ประสบการณ์การปฏิบัติธรรม ตอนที่ ๒
โดย นิรัชรา ทวีสมบูรณ์
ดิฉันขอย้อนถึงตอนเด็ก สมัยนั้นเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา มีคุณพ่อนำสวดมนต์ก่อนนอนทุกคืน มีคุณย่าคุณยายทำบุญตักบาตรเสมอ ดิฉันชอบจัดดอกไม้ถวายวางไว้บนหิ้งพระ บางทีก็ซื้อพวงมาลัยมาถวายเสมอมา
ประมาณปี ๒๕๒๑ ดิฉันเริ่มห่างไกลพระพุทธศาสนามาก มีจิตใจเฉย ๆ ไม่ได้ไหว้พระเหมือนเคย ไม่ได้เข้าวัดทำบุญ ยิ่งฟังเทศน์นั้นเห็นเป็นเรื่องน่าเบื่อ ไม่มีในหัวคิด เห็นพระก็เฉย ๆ บางทีคุณพ่อคุณแม่พาไปเที่ยววัด ก็กราบพระท่านตามที่เห็นคนอื่นเขาทำกัน คงเป็นเพราะกรรมมาบังตาทำให้ดิฉันมืดมัวอยู่นาน แต่ยังดีที่มีความคิดว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ถ้ามีใครมาพูดถึงเรื่อง สวรรค์-นรก ชาติหน้าหรือชาติไหน ล้วนเห็นเป็นเรื่องไร้สาระช่วงนี้เพียงแต่ ไม่เคารพนับถือบูชากราบไหว้พระเหมือนตอนเด็กเท่านั้นเอง ช่วงชีวิตตอนนี้กำลังเรียนด้วยและก็ทำงานคู่กันไป ด้านสุขภาพไม่ดี เป็นคนที่อ่อนแอ โรคภัยถามหาเสมอ อุบัติเหตุก็มักจะเจอบ่อย แต่ก็ไม่ถึงกับเจ็บตัวมากนัก
ประมาณปี ๒๕๓๑-๒๕๓๒ เป็นช่วงที่เจอมรสุมชีวิตมากที่สุด ทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งเคยอ่อนแอมาตั้งนานแล้วยิ่งหนักเข้าไปอีก ทั้งนี้เพราะดิฉันไม่เคยมาฝึกอบรมทางด้านจิตใจ เมื่อจิตใจอ่อนแอทุกสิ่งทุกอย่างก็พลอยแย่ตาม ลงไปด้วย เชื่อคนง่ายโดยไม่ไตร่ตรองให้ถ้วนถี่ คุณแม่เตือนเรื่องการคบเพื่อนก็ไม่ฟัง จิตใจแย่ ร่างกายก็มีโรคเข้ามาเบียดเบียน เกิดการท้อถอย หมดกำลังใจ ไปโยนสิ่งที่เกิดขึ้นให้กับโชคชะตาหรือฟ้าลิขิต
ถึงตอนนี้ดิฉันสามารถจะตอบได้ทันทีว่า ไม่ใช่อยู่ที่โชคชะตาแต่อยู่ที่ตัวเราเองเป็นผู้กระทำกับอยู่ที่จิตใจเป็นสำคัญ จิตใจต้องเข้มแข็ง ไม่ไขว้เขว ใครพูดอย่างไรก็หลงใหลเชื่อตาม มีความเชื่อมั่นตนเองว่าสิ่งที่ทำลงไปนั้นถูกต้องแล้ว อย่าเชื่อผู้อื่นว่า เขาว่าเราอย่างนี้ คนนั้นว่าเราอย่างนั้น ถ้าเป็นอย่างนี้จะเกิดปัญหาแน่นอน มีสติคิดให้รอบคอบหาสิ่งที่เป็นเหตุคอยแก้ปัญหาและก็ต้องมีปัญญาที่จะพิจารณาแก้ไขปัญหา ต้องหาสาเหตุที่ทำให้เราต้องเป็น แบบนี้ ช่วงที่ดิฉันคิดได้ เป็นช่วงที่ดิฉันไม่สบายมาก จึงต้องพักงานจนถึงต้องลาออกจากครูประจำ และเสียงก็ไม่มีเลย เจ็บคอทรมานมากที่สุด คงเป็นกรรมที่ไม่เชื่อฟังคุณแม่นั่นเอง เมื่อป่วยก็ได้คิดว่าการที่คบเพื่อนนั้นสำคัญมาก เราคบกับใครเราก็จะเป็นเช่นนั้น คบกับผู้ที่มีคุณธรรม เราก็จะเป็นเช่นนั้นจริง ๆ
