สิ่งที่ข้าพเจ้าได้รับจากการสวดมนต์บทพระพุทธคุณ
โดย ศิริอาภา เจติกานนท์*
ดิฉันชื่อ ศิริอาภา เจติกานนท์ เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่โรงเรียนวัดประยูรธรรมาราม จ.ปทุมธานี ครอบครัวของดิฉันได้เคยมากราบหลวงพ่อกันทุกคนแล้ว สำหรับดิฉันและสามีนั้นเคยมาเข้ากรรมฐานที่วัดอัมพวัน ๓ ครั้ง การมาครั้งแรก ดิฉันยังไม่รู้จักวัดอัมพวันมาก่อน ไม่มีใครแนะนำดิฉันมา แต่ดิฉันมาได้เพราะแรงอธิษฐานจิต ต่อพระสยามเทวาธิราช โดยขอให้ท่านจงชี้ทางสายบุญที่ถูกให้ดิฉันด้วย เพราะทุกวันนี้วิธีปฏิบัติมีหลายทาง ไม่รู้ว่าทางใดที่ถูกต้องและเหมาะสมกับตัวดิฉันที่สุด
จนอยู่มาวันหนึ่ง ดิฉันได้พบหนังสือกฎแห่งกรรมธรรมปฏิบัติ เล่ม ๔ ของหลวงพ่อวางอยู่บนโต๊ะในห้องสมุดของโรงเรียน ดิฉันจึงได้หยิบติดมือมาอ่านที่บ้าน ดิฉันรู้สึกประทับใจในคำสั่งสอนของหลวงพ่อเป็นอย่างมาก ทำให้อยากจะไปกราบหลวงพ่อ และไปปฏิบัติกรรมฐานที่วัดอัมพวัน ดิฉันจึงเล่าเรื่องต่างๆ ที่อ่านในหนังสือให้สามีของดิฉันฟัง และชวนให้ไปปฏิบัติกรรมฐานด้วยกัน สามีของดิฉันก็ทักท้วงว่าอย่าใจร้อนต้องไปถามคนที่เขาเคยไปมาก่อนว่าดีจริงหรือไม่ และวัดอยู่ตรงไหนเราก็ไม่รู้จัก ดิฉันจึงต้องไปเปิดหนังสืออ่านรายชื่อผู้เขียนและได้ของ คุณพี่ทัศนีย์ ตะกูลพัว ซึ่งมีที่อยู่ใกล้ดิฉันที่สุด
ดิฉันและสามีใช้ความพยายามตามหาบ้านของคุณพี่ทัศนีย์จนพบ ได้พูดคุยกับพี่เขาถึงจุดประสงค์ของดิฉันที่มีต่อวัดอัมพวันและหลวงพ่อ ซึ่งคุณพี่ก็ได้ให้ความกระจ่างในทุกเรื่อง และเมื่อโรงเรียนดิฉันปิดภาคเรียน สามีดิฉันก็ลาพักร้อน เราทั้งสองคนจึงได้มาปฏิบัติกรรมฐานที่วัดอัมพวันด้วยกัน
ก้าวแรกที่เหยียบย่างเข้ามาในวัดอัมพวัน ก็ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากแม่ใหญ่ คุณป้าแจ๋ว แม่ชีสมคิด และมีแม่ชีซูง้อ เป็นผู้สอนกรรมฐานให้ ดิฉันและสามีรู้สึกว่า เราทั้งสองคนโชคดีมาก ที่การมาปฏิบัติกรรมฐานครั้งแรกของเรา ยังไม่มีผู้คนมามายเหมือนทุกวันนี้ ในรุ่นดิฉันมีผู้มาใหม่เพียงสามคนเท่านั้น จึงทำให้แม่ชีซูง้อได้ดูแลและสอนอย่างใกล้ชิด ดิฉันและสามีตั้งใจฝึกปฏิบัติตามคำสอนของแม่ชีซูง้อทุกอย่าง เมื่อไม่เข้าใจหรือสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติก็จะถามแม่ชี ซึ่งก็จะได้รับคำอธิบายและแนะนำสิ่งที่ถูกต้องให้ โดยไม่เคยแสดงอาการเบื่อหน่าย หรือรำคาญใจให้เราเห็นเลย
