ประวัติการสร้างพระพุทธแก้วสารพัดนึก (หลวงพ่อดำ)

โดย เทียนชัย ภู่พิพัฒน์

ในหอประชุม ภาวนา-กรศรีทิพา มีพระพุทธรูปองค์หนึ่ง เป็นพระพุทธรูปเชียงแสน ทรงเครื่องสิงห์สาม ประยุกต์ ทวาราวดีกับลพบุรี

ประวัติของหลวงพ่อดำ รัศมีหรือพระเกศเป็นของเก่า ส่วนองค์ของท่านไปอยู่พม่า ในสมัยที่พม่ายกทัพเข้ามาตีไทย พระเกศได้หลุดอยู่บริเวณถ้ำ แถวอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ได้มอบให้ ดร.กิ่งแก้ว  อัตถากร เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๑๔ คราวไปออกค่ายอาสาพัฒนาของวิทยาลัยวิชาการศึกษาพระนคร เพื่อสร้างโรงเรียน บ้านสันป่าข่า กิ่งอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่

เมื่อ ดร.กิ่งแก้ว ได้รับพระเกศมาแล้ว ได้เกิดความคิดขึ้นว่าจะสร้างพระถวาย จนเวลาได้ล่วงเลยมาได้ ๑๐ ปี ดร.กิ่งแก้ว เห็นว่าเป็นกาลเวลาอันควรแล้ว จึงได้นำมาถวายไว้กับหลวงพ่อจรัญ

ต่อมาเมื่อกลางปี พ.ศ.๒๕๒๖ นายบุญถิ่น  อัตถากร บิดาของ ดร.กิ่งแก้ว ดำริที่จะสร้างองค์พระถวาย จึงได้ขอให้หลวงพ่อเป็นผู้หาแบบสร้างองค์พระเพื่อสวมพระเกศ

หลวงพ่อได้นำพระเกศไปปรึกษากับช่างหล่อหลายราย บรรดาช่างก็ไม่สามารถจะบอกได้ว่าเป็นพระเกศ พระอะไร หลวงพ่อจึงได้ถามในกรรมฐาน จึงมีเสียงบอกมาว่า อีกสามวันจะมีคนมาหา คนแรกก็ให้ไป

เมื่อครบสามวันแล้ว ปรากฏว่า คุณเทียนชัย  ภู่พิพัฒน์ ได้มาหาหลวงพ่อที่วัดอัมพวันเป็นคนแรก หลวงพ่อก็แปลกใจว่า คุณเทียนชัยมีอาชีพทางทำแร่ จะมีความรู้ทางหล่อพระได้อย่างไร แม้กระทั่งช่างหล่อที่มีอาชีพทางด้านนี้ก็ไม่สามารถจะรู้ได้ จึงลองปฏิบัติตามเสียงในกรรมฐานที่บอกไว้ โดยหลวงพ่อได้นำพระเกศให้คุณเทียนชัยดู คุณเทียนชัยก็รับกับหลวงพ่อว่าจะนำไปปรึกษากับพรรคพวกดู

ต่อมาประมาณหนึ่งอาทิตย์ คุณเทียนชัยได้กลับไปหาหลวงพ่อที่วัด พร้อมกับรูปสเก๊ตช์พระพุทธรูปเชียงแสนทรงเครื่อง หน้าตักกว้าง ๓๐ นิ้ว ไปให้หลวงพ่อดูพร้อมกับเล่ารายละเอียดให้ฟังว่า ตนได้นำพระเกศนี้ไปให้ จ่าเอก อำนวย แสงวิรุฬ ทหารเรือนอกราชการ ช่างหล่อพระแถวบ้าน ช่างหล่อดู จ่าอำนวย ก็ไม่ทราบว่าเป็นพระเกศพระอะไร จึงได้นำไปปรึกษา นายจำรัส  จันทร์รัตนแสงสี ช่างปั้นพระ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่ามือชั้นอาจารย์ อาจารย์จำรัสได้นำไปเทียบกับหนังสือภาษาอังกฤษเล่มหนึ่งได้รู้ว่าพระเกศนี้ เป็นพระเกศขององค์พระเชียงแสนทรงเครื่อง จึงได้วาดภาพเหมือนออกมา และบอกว่า พระรุ่นนี้ เป็นพระที่กษัตริย์สร้าง ประชาชนไม่กล้าแตะต้องสิ่งของที่กษัตริย์สร้าง จึงไม่นิยมหรือกล้าสร้างกันในสมัยนั้น จึงพบน้อยมาก

