ศูนย์ปฏิบัติธรรม “สวนเวฬุวัน” ในปัจจุบัน
โดย อังกูร – พัชรา พินพิสิทธิ์
คำปรารภของหลวงพ่อเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคล ที่เป็นดั่งปณิธานในการตั้งศูนย์ปฏิบัติธรรม “สวนเวฬุวัน” เพื่อชาวขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง ว่า
“อาตมาดีใจมากเพราะเราไปได้ของดีมาจากขอนแก่น
จากหลวงพ่อดำในป่าที่สอนเรา
หลวงพ่อดำเราไม่รู้จักว่า อายุกี่ร้อยปีแล้ว
เราจึงนำของดีนี้กลับไปคืนให้ชาวขอนแก่น
คืนที่สถานที่ได้มา และจะสร้างเป็นศูนย์ดีกว่าวัด
ให้ทุกคนเป็นเจ้าของ พวกเราสร้างของเราเอง
เพื่อให้ญาติโยมชาวขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง
ได้มีโอกาสสร้างบุญกุศลให้กับตนเอง
โดยการเจริญวิปัสสนากรรมฐานในโอกาสนี้”
ดังนั้น จากปณิธานที่แน่วแน่ของหลวงพ่อ จึงทำให้เกิดศูนย์ปฏิบัติธรรม “สวนเวฬุวัน” บ้านซ้ำจาน ต.บ้านค้อ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ขึ้นมาดังนี้
ศูนย์ปฏิบัติธรรม “สวนเวฬุวัน” นี้ เป็นสถานปฏิบัติที่จังหวัดสร้างขึ้นตามปณิธานและความตั้งใจ อันแน่วแน่ของหลวงพ่อเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคล ในอันที่จะคืนของดีที่ได้มาจากขอนแก่นกลับไปยังขอนแก่น และจังหวัดใกล้เคียง ให้สถานที่นี้เป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมฝึกกรรมฐาน ให้เป็นของส่วนรวมเพื่อจะได้เสริมงานสร้างคนด้วยทางสายเอกสติปัฏฐาน ๔ ตามแบบฉบับที่ใช้อบรมพัฒนาจิตแก่ฆราวาสที่วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี ซึ่งนับวันจะแออัดด้วยญาติธรรม สาธุชนจำนวนมาก
ท่านที่ต้องการเดินไปยังศูนย์ปฏิบัติธรรม “สวนเวฬุวัน” สามารถเดินทางไปได้ทางรถยนต์ตามถนนมิตรภาพทางหลวงหมายเลข ๒ ออกจากขอนแก่นไปโดยมุ่งหน้าสู่จังหวัดอุดรธานี เป็นระยะทางประมาณ ๑๕ กิโลเมตร (หลัก กม. ๑๕) จากตัวเมืองขอนแก่นท่านจะสังเกตเห็นป้ายแสดงตำแหน่งทางเข้าศูนย์ฯ อยู่ซ้ายมือ จากนั้นจะเป็นเส้นทางลูกรังจากถนนหลวงประมาณ ๒๕ กิโลเมตรก็ถึงศูนย์ฯ เส้นทางนี้บางครั้งจะมีผิวทางขรุขระเป็นบ่อลึกบ้าง เพราะถนนถูกน้ำกัดเซาะ และมีรถบรรทุกขนาดใหญ่วิ่งผ่านใช้เส้นทางนี้เป็นประจำ แต่มีผู้มีจิตศรัทธาได้เพิ่มดินลูกรัง และใช้รถเกรดดินบดอัดเพิ่มเติมตรงส่วนที่เป็นหลุมให้เรียบอยู่เสมอ ทั้งนี้เพื่อความสะดวกและความปลอดภัยของผู้ที่เดินทางเข้าไปยังศูนย์ฯ
ระหว่างทางดินลูกรังจากทางหลวงนั้น ท่านจะสังเกตเห็นทุ่งหญ้าเขียวชอุ่มตลอดทั้ง ๒ ฝั่งของฟาร์มวัวนม และไร่นาสวนผสม อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กหลายแห่ง ซึ่งบ่งบอกถึงการพัฒนาอาชีพของเกษตรกรแถบนั้นที่ฉลาดทำให้มีรายได้ที่มั่นคง
เมื่อท่านเลี้ยวขวาจากถนนดินลูกรังเข้าไปศูนย์ปฏิบัติธรรม “สวนเวฬุวัน” ท่านจะพบกับบรรยากาศของป่าไผ่ สวนไผ่ตงที่แลดูเขียวสดงดงามเจริญตา ต้นหญ้าอ่อนที่ขึ้นตามพื้นดินใต้ร่มไม้ และร่มของไผ่ตง ดูดั่งกับเป็นพรมเขียวธรรมชาติ ที่ได้พบแล้วดูสบายตาพาให้ใจสงบร่มเย็น แตกต่างจากป่าคอนกรีตที่มีสีสันดูบาดตา