ในระยะนี้ดิฉันก็ยังละเลยในการสวดมนต์ มีอยู่วันหนึ่งน้องบอกว่า “ทำไมไม่สวดมนต์” ก็เดินผ่านหน้าโต๊ะหมู่บูชาไป แล้วพูดว่า “ขี้เกียจสวด” และเข้าไปนอน สิ่งที่เกิดขึ้นในคืนนั้นไม่ลืมเลยตราบทุกวันนี้
ฝันเห็นพระซึ่งมีอายุมาก รูปร่างสูงใหญ่ อยู่ในป่า มีผู้เฒ่าผู้แก่รู้จักท่านดี เข้าไปกราบท่าน ถามท่านว่า “สบายดีหรือ” ดิฉันก็ยืนมองไม่ไกลนัก ดิฉันคนเดียวที่อยู่ในที่นั้นเด็กที่สุด พระองค์นั้นถามดิฉันว่า “อยากไปเที่ยวไหม” ดิฉันรีบรับปากทันที ท่านพาไปดูสถานที่ต่าง ๆ เห็นเหมือนสลัม ท่านก็บอกว่าพวกนี้ไม่ได้ทำบุญตายไปก็อยู่แบบนี้ ต่อไปก็เป็นที่อยู่ที่ดีขึ้นเป็นลำดับจนหยุดอยู่กับที่ ๆ หนึ่ง หลังคามีแสงงดงาม ปูด้วยกระเบื้องสวยงามมาก (ก่อนจะพามา ท่านเตือนว่า เห็นสิ่งใดห้ามร้อง ถ้าร้องจะไม่เห็นอะไรอีกเลย) ท่านอนุญาตให้เข้าไปข้างใน อากาศเย็นสบาย พื้นปูด้วยหินอ่อน เดินไปก็เจอเหมือนแท่นคล้ายกับหีบศพ ก็เดินไปดูด้านหน้า ปรากฏว่ามีภาพของดิฉันปรากฏอยู่ ดิฉันร้องลั่นอยู่ในฝัน ตื่นขึ้นมาก็ร้องและหน้าก็ฟุบอยู่ตรงที่นั่นเอง รู้สึกอึดอัดเหงื่อก็ออกมากด้วย รู้สึกเหนื่อยมาก ในฝันท่านเตือนว่า “เราน่ะที่อยู่ตอนนี้ดีอยู่แล้ว แต่ถ้าทำบุญทำกุศลต่อไปก็จะได้อยู่ที่ดีกว่านี้อีก”
เล่าทุกอย่างให้ทุกคนในบ้านฟังไปทำบุญ และจากนั้นมาไม่ต้องมีใครบอกให้สวดมนต์อีกเลย
ความคิดเรื่องการนั่งวิปัสสนากรรมฐานก่อนที่จะมาปฏิบัติ
ความคิดที่จะมานั่งวิปัสสนากรรมฐานนั้นมีน้อยมาก ส่วนมากน้องสาวจะเป็นคนคอยกระตุ้น แล้วก็มักผัดไปเรื่อย ๆ บ้างก็ว่า “ไม่มีเวลาว่างเลย ขอให้มีเวลาว่างก่อน” น้องดิฉันเคยไปปฏิบัติกับ คุณแม่สิริ กรินชัย เมื่อเขากลับมา วันแรกก็ก้มลงกราบเท้าคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งก็ทำให้ท่านรู้สึกตื้นตันใจ และเขาขออโหสิกรรมที่เขาเคยไม่เชื่อฟังต่าง ๆ ดิฉันเป็นผู้ดูก็คิดว่า “กลับมาคราวนี้มาแบบใหม่ แปลกกว่าเดิม แต่เป็นการเริ่มต้นที่ดี” บางทีเขาก็จะนั่งหลับตาทำสมาธิ บ้าง ก็เดินจงกรมอยู่ที่บ้าน ก็คิดว่าน้องเราเป็นเอามากแต่ก็ไม่เคยรบกวน เริ่มคิดว่า “แค่นั่งหลับตา เมื่อได้ยินอะไรก็ให้กำหนด จะทำให้เราได้อะไร” เดินก็เหมือนกัน “ทำแล้วได้อะไรขึ้นมา” เป็นความคิดก่อนปฏิบัติ เคยถามน้องว่า “ถ้าปวดหัวล่ะ จะทำยังไง” เขาก็บอกว่า “กำหนดซิว่า ปวดหนอ ๆ” ก็เคยโต้กันบ้างว่า “ยิ่งคิดก็ยิ่งปวดน่ะซิ และยิ่งให้ พูดว่าปวดหัวหนออีก มิยิ่งปวดรุนแรงกว่าเดิมหรือ” ซึ่งนับว่าเป็นความคิดที่ถ้าคนเขามาปฏิบัติกันจะไม่เอ่ยคำถามแบบนี้เลย ไม่อย่าง นั้นคนเขาจะมานั่งปฏิบัติกันทำไม ถ้าไม่มีผล ทั้งเสียเวลา แต่ผลที่ได้คือ สิ่งใดดิฉันก็ต้องการพิสูจน์
แรงบันดาลใจในการมาปฏิบัติธรรม
แรงบันดาลใจจากน้องเป็นคนแรก เพราะเห็นดิฉันเป็นโรคภัยบ่อยที่สุด และอีกสองท่านคือคุณวรากร และ คุณพรพิไล ไรวา ในความคิดของดิฉันนั้น เห็นว่าเป็นเรื่องแปลกที่ครอบครัวคุณวรากรไปนั่งวิปัสสนาเสมอ แต่ไม่เคย ไปถามท่านเลยว่าดีอย่างไร จนกระทั่งเดือนกันยายน ๒๕๓๔ ดิฉันโดนกระจกตกมาใส่เหนือเข่าซ้ายเย็บ ๑๑ เข็ม หยุดทำงานหลายอาทิตย์ เมื่อคุณพรพิไลทราบท่านก็บอกว่า “แบบนี้ครูอ้อยต้องไปนั่งวิปัสสนาบ้างแล้ว” ดิฉันก็รับคำนะคะว่า “คงจะต้องไปสักทีเหมือนกันค่ะ” แต่ก็ยังผัดมาอีก จนเกิดความฝันประหลาดสามอย่าง ในเวลาไล่เลี่ยกัน
ฝันครั้งที่ ๑ ไปนั่งฟังเทศน์ที่วัดอัมพวัน มีคนบ้าถือมีดขึ้นจะมาแทงท่านเจ้าคุณพระภาวนาวิสุทธิคุณ แต่ลูกศิษย์วัดป้องกันได้ แต่เขาวิ่งตรงมาทางคุณพ่อ ดิฉันเอาตัวเข้าไปรับแทน บอกให้คุณแม่รีบพาคุณพ่อออกไป โดนแทงเลือดอาบ หลวงพ่อท่านเตือนว่า “กำลังมีเคราะห์ ถ้ามีเวลาให้มานั่งปฏิบัติ ๗ วันหรือ ๑๕ วัน” ขณะนั้นกำลังพักผ่อนกับครอบครัวที่หัวหิน
ฝันครั้งที่ ๒ ฝันว่าไปลาทุก ๆ ท่าน คุณพ่อ-แม่-น้อง ๆ ญาติ รวมทั้งคุณย่า (ซึ่งเสียไปเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๓๕) ก็เริ่มสังหรณ์ใจว่าคงอยู่ได้อีกไม่นานนัก จึงได้เล่าความฝันนี้ให้น้องฟังเพียงคนเดียวและบอกว่า “พี่คงอยู่ได้อีกไม่นานเท่าไหร่ คงจะต้องไปก่อนทุก ๆ คน แม้แต่คุณย่า ซ้ำอายุก็มากแล้ว”