หลวงพ่อเห็นภาพสเก๊ตช์แล้วจึงได้ปรึกษากันสร้าง โดยคุณเทียนชัยได้เสนอว่าจะทำการเททองหล่อกันที่วัด หลวงพ่อท่านเกรงว่าจะเป็นที่ครหาว่าวัดจัดพิธีหล่อพระหาเงิน คุณเทียนชัยได้เสนอไปหล่อที่บ้าน นายเกษม นางฮงไล้  ภู่พิพัฒน์ ที่บ้านตลาด ท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี อันเป็นบ้านบิดาของคุณเทียนชัยเอง หลวงพ่อได้ตกลงตามที่คุณเทียนชัยเสนอ โดยได้กำหนดเททองในวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๒๖

ในวันเททองเป็นวันที่มีพายุดีเปรสชั่นเข้าภาคกลาง ฝนยังตกหนัก แต่บริเวณพิธีหล่อกลับไม่มีฝนตก มีแต่ท้องฟ้ามืดครึ้ม เมื่อเททองหล่อเสร็จ ฝนจึงได้ตกลงมาเทใหญ่ แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการหล่อ บรรดาผู้มีจิตศรัทธาทั้งจากลูกศิษย์หลวงพ่อและมิใช่ ได้ร่วมใจสละทั้งเงิน ทองคำ นาค ทองแดง ทองเหลือง และเวลาอย่างเต็มใจ โดยเฉพาะโกศอดีตเจ้าเมืองลพบุรี ต้นสกุล สุจริตจันทร์ มีทองคำพระราชทานผสมอยู่ในโกศหนักแปดบาท ลูกหลายได้สละมาลงเบ้าหลอมเป็นองค์พระแก้วสารพัดนึกหรือหลวงพ่อดำ

ส่วนอภินิหารที่เกิดขึ้นกับคุณเทียนชัยเองก็ดี กับผู้มาปฏิบัติธรรม หรือบุคคลอื่น ๆ อีกหลายคน รวมทั้งจ่าอำนวย ช่างหล่อพระองค์นี้ จะขอให้คุณเทียนชัยเป็นผู้เล่า แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า การหล่อพระพุทธรูปแทนองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น จะเกิดความศักดิ์สิทธิได้ เจ้าภาพในการหล่อ ผู้ร่วมหล่อก็ดีต้องทำใจให้สะอาดบริสุทธิ์ เสียสละ ปฏิบัติตามรอยพระพุทธองค์ต้องไม่มีกิเลสใด ๆ เข้ามาแฝงไว้นั้นแหละ พระพุทธองค์จะประสาทความศักดิ์สิทธิ์ให้เหมือนหลวงพ่อดำองค์นี้

 

จากหนังสือประวัติและผลงานของพระคุณภาวนาวิสุทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๐

 

ประสบการณ์ในการหล่อพระพุทธแก้วสารพัดนึก

โดย เทียนชัย ภู่พิพัฒน์

ผู้เขียนได้รับการติดต่อจากอาจารย์วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา ศิษย์ของท่านเจ้าคุณพระภาวนาวิสุทธิคุณ หรือหลวงพ่อจรัญ ให้ช่วยเขียนประสบการณ์ของการหล่อพระประธานที่เคยประสบมา

การเขียนสิ่งที่เร้นลับนี้ บางครั้งอาจจะถูกครหาจากบุคคลที่ไม่เชื่อถือในเรื่องนี้ได้ อาจจะถูกข้อหาว่างมงาย หรืออื่น ๆ อีกหลายถ้อยคำสุดแต่ท่านเหล่านั้นจะมองไป เมื่อตัดสินใจเขียนแล้วก็พร้อมที่จะน้อมรับคำครหาเหล่านั้น และไม่ต้องการที่จะให้ผู้อ่านต้องเชื่อเรื่องนี้ ควรจะพิจารณาและพิสูจน์ตามหลักของพระพุทธเจ้าของเราก่อน แต่ขอยืนยันว่า เรื่องที่จะเขียนต่อไปนี้เป็นประสบการณ์ของผู้เขียนเอง