แต่เดิมทีอาณาเขตของศูนย์ฯ มีเพียง ๒๔ ไร่ เป็นพื้นที่มีไผ่ตงปลูกไว้เต็มพื้นที่ ประมาณ ๕๐๐ กอ อุดมสมบูรณ์เขียวสดใส แม้ว่าในปัจจุบันจะมีไผ่ตงบางส่วนได้แห้งตายไปตามวงจรอายุของแม่พันธุ์ แต่ที่เหลือก็ยังมีอีกมาก แข่งขันกันแตกยอดออกใบ เพิ่มหน่อไม้ของตนให้ทางศูนย์ฯ ได้เก็บเกี่ยวทำอาหารเลี้ยงผู้ปฏิบัติธรรมอยู่เสมอ ดร.ลำใย โกวิทยากร และครอบครัว ผู้เป็นเจ้าของพื้นที่แห่งนี้มีความศรัทธาและเลื่อมใสต่อการพัฒนาคนของหลวงพ่อเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคล ได้ตั้งใจถวายให้เป็นธรณีสงฆ์ เพื่อให้จัดสร้างเป็นสถานปฏิบัติธรรมตามที่หลวงพ่อมีปณิธานไว้ และในวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๓๖ หลวงพ่อเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคล พร้อมกับแม่ชีซูง้อ แซ่เอ็ง ได้เดินทางจากวัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี เพื่อรับถวายที่ดิน โดยมีผู้มีจิตศรัทธา ข้าราชการและคหบดี จำนวนมากไปร่วมเป็นสักขีพยาน และร่วมถวายเงินเพื่อพัฒนาศูนย์ฯ และมีนายบุญส่ง อินทวิรัตน์ เป็นผู้นำถวาย
ตั้งแต่นั้นมา อาคาร สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ได้ค่อย ๆ ดำเนินการก่อสร้างอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย จากความร่วมมือของกรรมการผู้ร่วมพัฒนาศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พ่อค้า ประชาชนทั่วไป ทั้งในจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง ที่ต่างก็ศรัทธาเลื่อมใสต่อหลวงพ่อเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคล และการปฏิบัติธรรมสายวิปัสสนากรรมฐานสติปัฏฐาน ๔ เพื่อให้สมกับเป็นศูนย์ฯ ที่เป็นสาขาของวัดอัมพวัน และให้ผู้ไปปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง
ในเวลาต่อมาคณะผู้ร่วมพัฒนาศูนย์ฯ มีความคิดที่จะเพิ่มเนื้อที่ของศูนย์ฯ เพื่อการขยายตัวในอนาคต ดังนั้น ในวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๓๘ ที่ผ่านมา หลวงพ่อเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคลได้มีจิตเมตตาอย่างสูงต่อศูนย์ฯ เดินทางไปยังขอนแก่น เพื่อรับผ้าป่าสามัคคีที่ผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันทอดถวายเพื่อการขยายที่ดินของทางศูนย์ฯ ในบริเวณทิศเหนือของศูนย์ฯ เป็นจำนวน ๑๕ ไร่ หลวงพ่อเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคลได้มอบ ทุนทรัพย์จำนวนมาก อุปถัมภ์เพิ่มเติมในกองผ้าป่าด้วย จนสามารถรับมอบที่ดินได้
ฉะนั้น ในปัจจุบันนี้ อาณาบริเวณของศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน จึงได้ขยายไปเป็นพื้นที่มากกว่า ๙๐ ไร่ เพียงพอต่อการขยายตัวของสิ่งปลูกสร้างในอนาคตได้อย่างแน่นอน และเชื่อว่า ชาวขอนแก่นและผู้มีจิตศรัทธาในหลวงพ่อเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคลจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่านี้ และจะพร้อมใจกันรักษา ร่วมกันพัฒนาศูนย์ปฏิบัติธรรมแห่งนี้ให้เจริญรุ่งเรือง เฟื่องฟูสู่การพัฒนาคนที่มีคุณภาพต่อสังคมประเทศชาติสืบไป