ฝันครั้งที่ ๓ ฝันว่าเป็นมะเร็ง เห็นน้ำเหลืองไหลออกมา จนตกใจตื่นก็บอกคุณแม่ ท่านไม่รอช้าพาไปตรวจ ปรากฏว่ามีก้อนเนื้อ ไปหาหมอท่านที่สอง ท่านก็บอกว่า มีแต่เป็นซีสก้อนเล็ก ๆ จะเอาออกก็ได้ ไม่เอาออกก็ได้ แต่คุณแม่อยากให้เอาออก เมื่อดิฉันรู้ว่าเป็นแน่ ๆ จิตใจเริ่มหวั่นไหวเกิดมีความกลัวขึ้นมา ก็ร้องไห้อย่างมาก สติตั้งรับไม่ไหวเพราะยังไม่เคยฝึกอบรมจิตใจเลย รู้อยู่อย่างเดียวว่าต้องเข้าโรงพยาบาลผ่าตัดแน่นอน แต่คุณหมอบอกให้ลองดูอีกประมาณ ๗-๘ วัน แล้วให้ยาไปทาน แล้วให้กลับมาตรวจใหม่
คราวนี้ผู้ที่ผลักดันให้มานั่งวิปัสสนากรรมฐานที่วัดอัมพวันแรงที่สุดเห็นจะเป็นคุณพ่อ-คุณแม่ แต่ท่านก็บอกก่อนที่จะเกิดความฝันที่เป็นจริงครั้งที่ ๓ นี้ตั้งแต่ดิฉันเริ่มฝันครั้งที่ ๑ คุณพ่อก็บอกว่า “ควรไปได้แล้ว” แต่ความที่ ไม่ค่อยจะเชื่อเลย ในที่สุดก็ต้องยอม มีน้องพามาและอยู่เป็นเพื่อนเพียง ๓ วัน
ผลหลังจากการปฏิบัติ
ดิฉันเริ่มมาวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๓๕ ถึงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๓๕ ทีแรกจะกลับวันที่ ๒๗ แต่แม่ใหญ่เห็นว่าดิฉันควรจะอยู่ถึงวันพระ คือ วันที่ ๒๗ และกลับวันที่ ๒๘ ดิฉันก็ตกลงรับคำกับท่านตามนั้น
สองวันแรกอึดอัดใจมากเหมือนกำลังปรับตัว ตื่นแต่เช้าและง่วงนอนมากด้วย แต่ก็พยายามทน เข้ามาอยู่ในวัดนี้แล้วในจิตใจไม่เคยคิดเรื่องความเจ็บป่วยเลย จากวันที่สามจนถึงวันสุดท้าย จิตใจสดใส สดชื่น เห็นหน้าใครก็ยิ้ม ตื่นเช้าได้สบายมาก อาการง่วงไม่มีเลย มีความรู้สึกว่าอยู่ที่นี่มีความสุขมาก บรรยายไม่ถูกว่ามีความสุขเพียงใด มีความรู้สึกอบอุ่น แม่ชีทุกท่านให้ความรักความเป็นห่วงเหมือนลูกหลาน ที่นี่คือวัดอัมพวันก็จริง แต่ดิฉันรู้สึกว่าเหมือนอยู่บ้าน มีต้นไม้ร่มรื่น มีเสียงนก ไก่ สารพัด มีอาหารให้ทาน ไม่อดอยาก แม่ครัวมีฝีมือเยี่ยม เป็นความรู้สึกที่แท้จริงของคนที่อยากจะลองดูว่า “มานั่งแล้วจะได้อะไร”
สิ่งที่ได้เกินคุ้มและมีค่า ทุกท่านที่วัดมีแต่คำว่า “ให้” โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน แต่สิ่งที่ท่านต้องการคือ ให้ทุกคนมีธรรมะประจำใจ แม่ชีท่านทุ่มเทชีวิตสอนให้ทุกท่านด้วยความเสมอภาค อยากจะเห็นศิษย์มีความสุข อยู่แต่เพียงว่าเราจะเอาสิ่งที่ท่านหยิบยื่นให้นั้นกลับเอาไปใช้ได้มากน้อยแค่ไหน
