม่หายนะ ปล่อยปละละเลยไป เป็นการสะสมหน่วยกิต ทำให้เกิดสันดานเป็นพื้นฐานของจิต ทำให้เราปิดบังปัญญาไว้ เกิดโมหจริต ปัญญาก็ไม่เกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติด้วย โดยวิธีนี้จึงต้องกำหนดทุกอิริยาบถ

เพราะฉะนั้นที่พูดซ้ำมาเป็นเวลานานนี้ ต้องการให้ผู้ปฏิบัติปฏิบัติโดยถูกต้อง ไม่ต้องฟังเสียงใคร และการปฏิบัตินี้ขอให้ปฏิบัติไปตามขั้นตอนอย่าไปเอาอย่างอื่นมาประสมประสานกัน เดี๋ยวพุทโธบ้าง พองหนอ ยุบหนอบ้าง สัมมาอรหังบ้าง เลยสับสนอลหม่านตลอดกาล ไม่ได้ผลเท่าที่ควรในวิธีปฏิบัติ หารปฏิบัติสติปัฏฐานสี่ต้องการให้มีสติ รู้ทางอายตนะ ธาตุอินทรีย์เข้าทางทวารหก ขันธ์ ๕ รูปนาม เกิดทางทวารหก แล้วก็ดับพร้อมกันไป กิเลสก็เกิดขึ้นทางนั้นเหมือนกัน คือ โลภะ โทสะ โมหะ อยู่ในขันธสันดาน เรียกขันธ์ ๕ รูปนามเป็นอารมณ์ เกิดขึ้นทางอายตนะ ธาตุ อินทรีย์ โดยวิธีนี้เป็นต้น

ถ้าเราสติดี ปัญญาดีแล้ว มันจะบอกได้เป็นขั้นตอน มีเวทนาอยู่จุดไหน กำหนดได้ จุดนั้น มันก็กายไป เพราะทุกสิ่งทุกอย่างในการฝึกบั้องต้นมักมีอย่างนี้ ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก ครูเข้ามาสอนแล้วต้องเรียน ครูโลภะ ครูโทสะ ครูเวทนา ครูฟุ้งซ่าน ครูเสียใจ มาสอนเราว่าทำไมเสียใจ แก้ไขอย่างไรก็กำหนดจิตใช้สติตลอดเวลา อริยสัจ ๔ ก็ชัดขึ้น นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าที่สำเร็จมรรคผลมา ก็ใช้หลักสำเร็จที่อริยสัจ ๔ ก็ได้จากการเจริญสติปัฏฐานมานี่เอง

อ่านคนอื่นออก

พระองค์จึงได้ย้ำหลักในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ขันธ์ ๕ รูปนามเป็นอารมณ์ ผู้ปฏิบัติธรรมอย่าลืม กำหนดให้ได้ ยืนหนอ ๕ ครั้ง นี่เอาไว้ใช้อะไร สำหรับเราดูคนอื่นเขา เห็นหนอ ๕ ครั้ง ตั้งแต่ปลายผมคนที่เราเห็น ปลายเท้าขึ้นมา เดี๋ยวสติจะบอกว่า คนนี้มีนิสัยไม่ดี คนนี้มีนิสัยดี คนนี้มีเล่ห์กระเท่ห์เพทุบาย มันจะแจ้งรายงานให้เราทราบการเห็น นี่แหละยืนหนอ ๕ ครั้งนี่ สำหรับริธีดูคนอื่นเข้า เพราะเราดูตัวเองได้แล้ว ฝึกฝนตนเองได้แล้ว อ่านตัวออกบอกตัวได้ ใช้ตัวเป็น แล้วดูคนอื่น ทำไมอ่านไม่ออกเล่าแบบเดียวกัน

เพราะฉะนั้นการยืนหนอ ๕ ครั้งต้องการจะดูคนอื่นที่เดินเข้ามาคือสภาวรูป จะเป็นคนหรือมนุษย์สัตว์ สิ่งทั้งหลายก็ตามโดยที่มีวิญญาณและที่ไม่มีวิญญาณ เราอาจจะมองเห็นวิญญาณมองเห็นดวงวิญญาณ มองเห็นสิ่งที่เร้นลับโดยปัญญาได้ ด้วยยืนหนอ ๕ ครั้งนี่แหละ ที่เราจะเพ่งสายตา จะไปดูสภาวรูปที่ไหน ก็กำหนดว่าเห็นหนอ ๆ อย่างนั้น และเห็นจริงๆด้วยตาปัญญา นี่แหละปัจจัตตัง ที่จะทำได้จึงต้องเห็นไว้ มันมีประโยชน์การแก้ปัญหาอย่างเหลือเกิน พอเราทำได้แล้ว เห็นหนอทำได้แล้ว ไม่ต้องกำหนด มันบอกเอง ดีเอง เรามองเห็นสภาวรูป รูปมันจะแจ้งชัดเกิดขึ้น ตั้งอยู่ดับไป มันจะบอกเป็นขั้นตอนออกมาเองไม่ต้องกำหนด