ขณะนี้สิ่งปลูกสร้าง อาคารต่าง ๆ ในศูนย์ฯ ดูเรียบร้อย งามตา เป็นระเบียบ และมีลักษณะคล้าย ๆ กัน คือ อาคารแต่ละหลัง ผนังคอนกรีตทาสีครีมทั้งภายในและภายนอก หลังคากระเบื้องลอนคู่สีแดง ส่วนตรงจั่วหลังคาจะทาสีเหลืองสด เห็นได้อย่างเด่นชัดตั้งแต่ขับรถเข้ามาในศูนย์ฯ
กุฎิรับรองหลวงพ่อเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคล เป็นอาคารหลังแรกที่เห็น เป็นอาคารยกระดับ ขนาดกว้างประมาณ ๘x๑๖ เมตร มีห้องโถงใหญ่ ๑ ห้อง ห้องน้ำและห้องนอนอย่างละ ๑ ห้อง ทางคณะกรรมการร่วมพัฒนาศูนย์ฯ ได้จัดสถานที่นี้เพื่อรับรองหลวงพ่อเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคล ในเวลาเดินทางไปโปรดญาติโยม และทำธุรกิจสงฆ์ที่ศูนย์ฯ ส่วนในเวลาอื่น ๆ ทางศูนย์ฯ ได้ใช้สถานที่นี้ เพื่อให้ผู้มาใหม่ได้รับศีล และรับการสอนการปฏิบัติธรรมกรรมฐาน และให้ผู้ที่ปฏิบัติธรรมที่ต้องการมุมสงบส่วนตัวได้ใช้พื้นที่ปฏิบัติกรรมฐานได้ดีอีกด้วย
ศาลาปฏิบัติธรรมเดิมที่ก่อสร้างมาตั้งแต่กำเนิดศูนย์ฯ ที่ใช้เป็นสถานที่สอนการปฏิบัติกรรมฐาน สนทนาธรรม และสอบอารมณ์ สมัยแรกเริ่มนั้นได้อาศัยลูกศิษย์ที่ผ่านการอบรมวิปัสสนากรรมฐานจากวัด อัมพวันเป็นครูฝึกสอนกรรมฐานแก่ผู้สนใจ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ใหญ่ ข้าราชการ ทหาร และผู้สนใจทั่วไป ต่อมาหลวงพ่อเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคลได้ส่งพระสงฆ์จำนวน ๕-๖ รูป ไปประจำที่ศูนย์ฯ โดยมีหลวงพี่ธีรวัฒน์ ฐานุตฺตโร เป็นพระผู้นำคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธธรรม และทำการสอนกรรมฐานแทนครูฝึกเดิมที่เป็นฆราวาส ทั้งนี้ เพื่อให้การสอนวิปัสสนากรรมฐานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และลดภาระแก่ครูฝึกที่เป็นศิษย์เก่าวัดอัมพวัน ฝ่ายฆราวาสที่ต่างก็มีภาระทางโลก ไม่สะดวกที่จะอยู่สอนได้ประจำ
ในเวลาต่อมาได้มีผู้สนใจเข้าฝึกปฏิบัติกรรมฐานมากขึ้นเรื่อย ๆ คณะกรรมการร่วมพัฒนาศูนย์ฯ จึงได้จัดให้มีการทอดผ้าป่าสามัคคี เพื่อหาทุนทรัพย์ปัจจัยในการสร้างศาลาปฏิบัติธรรมหลังใหม่ และทำการพัฒนาถนนลูกรังในศูนย์ฯ ด้วย ศาลาปฏิบัติธรรมหลังเดิมจึงถูกดัดแปลงให้เป็นกุฏิสงฆ์ และที่รับลงทะเบียนผู้ไปปฏิบัติพัฒนาจิต
ศาลาปฏิบัติธรรมอาคารใหม่นี้ จัดสร้างขึ้นตามแรงศรัทธาของญาติโยม ผู้มีจิตเป็นกุศลที่ต้องการเห็นความเจริญก้าวหน้าของศูนย์ฯ แห่งนี้แล้วเสร็จ และถวายให้เป็นสมบัติส่วนกลางของศูนย์ฯ เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๓๗ รวมงบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้นสี่แสนบาทเศษ ในครั้งนั้นมีคหบดี ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนชาวขอนแก่น และที่อื่น ๆ ได้ร่วมกันถวายทรัพย์ร่วมสร้างศาลาเป็นจำนวนมาก
ศาลาปฏิบัติธรรมใหม่นี้ เป็นอาคารคอนกรีต ผนังอิฐฉาบปูนเรียบ ทาสีเรียบร้อยดูสวยงาม หลังคากระเบื้องลอนคู่สีแดง มีพระประธานประดิษฐานเด่นเป็นง่า เป็นที่กราบไหว้สักการบูชาของทุก ๆ คนในศูนย์ฯ ที่ได้เข้ามาปฏิบัติกรรมฐานในศูนย์ฯ นี้ ที่ผนังปูนด้านหลังของพระประธานในศาลาปฏิบัติธรรมทั้ง ๒ อาคาร จะมีภาพวาดสีน้ำรูปเทวดา อินทร์ พรหม ร่วมลงมาบูชากราบไหว้สักการะต่อองค์พระประธานพระสัมมา สัมพุทธเจ้า นับเป็นภาพที่สวยงามและบรรจงวาดด้วยความสามารถและมีฝีมือของ รศ.