ทั้งคำสั่งสอนเทศนาธรรมของหลวงพ่อ ล้วนเป็นสิ่งที่ท่านพูดจริง ดิฉันเป็นคนที่ชอบทดลอง ก็มักจะทดลองเสมอ และก็เป็นตามนั้นจริง ๆ ทุกประการ ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น การขัดส้วม ดิฉันไม่เชื่อเลยว่า ขัดส้วมแล้วทำให้ปัญญาดี เรียนเก่ง พออยู่ที่สำนักก็ลองทำดู ในใจก็คิดว่า “จะได้ผลไหม” และพอตอนมานั่งสมาธิ หรือเดินจงกรมก็ดี มีความรู้สึกว่าสมองปลอดโปร่ง เป็นคนคิดมีเหตุและผลมากกว่าแต่ก่อน
ทำให้จิตใจดีขึ้นกว่าเดิมมาก จิตใจเข้มแข็งขึ้น แต่ไม่ใช่แข็งกระด้างในทางที่ไม่ชอบ จิตใจเข้มแข็งพร้อมที่จะเผชิญกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นมาได้ ดิฉันได้คำว่า “สติ” มาจากที่นี่โดยตรง แต่ก่อนก็มี แต่ก็มีแบบเรื่อยเปื่อย บางทีก็ไปอยู่ไหนก็ไม่รู้ไม่อยู่กับตัว ถ้าเราไม่มี “สติ” อยู่กับตัว คอยกำหนดจิตให้กำหนดอารมณ์ให้รู้เท่าทันปัจจุบัน ก็อาจเป็นสาเหตุแห่งความประมาทได้ หลวงพ่อได้ตักเตือนทุกท่านไม่ให้ไปคิดยึดติดอยู่กับอดีต หรืออนาคตที่ยังมาไม่ถึง แต่ขอให้ระลึกถึงปัจจุบันว่าเราเป็นอะไร ทำหน้าที่อะไรอยู่ขณะนี้ ก็จงทำให้ดีที่สุด ดิฉันจึงได้ข้อคิดและจะจดจำตลอดไป
บางเวลาที่ดิฉันปฏิบัตินั้น บางทีจะเกิดความสุขใจ ดีใจ ดิฉันก็จะมาปรึกษาคุณแม่ใหญ่ท่านเสมอ แต่ท่านจะเตือนสติตลอดเวลาว่า “อย่าดีใจ มากเกินไป ให้กำหนดเสีย” ดิฉันเก็บคำของท่านมาพิจารณาว่าทำไมตอนที่มีความสุข ก็อย่าหลงดีใจมากเกินไป ดิฉันค้นพบคำตอบตอนที่คุณแม่มารับดิฉันกลับบ้านวันที่ ๒๘ มกราคม ว่า “คุณย่าเสียแล้วเมื่อวันที่ ๒๕ ม.ค.” ดิฉันรู้สึกเสียใจที่ไม่สามารถไปกราบศพท่านได้ แต่ใจนั้นพยายามข่ม ตั้งสติไว้ให้มั่น แล้วก็ได้แต่กำหนดว่า “เสียใจหนอ” ดิฉันจะต้องไม่อ่อนแอ ซึ่งตรงกับที่คุณแม่ใหญ่ได้สั่งสอนว่า “ดีใจก็จงอย่าได้ดีใจมาก เพราะวันข้างหน้าเราจะไม่รู้ว่าจะเกิดสิ่งใดขึ้น วันนี้ดีใจ พรุ่งนี้อาจจะร้องไห้ ชีวิตนี้ ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน ความทุกข์ ความสุขมักจะผลัดกัน เดี๋ยวทุกข์เดี๋ยวสุข ถ้าเราทำใจได้ ควบคุมตั้งสติได้ งานการทั้งหลายก็คงจะบรรลุตามเป้าหมาย”
