การเมืองเรื่องธรรมะ
โดย หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม
๑๐ ธันวาคม ๒๕๓๖
ขอเจริญพรพี่น้องชาวไทยทุกท่าน
วันนี้ขอท่านสาธุชนพี่น้องชาวไทย โปรดสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนชาวไทยสืบมา โดยที่เราสำนึกในหน้าที่ วันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๖ นั้น สำนึกว่าเรามีสิทธิหน้าที่ และรับผิดชอบอย่างเต็มที่แล้ว ประการที่ ๒ โปรดสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระเมตตาของพระองค์ ๑๐๐ ปีในปีนี้ ขอสาธุชนทั้งหลายโปรดสำนึกในหน้าที่ สมัญญา คือ วันนี้อีกวันหนึ่งด้วยและวันนี้น่ะเป็นวันรัฐธรรมนูญ ที่พระองค์ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญนั้น แต่คำว่าธรรมนูญ แปลว่า ธรรมะของชีวิต เป็นสภาพข้อคิดของประชาชนชาวไทย
วันนี้ จะขอชี้แจงในเรื่อง วิถีทางออกของการกำหนดจิตของธรรมนูญชีวิตนั้น การเมืองเรื่องธรรมะอย่างไร ธรรมนูญคือธรรมะ ชีวิตนี้เดินทางไปด้วยความถูกต้อง และจุดมุ่งหมายปลายทางของชีวิตด้วยกฎจราจรของชีวิตโดยทั่วหน้ากัน ต้องการให้ประชาชนชาวไทยมีความสุข ความเจริญ มีสภาพชีวิตเป็นอยู่ด้วยดี รักสามัคคี มีปัญญา สัจจะ เมตตา สามัคคี มีวินัย ต้องสำนึกสมัญญาในหน้าที่ แต่เสียดายเหลือเกินว่า พี่น้องชาวไทยทิ้งหน้าที่การงาน ไม่รับผิดชอบตัวเองแต่ประการใด นี่หรือธรรมนูญชีวิตที่พระองค์ได้พระราชทานให้มาตลอดกาล มิใช่พระราชทานให้เฉพาะ ๒๔๗๕ หรือวันที่ ๑๐ ธันวาคม เท่านั้น แต่ให้มาก่อนแล้วนานตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี คือ องค์พระมหากษัตริย์ขัตติยะราชประเพณีมีมานานแล้ว เราจะพูดให้สั้นเข้ามาตั้งแต่พระเจ้าตากสินมหาราช ท่านพระราชทานพระบรมราโชวาทและข้อคิดไว้ “คิดถึงพ่อ พ่ออยู่คู่กับเจ้า ชาติของเราคงอยู่คู่พระพุทธศาสนา ศาสนาอยู่ยงคู่องค์กษัตรา พระศาสดาฝากไว้ให้คู่กัน” พระมหากษัตริย์ของเรานี่ให้ประชาชนมีประชาธิปไตยมานานแล้ว และพระองค์ก็สร้างวังและสร้างวัด พระพุทธศาสนาเป็นแกนหลักของชีวิตให้กับประชาชนชาวไทยเดินทางไม่พลาดผิดมีตั้งต้นกล กัปตัน ต้นหน ปากเรือไปเหนือล่องใต้
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ท่านก็ทรงตั้งปณิธานว่า “ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนาป้องกันขอบขัณฑสีมารักประชาชน และมนตรี ท่านก็รักประชาชนตลอดรัชกาลที่ ๖ คือพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำสถาบันหลักทั้ง ๓ มาเป็นธงไตรรงค์คือ ขาวบริสุทธิ์ ศรีสวัสดิ์ หมายพระไตรรัตน์ และธรรมคุ้มจิตใจ แดงคือโลหิตของเราไซร้ ซึ่งยอมสละได้เพื่อรักษาชาติ ศาสนา น้ำเงินนั้นหนาคือศรีโสภา อันจอมประชาชนนั้นไว้เป็นส่วนองค์ แสดงให้เห็นถึงจิตใจที่มีความผูกพัน ระหว่างทั้งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จึงนำมาผนวกบวกกันเป็นสัญลักษณ์อันสำคัญ เรียกว่า ธงไตรรงค์ ดังกล่าวมาจนบัดนี้