อิทธิพร พรมวิเศษ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ในทุก ๆ วันพระ ญาติโยม สาธุชนจะเดินทางจากขอนแก่น และใกล้เคียงเข้าไปที่ศูนย์ฯ เพื่อสวดมนต์ไหว้พระ ทำวัตรเย็นพร้อมกับพระสงฆ์ และผู้ปฏิบัติธรรม และได้ร่วมกัน สวดถวายพรพระรัตนคุณ สวดพาหุงมหากา และถวายพรพระพุทธ อิติปิโสฯ ๑๐๘ จบ เพื่อเป็นสิริมงคลเพิ่มพูนสติแก่ตนเองสืบไป นอกจากนี้ ในช่วงวันเทศกาลที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาจะมีการประชาสัมพันธ์ เชิญชวนญาติโยมเข้าร่วมประกอบศาสนพิธีเวียนรอบศาลาปฏิบัติธรรมกันจำนวนมาก อย่างพร้อมเพรียงกันเสมอมา
เมื่อสถานที่ปฏิบัติธรรมกว้างขวางขึ้น ก็จะสะดวกต่อการรองรับการฝึกกรรมฐาน และอบรมพัฒนาจิตแก่กลุ่ม คณะบุคคล นักเรียน นักศึกษาได้มากขึ้น เท่าที่ผ่านมากลุ่มบุคคลที่ได้เข้าไปรับการฝึกอบรมพัฒนาจิตและวิปัสสนากรรมฐาน มีทั้งกลุ่มเยาวชนจากกรมทหารม้าที่ ๖ เข้าอบรมพัฒนาจิตในโครงการพัฒนาพุทธจริยธรรมเยาวชนในเดือนสิงหาคม ๒๕๔๗, การฝึกอบรมพัฒนาจิตของนักเรียนโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน สาขา ๓ นักเรียนโรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย และนักศึกษามหาบัณฑิต คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และที่ผ่านการอบรมวิปัสสนากรรมฐาน และจริยธรรมล่าสุดเดือนพฤษภาคม คือ คณะนักศึกษาจากโรงเรียนพาณิชยการ จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวนประมาณ ๓๐๐ คน โดยมี คุณไชยา เกษมวิลาศ คุณพอน เชื้อบุญเกิด และกรรมการผู้ร่วมพัฒนาศูนย์ฯ จำนวนมากที่ให้ความร่วมมือประสานงาน อำนวยความสะดวกในเรื่องที่พัก อาหารและน้ำอยู่ตลอดเวลามิได้ขาด นอกจากนั้ยังมี นางดอกแก้ว เชื้อบุญเกิด, นางทิพภาพร เกษมวิสาศ, นางวิมล วีระมโนกุล, น.ส.สถาพร คูณบัว, น.ส.เพชรจิม เตชอภิชาต ที่ช่วยสนับสนุนอาหารแด่พระภิกษุ และแก่บรรดาผู้ไปปฏิบัติกรรมฐาน ด้วยจิตศรัทธา อดทนด้วยดีเสมอมา
ที่ศูนย์ฯ ในขณะนี้มีห้องน้ำ ๓๐ ห้อง และห้องพักสำหรับผู้เข้าปฏิบัติธรรม จำนวน ๑๕ ห้อง เป็นอาคารไม้ยกระดับสูงขึ้นจากพื้นด้วยเสาคอนกรีต เรียงเป็นแถวอยู่ด้านทิศตะวันออกของศูนย์ฯ สร้างขึ้นตั้งแต่ก่อตั้งศูนย์ฯ นี้ขึ้นมา ยังไม่มีการสร้างเพิ่มเติมแต่อย่างใด เมื่อมีการรับอบรมปฏิบัติกรรมฐาน และศึกษาธรรมจากคณะบุคคล และสถาบันจำนวนมาก ที่พักไม่เพียงพอต่อการรับรอง ก็ต้องอาศัยเต็นท์ลูกเสือเป็นสถานที่พักชั่วคราว คณะกรรรมการร่วมพัฒนาศูนย์ฯ จึงได้คิดโครงการในอนาคตที่จะสร้างศาลาอเนกประสงค์หลังใหม่ ขนาด ๑๒x๓๖ เมตร แบบ ๒ ชั้น ไว้ที่บริเวณทิศเหนือของศูนย์ฯ เพื่อเป็นสถานที่ประกอบศาสนพิธี และเป็นที่พักขนาดใหญ่ไว้รองรับกลุ่มบุคคลจากสถาบันต่าง ๆ ได้ ทั้งนี้ ขนาดและรูปแบบของอาคาร อาจเปลี่ยนแปลงได้เมื่อถึงเวลาจะสร้างจริง เนื่องจากอาณาเขตของศูนย์ฯ ได้ขยายออกไปมากภายหลังที่ได้คิดโครงการนี้ขึ้นมา และจะออกแบบกำหนดขนาดใหม่เพิ่มเติมให้เพียงพอกับอนาคตของศูนย์ฯ ที่จะมีผู้ไปศึกษา อบรมธรรม และปฏิบัติกรรมฐานเพิ่มขึ้นอีกมาก