ท่านทั้งหลายคงเคยดูพระจันทร์ขณะที่พระจันทร์ค่อย ๆ เคลื่อนนั้น บ้างก็มีเมฆมาบดบังดับรัศมีกลับกลายเป็นความมืด แต่เมื่อค่อย ๆ เคลื่อนออกจากกลุ่มเมฆนั้นแล้วก็จะเปล่งแสงจันทร์ฉายงาม ซึ่งทำให้ดิฉันมีข้อคิด ชีวิต ของคนเราผ่านทั้งความยากลำบาก คือความทุกข์หรือปัญหานานัปการ แต่ก็มีบางช่วงแห่งชีวิตที่โรยด้วยดอกไม้ ชีวิตยามรุ่งโรจน์นั้นเป็นอย่างไร ชีวิตยามที่ตกอับที่สุดนั้นเป็นอย่างไร คงไม่มีท่านใดที่มีความทุกข์ตลอดชีวิต หรือความสุข ตลอดชีวิต
แต่ก่อนดิฉันยังยึดติดกับสิ่งของอยู่มาก เห็นสิ่งใดสวยน่ารักต้องซื้อไว้ก่อน บางทีก็ซื้อมาเก็บใส่ตู้ไม่ได้ ดูด้วยซ้ำ มาคิดได้ว่าจะสะสมไปทำไมมากมาย ไม่มีค่าเลย ใช้ก็ไม่ได้ เป็นเพียงแต่ความอยากเท่านั้น แต่ความสุขจริง ๆ ไม่ใช่อยู่ที่สิ่งของเหล่านั้น เวลาทุกข์สิ่งของเหล่านั้นช่วยเราไม่ได้ นอกจากเราจะต้องช่วยตัวเราเองและท้ายสุดเมื่อเราจากโลกนี้ไป มีสิ่งใดบ้างไหมที่จะเอาติดกายไปได้
ดิฉันคิดว่าสวรรค์และนรก ก็อยู่แถว ๆ นี้ ไม่ไกลจากเราท่านไปเท่าไหร่เลย เพียงแต่ว่าท่านจะรับสิ่งไหนไว้ การกระทำดี หรือการทำบาป บางทีก็มีผู้มาชี้แนะบอกทางให้ สุดแท้แต่ว่าท่านจะเลือกเดินทางใด การทำดีนั้นทำยาก มีอุปสรรคมากมายคนเห็นน้อย แต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายท่านรับทราบ การทำบาปนั้นง่ายนิดเดียว แม้แต่คิดไม่ดี ก็ถือว่าเป็นบาปแล้ว
บาปและกรรมมีจริง ผู้ใดที่ทำสิ่งใดไว้ ผู้นั้นย่อมรู้อยู่แก่ใจตนเอง เราไม่สามารถที่จะทำบุญลบล้างได้ เราจะหนีกรรมไม่พ้น ต้องมีสักวันที่เราจะต้องชดใช้กรรมนั้น หนัก-เบาย่อมแตกต่างกันไปตามกรรมของแต่ละคน การมานั่งเจริญวิปัสสนากรรมฐานทำให้สามารถรู้ว่าท่านเคยทำกรรมอันใดไว้ และจะเป็นสิ่งเตือนใจว่า “ไม่ควรทำ” และจะทำให้เราไม่ทำบาปทำกรรมใหม่ขึ้นมาอีก ในทางตรงข้ามจะหันมาสนใจในด้านพระพุทธศาสนา สนใจในการทำบุญทำทานตามกำลังที่มีอยู่ ไม่ใช่ทำมากมายจนเงินในกระเป๋าหมด ฟังเทศน์ ฟังธรรมตามโอกาสสิ่งเหล่านี้ที่ดิฉันได้จากที่วัดแห่งนี้