เมื่อประมาณกลางเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ ผู้เขียนได้แวะเข้าไปนมัสการหลวงพ่อจรัญ ที่วัดอัมพวัน ซึ่งอยู่ในระหว่างเส้นทางกรุงเทพฯ-อุทัยธานี ที่ผู้เขียนต้องเดินทางเข้าไปทำเหมืองแร่ดีบุกที่อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีเส้นทางอำเภอด่านช้าง-บ้านไร่ ได้นั่งรอหลวงพ่ออยู่ชั้นล่างของกุฏิเจ้าอาวาส ซึ่งหลวงพ่อใช้เป็นที่รับแขก และชั้นบนใช้เป็นที่จำวัดของท่าน

สักครู่หนึ่งหลวงพ่อก็เปิดประตูก้าวออกมา และหยุดอยู่หน้าประตู พร้อมกับเอ่ยขานนามผู้เขียนว่าคุณเทียนชัย ขึ้นมาข้างบนหน่อย”  ผู้เขียนจึงได้เดินตามท่านขึ้นไปชั้นบนของกุฏิ ซึ่งเป็นที่โล่งทั้งชั้น มีหนังสือข้าวของเอกสารวางอยู่ทั่วไป มีที่ว่างอยู่หน้าบันไดทางขึ้นเท่านั้น กะประมาณ ๗-๘ ตารางเมตรเท่านั้น เป็นสถานที่หลวงพ่อใช้จำวัดและเขียนหนังสือ จึงใช้สถานที่นั้นเป็นที่สนทนากัน

หลวงพ่อได้หยิบเกศของพระหรือรัศมี มายื่นให้ผู้เขียนดูพร้อมกับบอกว่า ท่านได้รับมาจากอาจารย์ ดร.กิ่งแก้ว  อัตถากร โดยผู้มอบมีวัตถุประสงค์จะหาองค์พระหล่อสวมเข้ากับรัศมีนี้ พร้อมกับเล่าที่มาว่า อาจารย์ ดร.กิ่งแก้ว ได้รับมอบมาจากเจ้าหน้าที่ศึกษาธิการผู้หนึ่ง ในเขตตอนเหนือสุดของจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้มาจากในถ้ำ เข้าใจว่าองค์พระจะถูกพม่านำไปในยุคสงคราม รัศมีชิ้นนี้จะตกหล่นอยู่ หลวงพ่อได้กล่าวต่อไปอีกว่า ท่านได้นำไปให้ช่างปั้นพระดูแล้วก็ไม่ทราบว่าเป็นพระรุ่นใด หรืออาจจะเป็นของฤาษีก็ไม่มีผู้ใดทราบได้ ผู้เขียนรู้จักช่างหล่อพระที่บ้าน ช่างหล่อผู้หนึ่งเป็นอดีตทหารเรือชื่อ ..อำนวย  แสงวิรุฬ จึงรับอาสาขอนำไปปรึกษากับจ่าอำนวยผู้นี้ ในตอนท้ายหลวงพ่อได้บอกอีกว่า อาจารย์ ดร.กิ่งแก้ว มีความตั้งใจจะหล่อพระองค์นี้ให้ได้โดยตั้งงบหล่อให้จำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท (สองหมื่นบาทถ้วน)

เมื่อผู้เขียนลาหลวงพ่อกลับไปแล้ว จึงได้นำพระรัศมีไปปรึกษากับจ่าอำนวยที่บ้านช่างหล่อ จ่าอำนวยบอกว่าไม่เคยเห็นเช่นกัน แต่ก็รับจะนำไปปรึกษากับพรรคพวกช่างปั้นบริเวณบ้านช่างหล่อให้ ต่อมาอีก ๒-๓ วัน จ่าอำนวยได้พบผู้เขียนที่บ้าน ส่งข่าวว่าตนได้ไปปรึกษากับช่างปั้นพระเลียนแบบของเก่าชื่อ อาจารย์จำรัส  จันทร์รัตนแสงสี ช่างปั้นพระชื่อดังผู้หนึ่งในวงการบ้านช่างหล่อ อาจารย์จำรัสได้นำรัศมีหรือพระเกศนี้ไปเทียบกับตำราพระเก่า จึงได้ไปพบในหนังสือภาษาอังกฤษเล่มหนึ่งตรงกันเข้า

เป็นพระเชียงแสนทรงเครื่องสิงห์สามประยุกต์ทวาราวดี เป็นพระที่พระมหากษัตริย์สร้างไม่มีผู้ใดกล้าแตะต้องถือเป็นของสูง จึงไม่แพร่หลาย หน้าตักกว้างประมาณ ๓๐ นิ้ว พร้อมกับสเกตภาพมาให้ดู