และหนึ่งในอาคารก่อสร้างที่สำคัญในศูนย์ฯ แห่งนี้คือ กุฏิประมวลธรรม จันทนพิมพ์ เป็นเรือนรับรองพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่ไปเยือนศูนย์ฯ เป็นอาคารชั้นเดียว ผนังอิฐฉาบปูนเรียบ ขนาด ๔x๕ เมตร ตั้งอยู่ข้างเรือนที่พักของผู้ปฏิบัติธรรม ทิศตะวันออกของศูนย์ฯ คุณตาประมวล จันทนพิมพ์ เป็นผู้สร้างถวายตามในนิมิต
โรงครัวของศูนย์ฯ เป็นอาคารที่สร้างขึ้นตั้งแต่ก่อตั้ง มีการดัดแปลงต่อเติมบ้างเล็กน้อย เพื่ออำนวยความสะดวกต่อญาติโยมที่ประกอบอาหาร และล้างทำความสะอาดจานชาม อุปกรณ์เครื่องครัวที่ครบทั้งเตาแก๊ส หม้อ จานชาม สามารถรองรับการเลี้ยงอาหารแก่สาธุชนผู้ปฏิบัติธรรมในศูนย์ฯ ได้อย่างพอเพียง ในอดีตการรับประทานอาหารของผู้ปฏิบัติธรรมต้องปูเสื่อนั่งทานกันที่พื้น ต่อมาได้มีผู้มีจิตศรัทธาก่อสร้างโรงรับประทานอาหารที่สามารถจุคนได้หลายร้อยคน ผู้นั้นคือ คุณสมอาจ และคุณอัญชลี ธีรภานุ เป็นเจ้าภาพในการก่อสร้างโรงรับประทานอาหารนี้ ทำให้ทุก ๆ คนได้นั่งรับประทานอาหารได้สะดวกมากขึ้น ส่วนในโอกาสพิเศษ เช่น ในวันที่หลวงพ่อเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคลได้เดินทางไปที่ศูนย์ฯ ขอนแก่นหลายครั้ง จะมีญาติโยม สาธุชนเดินทงไปรวมที่ศูนย์ฯ เป็นจำนวนหลายพันคน ทำให้ศูนย์ฯ ที่กว้างขวางดูคับแคบแน่นขนัดไปด้วยผู้คนที่เข้ามากราบนมัสการหลวงพ่อของเรา
ในเรื่องของอาหารรับรองญาติโยม ก็ได้เจ้าภาพผู้ใจบุญใจกุศลติดต่อร้านอาหารในตัวเมืองขอนแก่นไปปรุงให้ทาน อร่อย ๆ กันที่ศูนย์ฯ เลยทีเดียว ส่วนที่นั่งรับประทานอาหารก็ขยายเพิ่มเติมในเต็นท์ผ้าใบชั่วคราว
สำหรับในเรื่องน้ำดื่ม และน้ำใช้ของทางศูนย์ฯ หากจะอาศัยน้ำบาดาลในละแวกนั้นจะไม่ค่อยสะดวกนัก เพราะที่เจาะขึ้นมาใช้แล้วนั้นมีความสะอาดไม่เพียงพอ ทางศูนย์ฯ จึงได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยทหาร กรมทหารม้าที่ ๖ จ.ขอนแก่น โดยความอุปถัมภ์ของท่าน พ.อ. (พิเศษ) ขจร จิตรวิเศษ ผู้บังคับการกรม และต่อมาเมื่อรถของทหารติดราชการก็ขาดส่งน้ำบ้าง เป็นเหตุให้ศูนย์ฯ ขาดแคลนน้ำเป็นครั้งคราว
คุณเก็บ บัวหลวง ผู้จัดการประปา อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งเคยเป็นผู้จัดการประปา อยู่จังหวัดสิงห์บุรี มาก่อน และได้เคยเดินท่อประปาให้หลวงพ่อท่านเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคลที่วัดอัมพวันเป็นชุดแรก มีความเลื่อมใสศรัทธาหลวงพ่อมานาน ได้มีโอกาสมาเยี่ยมศูนย์ฯ ในช่วงที่ภรรยาของท่านเข้าไปปฏิบัติธรรมกรรมฐานในศูนย์ฯ และแลเห็นปัญหาในเรื่องน้ำ จึงให้ความอนุเคราะห์ลำเลียงน้ำประปาไปอำนวยความสะดวกแก่ผู้ปฏิบัติธรรมในศูนย์ฯ ตั้งแต่นั้นมา
แท้งค์น้ำชุดแรกที่สร้างในศูนย์ฯ เป็นปัจจัยของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ที่ทรงมีพระเมตตากรุณามอบเงิน จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) ให้แก่ทางศูนย์ปฏิบัติธรรม สวนเวฬุวัน
ตั้งแต่แรกเริ่มสร้างศูนย์ฯ นี้ขึ้นมา นับเป็นพระเมตตากรุณาเป็นล้นพ้นที่ช่วยให้เกิดความเจริญแก่ศูนย์ฯ และให้การพัฒนาของศูนย์ฯ เป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง
ในปัจจุบัน ทางศูนย์ฯ ได้จัดสร้างหอแท้งค์น้ำถาวรขึ้น อีก ๑ หอ อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของศูนย์ฯ เพื่อรองรับการขยายตัวของศูนย์ฯ ที่นับวันมีผู้มาปฏิบัติธรรมฝึกกรรมฐานมากขึ้นเรื่อย ๆ การใช้น้ำจะมากที่สุดเมื่อหลวงพ่อเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคลได้ไปขอนแก่นเพราะมีญาติโยม สาธุชน เข้าไปพบหลวงพ่อกันมาก และในโอกาสวันสำคัญทางพุทธศาสนาจะมีผู้มีจิตศรัทธา เดินทางไปร่วมพิธีการต่าง ๆ มากมาย ดังนั้น ทางศูนย์ฯ จึงต้องเตรียมน้ำใช้ น้ำดื่มให้มีใช้อย่างพอเพียงตลอดเวลา
ระบบไฟฟ้าในศูนย์ฯ เพื่อแสงสว่างและเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ นั้น จะได้ไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟในช่วงแรก ๆ ของการตั้งศูนย์ฯ บางครั้งเมื่อเครื่องปั่นชำรุด ก็จะไม่มีไฟฟ้าใช้ ผู้ปฏิบัติธรรมต้องใช้ตะเกียงน้ำมัน จุดไฟส่องนำทางเดินได้รับความลำบาก ในปัจจุบันนี้ ด้วยความเมตตากรุณา และเห็นปัญหาดังกล่าว หลวงพ่อเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคลได้มอบทุนทรัพย์จำนวนหนึ่งจัดให้การขยายเขตไฟฟ้า เดินสายไฟเชื่อมจากริมทางหลวงเข้าไปยังศูนย์ฯ ทดแทนการใช้เครื่องปั่นไฟฟ้าที่ต้องเสียเวลาดูแลรักษาอยู่เสมอ
หลวงพ่อเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคลได้เดินทางไปเป็นประธานยกคัทเอ๊าท์เปิดใช้กระแสไฟฟ้าอย่างเป็นทางการแก่ศูนย์ปฏิบัติธรรม เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ นับได้ว่า เป็นความเจริญก้าวหน้าในการพัฒนาศูนย์ฯ ที่สำคัญอีกระดับหนึ่ง เพราะไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภคที่สำคัญต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ช่วยทำให้มีแสงสว่างทั่วไปในศูนย์ฯ ยามค่ำคืน ทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมรู้สึกอุ่นใจ และปลอดภัยขึ้น นอกจากนี้ ระบบไฟฟ้ายังเอื้ออำนวยความสะดวกต่อการฝึกปฏิบัติกรรมฐานอีกด้วย เพราะได้ใช้เครื่องโสตทัศนศึกษา พัดลม เครื่องขยายเสียง เทปบรรยายธรรมที่เปิดให้ผู้ปฏิบัติธรรมกรรมฐานได้ฟังธรรมจากหลวงพ่อทุก ๆ วัน และทำให้ได้รู้สึกใกล้ชิดในธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ และของหลวงพ่อตลอดเวลา และเป็นที่แน่นอนว่าการก่อสร้างในศูนย์ฯ คงสามารถทำได้อย่างเต็มที่และรวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากอุปกรณ์เครื่องมือช่างก่อสร้างหลายชนิดที่ต้องใช้ไฟฟ้า สามารถนำมาใช้ในศูนย์ฯ ได้
วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ นอกจากเป็นวันที่หลวงพ่อเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคลได้เดินทางไปเปิดการใช้ไฟฟ้าแก่ศูนย์ฯ อย่างเป็นทางการแล้ว หลวงพ่อท่านยังมีเมตตาวางนโยบายให้ผู้ปฏิบัติกรรมฐาน และกรรมการร่วมพัฒนาได้ปลูกต้นไม้ในบริเวณศูนย์ฯ ให้มาก ๆ และหลวงพ่อเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคลได้ปลูกต้นไม้ยืนต้นเป็นที่ระลึก และเป็นร่มเงาร่มบุญบารมีแผ่ปกคลุมไปทั่วขอนแก่น และจังหวัดใกล้เคียงสืบต่อไป