เมื่อดิฉันได้ปฏิบัติเป็นวันที่สาม ก็รู้ซึ้งถึงพระคุณของคุณแม่ ว่าใหญ่หลวงมากนัก ท่านรักเรามาก สิ่งที่ท่านเตือนก็เพราะความรัก ความหวังดี ความห่วงใย ยามเล็กแม่ทนลำบากเห่กล่อมลูกเพื่อให้ลูกนอนหลับ ส่วนตัวแม่เองนั้นไม่คำนึงถึง ขอให้ลูกมีความสุข มีความอบอุ่น ตรากตรำแค่ไหนแม่ไม่เคยบ่น ดิฉันเชื่อแน่ว่าคุณแม่ของทุกท่านย่อมเหมือนกันหมด ดังนั้นสิ่งที่ดิฉันไม่เชื่อฟังท่านยามที่ท่านเตือนในการคบเพื่อน ดังที่ได้เล่าไว้แล้ว ก็คือบาปอันหนึ่งที่มีมาก ดิฉันนึกไม่ถึงเพราะคุณแม่ไม่เคยโกรธ และยกโทษให้แล้ว แต่ดิฉันก็ต้องชดใช้กรรม หลีกเลี่ยงไม่พ้นและดิฉันได้คิดอีกว่าถ้าผู้เป็นลูกไม่เอาใจใส่พ่อแม่ในยามแก่เฒ่า ยามท่านแข็งแรงก็ให้ช่วยเลี้ยงหลาน แต่ยามที่ท่านทำสิ่งใดไม่ได้แล้วก็ปล่อยให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ท่านผู้นั้นจะรับผลกรรมของท่านอย่างไร ดิฉันอยากให้ผู้ที่อ่านบทความของดิฉันนำไปเป็นข้อคิด เพื่อเตือนใจแม่เราก็มีเพียงคนเดียว พ่อก็มีเพียงคนเดียว ถ้าท่านปฏิบัติต่อคุณพ่อ-คุณแม่ดีแล้ว ท่านจะไม่รู้สึกเสียใจในภายหลัง ยามที่มีการพลัดพรากมาถึง “จงทำสิ่งที่ดีที่สุดในยามที่ยังมีลมหายใจ จะมาแก้ตัวในตอนที่ท่านไม่มีลมหายใจแล้ว คงเป็นที่น่าสลดใจ”
ผลอีกสิ่งหนึ่งที่ดิฉันได้รับคือ เมื่อไปพบคุณพ่อหมอที่ตรวจพบก้อนซีสปรากฏว่า “ไม่มีก้อนเนื้อแล้ว ไม่รู้หายไปไหน” ดิฉันนึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย รวมทั้งพรของหลวงพ่อและพรของคุณแม่และทุก ๆ ท่านที่มีพระคุณทันที คุณแม่ก็ดีใจด้วย แต่จิตใจของดิฉันก่อนที่จะไปพบหมอก็ตั้งจิตไว้แล้ว ถ้าเป็นก็ต้องเข้าโรงพยาบาลผ่าตัดแน่นอน ไม่มีความกลัวหรือร้องไห้เหมือนเมื่อก่อนเลย
ดังนั้นความสงสัย ความเคลือบแคลงที่เคยมีมาตั้งแต่ต้นนั้น บัดนี้ได้หายไปอย่างหมดสิ้น เหมือนเมฆหมอกดำที่เคยมาปิดบังอำพรางไว้ได้เลือนหายไป เหลือแต่ความบริสุทธิ์ใสสะอาดที่ดิฉันมีให้กับพระพุทธศาสนาที่ช่วยเปิดดวงตาให้ สามารถมองเห็นแสงสว่าง ทุกสิ่งที่เขียนมานี้เป็นสิ่งที่ดิฉันได้พิสูจน์ด้วยตนเอง ยังมีอีกมากแต่ดิฉันคิดว่าเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว
ไม่อยากให้เชื่อ แต่อยากให้คิดและอยากให้ผู้ที่ยังไม่เคยมาพิสูจน์ จะได้มีเวลาตัดสินใจว่า “ถึงเวลาของท่านแล้วหรือยัง”