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านก็ยังตั้งปณิธานในพระทัย ให้แก่ประชาชนมีประชาธิปไตยว่า “ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง คงจะต้องบังคับขับไส เคี่ยวเข็ญเย็นค่ำกรำไป ตามวิสัยเชิงเช่นผู้เป็นนาย เขาจะเห็นแก่หน้าข้าชื่อ จะนับถือพงศ์พันธุ์นั้นอย่าหมาย ไหนจะต้องเหนื่อยยากลำบากกาย ไหนจะอายทั่วทั้งโลกา” นี่เป็นปณิธานของท่าน แสดงว่าประชาชนชาวไทยนั้น มีประชาธิปไตยจริง ๆ แต่เสียใจด้วย คนไทยไม่ใช้สิทธิ ไม่ใช้หน้าที่การงาน ไม่รับผิดชอบ ไหนเลยจะอยู่ประกอบด้วยประชาธิปไตยอย่างเรียกว่า ธรรมะกับประชาธิปไตย หรือการเมืองเรื่องของธรรมะในวันนี้มีความหมายมาก
เพื่อไม่ให้เสียเวลาในที่นี้ ขอพี่น้องชาวไทย โปรดได้รับทราบว่า การเมืองเรื่องธรรมะ ของผู้จัดรายการคือ คุณ กรรณิการ์ ธรรมเกษร ขอฝากเอาไว้ยังเหตุผล อาตมาดีใจมากที่ได้มาชี้แจงแสดงในวันนี้ เพื่อต้องการให้พี่น้องชาวไทยได้ทราบถึงว่าการเมืองเรื่องธรรมะ ธรรมะกับประชาธิปไตยเป็นเรื่องอันเดียว เพราะก่อนจะมีเมืองต้องมีบ้านก่อน มีผู้ปกครองมีพ่อมีแม่ ถึงจะมีลูกมีหลาน ก็มีหมู่บ้าน ตำบล มีตำบลก็มีอำเภอมีจังหวัด หลายจังหวัดก็มีอะไรก็มีเขต มีขัณฑสีมา บ้านก็ต้องมีรั้ว มีขอบเขต ขัณฑสีมานี้ ประชาธิปไตย ไม่ใช่ประชาธิปไตยนอกเขตขัณฑสีมา นอกเขตบ้านเห็นจะใช้ไม่ได้ดังกล่าวมา ประเด็นแรก การพัฒนาทางการเมือง ซึ่งมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนมาก แม้จะเกิดการขัดแย้งทางการเมืองกันเพียงระยะสั้น ๆ ก็ตาม แต่กระทบกระเทือนทั้งภายในประเทศ จนถึงต่างประเทศด้วย และการกระทบกระเทือนทั้งทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ทางศาสนา ธุรกิจการท่องเที่ยว เป็นต้น จะกระเทือนกันไปมาก เพราะฉะนั้น คนที่เข้ามาดำเนินการในการเมืองหรือการหมู่บ้าน ผู้ปกครองบ้าน มีพ่อมีแม่ เป็นต้น ถ้าพ่อแม่ไม่ดีสร้างความไม่ดีให้กับลูก ทำไม่ถูกให้กับหลาน รักลูกไม่ถูกวิธี ทำความไม่ดีให้ลูกดูแล้ว ลูกจะเป็นไฉน นี่ก็การบ้านและก็การเมือง เพราะการเมือง การบ้าน การวัดมันอยู่ด้วยกัน กลุ่มวัด กลุ่มบ้านและกลุ่มเมืองไม่ระคายเคืองแค้น เป็นต้น ต้องเข้ากลุ่มสามัคคี เอกภาคกันให้ได้ นี่คือประชาธิปไตย
เพราะฉะนั้น การเมืองที่จริงแล้ว หลักของพระพุทธศาสนาจะพูดถึงธรรมะ พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเป็นอันมาก ผู้ที่จะใช้อำนาจในทางการเมืองการบ้าน ผู้ปกครองบ้านปกครองเมือง หรือพ่อแม่ปกครองลูก เป็นต้น แบ่งเป็น ๓ กลุ่ม