วิธีฝึกเบื้องต้น เราจิตยังไม่เข้าขั้นยังไม่ถึงวิปัสสนาญาณแล้ว เราก็ไม่สามารถที่จะบอกได้อย่างนี้ ถ้าเราเข้าถึงขั้นแล้ว มันจะบอกได้ทั้งหมด เป็นการคลอบจักรวาล โดยใช้สติสัมปชัญญะทุกประการ พยายามกำหนดโดยต่อเนื่อง

ที่อาตมาได้ชี้แจงแสดงมานี้ต้องย้ำไว้ สำหรับผู้ปฏิบัติปล่อยปละละเลยมาก ไม่ปฏิบัติโดยต่อเนื่อง เราจะเดินไปห้องน้ำ ห้องส้วม เดินจงกรมไป และรับประทานอาหารก็พิจารณาปัจจเวกณ์ด้วยการกำหนด กินหนอ เคี้ยวหนอ กลืนหนอ เป็นต้น ให้ช้าที่สุด อันนี้พิจารณาปัจจัยไปในตัวด้วย แต่งกายแต่งใจอยู่เสมอ ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะต้องกำหนด ตลอดเวลากาล ส่วนใหญ่ผู้ปฏิบัติจะทำโดยต่อเมื่อเดินจงกรมกับพองหนอยุบหนอเท่านั้น เพราะยังไม่สามารถจะใช้ได้ ที่จะให้ได้ต้องกำหนดสิ่งแวดล้อมทั้งหมด การปฏิบัติของเราจะได้รับผล สมความมุ่งมาดปรารถนา

ขอเจริญพรผู้ปฏิบัติธรรมทุกท่าน โปรดได้ปฏิบัติโดยต่อเนื่องจะไปอยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม ต้องกำหนดเรื่อยไป เป็นการสะสมเรื่อยไป และมันเกิดเต็มเปี่ยมขึ้นมาแล้ว มันจะเย็นอัตโนมัติเห็นได้ชัดคือ ปัญญา

เพราะฉะนั้นการเจริญวิปัสสนากับการศึกษาแบบอื่นต่างกัน ต้องทำขึ้นมาเอง ต้องทำไม่รู้ไม่ชี้ ฝากสิ่งทิฐิมานะเก็บไว้ใช้ในตัวเราที่แสดงออก ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ แล้วใช้สติกำหนดไปตลอดภาวะของรูปนามขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ จึงเรียกว่าวิปัสสนากรรมฐาน แสดงผลงานของปัญญาให้ชัดแจ้งต่อไปด้วย

ผู้ปฏิบัติธรรม เดินจงกรมแล้วนั่งภาวนา นอนกำหนด เสร็จแล้วเราก็มาที่ห้องพระ ถ้าไม่มีห้องพระ ตรงไหนก็ได้ อย่าลืมแผ่เมตตาโทรจิต อุทิศส่วนกุศล ให้ผู้มีพระคุณ มีบิดา มารดาเป็นต้น ตลอดกระทั่งเจ้ากรรมนายเวร บรรดาญาติทั้งหลายผู้ล่วงลับไปแล้ว และ เจ้ากรรมนายเวรที่จะมาทวงถามเราอยู่ทุกขณะ เราจะได้ไม่ปฏิเสธใช้หนี้เวรใช้หนี้กรรม จากการกระทำโดยอโหสิกรรมนั่นเอง ไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่อาฆาตเคียดแค้น ต่อท่านผู้ใด กรรมนั้นเป็นอโหสิ ไม่มีเวรกรรมต่อเนื่องกันไป อันนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ สำหรับผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน

หลังจากนั้น จงอุทิศส่วนกุศลและโทรจิตออกไปทุกทิศา อโหสิกรรมทุกเวลา ท่านจะได้รับผลทุกประการ จะทำกิจการงานทางโลกทางธรรม ทำแล้วไม่ไร้ผล จะเรียกเงินเรียกทองก็ได้ เรียกแบบไหน เพราะจิตใจของเราเข้สู่ภาวะของผู้มีปัญญาแล้ว จะคิดอ่านอันใดสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ สิ่งนั้นมีอานิสงห์ คิดเงินจะได้ไหลนองคิดทองจะได้ไหลมา กิจการจะได้สำเร็จตามเป้าหมาย เรียกว่าปัญญารอบรู้ในกองการสังขาร รอบรู้ในเหตุการณ์ของชีวิต สามารถใช้ชีวิตให้เกิดประโยชน์ของตนเอง และบุคคลทั่วไปได้ สมปรารถนาทุกประการ

จึงขอเจริญพรผู้ธรรม อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเหลวไหลและเป็นเรื่องทำง่ายนะ ทำยากที่สุดถึงยากอย่างไรก็ตาม ก็พยายามทำ พยายามที่จะกำหนด และปรารภขันติความอดทนไว้ ฝืนใจไว้ให้ได้จนกว่าจะเคยชินเข้าสู่ภาวะแห่งความสงบ “นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ” สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มีแล้วในโลกมนุษย์นี้ เอาไปใช้เป็นประโยชน์ได้ทันท่วงที ทุกประการ นี่แหละเป็นอาวุธที่พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้แก่เรา