หลังจากที่ได้รับรู้เรื่องราวตลอดแล้ว ผู้เขียนก็ต้องเดินทางเข้าไปเหมืองเป็นปกติเฉลี่ยอาทิตย์ละครั้ง จึงได้นำเรื่องราวต่าง ๆ ไปปรึกษากับหลวงพ่อ หลวงพ่อเห็นภาพสเก็ตซ์แล้ว ได้ตัดสินใจตามของอาจารย์จำรัสทันที ส่วนผู้เขียนเอง ในชีวิตไม่เคยมีประสบการณ์ผ่านการหล่อพระ ไม่ทราบมีอะไรดลใจ ในขณะนั้นได้ตัดสินใจรับกับหลวงพ่อว่า จะเป็นเจ้าภาพหล่อให้ พร้อมกันนั้นผู้เขียนได้เสนอให้เททองหล่อที่วัดอัมพวัน แต่หลวงพ่อคงจะคิดว่า การทำพิธีหล่อพระในวัด จะเป็นการถูกครหาหรือไม่ก็ไม่ทราบเจตนาของท่าน ท่านบอกให้เททองที่บ้านช่างหล่อแล้วท่านจะไปทำพิธีเอง

ผู้เขียนเห็นว่าบ้านช่างหล่อนั้นคับแคบที่จะทำพิธี จึงได้เสนอให้ทำพิธีเททองที่บ้านบิดามารดาของผู้เขียนที่บ้านหน้าที่ว่าการอำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี โดยเห็นว่ามีสถานที่กว้างพอที่จะทำพิธีได้ หลวงพ่อจึงได้ตกลงตามที่ผู้เขียนเสนอ โดยกำหนดวันเททองกันในวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๒๖

มีเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะเป็นไปได้เรื่องหนึ่ง มีญาติผู้หนึ่ง ภรรยาพลตรีสวัสดิ์ เผ่าบุญเสริม อดีตผู้บัญชาการศูนย์การทหารราบ ชื่อ นางอำไพ เผ่าบุญเสริม นามสกุลเก่า สุจริตจันทร์ ได้นำโกศเก่าของปู่อดีตเจ้าเมืองคนแรกของลพบุรี ต้นสกุล “สุจริตจันทร์” มีทองคำพระราชทานปิดหน้าศพหนักแปดบาทผสมอยู่ นำมาฝากไว้เพื่อจะให้หล่อด้วย ครั้นรู้ไปถึงบรรดาลูกหลานบางคนเข้า ก็ไม่พอใจคัดค้าน นางอำไพจึงล้มความตั้งใจนำโกศใบนี้ไปคืนให้แก่พี่สาว คือ นางฉลอง สุจริตจันทร์ บ้านอยู่ที่ตัวจังหวัดลพบุรีพร้อมกับนึกเสียใจในความไม่สมหวัง ครั้นพอใกล้จะถึงวันงานหล่อคุณป้าฉลอง สุจริตจันทร์ อายุ ๘๐ ปีเศษ ได้ขึ้นรถเมล์จากลพบุรีไปพบกับคุณแม่ของผู้เขียนที่อำเภอท่าวุ้ง คุณแม่ก็ตกใจเมื่อเห็นคุณป้าฉลองขึ้นรถเมล์มาหาคนเดียว อายุก็ปูนนี้แล้วและไม่มีผู้ใดติดตามด้วย คุณป้าฉลองบอกว่าถ้าไม่มาบอกจิตใจไม่สบาย นอนไม่หลับเกี่ยวกับเรื่องโกศของท่านเจ้าเมืองลพบุรีใบนี้ จึงต้องรีบมาบอกว่า ตนได้ตัดสินใจแล้วว่าให้นำโกศใบนี้หล่อพระองค์นี้ให้ได้ โดยมีข้อแม้ว่าจะขอบริจาคให้อีก ๕,๐๐๐ บาท แต่ขอพระหน้าตัก ๙ นิ้ว ๒ องค์ สลักชื่อเจ้าของโกศองค์หนึ่งถวายที่วัดอัมพวัน อีกองค์หนึ่งขอนำไปถวายวัดแห่งหนึ่งแถวท่าวุ้ง (จำชื่อไม่ได้) ซึ่งผู้เขียนก็ตกลงให้ตามเงื่อนไขไป