กลุ่มที่ ๑ คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันที่จริงคนกลุ่มนี้เป็นคณะบุคคลที่เสียสละตัวเอง ทนความเหนื่อยยาก การสบประมาท ดูถูก ดูหมิ่น ความสูญเสีย เพื่ออาสาสมัครมาทำงานให้แก่ชาติบ้านเมือง พื้นฐานสำคัญของท่านเหล่านี้ ก็คือความเป็นสัตบุรุษ พระพุทธเจ้าทรงนิยามเอาไว้สำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นี่คือ ธรรมะ พระพุทธเจ้าทรงแสดงเอง สภาใดไม่มีสัตบุรุษ สภานั้นไม่ชื่อว่าสภา คนใดที่พูดไม่เป็นธรรม คนนั้นไม่ชื่อว่าสัตบุรุษ ฉะนั้นประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ท่านเหล่านั้นพร้อมจะแสดงความเป็นสัตบุรุษหรือไม่ ประการใด เราไม่สงสัยในความรู้ของท่าน แต่สิ่งที่เราสงสัยมากก็คือ คุณธรรมภายในใจของท่านเหล่านั้น เพราะ ความเป็นสัตบุรุษจะต้องมีพื้นฐานที่ประกอบไปด้วยคุณธรรม ๘ ประการ คือ
๑. สัทธัมมสมันนาคโต ประกอบด้วย สัทธรรม ๗ ประการ ได้แก่ มีศรัทธา มีความละอายต่อบาป มีความกลัวบาป เป็นพหูสูต มีความเพียร มีสติมั่นคง และมีปัญญา
๒. สัปปุริสภัตตี ภักดีสัตบุรุษ คือ คบหาบุคคลที่ประกอบด้วยสัทธรรม ๗ ประการข้างต้น เป็นมิตรสหาย
๓. สัปปุริสจินตี คิดอย่างสัตบุรุษ คือ จะคิดสิ่งใดก็ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น
๔. สัปปุริสมันตี คือ ปรึกษาอย่างสัตบุรุษ คือ จะปรึกษาการใดก็ไม่ปรึกษาเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น
๕. สัปปุริสวาโจ พูดอย่างสัตบุรุษ คือ พูดแต่คำที่ถูกต้องตามวจีสุจริต ๔
๖. สัปปุริสกัมมันโต ทำอย่างสัตบุรุษ คือ ทำการที่ถูกต้องตามกายสุจริต ๔
๗. สัปปุริสทิฏฐิ มีความเห็นอย่างสัตบุรุษ คือ มีสัมมาทิฏฐิ เช่นว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น
๘. สัปปุริสทานัง เทติ ให้ทานอย่างสัตบุรุษ คือ ให้ตามหลักสัปปุริสทาน เช่น ให้โดยเอื้อเฟื้อทั้งแก่ของที่ตัวให้ ทั้งแก่ผู้รับทาน ให้ของบริสุทธิ์ ให้โดยเข้าใจถึงผลที่จะตามมา เป็นต้น
คุณสมบัติเหล่านี้ ถือเป็นคุณสมบัติหลัก แต่ในภาคปฏิบัติ พระพุทธเจ้าทรงสอนก็ทรงแสดงในลักษณะที่เป็นศิลปะในการใช้ธรรมะไว้ หมายความว่า เราใช้ธรรมะข้อใดก็ตาม เราต้องอาศัยความรู้ที่เหมาะสม ทรงแสดงว่า บุคคลจะต้องประกอบด้วยคุณธรรม คือเป็นผู้รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาลเวลา รู้จักประชุมชน รู้จักเลือกคบหาสมาคมกับคน เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าท่านประกอบด้วยสัตบุรุษ สัปปุริสธรรมเหล่านี้ ท่านจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ดีได้
กลุ่มที่ ๒ คนที่จะทำหน้าที่ในการบริหารบ้านเมืองหรือรัฐบาล ก็คือ ผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลคุ้มครองบริหารบ้านเมือง งานหลักก็คือ ๑. ป้องกัน ๒. บำบัด ๓. บำรุง เป็นต้น คำว่าป้องกัน นี่หมายความว่ากระไร งานปกป้องสิ่งที่เป็นภัย เป็นอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่ชาติบ้านเมืองของเรา เป็นต้น บำบัด คือ เห็นว่าอะไรที่เป็นอุปสรรค เป็นปัญหาเป็นความเดือดร้อน เป็นความทุกข์ทรมานของประชาชนและประเทศชาติ ก็ต้องขจัดปัญหาเหล่านั้นออกไปให้จนได้ ส่วนบำรุง หมายความว่ากระไร หมายถึงอะไรเป็นความดีงาม เป็นประโยชน์ เสริมสร้างให้เกิดความมั่นคงมั่งคั่ง ก็ต้องสร้างสรรค์ พัฒนาให้เกิดขึ้น ตลอดจนธรรมเนียมและระบบประเพณี เป็นต้น การรักษาความเจริญก้าวหน้าได้ ด้านต่าง ๆ ที่ดีงามอันมีอยู่แล้ว ก็พยายามรักษาไว้ให้จงได้ ผู้บริหารประเทศ พึงยึดมั่นในหลักของทศพิธราชธรรม ราชสังคหวัตถุ ซึ่งเป็นธรรมะของผู้ปฏิบัติของผู้บริหาร ผู้บริการทุกจุด เพื่อเป็นหลักในการบริหารงาน บริหารคน จนถึงบริหารประเทศชาติต่อไป
ทศพิธราชธรรม ได้แก่
ทาน การให้เป็นการกระทำเพื่อบูชาความดี หรือเพื่อสงเคราะห์อนุเคราะห์ ก็ตาม
ศีล ควบคุมความประพฤติปฏิบัติของตนให้อยู่ในฐานะที่เหมาะที่ควร ไม่ทำตนให้เป็นพิษเป็นภัยต่อคนอื่น
ปริจจาคะ สละประโยชน์สุขต่าง ๆ ที่ตนเองจะได้ ควรจะมี ควรจะเป็นเพื่อเสริม ส่งเสริม สร้างสรรค์พัฒนาประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้า เพื่อประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนชาวไทย
อาชชวะ มีความซื่อตรงต่อตนเอง ต่อบุคคลอื่น ต่อกฎเกณฑ์ แบบแผนทั้งหลาย
มัททวะ มีความอ่อนโยน มีอัชฌาสัย น่ารัก น่าเคารพ น่านับถือ น่าศรัทธา น่าบูชา เพราะการบริหารบ้านเมืองนั้น ไม่ได้อยู่ที่การแสดงอาญาสิทธิ์ แต่อยู่ที่ศรัทธาของชาวบ้าน ถ้าประชาชนเขาเคารพนับถือ ศรัทธาแล้ว แม้จะไม่มีอะไร เราก็ให้ความเคารพนับถือยำเกรง ถ้าเขาเคียดแค้นชิงชัง แล้วจะมีอะไรก็ป้องกันไว้ ก็ป้องกันไม่อยู่แต่ประการใด
ตบะ ตัวนี้แปลว่า ความเพียรพยายาม หรือว่าการรู้จักใช้พระเดชในคราวที่เหมาะสมที่ควรอย่างยิ่ง เป็นต้น
อักโกธะ ทำอะไรมีเมตตาจิตต่อประชาชน ต่อคนทั้งหลายสม่ำเสมอกัน ไม่เป็นเราเป็นเขา โอบอ้อมอารี วจีไพเราะ สงเคราะห์ทุกคน ต้องวางตนให้เป็นกลาง เป็นต้น
อวิหิงสา ไม่เบียดเบียน ประทุษร้ายบุคคลอื่นทั้งด้านกาย วาจา และแม้แต่ความคิด
ขันติ อดกลั้น อดออม อดทนต่อความวิปริต แปรผัน และแปรปรวนของธรรมชาติ ภารกิจการงานที่จะต้องจัดต้องทำ ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น อารมณ์ที่มีลักษณะยั่วยุ ยั่วยวนสูง เป็นต้น
อวิโรธนะ หมายความว่า ไม่ประพฤติให้ผิดกฎเกณฑ์ จารีตประเพณี แบบแผนที่ดีงามทั้งหลาย พูดง่าย ๆ ก็คือ มีปัญญาตามคุมตัวเองได้ ยิ่งไปกว่านั้น ท่านยังได้แสดง ราชสังควัตถุ ๔ ประการ ดังต่อไปนี้
๑. สัสสเมธะ ฉลาดในการส่งเสริมงานอาชีพของอาณาประชาราษฎร์ในแต่ละสาย ไม่ว่าการเกษตรกรรม การกสิกรรม และการเลี้ยงสัตว์ การประมง อุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นต้น
๒. ปุริสเมธะ ฉลาดในการใช้คน การส่งเสริมคน สนับสนุนคน มอบหมายให้คนทำงาน เรียกว่า ใช้คนเป็น
๓. สัมมาปาสะ มีงานสังคมสงเคราะห์เป็นการลงทุนให้แก่ ประชาชนซึ่งยังไม่พร้อม โดยการจัดสรรที่ดินให้ มีการส่งเสริมในด้านต่าง ๆ เพื่อให้เขาสามารถช่วยตัวเองได้ เป็นต้น