ปัจจุบันนี้ครอบครัวของดิฉันมีความสุขมาก เราไม่เคยทะเลาะกันเลย ซึ่งต่างกับเมื่อก่อนนี้มาก สมาชิกในครอบครัวของดิฉันสวดพระพุทธคุณกันทุกคน เรื่องที่ดิฉันเล่ามาทั้งหมดนี้ จึงเป็นเครื่องตัดสินได้ว่า พระสยามเทวาธิราชช่วยดลใจให้ดิฉันเลือกทางเดินสายบุญที่ถูกต้องแล้ว
คงจะเป็นอานิสงส์ของการสวดพระพุทธคุณ ดิฉันได้รับข่าวอย่างกระทันหันว่า ให้ไปประกวดเล่านิทานคุณธรรมระดับจังหวัด แทนเพื่อนของดิฉันซึ่งป่วยหนักต้องเข้าโรงพยาบาล ไม่สามารถไปเล่าเองได้ โดยให้เวลาเตรียมตัวสี่วัน
เรื่องที่จะเล่าในการประกวดมีสองเรื่อง เรื่องแรกเป็นเรื่องที่จำหรือนำมาจากผู้อื่นเล่าต่อกันมา เรื่องที่สองเป็นเรื่องที่ต้องแต่งขึ้นเองห้ามลอกเลียนแบบใคร ซึ่งเรื่องที่สองนี้ดิฉันหนักใจมาก เพราะไม่เคยแต่งนิทานมาก่อน เวลาในการคิดเขียนเรื่องก็น้อยมากสำหรับคนที่อ่อนประสบการณ์อย่างดิฉัน
แต่ดิฉันก็ไม่ท้อถอย ในตอนเย็นหลังจากทำธุระต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว ดิฉันก็เข้าห้องพระสวดมนต์ ดังเช่นที่เคยปฏิบัติมาทุกวัน เริ่มจากสวดพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ พาหุงมหากา จบแล้ว ย้อนกลับมาสวดพุทธคุณเกินอายุบวกหนึ่งจบ แล้วนั่งเจริญกรรมฐานต่อ พอใจสงบมีสมาธิดี ปัญญาก็เกิด คิดขึ้นได้ด้วยตนเองว่า ควรจะแต่งนิทานเรื่องอะไร เค้าโครงเรื่องควรดำเนินไปอย่างไร และควรจบลงด้วยวิธีใด
เมื่อออกจากกรรมฐานแล้ว ดิฉันรีบจับปากกาเขียนเรื่องได้เลย ดิฉันเพิ่งจะรู้ด้วยตัวเองว่า สวดมนต์บ่อย ๆ เข้า มีสติขึ้นมา ปัญญาก็เกิด เป็นอย่างนี้เอง เคยอ่านแต่ในหนังสือที่หลวงพ่อเขียนก็ยังไม่ค่อยเชื่อเท่าไร แต่ตอนนี้ได้กับตัวเอง เชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์เลยค่ะ
นิทานที่ดิฉันแต่งขึ้นมีชื่อเรื่องว่า “นิทานของแม่นก” ให้คุณธรรมในหัวข้อความเมตตากรุณา เป็นเรื่องของแม่นกที่สอนลูกให้ปฏิบัติแต่ความดี มีเมตตาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เพื่อนนกด้วยกัน เหมือนดังในนิทานที่แม่นกเล่าให้ลูกนกฟัง การดำเนินเรื่องเป็นลักษณะนิทานซ้อนนิทาน
เมื่อดิฉันเรียบเรียงเสร็จ ก็ฝึกการพูดหน้ากระจกเล็กน้อย และวันต่อมาดิฉันก็ไปแข่งขันกับเพื่อนครูในจังหวัดเดียวกัน เพื่อคัดเลือกผู้ชนะสามคน เป็นตัวแทนระดับจังหวัดไปประกวดต่อระดับประเทศ ซึ่ง ดิฉันก็เป็นหนึ่งในสามของผู้ชนะระดับจังหวัด และต้องเตรียมตัวอัดเทปเสียงการเล่านิทานของผู้ชนะระดับจังหวัดทั้งสามคน ส่งไปคัดเลือกระดับประเทศต่อที่ สปช.