ในวันพิธีเททอง เป็นวันที่ดีเปรสชั่นเข้าภาคกลางพอดี เมฆดำหนาบนท้องฟ้า ฝนเทลงมาไฟฟ้าก็ดับ จ่าอำนวย ช่างหล่อต้องไปวิ่งขอยืมเครื่องทำไฟฟ้าปั่นพัดลมเผาแบบให้สุก แต่ก็แปลกในบริเวณพิธีกลับไม่มีฝนคงมีแต่ท้องฟ้ามืดมิดเท่านั้น ผู้ที่ไปในงานเททองหล่อคงจะจำกันได้ดี จนกระทั่งเททองเสร็จพิธีแล้วฝนจึงได้เทลงมาใหญ่ ซึ่งก็สร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้ไปร่วมพิธีเป็นอันมาก โดยเฉพาะจ่าอำนวยหัวหน้าช่างหล่ออยู่ไม่เป็นสุขเพราะเกรงว่าจะเทพระไม่ติดแบบ เสียหายต้องเทกันใหม่ พอฝนหยุดจ่าอำนวยคว้าค้อนเดินไปกะเทาะแบบส่วนที่เป็นพระพักตร์ดูก่อน พร้อมกับถอนใจว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ แบบที่เผามาตลอดคืนก็ไม่ค่อยจะสุก แต่ก็ประหลาดที่ส่วนนี้ไม่เสีย

หลังจากนั้น ๒-๓ วัน จ่าอำนวยได้ส่งลูกชายอาจารย์จำรัส ช่างปั้นพระองค์นี้ไปทำการขัดแต่ง จะเร่งให้เสร็จในวันที่ ๓๐ เดือนเดียวกัน ช่างขัดได้ลงมือขัด แล้วก็ทิ้งงานหายไป จ่าอำนวยได้บอกกับผู้เขียนว่า มีใครไม่ทราบ ผูกผ้าใต้ตาได้กลิ่นเหมือนน้ำมันใส่ผมผู้ชายไปเปิดมุ้งภรรยาแล้วพูดว่า พระที่ขัดจะเอาอย่างไร จ่าอำนวยจึงเดินทางไปดู จึงรู้ว่าไม่มีผู้ใดขัดพระ จึงได้รีบไปหาช่าง และจ่าอำนวยเองไปช่วยกันขัดจนเสร็จทันกำหนด  

            ในส่วนของผู้เขียนเองก่อนที่จะถึงวันเททอง ๒ วัน ผู้เขียนได้ถูกโจรกรรมรถยนต์ปิคอัพโตโยต้าพร้อมแร่ดีบุกบรรทุกอยู่ในรถราคาสองแสนบาทเศษ ซึ่งจอดอยู่ในบ้านเลขที่ ๔๙๑ หมู่บ้านเฉลิมสุขนิเวศน์ ๔ ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณเที่ยงคืนเศษ ยามประจำหมู่บ้านเห็นและปลุกผู้เขียนเท่าไรก็ไม่ตื่น ปกติผู้เขียนมีความรู้สึกตัวไว แต่ในคืนนั้นไม่ทราบเป็นเพราะอะไรจึงไม่ได้ยินเสียงยามปลุก ยามจึงไปตามเพื่อนบ้านคุณมลฑล  เกตุไทย ผู้พิพากษาศาลอาญา คุณมลฑลจึงได้โทรศัพท์ไปปลุกผู้เขียนเอง ครั้งแรกยังนึกว่าเพื่อนบ้านโทรศัพท์ไปแหย่เล่น เพราะรถคันนี้จอดอยู่ในบ้านแถมมีระบบกันขโมยอีกชั้นหนึ่ง แต่เมื่อได้รับการยืนยันจึงลุกขึ้นมาดูและไปแจ้งความ ผู้เขียนนึกอะไรไม่ออก จึงตัดสินใจไปจุดธูปบอกพระรัศมีที่จะนำไปหล่ออีก ๒ วันข้างหน้า ว่า หากท่านศักดิ์สิทธิ์จริงก็ขอให้ได้รถและแร่คืน

 