๔. วาชเปยะ พูดจาถ้อยคำที่ไพเราะ อ่อนหวาน เข้ากันได้ สร้างความดูดดื่มจิตใจ ได้แก่ การประชาสัมพันธ์ซึ่งมีประสิทธิภาพ ที่เป็นตัวกลาง อธิบายให้เหตุผลแก่ประชาชนภายในชาติได้ การประชาสัมพันธ์เป็นงานหลัก ต้องพูดจากันให้เกิดความเข้าใจ ปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสังคมนั้น มักเกิดจากการประชาสัมพันธ์ไม่มีประสิทธิภาพ หากใช้การประชาสัมพันธ์ไม่ถูก ไม่ควร แทนที่จะลดความรุนแรง จะกลายเป็นกระพือโหม ให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น ถ้าใช้วาจาในลักษณะดูดดื่ม ชื่นใจ สร้างความซาบซึ้ง ความประทับใจ ต่อกันและกันได้ ก็จะสามารถบริหารบ้านบริหารเมือง ให้เป็นไปได้ด้วยดีเป็นประการสำคัญ ในการพัฒนาสังคมนั้น พระพุทธศาสนามองว่า สังคมเป็นเรื่องของคนจำนวนมากบ้างน้อยบ้างอยู่ร่วมกัน หากสามารถพัฒนาปัจเจกชนแต่ละคนให้เป็นคนดีมีศีลธรรมแล้ว การสร้างปัญหาทางสังคมก็จะลดน้อยลงไปได้
จุดเน้นของพระพุทธศาสนาจึงมุ่งไปที่การพัฒนาจิตพัฒนาการศึกษา พัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาสังคม สำนึก
พฤติกรรมของคนภายในสังคม โดยพยายามให้ปัจเจกชนแต่ละคนภายในสังคมปฏิบัติตามหลักของศีล ๕ ประการ เป็นต้น งดเว้นการล่วงละเมิดในสวัสดิภาพร่างกายของคนอื่น ไม่ล่วงเกินทรัพย์สินเงินทองของคนอื่น ไม่ล่วงเกินในคู่ครองของกันและกัน ติดต่อพูดจากันโดยคำสัตย์และคำจริง พูดจริง ทำสิ่งทุกสิ่งให้ได้ งดเว้นจากการดื่มสิ่งเสพติดให้โทษทั้งหลาย จนถึงงดเว้นอบายมุขทั้งหลาย
การบริหารบ้านเมืองนั้น บริหารบ้านเมือง มีความรู้ มีคุณธรรม เหมาะแก่สถานะของตน จะใช้ความรู้เหล่านั้นในการแก้ปัญหาในการสร้างสรรค์ออกมาตามระบบตามระเบียบ ตามการกระทำของตนทุกประการ ธรรมะกับการเมืองนี้ พัฒนาบ้านเมือง โดยมีคุณธรรมพัฒนานำอำนาจตุลาการ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ ๓ คือ อำนาจตุลาการ หลักของฝ่ายตุลาการก็คือ ประสิทธิ์ประสาทความเป็นธรรม ความมีคุณธรรม ความยุติธรรม ที่คนที่ทำงานด้านนี้ เป็นต้น จะต้องมีความรู้ในกฎหมาย รู้ว่ากระทำอะไรผิด อะไรถูก รู้จักเหตุ รู้จักคดี รู้จักสงบระงับแห่งคดี รู้จักหลักวิธีการจะให้คดีเหล่านั้นสงบ ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ ทุกฝ่ายมีความพอใจ จิตใจของบุคคลเหล่านั้นจะต้องไม่ลำเอียงด้วย อคติ ไม่ลำเอียงเพราะความรักใคร่ ฉันทาคติ ไม่ลำเอียงเพราะไม่ชอบกัน เรียก โทสาคติ ไม่ลำเอียงเพราะหลงเรียกว่า โมหาคติ ไม่ลำเอียงเพราะกลัวเรียกว่า ภยาคติ เป็นต้น คนที่ทำงานด้านนิติบัญญัตินั้น บริหารประเทศชาติไปด้วยดี สมความมุ่งมาดปรารถนาทุกประการ อาตมาก็ได้ชี้แจงแสดงมาในหัวข้อการเมืองเรื่องธรรมะ ก็ขอยุติไว้ก่อน ณ โอกาสบัดนี้ ขอเจริญพร
ถอดเทปโดย : พันเอกหญิงวีณา ตุงคสวัสดิ์