ในขณะนี้มีสิ่งปลูกสร้างที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ คือ ส่วนต่อเติมของโรงรับประทานอาหารและหอระฆังโลหะที่หลวงพ่อเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคลได้มอบแก่ทางศูนย์ฯ เพื่อใช้ในพิธีการสงฆ์ และศาสนพิธีต่อไป หอระฆังนี้มีลักษณะ ๓ ชั้น หลังคามุงกระเบื้องคอนกรีต งบประมาณการก่อสร้างประมาณ ๓ แสนบาท ซึ่งขณะนี้ยังขาดทุนทรัพย์ในการก่อสร้างให้แล้วเสร็จอยู่มาก จึงขอเชิญร่วมถวายปัจจัยสร้างความศรัทธาได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติธรรม สวนเวฬุวัน โดยตรงทุกวัน หมายเลขโฟนลิงค์ที่ศูนย์ฯ (๑๕๑, ๑๕๒) ๕๖๔-๒๒๒
โครงการสร้างเก๋งจีนและองค์พระมหาโพธิสัตว์กวนอิม
เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๓๘ หลวงพ่อพระราชสุทธิญาณมงคลได้เดินทางไปขอนแก่นเพื่อรับผ้าป่าขยายพื้นที่ของศูนย์ฯ และร่วมปรึกษาหารือกับคณะกรรมการผู้ร่วมพัฒนาศูนย์ปฏิบัติธรรม สวนเวฬุวัน ในการจัดตั้งมูลนิธิธรรมเพื่อเยาวชน เรื่องการลงความเห็นชอบต่อการสร้างเก๋งจีน และสร้างองค์พระมหาโพธิสัตว์กวนอิม ในบริเวณของศูนย์ฯ ซึ่งหลวงพ่อและทางคณะกรรมการต่างเห็นชอบ และสนับสนุนให้ความร่วมมือจัดสร้างให้แล้วเสร็จตามตำแหน่งที่ได้ตกลงไว้ เพื่อให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ชั้นสูงให้สาธุชนได้กราบไหว้บูชา ขอพรประเสริฐ และเป็นกำลังใจในการปฏิบัติกรรมฐานด้วย
โครงการนี้จะสร้างเก๋งจีน เป็นลักษณะแปดเหลี่ยมมีทางเดินยกระดับโดยรอบ หลังคา ๒ ชั้น มีสระบัวและเลี้ยงปลาให้ความชุ่มชื่นแก่สถานที่ด้วย ส่วนองค์พระมหาโพธิสัตว์กวนอิม จะมีลักษณะยืนประทานพร เอียงแจกันหลั่งน้ำมนต์ อวยพรชัยให้สาธุชน โดยจะเริ่มก่อสร้างเก๋งจีนต้นเดือนสิงหาคม ๒๕๓๘ และคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ และอัญเชิญองค์พระมหาโพธิสัตว์กวนอิมเข้าประทับในเก๋งจีน และจัดสมโภชน์ราวเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๘ งบประมาณการก่อสร้างราว ๖๐๐,๐๐๐ บาท (หกแสนบาทถ้วน) ผู้ประสานงานโครงการนี้คือ คุณอังกูร และ คุณพัชรา พินพิสิทธิ์ จึงขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาในองค์พระมหาโพธิสัตว์กวนอิม สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. (๐๔๓) ๒๓๙-๗๗๙ และร่วมบริจาคทรัพย์เพื่อให้โครงการนี้แล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์ต่อไป ทั้งนี้เพื่อเป็นบุญกุศลถวายแด่บิดามารดา ครูบาอาจารย์ ผู้มีพระคุณ พรหม เทพ เทวดา เทพธิดาทุกหมู่เหล่า และขอเชิญเจ้ากรรมนายเวรทุก ๆ ตนจงมาร่วมอนุโมทนาบุญในโอกาสนี้ด้วยเทอญ
มูลนิธิธรรมเพื่อเยาวชน
เพื่อให้ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน เป็นสมบัติส่วนกลาง ดำเนินการเพื่อส่วนรวมอย่างชัดเจน จึงควรมีองค์กรกลางขึ้นมาเพื่อช่วยวางนโยบายบริหารกิจกรรมต่าง ๆ ภายในศูนย์ฯ หลวงพ่อเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคลจึงมีความตั้งใจให้การบริหารศูนย์ฯ มีลักษณะเป็นกลาง ด้วยการก่อตั้งมูลนิธิขึ้น ลักษณะคล้ายที่บริหารกันในวัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี
มูลนิธินี้จะมีตัวแทนจากกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาศูนย์ฯ เลือกตั้งขึ้นมาบริหารมูลนิธิตามวาระ และดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ที่มีมติร่วมกัน ทั้งนี้จะต้องสอดคล้องกับปณิธานของหลวงพ่ออย่างชัดเจนในการสร้างคน ฝึกฝนอบรมเยาวชนของชาติให้มีคุณภาพด้วยการฝึกวิปัสสานากรรมฐาน เจริญสติปัฏฐาน ๔ ดังนั้น หลวงพ่อเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคลจึงให้ชื่อมูลนิธิว่า มูลนิธิ “ธรรมเพื่อเยาวชน” โดยหลวงพ่อได้แต่งตั้งให้ ดร.ลำใย โกวิทยากร เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นประธานกรรมการมูลนิธิธรรมเพื่อเยาวชน สมัยแรก
มูลนิธิธรรมเพื่อเยาวชน มีลักษณะและรายละเอียดดังนี้
๑. ชื่อมูลนิธิ : มูลนิธิ “ธรรมเพื่อเยาวชน”
๒. ที่ตั้ง : ศูนย์ปฏิบัติธรรม “สวนเวฬุวัน” บ้านซำจาน ต.บ้านค้อ อ.เมือง จ.ขอนแก่น
๓. วัตถุประสงค์ คือ เพื่อ
๑. ส่งเสริมและเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยการปลูกฝังศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรม เพื่อพัฒนาจิตใจเยาวชนและบุคคลโดยทั่วไปให้เป็นกัลยาณชน
๒. ส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ เพื่อพัฒนาอาชีพ เศรษฐกิจ และสังคมแก่เยาวชนและบุคคลโดยทั่วไป
๓. ดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่น ๆ เพื่อสาธารณประโยชน์
๔. ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมือง
๔. คณะกรรมการของมูลนิธิ
ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ : พระราชสุทธิญาณมงคล
ที่ปรึกษา : พ.อ. (พิเศษ) ขจร จิตรวิเศษ
รองประธานมูลนิธิ : ดร.ลำใย โกวิทยากร
รองประธานฯ : นายสมอาจ ธีรภานุ
รองประธานฯ : นายชัยสิทธิ์ สิทธิ์อมรพช
เลขานุการ : นายอังกูร พินพิสิทธิ์
เหรัญญิก : นางณัฏฐา แก้วก่า
กรรมการ : นายชัยยงค์ ศรีอิสาน
กรรมการ : นายวิชัย วิพัฒน์เกษมสุข
กรรมการ : นางเพ็ญศรี ศรีจินดา
กรรมการ : นายประวิทย์ วีระปราชญ์
ดังนั้นจึงขอเชิญชวนผู้สนใจ มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคปัจจัยสมทบทุนมูลนิธิธรรมเพื่อเยาวชนได้ที่หมายเลขบัญชีด้านล่าง เพื่อนำดอกผลเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ทั้งของมูลนิธิและศูนย์ปฏิบัติธรรม สวนเวฬุวัน ต่อไป
ชื่อบัญชี : มูลนิธีธรรมเพื่อเยาวชน
ธนาคาร : ธนาคารศรีนคร สาขาขอนแก่น
เลขที่บัญชี : ๑๒๒-๓-๐๔๓๗๓-๕
ท้ายนี้ สาธุชนชาวศูนย์ปฏิบัติธรรม สวนเวฬุวัน ขอกราบเท้านมัสการหลวงพ่อเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคล เป็นอย่างสูงที่มีความกรุณาเมตตาจิตเป็นอย่างยิ่ง ในการก่อตั้งสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรม สวนเวฬุวัน และมูลนิธิธรรมเพื่อเยาวชนให้ชาวขอนแก่น และใกล้เคียง และยังได้ดูแลมอบปัจจัยจำนวนมากช่วยเหลือในกิจของศูนย์ฯ มาโดยตลอด เพื่อให้ได้มีโอกาสอบรมพัฒนาจิต ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอดมา พวกเรามีความรักและภูมิใจในศูนย์ฯ เป็นอย่างมาก และจะพัฒนาศูนย์ฯ ให้มีความก้าวหน้า พัฒนาสร้างคนเพื่อสังคม ดำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองสืบไปนานเท่านาน