ผู้สร้างโบสถ์วัดอัมพวัน
(สมัยกรุงศรีอยุธยา)

โดย พลตรี วสันต์ พานิช

โบสถ์หลังเก่า หน้าบันประดับด้วยเครื่องลายคราม

เมื่อโบสถ์หลังเก่าของวัดอัมพวันชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ทางคณะกรรมการวัด ซึ่งมีเจ้าอาวาสเป็นประธาน ได้พิจารณาตกลงทำการรื้อถอนและสร้างโบสถ์หลังใหม่ทับลงบนที่เดิม เมื่อ ๑๕ พ.ย.๒๕๑๑ โดยใช้กำลังทหารและชาวบ้านมาช่วยกันจนทุกอย่างเรียบร้อย

ภาพผู้สร้างโบสถ์วัดอัมพวัน

ในขณะทำการรื้อถอนอยู่นั้นก็ได้พบสิ่งต่างๆ ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มากมาย สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนคือ ภาพเขียนสีน้ำมันอยู่บนแผ่นกระจกแก้วฝังอยู่ในปูนบนประตูทางเข้าด้านตะวันออก เป็นภาพสีสวยงาม ในภาพมีชาย ๓ คน ภาพคนแก่อยู่ในกรอบ ส่วน ๒ คน ยังหนุ่มวัยกลางคนไว้ผมแกละ เมื่อมองดูในแนวนอนจะเห็นเป็นภาพขรุขระไม่สวยงาม แต่เมื่อยกขึ้นส่องกับแสงสว่าง ภาพนั้นจะปรากฏชัดเป็นภาพ ๓ มิติ สวยงามมาก เมื่อสังเกตหน้าคนแก่จะเห็นใบหน้าเหี่ยวย่นเป็นรอยริ้วตีนกา ส่วน ๒ คนใบหน้าหนุ่มหันหน้ามองไปทางคนแก่ ดูเสมือนหนึ่งว่า ลูกหรือหลานสองคนนี้ (จือและเหลียง) เป็นผู้สร้างโบสถ์และอุทิศให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว ก็อาจเป็นไปได้กระมัง

นอกจากนั้น ยังมีหนังสือจีนกำกับอยู่ ท่านเจ้าอาวาสได้ให้ชาวจีนตลาดปากบางอ่านและแปล สรุปได้ความว่า วัดอัมพวันได้สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยาประมาณ สามร้อยปีเศษล่วงมาแล้ว ซึ่งตรงกับสมัยเม่งเชี้ยว (เจ้าสัวจีนชื่อจือและเหลียง) ท่านเจ้าอาวาสได้นำกระจกรูปนี้ไปถ่ายและอัดเป็นภาพแจกจ่ายให้สานุศิษย์ไว้เป็นที่ระลึก ตั้งแต่วันฉลองพระอุโบสถใหม่ในปี พ.ศ.๒๕๑๓ และนำภาพกระจกของเดิมนี้ ท่านเจ้าอาวาสได้บรรจุไว้ใต้ฐาน พระประธานในพระอุโบสถแล้ว