หลวงพ่อเผยเหตุการณ์

ในวันรุ่งขึ้นผู้เขียนได้เดินทางไปพบหลวงพ่อ ได้เล่าให้ท่านฟังถึงเหตุการณ์รถพร้อมแร่ถูกขโมย ท่านนั่งอึ้งอยู่ครู่หนึ่งจึงได้เปิดเผยออกมาว่า วันหนึ่งในขณะที่ท่านนั่งกรรมฐานอยู่ได้เห็นผู้เขียนเดินไปหาท่านสภาพคอขาด แต่ตรงท้องพูดได้ ยมทูตก็บอกถึงเวลาแล้ว ท่านจึงนึกว่าอย่างไรเสียผู้เขียนก็ต้องหมดวาระจากโลกมนุษย์ไปแน่ แต่ครั้นผู้เขียนรับว่าจะเป็นเจ้าภาพในการหล่อพระท่านจึงโล่งใจว่าอย่างไรก็ได้ต่ออายุไปได้ควรจะหมดกันแล้ว ไม่ควรจะต้องมาพบกับเหตุการณ์นี้ ท่านจึงได้ให้คำแนะนำให้ผู้เขียนทำใจให้ดี ๆ ไว้ เมื่อหล่อพระเสร็จก็จะได้รถคืน และถวายพระแล้วก็จะได้แร่คืน

 

ตรงกับเหตุการณ์ทำนาย

            เมื่อพิธีหล่อพระผ่านไป ประมาณหนึ่งสัปดาห์ ในขณะนั้นน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร ผู้เขียนได้รับโทรศัพท์จากตำรวจนครบาลว่า มีรถทะเบียนตรงกันกับที่ผู้เขียนได้แจ้งความไว้ จอดอยู่ในซอยจอมพล ลาดพร้าว ผู้เขียนจึงรีบไปดูก็ใช่คันดังกล่าว จึงได้สอบถามเจ้าของร้านค้าในบริเวณนั้นดู ก็รู้ว่านำมาจอดไว้ตั้งแต่ในคืนวันที่โจรกรรมไป เมื่อสำรวจทรัพย์สินดูทุกอย่างในรถอยู่ครบ เว้นแต่แร่ดีบุกราคาสองแสนเศษที่หายไปเท่านั้น

ก่อนถวายพระ ได้มีผู้หญิงโทรศัพท์มาตามคนขับรถเก่าผู้หนึ่งที่บ้าน ผู้เขียนก็บอกไปว่าไม่อยู่ขอเบอร์โทรศัพท์ไว้ จะแจ้งให้คนขับรถผู้นั้นโทรกลับ เมื่อผู้เขียนได้เบอร์โทรศัพท์จากผู้หญิงผู้นั้นแล้ว จึงได้ตรวจสอบเลขที่บ้านและตามไปพบ แกล้งถามไปว่าคนขับรถผู้นั้น นำของมาฝากไว้ยังอยู่หรือเปล่า เจ้าของบ้านเป็นหญิงสาวรุ่นราวคราวเดียวกันกับคนขับรถ ได้ยอมรับว่า นายต็อก อดีตคนขับรถได้นำแร่ดีบุกมาฝากไว้เพียงวันเดียว และได้มีชายจีนบอกลักษณะรูปร่างให้โดยละเอียดได้ฟัง ผู้เขียนก็นึกว่าในวงการแร่มีใครบ้าง เชื่อว่าจะต้องเป็นบุคคลผู้นี้แน่ ๆ เมื่อไต่ถามรายละเอียดพอสมควรแล้ว จึงได้ถามเจ้าของบ้านไปว่า ทำไมจึงต้องโทรศัพท์ไปหานายต็อกผู้นี้ เจ้าของบ้านได้เล่าว่า นายต็อกนี้เป็นเพื่อนเรียนหนังสือร่วมชั้นโรงเรียนเดียวกันมาในสมัยชั้นมัธยม ที่อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ได้นำของมาฝากไว้บอกว่าโกดังเก็บของน้ำท่วม ขอฝากของไว้ชั่วคราว พอวันรุ่งขึ้นเวลาประมาณสามทุ่มได้ย้อนกลับมาขนของไปพร้อมกับชายจีน ๒ คน ด้วยรถปิคอัพ หมายเลขทะเบียนเธอจดไว้เรียบร้อย เธอสงสัยว่าตอนมาขนนั้นได้มีการต่อรองราคากัน จึงเป็นที่สงสัยประกอบกับนายต็อกได้บอกกับเธอว่าจะมาพบเธออีกในวันสองวันนี้ เธอตั้งใจจะต่อว่า ว่านายต็อกนำของอะไรมาฝากกันแน่ เพราะบ้านหลังนี้บิดาได้ซื้อไว้สำหรับให้เธอและน้อง ๆ อยู่เรียนหนังสือกลัวจะรู้ไปถึงบิดา ก็รอมานานพอสมควรจึงไปค้นสมุดพบเบอร์โทรศัพท์ของนายต็อกเข้า จึงได้โทรไปตามพร้อมกับเสริมอีกว่าหากไม่โทรไป จิตใจกระวนกระวายอย่างไรพิกล เมื่อผู้เขียนได้ตรวจสอบเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ผู้ซื้อแร่คือใครจึงได้รอให้งานถวายพระผ่านไปก่อน จึงไปพบนายตำรวจที่ได้แจ้งความ และพาไปบ้านเถ้าแก่ที่รับซื้อแร่ไป ขณะไปที่ผู้เขียนได้นำตำรวจไปนั้น ตัวเถ้าแก่ไม่อยู่ร้าน คงอยู่แต่ภรรยาจึงได้ทำการค้นบ้าน พบแร่ดีบุกอยู่ ภรรยาเถ้าแก่จึงได้ขอร้องอย่าได้เอาเรื่องกับสามีตน โดยยินยอมชดใช้ค่าเสียหายตามราคาของให้ทั้งหมด