สำหรับการอัดเทปเสียงของดิฉันนั้น มีปัญหาเพราะดิฉันเสียงเบา และเรียบเกินไปต้องฝึกพูดอยู่หลายวัน ก็ยังไม่ดีพอดิฉันจึงตั้งจิตอธิษฐานขอบารมีของหลวงพ่อ ช่วยให้ดฉันอัดเทปได้ประสบความสำเร็จด้วย และวันต่อมาดิฉันก็บันทึกเทปได้เรียบร้อยส่งเทปไปที่ สปช.ทั้งสามคน
อีกหนึ่งเดือนต่อมา จึงมีการประกาศผลการคัดเลือกเทปนิทานของครูจำนวน ๒๑๐ คน คัดเหลือเพียง ๕๐ คน ซึ่งที่จังหวัดปทุมธานีมีดิฉันได้รับเลือกเพียงคนเดียว
เมื่อถึงการประกวดรอบสุดท้าย เป็นการจัดอันดับผู้เข้าประกวดทั้ง ๕๐ คน ว่าใครจะได้รับรางวัลประเภทใด โดยตัดสินที่เนื้อเรื่อง น้ำเสียง และท่าทาง โดยแบ่งรางวัลเป็น ๓ ประเภท คือ ๑. รางวัลยอดเยี่ยม ๒. รางวัลดีเด่น ๓. รางวัลสร้างสรรค์ ผู้เข้าประกวดทั้ง ๕๐ คน จะได้รับรางวัลโดยเป็นรางวัลยอดเยี่ยม ๑๐ คน รางวัลดีเด่น ๑๐ คน และรางวัลสร้างสรรค์ ๓๐ คน ผู้เล่าจะต้องไปเล่าต่อหน้าคณะกรรมการและผู้ร่วมฟังประมาณ ๕๐๐ คน
ดิฉันเองรู้สึกตื่นเต้นมาก แต่พยายามควบคุมอารมณ์โดยการทำสมาธิ กำหนดพองหนอ ยุบหนอ ที่ท้อง หายใจยาว ๆ ก่อนที่จะออกไปพูดสักครึ่งชั่วโมง ซึ่งก็ช่วยได้มาก ทำให้มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น และผลการประกวดรอบสุดท้ายนี้ก็คือ ดิฉันได้รับรางวัลผู้เล่านิทานคุณธรรมดีเด่น รับโล่พร้อมเงินสด ๔,๐๐๐ บาท
ถึงแม้ว่าดิฉันจะไม่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม แต่ดิฉันก็มีความรู้สึกภูมิใจที่ได้ก้าวมาถึงจุดนี้ โดยเฉพาะคนที่ด้อยประสบการณ์และไม่มีความสามารถอย่างดิฉัน กลับได้รับรางวัลในครั้งนี้ คงเป็นเพราะ อำนาจจากการสวดบทพระพุทธคุณ และบารมีของหลวงพ่ออย่างแน่นอน
สุดท้ายนี้ขอบารมีของพระสยามเทวาธิราช และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก จงคุ้มครองหลวงพ่อให้ปราศจากภัยอันตราย ให้มีสุขภาพแข็งแรง อายุยืนนาน เป็นร่มโพธิ์ร่มไทยให้กับพุทธบริษัทโดยทั่วหน้ากัน
* ศิริอาภา เจติกานนท์ อาจารย์ ๒ ระดับ ๕ ร.ร.วัดประยูรธรรมาราม