จากนั้นผู้เขียนได้ขออนุญาตจากหลวงพ่อหล่อองค์เหมือนท่านหน้าตัก ๙ นิ้ว จำนวนหนึ่งร้อยองค์เศษเล็กน้อย เพื่อไว้แจกแก่ผู้ที่บริจาคทรัพย์สมทบทุนมูลนิธิของหลวงพ่อ ทราบว่าได้เงินเข้ามูลนิธิจำนวนล้านบาทเศษ และยังได้ทราบข่าวว่า พระพุทธแก้วสารพัดนึก (หลวงพ่อดำ) พระเชียงแสนทรงเครื่ององค์นี้ได้แสดงอภินิหารให้แก่ผู้ที่ได้บูชาต่าง ๆ นา ๆ และต่อมานางสมจิต ทองใบ ร้านขายยาสุขเกษมโอสถ ตลาดชันสูตร อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี พี่สาวของผู้เขียนได้มีจิตศรัทธาสร้างพระรูปเหมือนหน้าตัก ๕ นิ้ว ถวายให้กับหลวงพ่ออีกจำนวนหนึ่ง

 

ผู้หล่อเสียสัจจะ

ต่อมาผู้เขียนได้ทราบว่า จ่าอำนวย หัวหน้าทีมหล่อพระเป็นมะเร็งที่อกระหว่างนมทั้งสองข้าง ผู้เขียนได้แนะนำไปหาแพทย์ที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อนกับผู้เขียนตรวจรักษาก็ได้ทราบว่า จ่าอำนวยเป็นมะเร็งที่อกระหว่างราวนม ยากแก่การจะผ่าตัดและรักษา และได้เสียชีวิตในเวลาถัดมา ผู้เขียนได้นำเรื่องนี้ไปคุยกับหลวงพ่อ ก็ได้รับทราบว่า จ่าอำนวยผิดสัจจะวาจากับหลวงพ่อดำไว้ โดยการไปหล่อองค์ท่านเพิ่ม และไปจำหน่ายให้ร้านของเก่า ผู้เขียนจึงได้ไปถามนายแป้วลูกชายจ่าอำนวยว่าเท็จจริงประการใด ลูกชายจ่าอำนวยก็ยืนยันว่า คุณพ่อได้ไปหล่อครั้งหลังเพิ่มอีกสององค์ แต่ก็บอกว่าหน้าไม่เหมือนกัน

เรื่องที่เล่ามานี้ผู้เขียนขอยืนยันว่าเป็นประสบการณ์ของผู้เขียนเองทั้งสิ้น และขอยอมรับว่าอานิสงส์ในการหล่อพระประธานรูปแทนองค์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระศาสดาของเรานั้นมีจริง และมีบางอย่างที่ผู้เขียน ได้ประสบมาอีกมากมาย จึงอยากให้ท่านผู้อ่านสอบถามจากผู้อื่นบ้าง จะได้เปรียบเทียบกันได้หรือจะหาประสบการณ์เองจะดีที่สุด

 ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๓๒